โทลูอีน: กับความเสี่ยงต่อการแท้งและความผิดปกติของทารกในครรภ์ (9 พ.ค. 55)

โทลูอีน: กับความเสี่ยงต่อการแท้งและความผิดปกติของทารกในครรภ์
โดย รศ. ดร. เรณู เวชรัชต์พิมล
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

(9 พฤษภาคม 2555)

ความประมาทจนก่อให้เกิดการลุกไหม้ของสารโทลูอีนและเกิดการระเบิดของโรง งานฝ่ายผลิตยางรถยนต์ ภายในบริเวณ บริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ (BST) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2555 เป็นข่าวใหญ่ต่อสาธารณะ ส่งผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งบรรยากาศของการท่องเที่ยวของผู้ที่ชื่นชอบผลไม้ของจังหวัดระยอง สำหรับคนไทยทั่วประเทศคงมีคำถามคล้าย ๆ กันว่า เมื่อไรปัญหาของนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดระยองจะได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง เพราะมีแต่ข่าวมลพิษ อุบัติภัย ความขัดแย้งกับชุมชน โดยเฉพาะความพยายามที่จะนำพื้นที่สีเขียวในอำเภอบ้านค่ายและอำเภอวังจันทร์ ตลอดจนพื้นที่ต้นน้ำมาใช้ในการประกอบอุตสาหกรรม รวมทั้งคำถามถึงอนาคตในกรณีที่มีโรงงานหยุดผลิต ทิ้งร้าง รัฐมีหลักประกันใดที่เจ้าของกิจการจะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการขยะอันตราย และสารพิษในโรงงานที่ทิ้งร้าง เพราะกังวลใจว่าในที่สุดรัฐจะต้องเป็นผู้แบกภาระโดยนำภาษีของประชาชนไปจ่าย ในส่วนที่โรงงานต้องรับผิดชอบถ้าหน่วยงานอนุญาตให้สร้างโรงงานมีการบังคับ ใช้กฎหมายที่ไม่รัดกุมเพียงพอ เพราะการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งโรงพยาบาลในพื้นที่ต้องใช้งบประมาณในการ รักษาผู้ป่วยจากอุบัติเหตุของโรงงานจำนวนมาก ส่งผลให้งบประมาณปกติของโรงพยาบาลที่ได้รับจัดสรรให้ต่อหัวประชากรถูกเบียด บังไปใช้เพื่อรองรับความประมาทของโรงงานแทนที่จะใช้กับการส่งเสริมและรักษา สุขภาพของประชาชน

นักวิชาการกลุ่มที่ได้อ่านรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโรง งานนี้และบริษัทในเครือมีแผนที่การติดตั้งถังสารเคมีในการผลิตของโรงงาน ทุกคนภาวนาให้สามารถควบคุมการลุกไหม้ของโรงงานได้อย่างรวดเร็ว เพราะยังมีถังสารเคมีที่ติดตั้งในพื้นที่จำนวนมาก และโรงงานใกล้เคียง คือโรงงานบริษัทไบเออร์ไทย จำกัด ซึ่งมีถังสารเคมีอยู่จำนวนมากเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีความไม่ชัดเจนว่าสารเคมีที่ระเหยปนเปื้อนในอากาศครั้งนี้เป็น สารโทลูอีนเพียงชนิดเดียวหรือมีถังสารเคมีชนิดอื่นเกี่ยวข้องด้วย เช่น สารบิวทาไดอีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ความโชคดีของคนระยองครั้งนี้ คือ การที่มีฝนตกทำให้การควบคุมเพลิงเป็นไปได้ง่ายกว่าปกติ อย่างไรก็ตามผู้รับผิดชอบได้ให้ข้อมูลต่อสาธารณะว่า สารคมีที่ปนเปื้อนในอากาศและเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย คือ โทลูอีน รวมทั้งให้ข้อมูลว่าสารชนิดนี้ไม่ได้เป็นสารก่อมะเร็ง แต่มิได้ให้ข้อมูลความเป็นพิษของโทลูอีนในแง่มุมอื่น

