รายงานพิเศษ: "ชะตากรรม 19 ปี" ของชาว "น้ำพุ" ภายใต้กิจการ "รีไซเคิล" ของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ (12 ก.ค. 63)
รายงานพิเศษ:
"ชะตากรรม 19 ปี" ของชาว "น้ำพุ" ภายใต้กิจการ "รีไซเคิล" ของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ
บริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด (ภาพ: กานต์ ทัศนภักดิ์)
กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ
12 กรกฎาคม 2563
ข้อมูลเบื้องต้น
บริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 54/1 ม.8 ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี บริเวณรอยต่อระหว่างตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง และตำบลน้ำพุอำเภอ เมือง จังหวัดราชบุรี เดิมชื่อบริษัทนิ้วเจริญ รีไซเคิล เพ้นท์ จำกัด (ก่อตั้งเมื่อปี 2543) ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2543 ทะเบียนโรงงานเลขที่ จังหวัด3-45(1)-1/43 รบ[1] ซึ่งระบุว่าประกอบกิจการผลิตสีทาบ้าน น้ำมันทาแบบ อัดเศษกระดาษ อัดเม็ดพลาสติก ซ่อมถังน้ำมัน และถังอื่นๆ มีขนาดกำลังเครื่องจักร 487.97 แรงม้า จำนวนคนงาน 38 คน โดยหลังจากนั้นบริษัทนิ้วเจริญฯ ได้ขออนุญาตขยายโรงงานอีกหลายครั้ง ก่อนจะได้ยื่นขอรับอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน "...นำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงานกลับมาใช้ใหม่ และฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เช่น กากอุตสาหกรรม และขยะชุมชน"[2] เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2545 และเปลี่ยนชื่อเป็น "บริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์” ในปีถัดมา (พ.ศ. 2546) และได้ระบุลักษณะธุรกิจว่า "...ให้บริการ ดำเนินการเกี่ยวกับการบำบัด และกำจัดวัสดุเหลือใช้ กากของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมโดยนำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลแบบครบวงจรรวมถึงการให้บริการฝังกลบกากของเสียประเภทไม่อันตราย"[3]
ปัจจุบัน บริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานรวมทั้งสิ้น 9 ใบ โดยมีโรงงานจำนวน 9 โรง และมีร้านรับซื้อของเก่า1 ร้าน ชื่อร้าน "พงษ์เจริญ" ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันซึ่งมีเนื้อที่กว่า 300 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศของที่ตั้งโรงงานเป็นที่ราบเชิงเขาของ "เขาทะลุ" ระดับความสูงระหว่าง 80-100 เมตรจากระดับน้ำทะเล บริเวณใกล้เคียงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชนซึ่งเพาะปลูกพืชผลต่างๆ เช่น พุทรา ลำไย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ผักสวนครัว มะม่วง อ้อย มะพร้าว ฯลฯ บริเวณด้านทิศตะวันออกของที่ตั้งโรงงานอยู่ชิดกับ "ห้วยน้ำพุ" ลำน้ำสาธารณะซึ่งมีทิศทางการไหลในแนวเหนือ-ใต้ และเป็นลำน้ำสายหลักที่ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงใช้อุปโภคบริโภคและประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวตำบลน้ำพุซึ่งอยู่นอกเขตชลประทาน ประชาชนและเกษตรกรส่วนใหญ่จึงต้องใช้น้ำจากห้วยน้ำพุ บ่อขุด หรือแหล่งน้ำบาดาล ในการอุปโภคบริโภคและรดพืชผลทางการเกษตร นอกจากนั้นลำห้วยสายนี้ยังเชื่อมต่อกับคลองส่งน้ำของ "อ่างเก็บน้ำห้วยสำนักไม้เต็ง"[4] ซึ่งเป็นพื้นที่เก็บน้ำดิบขนาดใหญ่สำหรับผลิตน้ำประปาและชลประทานให้แก่ประชาชนในพื้นทีอำเภอจอมบึง และอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี อีกด้วย
19 ปีแห่งปัญหาและการร้องเรียน
การร้องเรียนของประชาชนถึงปัญหาความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการโรงงานของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ (หรือบริษัทนิ้วเจริญฯ ในช่วงเริ่มแรก) เริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2544 ภายหลังจากที่โรงงานของบริษัทนิ้วเจริญฯ เริ่มดำเนินกิจการมาได้เพียงประมาณ 1 ปี โดยชาวตำบลน้ำพุได้ร้องเรียนไปยังกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ว่าประสบปัญหาเดือดร้อนรำคาญจากกลิ่นเหม็นของสารเคมีและทินเนอร์ อีกทั้งมีความวิตกว่าเศษขยะและสารเคมีจากโรงงานอาจไหลลงสู่แหล่งน้ำที่ใช้อยู่[5] จนนำมาสู่การลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานของบริษัทนิ้วเจริญฯ โดยกรมควบคุมมลพิษเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ก่อนจะลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาหลายครั้ง โดยมีการตรวจวัดสารปนเปื้อนเกือบทุกปี รวมทั้งการนำตัวอย่างกากสารเคมีและตัวอย่างสิ่งแวดล้อมไปตรวจวิเคราะห์เครื่องวิเคราะห์สารเคมีระบบ Gas Chromatography/Mass Spectrometry (GC/MS) แบบเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจวิเคราะห์ไอระเหยสารอินทรีย์ระเหยง่าย
