รู้จัก “POPs” – สารมลพิษตกค้างยาวนาน กับความพยายามแก้ปัญหาในระดับนานาชาติ

กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ, 26 เมษายน 2566


 


 

ภาพ: กานต์ ทัศนภักดิ์
 


 

ท่ามกลางกระแสแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่กำลังโด่งดังทั้งในแวดวงนานาชาติ และเป็นนโยบายที่รัฐบาลไทยชูธง ประเด็นเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการรีไซเคิลและการจัดการของเสียที่ผิดหลักวิชาการยังไม่ค่อยได้รับการคำนึงถึงนักในสังคมไทย ทั้งๆ ที่มลพิษจากขยะทั้งที่เกิดในประเทศและที่นำเข้ามาจากต่างประเทศล้วนเป็นแหล่งกำเนิดของสารมลพิษที่มีศักยภาพคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมและร่างกายของเราเป็นเวลาเนิ่นนาน อีกทั้งปัจจุบันได้พบการปนเปื้อนของสารกลุ่มนี้ในประเทศไทยแล้ว...


 

สารมลพิษที่ว่าคือกลุ่มสารมลพิษตกค้างยาวนาน หรือ POPs (Persistent Organic Pollutants) ซึ่งด้วยชื่อเรียกก็บ่งบอกให้รับรู้ถึงคุณสมบัติหลักได้แล้ว นั่นคือ โครงสร้างทางเคมีที่เสถียรทำให้การย่อยสลายในธรรมชาติเป็นไปอย่างเชื่องช้า นอกจากจะทนทาน สารกลุ่ม POPs ยังมีขนาดเล็ก ทำให้แพร่กระจายในสิ่งแวดล้อมได้ไกล โดยเคยมีการตรวจพบสารกลุ่มนี้ไกลถึงขั้วโลกเหนือ ยิ่งกว่านั้น เมื่อมันไปถึงพื้นที่ใดแล้ว POPs ยังสามารถแทรกแซงสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศนั้นๆ เพราะกลุ่มสารนี้สามารถสะสมได้สูงในไขมัน ทำให้ตกค้างในสิ่งมีชีวิตได้ทุกชนิด รวมถึงมนุษย์


 

แม้ POPs บางชนิดมีแหล่งกำเนิดในธรรมชาติ (เช่นภูเขาไฟ) แต่ส่วนใหญ่เป็นสารเคมีที่สังเคราะห์โดยมนุษย์ และถูกนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม สาร POPs ที่ใช้ในภาคเกษตรส่วนใหญ่คือสารกำจัดศัตรูพืช เช่น ไดคลอโรไดฟีนิลไตรคลอโรอีเทน หรือ DDT (Dichlorodiphenyltrichloroethane) ส่วนในภาคอุตสาหกรรมมีการใช้สาร POPs เป็นสารแต่งเติมในพลาสติกหรือโฟม เพื่อช่วยลดความเร็วในการเผาไหม้หรือการติดไฟลุกไหม้ เช่นสารหน่วงการติดไฟที่มีองค์ประกอบของโบรมีน หรือ BFR (Brominated Flame Retardants) หรือ SCCPs (Short Chained Chlorinated Paraffins) สรรพคุณนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ POPs ถูกใช้เป็นสารแต่งเติมในผลิตภัณฑ์ที่ต้องเจอความร้อนสูง เช่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ด้วยเหตุนี้ การรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ขาดมาตรการป้องกันมลพิษจึงเป็นแหล่งปลดปล่อยหนึ่งของสาร POPs  


 

สาร POPs อีกชนิดหนึ่งที่ใช้อย่างแพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมคือกลุ่มเพอร์ฟลูออโรอัลคิลและโพลีฟลูออโรอัลคิล หรือ PFAS (Perfluoroalkyl and Polyfluoroalkyl Substances) เนื่องจากมีศักยภาพกันน้ำและกันไฟได้ ทำให้ถูกนำมาใช้เป็นสารแต่งเติมในผลิตภัณฑ์หลายๆ ชนิด เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร เสื้อผ้า อุปกรณ์ทางการแพทย์ น้ำยาดับเพลิง ดังนั้น PFAS จึงเป็นสารมลพิษตกค้างยาวนานที่พบได้ในผลิตภัณฑ์หลากหลายที่จัดจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป และเนื่องจากความสามารถคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้อย่างยาวนานนับร้อยปีของสาร PFAS จึงมีการตั้งชื่อเล่นอีกชื่อหนึ่งให้สาร PFAS ว่า Forever Chemical


 