การติดตามข่าวในฐานะนักวิชาการคนหนึ่ง ขอตั้งข้อสังเกตว่าการประกาศรับรองต่อสาธารณะถึงความปลอดภัยของสารปนเปื้อน ในอากาศยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน มีความเร่งรีบรับรองว่าปลอดภัย และให้ประชาชนกลับบ้านได้ โดยขาดมาตรฐานและความน่าเชื่อถือทางวิชาการ หากเปรียบเทียบกับการระเบิดของโรงไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นมีการประกาศรายชื่อ สารเคมีและปริมาณที่ตรวจพบ พร้อมทั้งให้ความรู้กับประชาชนเพื่อให้เข้าใจและนำไปใช้ในการปกป้องดูแลตน เองและบุคคลในครอบครัว จึงปรารถนาที่จะเห็นการประกาศต่อสาธารณะของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ โดยตรง ว่าได้ตรวจสอบการปนเปื้อนของสารเคมีชนิดใดบ้าง และตรวจวัดพบว่าค่าการปนเปื้อนเท่าใด พื้นที่ใดบ้างที่ปลอดภัย เนื่องจากเป็นที่ทราบชัดว่าการตรวจหาสารเคมีปนเปื้อนในอากาศนั้นต้องตรวจราย ชนิด เพราะมีวิธีการตรวจไม่เหมือนกัน และค่ามาตรฐานความปลอดภัยของสารเคมีแต่ละชนิดเป็นค่าเฉพาะ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าองค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้อง เคารพ ปกป้อง และได้ดำเนินมาตรการที่จำเป็นและเพียงพอที่จะทำให้สิทธิของชุมชนที่จะดำรง ชีพได้อย่างปกติ รวมทั้งสิทธิด้านต่างๆ ที่มีการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สนธิสัญญา และตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนหลักการและมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องซึ่งรัฐบาลไทยได้ลงนามไว้กับนานา ชาติมีการดำเนินการเพื่อให้สิทธิเหล่านี้เกิดผลที่เป็นจริง

การเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงของสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับมลพิษโดยตรงมีความ จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจปกป้องประชาชนซึ่งรัฐมีหน้าที่ในการปกป้อง จากอุบัติภัย และมีความสำคัญยิ่งต่อนาทีชีวิตของเหยื่อ เพราะรายชื่อสารเคมีจำเป็นต่อการรักษาเพื่อลดความเป็นพิษของสารเคมีชนิดนั้น หากแพทย์ทราบชัดถึงชนิดสารเคมีที่เป็นต้นเหตุจะสามารถรักษาผู้ป่วยได้ตรงกับ สาเหตุ อย่างไรก็ตามข้อมูลของสารเคมีที่เปิดเผยต่อสาธารณะในกรณีของโรงงานนี้มุ่ง เน้นที่สารโทลูอีน บทความนี้จึงนำเสนออันตรายของโทลูอีนในแง่มุมที่มีการกล่าวถึงไม่มากนัก แต่มีความสำคัญต่อชุมชน คือ ผลกระทบต่อทารกและการแท้งของสตรีมีครรภ์

โทลูอีนเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่นิยมนำมาใช้เป็นตัวทำละลายทดแทนสาร เบนซีน เนื่องจากโทลูอีนละลายในไขมันได้ดี จึงสามารถผ่านเข้าสู่เนื้อเยื่อในร่างกายที่มีไขมันเป็นองค์ประกอบได้เร็ว และจากรายงานทางวิชาการพบว่าโทลูอีนสามารถแพร่ผ่านรกได้ดี ทำให้ตรวจพบโทลูอีนในเนื้อเยื่อต่างๆ ของทารกและในน้ำคร่ำที่อยู่ในมดลูกของแม่ที่สัมผัสโทลูอีน รวมทั้งพบในทารกแรกเกิดด้วย (1) การศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่าโทลูอีนสามารถคงอยู่ในสัตว์วัยอ่อนที่อยู่ในท้องแม่ได้นานถึง 24 ชั่วโมง และหนูเม้าซ์ที่ได้รับโทลูอีนขณะตั้งท้องนั้นตรวจพบโทลูอีนสะสมอยู่ในตับ จำนวนมาก (2, อ้างตาม 3)

