'บูรณะนิเวศ' เผยผลตรวจเขตพัฒนาอุตฯ พบสารไดออกซิน-สารอินทรีย์อื่นปนเปื้อนสูงบางพื้นที่ (24 พ.ย. 60)
ประชาไท 24 พฤศจิกายน 2560
'บูรณะนิเวศ' เผยผลตรวจเขตพัฒนาอุตฯ พบสารไดออกซิน-สารอินทรีย์อื่นปนเปื้อนสูงบางพื้นที่
มูลนิธิบูรณะนิเวศแถลงผลการศึกษาใกล้พื้นที่อุตสาหกรรม มีการปนเปื้อนของสารมลพิษตกค้างยาวนาน ที่ต้องควบคุมตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ เช่น ระยอง สมุทรสาคร ขอนแก่น ปราจีนบุรี และสระบุรี
24 พ.ย. 2560 มูลนิธิบูรณะนิเวศ รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา มูลนิธิบูรณะนิเวศร่วมกับสมาคมอาร์นิก้า จากสาธารณรัฐเชก จัดแถลงข่าวนำเสนอผลการศึกษาร่วมกัน เรื่องสารมลพิษตกค้างยาวนาน (Persistent Organic Pollutants) หรือที่เรียกกันว่า สาร POPs ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การศึกษาสารมลพิษตกค้างยาวนาน (Persistent Organic Pollutants: POPs) ในตัวอย่างสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ตะกอนดิน ขี้เถ้า และตัวอย่างสัตว์น้ำจากพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม 4 จังหวัด ได้แก่ พื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง เขตอุตสาหกรรมของ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ต. ท่าตูม จ.ปราจีนบุรี และ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งคือ สารมลพิษตกค้างยาวนาน (POPs) ในไข่ไก่ของประเทศไทย โดยเก็บตัวอย่างจากพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ต.ท่าตูม จ.ปราจีนบุรี อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และแหล่งอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จ.สระบุรี การศึกษาทั้งสองชุดดำเนินการในช่วงปี 2558-2560 โดยการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป และอื่นๆ
รายงานข่าวระบุว่า ชนิดและจำนวนของตัวอย่างสิ่งแวดล้อมที่มีการเก็บไปตรวจวิเคราะห์ของการศึกษาทั้งสอง 2 ชิ้น ประกอบด้วย ตัวอย่างตะกอนดิน (sediments) 108 ตัวอย่าง ดิน (soil) 3 ตัวอย่าง เถ้า (ash) 9 ตัวอย่าง และ อากาศ (air) 8 ตัวอย่าง (เฉพาะตัวอย่างอากาศตรวจวิเคราะห์สารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds: VOCs) เท่านั้น) ส่วนของการวิเคราะห์ตัวอย่างสัตว์น้ำ ซึ่งประกอบด้วยปลา (fish) 43 ตัวอย่าง หอย (molluscs) 3 ตัวอย่าง ปู (crab) 5 ตัวอย่าง และไข่ไก่ (egg) 12ตัวอย่าง เป็นการวิเคราะห์สาร POPs
สารที่วิเคราะห์แบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่คือ
1. กลุ่มสารมลพิษตกค้างยาวนานที่เกิดขึ้นโดยไม่จงใจ (U-POPs) ได้แก่ ไดออกซิน/ฟิวแรน (dioxins หรือPCDD/Fs), พีซีบี ที่คล้ายไดออกซิน (dioxin-like PCBs หรือ DL PCBs), ไดออกซินที่มีองค์ประกอบของโบรมีน (brominated dioxins หรือ PBDD/Fs), เฮกซะคลอโรเบนซีน (HCB), เพนตะคลอโรเบนซีน (PeCB), เฮกซะคลอโรบิวทาไดอีน (HCBD), และกลุ่มพีเอเอชอีก 16 ชนิด (16 PAHs homologues)
2. สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชและสัตว์กลุ่มออร์แกโนคลอรีน (Organochlorine pesticides) ได้แก่ เฮกซะคลอโรเบนซีน (HCB), เฮกซะคลอโรบิวทาไดอีน (HCBD), เฮกซะคลอโรไซโคลเฮกเซน (HCHs), ลินเดน (lindane), ดีดีที (DDT),เฮปตะคลอร์ (Heptachlor), อัลดริน (aldrin), คลอเดน (chlordane), เมทท็อกซีคลอร์ (methoxychlor), และ ไมเร็ก (mirex)
3. สาร POPs ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม คือ พีซีบี (PCBs)
4. สารหน่วงการติดไฟที่มีโบรมีน (Brominated flame retardants) ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มพีบีดีอี (PBDEs) 16 ชนิด, เฮกซะโบรโมไซโคบโดเดคเคน (HBCD), บีทีบีพีอี (1,2-bis (2,4,6-tribromo-fenoxy) ethane) หรือคำย่อว่า BTBPE, เฮกซะโบรโมเบนซีน (HBB), เพนตะโบรโมเอทิลเบนซีน (PBEB), เพนตะโบรโมโทลูอีน (PBT), และ
OBIND (oktabromtrimetylfenylindan)