แต่หลังจากนั้น ปัญหายังคงไม่ได้รับการแก้ไขให้หมดไปและยังคงเกิดขึ้นซ้ำๆ ไม่หยุดหย่อน จึงเกิดการร้องเรียนจากประชาชนชาวตำบลน้ำพุและตำบลรางบัวไปยังส่วนราชการต่างๆ ที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบดูแลทั้งในพื้นที่จังหวัดราชบุรีและส่วนกลางอย่างต่อเนื่อง เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล ส่วนราชการระดับอำเภอ จังหวัด กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักนายกรัฐมนตรี ฯลฯ เพื่อขอให้เข้ามาตรวจสอบและแก้ไขปัญหา นอกจากนั้นยังได้มีการร่วมลงนามคัดค้านการขยายกิจการของบริษัทดังกล่าว รวมถึงการรวมตัวกันชุมนุมประท้วงของประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนอีกหลายครั้ง ก่อนที่จะตัดสินใจนำคดีฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง (แผนกคดีสิ่งแวดล้อม) และศาลปกครอง 2560
ปัญหาหลักๆ ที่บริษัทนิ้วเจริญฯ/แว็ก กาเบ็จฯ ถูกประชาชนในพื้นที่ร้องเรียน คือผลกระทบจากมลพิษกลิ่นเหม็น น้ำเสีย และการปนเปื้อนของสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม. โดยนอกจาก "กลิ่น" ที่เกิดจากการประกอบกิจกรรมต่างๆ ของโรงงานจะสร้างความเดือดร้อนรำคาญแล้ว บางครั้งยังรุนแรงจนส่งผลให้ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ใกล้เคียงบริเวณโรงงานหรืออยู่ใต้ลมไม่สามารถนอนหลับพักผ่อนได้ตามปกติ บางส่วนเกิดอาการเจ็บป่วย ขณะเดียวกันก็มีการร้องเรียนจากประชาชนอย่างต่อเนื่องโรงงานได้ปล่อย "น้ำเสีย" ออกมาสู่ภายนอกจนปนเปื้อนแหล่งน้ำสาธารณะ โดยเฉพาะ "ห้วยน้ำพุ" ซึ่งตั้งอยู่ชิดกับโรงงาน ทำให้ประชาชนในพื้นตำบลน้ำพุซึ่งอยู่ตอนล่างของลำน้ำและโรงงานได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เพราะนอกจากจะทำให้ในลำห้วยนอกจากจะมีกลิ่นเหม็นรุนแรงแล้ว ต่อมายังถูกตรวจพบว่ายังมีสารมลพิษปนเปื้อน จนมีการประกาศเตือนให้ "ระงับการใช้น้ำ" ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ ขณะที่เกษตรกรก็ไม่สามารถนำน้ำในลำห้วยไปใช้ในการทำเกษตรกรรมได้ดังเดิม
สิ่งที่ตามมาจึงคือความเสียหายของพืชผล รวมทั้งลำไยซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ/ส่งออกที่สร้างชื่อเสียงของตำบลน้ำพุ เกษตรกรจำนวนหนึ่งได้พยายามลงทุนขุดเจาะน้ำบาดาลด้วยตนเองเป็นเงินหลักล้านบาทเพื่อกอบกู้ความเสียหาย แต่ก็พบว่าน้ำจากบ่อบาดาลหลายบ่อบนที่ดินของประชาชนที่อยู่ใกล้กับลำห้วยและโรงงานมีกลิ่นเหม็นฉุนคล้ายกลิ่นน้ำชะขยะอุตสาหกรรม และเมื่อนำไปตรวจสอบก็พบว่ามีสารอันตรายปนเปื้อน เกษตรกรชาวสวนลำไยบางคนจึงจำต้องปล่อยให้ลำไยอายุหลายสิบปีและเคยให้ผลผลิตที่มีคุณภาพต้องยืนต้นตายนับพันต้น[6] และพืชผลต่างๆ ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบก็ขายไม่ได้ราคา และถูกตัดออกจากมาตรฐานการรับรองสินค้าเกษตร (GAP) ของกรมวิชาการเกษตร เกษตรกรในพื้นที่จึงต้องประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจจากเหตุดังกล่าว
ลำไยที่เกษตรกรจำต้องให้ยืนต้นตาย (ภาพ: กานต์ ทัศนภักดิ์)
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา ภายหลังจากการร้องเรียนของประชาชนถึงปัญหากลิ่นเหม็นและน้ำเสียจากโรงงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้กรมควบคุมมลพิษได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเก็บตัวอย่างน้ำนำไปตรวจวิเคราะห์หลายครั้ง ดังตัวอย่างเช่น[7]
พ.ศ. 2549 กรมควบคุมมลพิษได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง 3 ครั้ง และพบปัญหากลิ่นเหม็นของสารเคมีและน้ำมันที่ผ่านการใช้แล้ว รวมทั้งพบว่าในพื้นที่ของสถานประกอบการมีกลิ่นเหม็นรุนแรง อันเป็นสภาพที่อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยแก่บุคคลที่อยู่ในสถานประกอบการได้
นอกจากนั้น จากผลการตรวจวิเคราะห์ยังพบการปนเปื้อนสารเคมีในแหล่งน้ำสาธารณะ บ่อน้ำใช้ของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง และบ่อสังเกตการณ์ในพื้นที่โรงงาน โดยในบ่อสังเกตการณ์พบว่ามีค่าโลหะหนัก คือ ตะกั่ว นิกเกิล และสังกะสี และค่าสารอินทรีย์ระเหยง่าย คือ โทลูอีน (Toluene) ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 20 (พ.ศ. 2537) เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดิน กรมควบคุมมลพิษจึงได้ประสานแจ้งผลการตรวจสอบไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลรางบัว จังหวัดราชบุรี และกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อพิจารณาสั่งระงับการประกอบกิจการโรงงานจนกว่าจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