นอกจากนั้น POPs ยังอาจถูกปลดปล่อยโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือที่เรียกว่า UPOPs (Unintentional Persistent Organic Pollutants) เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ของวัตถุซึ่งมีสารคลอรีนหรือโบรมีนเป็นองค์ประกอบ หรือเป็นสารพลอยได้จากการผลิตสารเคมีอื่นๆ ตัวอย่างที่น่าจะเป็นที่รู้จักที่สุดคือสารไดออกซิน (polychlorinated dibenzo-p-dioxins) และฟิวแรน (polychlorinated dibenzofurans) ไดออกซิน/ฟิวแรน เป็นสารมลพิษที่อาจพบในฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศ โดยเฉพาะในพื้นที่มีการประกอบอุตสาหกรรมที่มีการเผาเชื้อเพลิง เช่น เตาเผาขยะ โรงไฟฟ้าขยะ โรงงานรีไซเคิลและหล่อหลอมโลหะ/อโลหะ


 

ทุกวันนี้จึงพบการปนเปื้อนของสาร POPs ในพื้นที่ที่มีการรีไซเคิลขยะไม่ถูกหลักวิชาการในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย และนี่เองที่เป็น “รูรั่ว” ของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน


 

สาร POPs ที่กล่าวมาทั้งหมดมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระดับที่แตกต่างกันไป อาทิ ไดออกซิน/ฟิวแรนอาจส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ระบบประสาท และระบบสืบพันธุ์, SCCPs เป็นสารก่อกวนระบบต่อมไร้ท่อ ซึ่งอาจทำให้เกิดความบกพร่องทางฮอร์โมน 2,3,7,8-Tetrachlorodibenzo-para-dioxin (2,3,7,8-TCDD) ถือเป็นสารก่อมะเร็งตามการจำแนกขององค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) ส่วน PFAS ก็เคยมีงานวิจัยระบุว่า มีส่วนในการก่อให้เกิดโรคไทรอยด์ สร้างความเสียหายแก่ตับและไต ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์[1]


 

ความอันตรายและความแพร่หลายของสาร POPs ทำให้ประชาคมโลกหันมาจริงจังกับการควบคุมและเลิกใช้สารกลุ่มนี้ ด้วยการจัดตั้งอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษตกค้างยาวนาน (Stockholm Convention) ขึ้นในปี 2544 ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาดังกล่าวแล้วในปี 2548


 

ปัจจุบัน การประชุมรัฐภาคีของอนุสัญญาสตอกโฮล์ม ซึ่งปกติจะจัดทุกสองปี ได้กลายเป็นเวทีที่ประชาคมโลกต้องร่วมกันตัดสินใจว่าสาร POPs ชนิดไหนควรต้องถูกกำจัดและเลิกใช้ หรือต้องถูกควบคุมการผลิต ข้อบัญญัติของอนุสัญญาสตอกโฮล์มจึงอาจส่งผลให้ของเสียบางประเภทไม่สามารถถูกส่งออกไปกำจัดนอกประเทศด้วย หรือทำให้ของเสียที่มีการปนเปื้อน POPs สูงกว่าเกณฑ์ต้องถูกควบคุมเข้มงวดให้กำจัดอย่างถูกวิธี


 

ในปี 2566 นี้ การประชุมรัฐภาคีของอนุสัญญาสตอกโฮล์มกำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 12 พฤษภาคม ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยจะจัดควบคู่ไปกับการประชุมรัฐภาคีของอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกัน ได้แก่ อนุสัญญาบาเซล (Basel Convention)  และอนุสัญญารอตเตอร์ดัม (Rotterdam Convention) การประชุมจึงมีชื่อเรียกโดยย่อว่า BRS COPs (Basel-Rotterdam-Stockholm Conference of Parties)


 

กลุ่มอนุสัญญา BRS มีความสำคัญอย่างไรในการควบคุมมลพิษสาร POPs ผลของการประชุมในปีนี้จะมีผลอย่างไรต่อนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนและระบบการจัดการขยะของประเทศไทย ติดตามต่อได้ในเพจนี้

 


 

อ่านเพิ่มเติม:


 

“ทีมวิจัยไทย-เช็ก พบสารมลพิษตกค้างยาวนานรอบโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ จ. ฉะเชิงเทรา และจุดลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม จ. ปราจีนบุรี” , บทความมูลนิธิบูรณะนิเวศ EARTH, 15 ธันวาคม 2565. https://earththailand.org/th/article/6807


 

“บูรณะนิเวศ เผยผลตรวจเขตพัฒนาอุตฯ พบสารไดออกซิน-สารอินทรีย์อื่นปนเปื้อนสูงบางพื้นที่”, บทความมูลนิธิบูรณะนิเวศ EARTH, 24 พฤศจิกายน 2560. https://earththailand.org/th/article/4741


 


[1] https://theconversation.com/what-are-pfas-and-why-is-the-epa-warning-about-them-in-drinking-water-an-environmental-health-scientist-explains-185015?fbclid=IwAR361CVBCxY7JH17wPr8MKZ4R0tDKd0KI8P7A_JMzn_zlSB7XKD9LqHokLM