รายงานการศึกษาให้สัตว์ทดลองที่ได้รับโทลูอีน ด้วยวิธีให้กิน หรือให้ได้รับทางการหายใจ มีรายงานการศึกษาในสัตว์หลายชนิด เช่น หนู แฮมสเตอร์ และกระต่าย โดยให้ได้รับโทลูอีนในช่วงเวลาที่แม่มีอายุครรภ์ต่างๆ กัน พบว่ามีผลแตกต่างกันตามปริมาณและระยะเวลาที่สัตว์ทดลองได้รับสารโทลูอีน โดยอาการที่ตรวจพบมีความหลากหลาย ขึ้นกับชนิดสัตว์ ปริมาณโทลูอีนที่ได้รับและอายุครรภ์ เช่น ทำให้เกิดการแท้ง หรือมีผลให้ลูกที่เกิดมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ อวัยวะที่สำคัญมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ เช่น หัวใจ ตับ ไต และสมอง รวมทั้งมีผลเพิ่มอัตราการตายของทารกก่อนหรือหลังคลอด สัตว์บางชนิดมีความไวกว่าสัตว์อื่น เช่น หนูทดลองจะมีความไวกว่าแฮมสเตอร์ นอกจากนี้ยังอาจพบความผิดปกติของเนื้อเยื่อประสาท การได้ยิน และการเจริญของกระดูกโครงร่างช้ากว่าปกติด้วย (อ้างตาม 4)

การศึกษาในคนที่ได้รับโทลูอีนจากการสูดดมต่อเนื่อง พบความผิดปกติของรูปร่าง เช่น กระดูกซี่โครงเพิ่มขึ้นซี่ที่ 14 ในกลุ่มที่ได้รับโทลูอีน 1,000 ppm นาน 6 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงที่มารดามีอายุครรภ์ 1-17 วัน นอกจากนี้พบความผิดปกติอื่น ๆ คือ ความผิดปกติของใบหน้าคล้ายกับทารกที่มารดาติดสุราในระยะตั้งครรภ์ คือ มีส่วนกลางของใบหน้าแบน กระบอกตาลึก กระดูกที่เชื่อมระหว่างรูจมูกแบน (รูปที่ 1 จาก 5 อ้างตาม 2) การให้กำเนิดทารกที่มีรูปร่างผิดปกติในคนนั้น มีรายงานว่าเกิดจากทารกได้รับโทลูอีนผ่านมดลูกในขณะที่อยู่ในครรภ์ และแม่ไม่สามารถกำจัดสารตกค้างจากโทลูอีนซึ่งไปทำลายไตได้ (รูปที่ 2 จาก 2)

 

รูปที่ 1 ใบหน้าของเด็กที่ได้รับโทลูอีนผ่านทางมดลูกของแม่
(ภาพนี้นำมา จากวารสาร Teratology 55:145–151 (1997) ซึ่งเจ้าของบทความได้ขออนุญาตเผยแพร่ภาพจาก Arnold และคณะ (1994) จึงถูกนำมาอ้างอิงในบทความนี้โดยมิได้ขออนุญาตจากเจ้าของผลงาน จึงขอให้ระมัดระวังในการนำไปเผยแพร่ต่อ)