พ.ศ. 2552 จากการตรวจวิเคราะห์โดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่าค่านิกเกิลในสระน้ำใช้ของประชาชน และค่าตะกั่วในห้วยน้ำพุ ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพแหล่งน้ำผิวดินประเภทที่ 3 ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2537)
พ.ศ. 2556 กรมควบคุมมลพิษได้ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ แต่สามารถตรวจสอบได้เฉพาะบริเวณโดยรอบโรงงาน ไม่สามารถเข้าไปตรวภายในโรงงานได้ เนื่องจากทางโรงงานแจ้งว่าไม่มีผู้นำตรวจและไม่สามารถติดต่อเจ้าของโรงงานเพื่อขออนุญาตเข้าตรวจสอบได้
ผลจากการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำครั้งดังกล่าวพบว่า บ่อน้ำบาดาลของประชาชนด้านทิศใต้ของโรงงานจำนวน 2 จุด คือ บ่อน้ำบ้านนายอำนาจ ปัจฉญานันท์ และบ่อน้ำบ้านนายเฮียง งามยิ่งยวด มีค่าไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดิน และในครั้งนั้น กรมควบคุมมลพิษได้ประสานงานไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลรางบัว จังหวัดราชบุรี และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้แก้ไขปัญหา และให้แจ้งเตือนประชาชน “ระงับการใช้น้ำ” ในบ่อน้ำบาดาลที่ตรวจสอบเพื่อการบริโภค เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย
พ.ศ. 2557 ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเก็บตัวอย่างน้ำจากสระน้ำในโรงงาน ลำห้วยสาธารณะ สระน้ำ และบ่อน้ำของประชาชนบริเวณโดยรอบโรงงานไปตรวจวิเคราะห์โดยกรมควบคุมมลพิษ และพบว่าบ่อน้ำบาดาลของประชาชนจำนวน 2 จุด คือ บ่อน้ำบ้านนายอำนาจ ปัจฉญานันท์ และบ่อน้ำบ้านนายเฮียง งามยิ่งยวด ยังคงมีค่าไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดิน กรมควบคุมมลพิษจึงได้รายงานผลการตรวจสอบให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดราชบุรีดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
พ.ศ. 2557-2559 กรมควบคุมมลพิษได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำใต้ดินอีก 3 ครั้ง คือวันที่ 30 กันยายน 2557 วันที่ 7 กรกฎาคม 2558 และ 14 มิถุนายน 2559 และเมื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ก็พบว่า คุณภาพน้ำในบ่อสังเกตการณ์และบ่อน้ำของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงโรงงานไปทางทิศใต้ มีค่าสารอินทรีย์ระเหยง่าย และโลหะหนักไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดิน ขณะเดียวกันผลจากการศึกษาทิศทางการไหลของน้ำใต้ดินโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทบ.) ก็ยืนยันว่า น้ำดังกล่าวได้ไหลมาจากบริเวณภายในโรงงานไปยังแหล่งน้ำคือห้วยน้ำพุและพื้นที่ของประชาชน
ภายหลังจากนั้น ภายหลังจากที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนตำบลน้ำพุว่า น้ำในลำห้วยมีกลิ่นคล้ายสารเคมี อุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี ได้ขอความอนุเคราะห์กรมควบคุมมลพิษในการตรวจพิสูจน์หาสาเหตุ โดยการเก็บตัวอย่างน้ำผิวดินจากห้วยน้ำพุและน้ำซับในพื้นที่ของประชาชนบริเวณใกล้เคียงโรงงาน รสม 4 จุด ในครั้งนั้น ได้มีขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 ก่อนที่กรมควบคุมมลพิษจะรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ออกมาว่าพบการปนเปื้อน และสรุปอย่างชัดเจนว่ามีการแพร่กระจายของมลพิษจากโรงงานออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก
“การตรวจวิเคราะห์น้ำผิวดินบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงโรงงาน พบการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่าย ในบริเวณที่ติดกับโรงงานและบริเวณที่อยู่ใต้โรงงานในระยะประมาณ 500 เมตร โดยเป็นชนิดสารกลุ่มน้ำมัน/สารสังเคราะห์ และตัวทำละลายที่ใช้มากในภาคอุตสาหกรรม สอดคล้องกับผลที่กรมควบคุมมลพิษ เคยตรวจพบในน้ำชะขยะของโรงงาน น้ำใต้ดินในบ่อสังเกตการณ์ และบ่อน้ำของประชาชน
ขณะที่บริเวณต้นห้วยและท้ายห้วยน้ำพุ ตรวจไม่พบสารอินทรีย์ระเหยง่าย และทุกจุดตรวจไม่พบสารฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ ประกอบกับผลการตรวจโรงงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ก็พบการรั่วไหลหรือรั่วซึมของบ่อรวบรวมน้ำภายในโรงงานลงสู่ลำรางข้างเคียง จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่า การปนเปื้อนของน้ำผิวดินมีการแพร่กระจายมาจากโรงงานของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ ประกอบกับโรงงานเคยประสบเหตุเพลิงไหม้มาแล้วเป็นจำนวนถึง 5 ครั้ง โดยเกิดขึ้นภายในปี 2559 ถึง 3 ครั้ง ซึ่งแสดงถึงความไม่ระมัดระวังในการประกอบกิจการของโรงงาน และส่งผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงมาโดยตลอด”[8]
โดยผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำของกรมควบคุมมลพิษ จำนวน 5 ครั้ง พบสารอินทรีย์ระเหยง่ายเกินเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 5 ชนิด คือ ซิส-1,2-ไดคลอโรเอทธิลีน เบนซีน 1,1,2-ไตรคลอโรอีเทน 1,2-ไดคลอโรอีเทน และไตรคลอโรเอทธิลีน โดยพบว่าพารามิเตอร์ที่มีการปนเปื้อนสูง คือ สาร ซิส-1,2-ไดคลอโรเอทธิลีน และพบว่าสาร 1,1,2-ไตรคลอโรอีเทนได้ปนเปื้อนในน้ำบาดาลระดับลึก และในส่วนของสารโลหะหนักในน้ำใต้ดิน พบสารโลหะหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 4 ชนิด คือ นิกเกิล แมงกานีส ตะกั่ว และสารหนู ตารางที่ 3.2 สรุปปริมาณสารที่ตรวจพบในแต่ละครั้ง โดยพบว่าพารามิเตอร์ที่เป็นปัญหาสำคัญ คือ สารนิกเกิล ที่มีการปนเปื้อนทั้งภายในบ่อสังเกตการณ์ และภายในบ่อน้ำของประชาชน[9]
อนึ่ง ในช่วงปี 2556-2559 กรมควบคุมมลพิษมลพิษและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ดำเนินการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โรงงานและบริเวณพื้นที่รอบโรงงาน รวมทั้งแหล่งน้ำสาธารณะอย่างต่อเนื่อง โดยผลจากการตรวจสอบแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามลพิษที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงานของบริษัทฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารอินทรีย์ระเหยง่าย และสารโลหะหนัก ได้รั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก และมีการปนเปื้อนลงไปถึงชั้นน้ำใต้ดิน[10]
โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลยังได้วิเคราะห์ทิศทางการไหลของน้ำโดยพิจารณาจากข้อมูลความลึกของบ่อ ระดับน้ำบาดาล ความสูงของภูมิประเทศ ข้อมูลด้านธรณีวิทยา และข้อมูลชั้นดินชั้นหินจากบ่อน้ำบาดาล เพื่อจัดทำภาพตัดขวางแสดงการวางตัวของชั้นดินชั้นหิน และระดับน้ำใต้ดินในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งทำให้พบว่า น้ำบาดาลบริเวณบ่อสังเกตการณ์ที่ 3 ด้านทิศตะวันออกของโรงงาน และบ่อสังเกตการณ์ที่ 1 ด้านทิศตะวันตกของโรงงานมีค่าความสูงของระดับน้ำหรือค่าเฮดสูงกว่าระดับน้ำในบ่อน้ำของประชาชนซึ่งมีค่าเฮดต่ำกว่า โดยจะไหลจากบริเวณโรงงานไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และไหลลงห้วยน้ำพุกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงมีความเห็นว่า
“...มีแนวโน้มว่าจะมีการปนเปื้อนมาจากบริเวณโรงงาน เนื่องจากโลหะหนักและสารอินทรีย์ระเหยง่ายมักมีแหล่งกำเนิดมาจากอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสารอินทรีย์ระเหยง่ายมักไม่พบในปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลง และจากผลการตรวจพบสารอินทรีย์ระเหยง่าย จำพวก 1,2-ไดคลอโรอีเทน และ 1,1,2-ไตรคลอโรอีเทน เกินค่ามาตรฐานน้ำใต้ดิน บ่งชี้ว่าการปนเปื้อนได้กระจายลงไปถึงชั้นน้ำบาดาลระดับลึกแล้ว จึงควรมีการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำ และหาสาเหตุของการปนเปื้อนของสารเหล่านี้ในขั้นรายละเอียดต่อไป”[11]
ด้านกรมควบคุมมลพิษก็ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการปนเปื้อนของสารมลพิษในน้ำใต้ดินว่า
“..ผลสรุปการตรวจวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อมของกรมควบคุมมลพิษและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีความสอดคล้องตรงกันว่า มีการปนเปื้อนในนำใต้ดินภายในโรงงานและสิ่งแวดล้อมภายนอกเกินเกณฑ์มาตรฐานและทิศทางการไหลของน้ำใต้ดิน ก็ยืนยันและบ่งชี้ว่าการปนเปื้อนของน้ำใต้ดินภายในโรงงานดังกล่าวได้แพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก ต้องมีการเร่งรัดให้เกิดการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยเร็ว...”[12]
พื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ติดกับบริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด (ภาพ: กานต์ ทัศนภักดิ์)
14 มิถุนายน 2559 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ตรวจพบสารไวนิลคลอไรด์ที่บ่อสังเกตการณ์ด้านทิศใต้ (G3) ในปริมาณ 8.6 ไมโครกรัมต่อลิตร บ่อน้ำบ้านนายอำนาจและบ้านนายเฮียง ในปริมาณ 22 และ 13 ไมโครกรัมต่อลิตร ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 2 ไมโครกรัมต่อลิตร[13] อีกทั้งในช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2559 กรมทรัพยากรน้ำบาดาลยังตรวจพบการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่าย บางชนิดที่กรมควบคุมมลพิษไม่ได้ตรวจ เช่น ไวนิลคลอไรด์ โบรโมไดคลอโรอีเทน คาร์บอนไดซัลไฟด์ คลอโรเบนซีน และคลอโรฟอร์ม