การศึกษานี้สรุปความสำคัญได้ว่า ทุกพื้นที่ของศึกษามีการปนเปื้อนสาร POPs ซึ่งแม้ว่าปริมาณการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก แต่การพบการปนเปื้อนในไข่ไก่ที่ค่อนข้างสูงเป็นตัวบ่งชี้ว่า สาร POPs มีการกระจายเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ สารที่มีอันตรายสูงเหล่านี้จะเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของผู้คน อย่างน้อยก็คือผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น ทั้งนี้ พื้นที่ที่พบว่าไข่ไก่มีปริมาณสาร POPs สูงที่สุดและสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานของสหภาพยุโรป ได้แก่ พื้นที่สมุทรสาคร นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อื่นที่พบสาร POPs ในไข่ไก่สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าวด้วย ได้แก่ ไข่ไก่จากพื้นที่ อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี และ ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี
ผลการศึกษาเด่นๆ เฉพาะพื้นที่ที่พบการปนเปื้อนมากคือ
อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร บริเวณพื้นที่ประกอบกิจการรีไซเคิลขนาดเล็กและโรงงานหล่อหลอมโลหะ/อโลหะ ตัวอย่างสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำในพื้นที่นี้พบการปนเปื้อนสารไดออกซิน (Dioxin) และสารหน่วงการติดไฟ (BFRs) ในปริมาณสูง และพบสารไดออกซิน/ฟิวแรนประเภทโบรมีน (PBDD/Fs) สูงมากเป็นอันดับสอง และสูงกว่าตัวอย่างที่เคยมีการศึกษาในประเทศอื่นๆ สำหรับตัวอย่างไข่ไก่พบว่าหนึ่งในสองของตัวอย่างที่วิเคราะห์มีการปนเปื้อนสารไดออกซิน/ฟิวแรน = 84.04 นาโนกรัม/กิโลกรัม (นาโนกรัม WHO-TEQ/กิโลกรัมของไขมัน (ng WHO-TEQ/kg fat)) ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานสหภาพยุโรปถึง 33 เท่า และพบการปนเปื้อนสารไดออกซิน/ฟิวแรน รวมกับสารพีซีบี = 95.71 นาโนกรัม/กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานสหภาพยุโรปถึง 19 เท่า
พื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง ตรวจพบสารหน่วงการติดไฟ (BFRs) และสารเฮกซะคลอโรเบนซีน (HCB) ในปริมาณสูงจากบางพื้นที่ที่เก็บตัวอย่าง
อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น พบว่าไข่ไก่มีการปนเปื้อนสารกลุ่มพีเอเอช (PAHs) ในระดับสูง ซึ่งเป็นไข่ไก่จากชุมชนที่ใช้ขี้เถ้าผสมดินที่โรงงานนำมาแจกจ่ายให้ชาวบ้านใช้เป็นวัสดุปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่นี้
ผลการศึกษานี้พบข้อน่าห่วงใยเกี่ยวกับการสะสมของสารพิษที่ตรวจพบคือ
สารเฮกซะคลอโรเบนซีน (HCB) และเฮกซะคลอโรไซโคลเฮกเซน (HCHs) ที่พบในตัวอย่างไข่ไก่ส่วนใหญ่มีค่าสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานของประเทศไทย
พบสารกลุ่มออร์กาโนคลอรีนที่เป็นสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชและสัตว์มากที่สุดจากตัวอย่างที่นำมาวิเคราะห์ แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยได้ยกเลิกการใช้สารดีดีที (DDT) ไปนานแล้วก็ตาม
สารไดออกซินและสารพีซีบีที่คล้ายไดออกซิน (Dioxins และ DL PCBs) พบปริมาณสูงที่สุดในพื้นที่สมุทรสาคร ทั้งในตัวอย่างดินและไข่ไก่
สารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbons: PAHs) หรือกลุ่มสารพีเอเอช พบมากในพื้นที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยพบปริมาณพีเอเอชสูงมากในไข่ไก่จากแหล่งที่มีการใช้วัสดุปรับปรุงดินที่มาจากขี้เถ้าของโรงงาน การหล่อหลอมโลหะ และการเผาขยะและของเสีย
สารพีซีบี (PCBs) โดยทั่วไปตรวจพบในปริมาณต่ำมาก
พบสารหน่วงการติดไฟ กลุ่มพีบีดีอี (PBDEs) และสารเฮกซะโบรโมไซโคบโดเดคเคน (HBCD) ในปริมาณสูงจากตัวอย่างไข่ไก่ของพื้นที่ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร และพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง
สารต่างๆ ที่ตรวจพบครั้งนี้เป็นสารอันตรายที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพของคนได้ ตัวอย่างเช่น
สารไดออกซินมีอันตรายต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีผลกระทบต่อระบบประสาทและพัฒนาการทางสมองของเด็กอันตรายต่อระบบการสืบพันธุ์ของมนุษย์ ส่งผลให้ระบบการย่อยและเผาผลาญผิดปกติ รวมถึงการขัดขวางการทำงานปกิตของต่อมไร้ท่อ และมีบางชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง
กลุ่มของสารหน่วงการติดไฟที่มีโบรมีนเป็นองค์ประกอบ (BFRs) มีบางชนิดเป็นสารพิษที่อันตรายต่อระบบประสาท และมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้พัฒนาการของเด็กผิดปกติ เช่น เป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD) นอกจากนี้ยังเป็นอันตรายและก่อความเสียหายต่อสุขภาพส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง และเป็นอันตรายต่อระบบประสาทและพัฒนาการทางสมองของเด็ก รวมถึงขัดขวางการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อในร่างกาย
สารไดออกซินและสารพีซีบีที่คล้ายไดออกซินสามารถสะสมในไขมันของร่างกายมนุษย์และสัตว์เช่นเดียวกับสาร POPsอื่นๆ และนี่คือเหตุผลส่วนหนึ่งที่การศึกษาครั้งนี้ได้ใช้ไข่ไก่จากไก่ที่หากินตามธรรมชาติมาเป็นตัวบ่งชี้ว่าพื้นที่นั้นๆ มีสารอันตรายเหล่านี้ตกสู่พื้นและสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือไม่
ยินดิช เพทร์ลิค นักวิจัยหลักของโครงการ และผู้อำนวยการโครงการสารพิษและของเสีย สมาคมอาร์นิก้า สาธารณรัฐเชก กล่าวว่า "ผลการศึกษานี้บอกถึงการปนเปื้อนสารไดออกซิน และสารพีซีบีที่คล้ายไดออกซิน ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาครที่ค่อนข้างชัดเจน และควรมีการช่วยเหลือชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้โรงงานที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ โดยเฉพาะการติดตามต่อเนื่องถึงผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของเด็กในพื้นที่นี้”
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า “การศึกษาทั้งสองเรื่องเป็นการสำรวจเบื้องต้นและเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเฝ้าระวังผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรมที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มสารพิษตกค้างยาวนาน หรือสาร POPs ที่อนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ กำหนดให้ประเทศภาคีควรดำเนินมาตรการเพื่อลดการปล่อยสารพิษเหล่านี้สู่สิ่งแวดล้อม เพราะสารกลุ่มนี้มีอันตรายสูงต่อสุขภาพคน”
ทั้งนี้สาร POPs กลุ่มหลักที่ศึกษาในครั้งนี้ เป็นสารที่เกิดขึ้นเองจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ของเสีย และกระบวนการทางอุตสาหกรรมโดยไม่จงใจ เช่น จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี การผลิตเคมีภัณฑ์ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลในโรงไฟฟ้าถ่านหิน อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เตาเผาขยะ ของเสียอันตราย และของเสียติดเชื้อ
“หน่วยงานรัฐ เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมควรต้องมีความจริงจังที่จะควบคุมให้โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า เตาเผาที่เป็นแหล่งกำเนิด มีการติดตั้งเทคโนโลยีที่สามารถควบคุมและกำจัดสารเหล่านี้เพื่อไม่ให้มีการปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น และควรมีการออกประกาศค่ามาตรฐานสำหรับสารกลุ่มนี้ในตัวกลางสิ่งแวดล้อมและแหล่งกำเนิดที่ครอบคลุมมากขึ้นด้วย รวมถึงการพัฒนาทำเนียบข้อมูลเรื่องนี้อย่างจริงจัง” เพ็ญโฉม กล่าวทิ้งท้าย
มูลนิธิบูรณะนิเวศ รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ปัจจุบัน มีประเทศที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้แล้วรวม 181 ประเทศ สำหรับประเทศไทยให้สัตยาบันฯ เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2548 และมีผลบังคับใช้ในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2548 เป็นต้นมา กรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานงานการดำเนินการตามอนุสัญญานี้ได้จัดทำ “แผนจัดการระดับชาติเพื่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน” ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 อย่างไรก็ตาม จากการติดตามความคืบหน้าการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ พบว่า ประเทศไทยยังขาดแนวทางและมาตรการที่เป็นรูปธรรมทางกฎหมายและมาตรการจูงใจที่จะนำไปสู่การลดการปลดปล่อยสารกลุ่มนี้ที่แบบไม่จงใจจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมและกิจกรรมต่างๆ ภายในประเทศ