รายงานการศึกษาสาเหตุการแท้งของสตรีมีครรภ์ โดยเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์สตรี 50 คน (ผ่านการตั้งครรภ์รวม 105 ครั้ง) ซึ่งทำงานในโรงงานผลิตลำโพงและได้รับโทลูอีนปริมาณสูง 88 ppm (ช่วง 50-150 ppm) เปรียบเทียบกับสตรีที่ทำงานในแผนกอื่นของโรงงานเดียวกันซึ่งได้รับโทลูอีน 1 ppm หมายถึง มีสารโทลูอีน 1 ส่วน ในสารละลาย 1 ล้านส่วน น้อยมากหรือไม่ได้รับเลย (0-25 ppm) จำนวน 31 คน (ผ่านการตั้งครรภ์รวม 68 ครั้ง) โดยเปรียบเทียบกับสตรีที่อยู่ในชุมชนทั่วไปที่เข้ารับการรักษาในคลินิกแม่ และเด็กหลังการคลอด จำนวน 190 คน เป็นกลุ่มควบคุม (ผ่านการตั้งครรภ์รวม 444 ครั้ง) พบว่าสตรีกลุ่มที่ทำงานในโรงงานและได้รับโทลูอีนปริมาณสูง มีอัตราการแท้งสูงถึง 12.4 ครั้ง จากการตั้งครรภ์ 100 ครั้ง ซึ่งมีอัตราการแท้งสูงกว่าสตรี กลุ่มที่ทำงานในโรงงานเดียวกันซึ่งได้รับโทลูอีนน้อยหรือไม่ได้รับเลย ที่พบว่ามีอัตราการแท้งเพียง 2.9 ครั้ง จากการตั้งครรภ์ 100 ครั้ง ซึ่งความแตกต่างนี้มีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนสตรีกลุ่มในชุมชนทั่วไปนั้น พบอัตราการแท้ง 4.5 ครั้ง จากการตั้งครรภ์ 100 ครั้ง นอกจากนี้ในสตรีกลุ่มที่ได้รับโทลูอีนสูงนั้นเมื่อเปรียบเทียบอัตราการแท้ง ระหว่างก่อน-หลังเข้าทำงานในโรงงานความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติ โดยก่อนทำงานมีอัตราการแท้ง 2.9 ครั้ง จากการตั้งครรภ์ 100 ครั้ง และมีอัตราการแท้งเพิ่มขึ้นหลังจากเข้าทำงานในโรงงานเป็น 12.6 ครั้ง จากการตั้งครรภ์ 100 ครั้ง สตรีเกือบทั้งหมดไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าการได้รับสารโทลูอีนของสตรีมีครรภ์ความเสี่ยงต่อการแท้งและสูญเสียทารกในครรภ์ (6)

ถึงเวลาที่สิทธิของประชาชนในจังหวัดระยองจะได้รับการปกป้องอย่างแท้จริง หรือยัง เริ่มต้นที่สิทธิในการรับรู้ข่าวสาร และการชดเชย เยียวยา ที่เป็นธรรม จึงควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคีมาให้ความเป็นธรรมกับประชาชนในการเข้า ถึงสิทธิที่ถูกละเมิดมาอย่างต่อเนื่อง และตรวจสอบระบบการปกป้องประชาชนจากภัยพิบัติของโรงงานอุตสาหกรรมที่รัฐเป็น ผู้อนุมัติ/อนุญาตและควบคุมการดำเนินการ (7)

 

รูปที่ 2 เมแทบอลิซีมของโทลูอีน อาศัยการทำงานของเอนไซม์แอลกอฮอล์ดีไฮโดรจีเนส (ADH)
และอัลดีไฮด์ ดีโฮโดรจีเนส 1 (ALDH1) และ 2 (ALDH2) เพื่อสลายโทลูอีน โดยเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลและกำจัดออกทางปัสสาวะ


เอกสารอ้างอิง

(1) Goodwin, T.M. Toluene abuse and renal tubular acidosis. Obstet. Gynecol. 1988, 71:715–718.

(2) Wilkins-Haug, L. Teratogen Update: Toluene, Teratology. 1997, 55:145–151.

(3) Ghantous, H. and Danielsson, B.R.G. Placental transfer and distribution of toluene, xylene and benzene, and their metabolites during getation in mice. Biol. Res. Pregnancy. 1986, 7:98–105.

(4). EPA/635/R-05/004, Toxicological review of toluene (CAS No. 108-88-3), In Support of Summary Information on the Integrated Risk Information System (IRIS), September 2005. U.S. Environmental Protection AgencyWashington D.C.

(5) Arnold, G., R.S. Kirby, S. Langendoerfer, and Wilkins-Haug , L. Toluene embryopathy: Clinical delineation and developmental followup. Pediatrics. 1994, 93:216–220.

(6) Ng, T.P., Foo, S.C, and Yoong, T. Risk of spontaneous abortion in workers exposed to toluene. Brit. J. Ind. Med.1992, 49:804-808.

(7) (ร่าง) รายงานข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อกรณีข้อร้องเรียนของ เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก 2555 (คณะกรรมการกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างรายงานฉบับสมบูรณ์)

 
Download attachments:          EAAAAAAuAEAAuAIAAAACAAOAAOAoOAAEAAEAUAOEAAAIAAAAAAAnAyAEAoAAEAAOAAAAEIAuAIAAAZa.doc