นอกจากลงการเก็บตัวอย่างน้ำและนำไปตรวจวิเคราะห์หลายครั้งแล้ว กรมควบคุมมลพิษยังได้เคยทำการตรวจวัดไอสารอินทรีย์ระเหยในดิน จำนวน 22 จุด เมื่อวันที่ 7 - 8 กรกฎาคม 2558 โดยตรวจวัดในบริเวณพื้นที่โรงงาน 8 จุด พื้นที่บ้านของประชาชนและพื้นที่สาธารณะรอบบริเวณโรงงาน 12 จุด และพื้นที่เกษตรกรรมจำนวน 2 จุด[14] จากการตรวจวัดพบการปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยจำนวน 19 จุด โดยในพื้นที่โรงงานพบการปนเปื้อนทุกจุด มีค่าอยู่ระหว่าง 0.1-40.4 ส่วนในล้านส่วน ค่าสูงสุดอยู่บริเวณด้านข้างฝั่งติดลำห้วย และจุดที่มีค่าสูงรองลงมามีค่า 14.4 ส่วนในล้านส่วน คือ บริเวณหลุมฝังกลบใหม่ ส่วนในพื้นที่บ้านของประชาชนและพื้นที่สาธารณะรอบบริเวณโรงงานพบการปนเปื้อนจำนวน 4 จุด มีค่าอยู่ระหว่าง 0.1-1.3 ส่วนในล้านส่วน และพบการปนเปื้อนในพื้นที่เกษตร จำนวน 2 จุด ซึ่งมีค่าสูงสุดที่ไร่มันสำปะหลัง บริเวณหลังโรงงาน มีค่า 0.9 ส่วนในล้านส่วน[15] โดยกรมควบคุมมลพิษได้นำข้อมูลผลการตรวจวัดดังกล่าวทั้งหมดมาวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนที่ระดับการปนเปื้อน ก่อนจะสรุปผลการวิเคราะห์ว่า
“...พื้นที่ที่พบความเข้มข้นของไอสารอินทรีย์ระเหยในดินสูงอยู่ภายในบริเวณพื้นที่ร้องเรียน และมีการแพร่กระจายออกไปยังพื้นที่บ้านเรือนของประชาชนและพื้นที่สาธารณะในทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาทิศทางการไหลของน้ำใต้ดินของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งพบว่าน้ำใต้ดินมีทิศทางการไหลจากทิศเหนือไปยังทิศตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น จึงสันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่า สารอินทรีย์ระเหยในพื้นที่ร้องเรียนแพร่กระจายตามทิศทางการไหลของน้ำใต้ดินไปยังบ้านเรือนของประชาชนและพื้นที่สาธารณะ...”[16]
ป้ายประกาศเตือนประชาชนให้ "ระงับการใช้น้ำ" (ภาพ: จามร ศรเพชรนรินทร์)
ทั้งนี้ กลุ่มวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer: IARC) ได้ระบุว่า สารอินทรีย์ระเหยง่ายหลายชนิดนั้นจัดเป็นสารก่อมะเร็ง[18] ขณะที่ องค์การพิทักษฺสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (US.EPA) ก็ได้ระบุว่า หากนำน้ำที่มีที่มีการปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่มีค่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดินดัไปบริโภคเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายมนุษย์ เช่น ตับ ไต ภูมิคุ้มกัน และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง[19]
ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 คพ. ได้ส่งรายงานผลตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างกากสารเคมีไปสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี และหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง โดยผลการวิเคราะห์ระบุว่า พบไอระเหยของสารอินทรีย์หลายชนิด เช่น โทลูอีน เอทิลเบนซีน และไซลีน เป็นต้น สารกลุ่มนี้จัดเป็นสารตัวทำละลายอินทรีย์ (Organic Solvents) ซึ่งมักจะใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตสี ดังนั้นตัวอย่างกากสารเคมีที่บริษัทแวกซ์ กาเบจฯ รับมารีไซเคิลจึงเข้าข่ายเป็นของเสียเคมีวัตถุ (วัตถุอันตรายชนิดที่ 3) ซึ่งตามกฎหมายวัตถุอันตรายระบุว่า การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
ภายหลังการร้องเรียนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาร่วม 20 ปี และมีเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานลงพื้นที่ตรวจสอบและรายงานผลออกมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ปัญหาของประชาชนในพื้นที่ก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขให้หมดไปและยังคงเกิดขึ้นซ้ำๆ ไม่หยุดหย่อน ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจึงตัดสินใจนำคดีก่อนที่จะตัดสินใจนำคดีขึ้นสู่ศาลในปี 2560
ธนู งามยิ่งยวด, ประธานเครือข่ายคนรักษ์ต้นน้ำ และเกษตรกรผู้เพาะปลูกลำไย (ภาพ: กานต์ ทัศนภักดิ์)
การฟ้องร้องคดี
การฟ้องร้องคดีทั้งสองคดีนี้ เกิดขึ้นภายหลังจากที่ประชาชนซึ่งอาศัยและประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งโรงงานทั้ง 9 ของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รวมถึงประชาชนที่ต้องพึ่งพาน้ำจาก “ห้วยน้ำพุ” ลำน้ำสาธารณะที่ไหลผ่านข้างพื้นที่ตั้งโรงงานมาอุปโภคบริโภคและใช้ในการทำเกษตรกรรม ได้ร่วมกันร้องเรียนขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานภาครัฐทั้งในพื้นที่ จังหวัดราชบุรี และส่วนกลาง ถึงปัญหาและผลกระทบ ภายหลังการเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ไปตรวจพิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่าโดยหลากหลายหน่วยงาน การตั้งข้อสังเกตถึงความเสี่ยงด้านมลพิษกระทั่งการประกาศเตือนประชาชนให้งดใช้น้ำในลำห้วยเนื่องจากตรวจพบสารโลหะหนักเจือปนโดยหน่วยงานรัฐเอง การแต่งตั้งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบแก้ไขปัญหาร่วมสิบชุด การออกหนังสือคำสั่งให้บริษัทหยุดประกอบกิจการช่วยคราวและทำการแก้ไขปรับปรุงโรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนหลายต่อหลายฉบับ แต่ปัญหาความเดือดร้อนก็ยังคงไม่ยุติ ประชาชนในพื้นที่จึงตัดสินใจนำคดีขึ้นสู่ศาล ภายหลังจากที่แบกรับผลกระทบและความเดือดร้อนเป็นเวลาร่วม 2 ทศวรรษ[20]
โดยตัวแทนชุมชนตำบลน้ำพุ ทั้ง 3 คนและทนายความได้ยื่นคำฟ้องคดีต่อศาลแพ่งแผนกสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 เพื่อเรียกร้องให้บริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้แก่ประชาชนทั้งชุมชนที่ได้รับผลกระทบ โดยแบ่งออกเป็น 1. ค่ารักษาพยาบาลจากอาการเจ็บป่วยจากการสูดดมกลิ่นเหม็นของสารเคมี 2. ค่าเสื่อมสุขภาพร่างกายอนามัย 3. ค่าชดเชยสำหรับผลผลิตและทรัพย์สินที่เสียหาย 4. ค่าขาดประโยชน์จากการใช้แหล่งน้ำธรรมชาติ 5. ค่าถูกละเมิดสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม รวมเป็นเงิน 500 ล้านบาท[21] ซึ่งศาลได้ประทับรับฟ้องเป็น "คดีแบบกลุ่ม" คดีแรกของประเทศไทย
นอกจากนั้น ต่อมาในวันที่ 24 เมษายน 2560 ประชาชนชาวตำบลน้ำพุ ยังได้ร่วมกับชาวตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี และนายศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง[22] เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ได้แก่ อุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลรางบัว ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับบริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ ดำเนินการฟื้นฟูสภาพความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนมาเป็นปกติ รวมถึงให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4[23] ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าชดเชยให้แก่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้แหล่งน้ำ น้ำใต้ดิน การเจ็บป่วยทางสุขภาพร่างกายและจิตใจ และพืชผลการเกษตรเสียหาย เป็นเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
การฟ้องร้องคดีทั้งสองคดีนี้ เกิดขึ้นภายหลังจากที่ประชาชนซึ่งอาศัยและประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งโรงงานทั้ง 9 ของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รวมถึงประชาชนที่ต้องพึ่งพาน้ำจาก “ห้วยน้ำพุ” ลำน้ำสาธารณะที่ไหลผ่านข้างพื้นที่ตั้งโรงงานมาอุปโภคบริโภคและใช้ในการทำเกษตรกรรม ได้ร่วมกันร้องเรียนขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานภาครัฐทั้งในพื้นที่ จังหวัดราชบุรี และส่วนกลาง ถึงปัญหาและผลกระทบ ภายหลังการเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ไปตรวจพิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่าโดยหลากหลายหน่วยงาน การตั้งข้อสังเกตถึงความเสี่ยงด้านมลพิษกระทั่งการประกาศเตือนประชาชนให้งดใช้น้ำในลำห้วยเนื่องจากตรวจพบสารโลหะหนักเจือปนโดยหน่วยงานรัฐเอง การแต่งตั้งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบแก้ไขปัญหาร่วมสิบชุด การออกหนังสือคำสั่งให้บริษัทหยุดประกอบกิจการช่วยคราวและทำการแก้ไขปรับปรุงโรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนหลายต่อหลายฉบับ แต่ปัญหาความเดือดร้อนก็ยังคงไม่ยุติ ประชาชนในพื้นที่จึงตัดสินใจนำคดีขึ้นสู่ศาล ภายหลังจากที่แบกรับผลกระทบและความเดือดร้อนเป็นเวลาร่วม 2 ทศวรรษ[24]
ปัจจุบันทั้งสองคดีอยู่ในชั้นศาล
บริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด (ภาพ: กานต์ ทัศนภักดิ์)
สถานการณ์ล่าสุด
แม้จะมีการฟ้องคดีแล้ว แต่ปมปัญหาใหญ่หรือข้อโต้แย้งว่า ที่มาของการปนเปื้อนมลพิษในแหล่งน้ำธรรมชาติเกิดจากจุดใดบ้างในพื้นที่โรงงาน ซึ่งมีขนาดกว่า 300 ไร่ ก็ยังคงไม่ได้รับคำตอบหรือการชี้ชัด กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จึงได้ติดต่อขอการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทบ.) เข้าทำมาเจาะสำรวจพื้นที่โรงงานทั้งหมดเพื่อตรวจสอบหาแหล่งกำเนิดของการปนเปื้อน
กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงได้จัดทำ "โครงการประเมินขอบเขตและแนวทางการฟื้นฟูสารอันตรายในแหล่งน้ำบาดาลบริเวณตำบลน้ำพุ อำเภอเมืองราชบุรี และตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารายละเอียดลักษณะของพื้นที่ สถานการณ์ความรุนแรงของปัญหา และขอบเขตการปนเปื้อน ตลอดจนการศึกษาแนวทางการฟื้นฟูแหล่งน้ำบาดาล วิธีการแก้ปัญหาผลกระทบจากการปนเปื้อนน้ำบาดาลให้ยุติ ลดการแพร่กระจายของมลพิษในแหล่งน้ำใต้ดินและสิ่งแวดล้อม รวมถึงศึกษาแนวทางการประเมินความเสียหายต่างๆ และการเผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์ของการปนเปื้อนทั้งด้านขอบเขตและความรุนแรงให้ประชาชนรับทราบ เป็นต้น
16 มกราคม 2563 กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีเพื่อขอความอนุเคราะห์แจ้งให้บริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและอนุญาตให้เข้าดำเนินการในพื้นที่ของโรงงาน ทางจังหวัดราชบุรีจึงได้มีการประชุมคณะทำงานฯ อีกครั้งในวันพุธที่ 27 พฤษภาคม 2563 โดยวาระการประชุม คือ "เสนอให้ที่ประชุมพิจารณา การเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินโรงการประเมินขอบเขตการปนเปื้อน และแนวทางฟื้นฟูสารอันตรายในแหล่งน้ำบาดาลบริเวณตำบลน้ำพุ อำเภอเมืองราชบุรี และตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล" ซึ่งในที่ประชุมนั้น กรมทรัพยากรน้ำดาบาลได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการฯ รวมถึงแสดงขั้นตอนการทำงาน แผนและจุดเจาะสำรวจด้วยเครื่อง MIP ซึ่งที่ประชุมมีมติเป็นทางการเห็นชอบกับขั้นตอน แผนและจุดเจาะสำรวจดังกล่าว
ต่อมาในวันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม 2563 ประชาชนในพื้นที่ตำบลน้ำพุได้ทำหนังสือสอบถามกำหนดเวลาในการดำเนินงานของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดราชบุรี และได้ทราบจากอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรีว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้นัดพูดคุยกับฝ่ายโรงงานและอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรีแล้ว และทางโรงงานยินยอมให้คณะทำงานฯ และผู้แทนขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมสังเกตการณ์การดำเนินงานเจาะสำรวจในพื้นที่โรงงาน แต่ต่อมามีการเปลี่ยนเงื่อนไขว่า ให้เฉพาะกรมทรัพยากรน้ำบาดาลและกรมโรงงานอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี เข้าไปดำเนินการในโรงงานได้ แต่ไม่ยินยอมให้ประชาชนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และคณะทำงานจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสังเกตการณ์ นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่า ทางโรงงานได้ขอให้ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาล "เปลี่ยนจุดเจาะสำรวจ" ซึ่งต่างจากพิกัดที่กำหนดในแผนการเจาะสำรวจ ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้รายงานต่อคณะทำงานฯ และผ่านการเห็นชอบแล้วจากที่ประชุม
13 กรกฎาคม 2563 "เครือข่ายคนรักษ์ต้นน้ำจังหวัดราชบุรี" และประชาชนชาวตำบลน้ำพุ จึงตัดสินใจเดินทางมายื่นหนังสือถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรม โดยเรียกร้องให้มีการทบทวนการดำเนินโครงการเจาะสำรวจหาแหล่งกำเนิดและขอบเขตการปนเปื้อนมลพิษภายในพื้นที่โรงงาน ให้ดำเนินการไปอย่างเปิดเผย โปร่งใส
โดยในเบื้องต้นควรยุติการปิดกั้นการมีส่วนร่วมในการเข้าสังเกตการณ์ของประชาชน หน่วยงานท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และควรเปิดให้สื่อมวลชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ ทั้งนี้เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย และเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเชื่อมั่น ศรัทธา และไว้วางใจต่อหน่วยงานภาครัฐของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงสาธารณชนที่ติดตามการแก้ไขปัญหา.
[1] กระทรวงอุตสาหกรรม, ที่ ป41/2543, ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน, ร.ง.4 ลำดับที่ 1, ทะเบียนโรงงานเลขที่ จ.3-4-45(1)-1/43 รบ, ประเภทหรือชนิดของโรงงานลำดับที่ 45(1), 40(1), 53(5), 97, อนุญาตให้ บริษัทนิ้วเจริญ รีไซเคิล เพนท์ จำกัด, ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2543.
[2] สำนักอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี, ที่ 030331 ร.ง.3, คำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน, บริษัทนิ้วเจริญ รีไซเคิล เพนท์ จำกัด, 25 มีนาคม 2545.
[3] “ลักษณะธุรกิจ”, เว็บไซต์บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด. http://www.waxga.co.th/information.html
[4] เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง และกานต์ ทัศนภักดิ์ บรรณาธิการ, “ห้วยน้ำพุ”, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, เมษายน 2561, หน้า 33.
[5] หนังสือกองตรวจมลพิษ, ที่ วว 0301 (1)/779, ถึงนายธนู งามยิ่งยวด, เรื่อง กลิ่นเหม็นสารเคมี ทินเนอร์ และน้ำเสียจากโรงงานรีไซเคิลขยะ, ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2544.
[6] สัมภาษณ์ ธนู งามยิ่งยวด, ประธานเครือข่ายคนรักษ์ต้นน้ำ และเกษตรกรผู้เพาะปลูกลำไย - ชาว ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี, กุมภาพันธ์ 2563.
[7] กอบกุล รายะนาคร และคณะ, "การจัดการของเสียอุตสาหกรรมและของเสียนำเข้า", อ้างแล้ว, หน้า 82-83.
[8] หนังสือกรมควบคุมมลพิษที่ ทส 0307/79, ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี, เรื่อง รายงานผลการตรวจสอบกรณีกลิ่นเหม็นในห้วยน้ำพุ, ลงวันที่ 5 มกราคม 2560. เน้นคำโดยผู้เขียน.
[9] กอบกุล รายะนาคร และคณะ, "การจัดการของเสียอุตสาหกรรมและของเสียนำเข้า", อ้างแล้ว, หน้า 120.
[10] เพิ่งอ้าง, หน้า 120.
[11] สำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล, “รายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่และร่วมประชุมพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน บริเวณพื้นที่ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง และตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี”, ม.ป.ป., หน้า 20. อ้างใน กอบกุล รายะนาคร และคณะ, "การจัดการของเสียอุตสาหกรรมและของเสียนำเข้า", อ้างแล้ว, หน้า 125. เน้นคำโดยผู้เขียน.
[12] หนังสือกรมควบคุมมลพิษ, ที่ ทส 0307/815... (ตัวเลขไม่ชัดเจน), ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี, เรื่อง ผลการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในโรงงานและบริเวณรอบนอกของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด, ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2559. อ้างใน กอบกุล รายะนาคร และคณะ, "การจัดการของเสียอุตสาหกรรมและของเสียนำเข้า", อ้างแล้ว, หน้า 125. เน้นคำโดยผู้เขียน.
[13] รายงานการตรวจสอบคุณภาพน้ำบาดาลภายในโรงงานและบริเวณโดยรอบ บริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด, กรมทรัพยากรน้ำบาดาล, พฤษภาคม-มิถุนายน 2559. อ้างใน กอบกุล รายะนาคร และคณะ, "การจัดการของเสียอุตสาหกรรมและของเสียนำเข้า", อ้างแล้ว, หน้า 125.
[14] กอบกุล รายะนาคร และคณะ, "การจัดการของเสียอุตสาหกรรมและของเสียนำเข้า", อ้างแล้ว, หน้า 131.
[15] เพิ่งอ้าง, หน้า 132.
[16] สินีนาฎ บุญวิริยะ, ผลการดำเนินการติดตามตรวจสอบการปนเปื้อนมลพิษในดินและน้ำใต้ดินบริเวณพื้นที่ร้องเรียน, สำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ, ตุลาคม 2558, หน้า 1. อ้างใน กอบกุล รายะนาคร และคณะ, "การจัดการของเสียอุตสาหกรรมและของเสียนำเข้า", อ้างแล้ว, หน้า 132.
[17] กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, “Diffusion Sampler กับการศึกษาการปนเปื้อนในสารอินทรีย์ระเหยในน้ำใต้ดิน”, คลังความรู้, เว็บไซต์กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. http://www.deqp.go.th/knowledge/สารพ-ษและขยะม-ลฝอย/diffusion-sampler-ก-บการศ-กษาการปนเป-อนในสารอ-นทร-ย-ระเหยในน-ำใต-ด-น/ อ้างใน กอบกุล รายะนาคร และคณะ, "การจัดการของเสียอุตสาหกรรมและของเสียนำเข้า", อ้างแล้ว, หน้า 125.
[18] International Agency for Research on Cancer: IARC, “Agents Classified by the IARC Monographs”, Volumes 1–117. อ้างใน กอบกุล รายะนาคร และคณะ, "การจัดการของเสียอุตสาหกรรมและของเสียนำเข้า", อ้างแล้ว, หน้า 125.
[19] หนังสือสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, ที่ ผผ 09/1430 (ด่วนที่สุด), ถึง นายไฟฑูรย์ ปัจนา และคณะ, เรื่อง แจ้งผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน, ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2559, หน้า 3.
[20] การร้องเรียนครั้งแรกมีขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2544 โดยประชาชนในพื้นที่ ต.รางบัว อ.เมือง ได้ร้องเรียนไปยังกรมควบคุมมลพิษถึงปัญหาความเดือดร้อนรำคาญจากกลิ่นเหม็นของสารเคมีและทินเนอร์ รวมทั้งความวิตกว่าเศษขยะและสารเคมีจากโรงงานอาจไหลลงสู่แหล่งน้ำ. เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง และกานต์ ทัศนภักดิ์ บรรณาธิการ, “ห้วยน้ำพุ”, อ้างแล้ว, หน้า 32.
[21] “ชาวบ้านน้ำพุ ฟ้องเรียก500ล้าน! บ.กำจัดกากขยะอุตฯ ก่อมลพิษมายาวนาน”, ไทยรัฐออนไลน์, 11 เมษายน 2560. https://www.thairath.co.th/news/local/central/911165
[22] "ชาวราชบุรียื่นศาลปกครองฟ้องอุตสาหกรรม จว.จี้ถอนใบอนุญาตโรงงานกำจัดขยะ", MGR Online, 24 เมษายน 2560. https://mgronline.com/politics/detail/9600000041228
[23] อุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลรางบัว ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม.
[24] การร้องเรียนครั้งแรกมีขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2544 โดยประชาชนในพื้นที่ ต.รางบัว อ.เมือง ได้ร้องเรียนไปยังกรมควบคุมมลพิษถึงปัญหาความเดือดร้อนรำคาญจากกลิ่นเหม็นของสารเคมีและทินเนอร์ รวมทั้งความวิตกว่าเศษขยะและสารเคมีจากโรงงานอาจไหลลงสู่แหล่งน้ำ. เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง และกานต์ ทัศนภักดิ์ บรรณาธิการ, “ห้วยน้ำพุ”, อ้างแล้ว, หน้า 32.