เครือข่ายกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ เยือนพื้นที่ปนเปื้อนกากอุตสาหกรรม ต. น้ำพุ ชื่นชมการต่อสู้ของชุมชน ชี้ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย
IPEN SEA ชื่นชมชาว น้ำพุ จ. ราชบุรี หลัง EARTH จัด Toxic Tour พาเยือนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม
กองบรรณาธิการเพจหยุดภัยมลพิษ
7 กุมภาพันธ์ 2566
สมาชิกเครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ IPEN SEA ถ่ายรูปคู่กับประชาชน ต. น้ำพุ และเครือข่าย
“การอนุญาตให้ บริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ ใช้พื้นที่นี้เพื่อทิ้งของเสียคือความผิดพลาดข้อที่หนึ่ง หากมีการทำ EIA ผู้เชี่ยวชาญคงเล็งเห็นได้ว่า การทิ้งของเสียเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงสำหรับพื้นที่นี้
“โครงสร้างทางธรณีในพื้นที่น้ำพุส่วนใหญ่เป็นหินปูน ซึ่งคุณสมบัติของหินปูนคือมีรูพรุน ซึ่งหมายความว่า สารมลพิษหรือน้ำเสียจะไหลผ่านชั้นหินจากที่สูงลงที่ต่ำได้ง่าย” ยูยุน อิสมาวาติ (Yuyun Ismawati) ที่ปรึกษาอาวุโส จากมูลนิธิ Nexus for Health, Environment, and Development - Nexus3 ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวให้ความเห็นอย่างตรงประเด็น ภายหลังการเยี่ยมชมพื้นที่และพบปะกับชาวชุมชนบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงานรีไซเคิลของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ในพื้นที่หมู่ 1 ต. น้ำพุ อ. เมือง จ. ราชบุรี
กิจกรรมดังกล่าวจัดโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจากเครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ IPEN SEA เข้าร่วมจำนวน 12 คน
ในการเยี่ยมชม สมาชิกส่วนหนึ่งได้เดินทางขึ้นสำรวจ "เขาล้อมรั้ว" เพื่อรับชมวิวโรงงานจากระดับสูงแบบ 360 องศา ซึ่งที่ผ่านมา ชาว ต. น้ำพุก็อาศัยเขาล้อมรั้วแห่งนี้เองเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการสังเกตการทำงานของโรงงาน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งได้แยกไปดูห้วยน้ำพุ ตั้งแต่จุดที่อยู่ติดกับรั้วโรงงาน จนถึงจุดที่มีการทำฝายเล็ก ๆ ไว้ชะลอน้ำและสังเกตการณ์สภาพน้ำ ก่อนที่ลำห้วยจะทอดตัวคดเคี้ยวเข้าสู่สวนลำไยของ ธนู งามยิ่งยวด ผู้เคยเป็นโจกท์ที่ 1 ในการยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท เนื่องจากสวนลำไยขนาดใหญ่ที่ให้ผลผลิตชั้นดีสำหรับส่งออกขายยังต่างประเทศนั้น เสียหายหนัก จนธนูแทบสิ้นเนื้อประดาตัว
โรงงานรีไซเคิลของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด วิวจากเขาล้อมรั้ว วันที่ 5 ก.พ. 66 ภาพโดย: มูลนิธิบูรณะนิเวศ
ในระหว่างการพาชมลำห้วยและสวนของเขา ธนูเล่าให้ชาว IPEN ฟังว่า ในอดีตลำห้วยน้ำพุเคยเป็นสายน้ำที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตคนในชุมชน ในจุดที่ปัจจุบันเป็นฝาย เคยเป็นแหล่งตักน้ำสำหรับนำไปหุงข้าวและทำอาหาร แต่ราว 20 ปีที่ผ่านมา ห้วยน้ำพุกลับเจือปนไปด้วยสารพิษ จนเขาไม่กล้าแม้แต่จะใช้น้ำจากลำห้วยรดสวนลำไย และได้แต่ทนดูต้นลำไยอายุหลายสิบปี แต่ละต้นทำเงินปีละไม่น้อย เหี่ยวแห้งตายไปต่อหน้าต่อตา ธนูบอกกับ ยูยุน และเพื่อนๆ ว่า เขาเคยเป็นเจ้าของสวนลำไยขนาดประมาณ 1,500 ต้น แต่ปัจจุบันเหลือเพียงไม่ถึง 500 ต้น ซึ่งแทบไม่ให้ผลผลิตใดๆ
จูเลีย คาร์ลีนี (Giulia Carlini) ทนายความอาวุโส ศูนย์กฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ หรือ Center for International Environmental law (CIEL) พูดถึงความรู้สึกของเธอว่า “ฉันรู้สึกประทับใจในความกล้าหาญ ความมุ่งมั่น และการทำงานที่เป็นระบบของประชาชนในกรณีน้ำพุ พื้นที่ปนเปื้อนมลพิษเป็นปัญหาร้ายแรงทั้งในแง่ของสิ่งแวดล้อ และสิทธิมนุษยชน เนื่องจากคนที่อาศัยในพื้นที่เหล่านั้นได้รับผลกระทบจากสารเคมีและของเสียอันตราย”
ขณะที่ เลมูเอล มานาโล จากองค์กร Interfacing Development Interventions for Sustainability - IDIS ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า “กิจกรรมนี้ทำให้ผมรู้สึกเชื่อมโยงกับการต่อสู้ของชุมชนน้ำพุ เรื่องราวของพวกเขาน่าประทับใจอย่างยิ่ง ตอกย้ำให้ผมไม่ลืมว่า ความเข้มแข็งของชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญในการปกป้องสิ่งแวดล้อม องค์กรของเราทำงานด้านวิทยาศาสตร์ชุมชน โดยเฉพาะกับกลุ่มอาสาพิทักษ์ป่าในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ เราทำงานกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีพิษ คล้ายชุมชนน้ำพุ โดยเน้นเรื่องผลกระทบจากสารกำจัดศัตรูพืชและขยะ”
“กิจกรรมวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองระหว่างมูลนิธิบูรณะนิเวศกับชาวตำบลน้ำพุเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราประทับใจ ชุมชนที่เข้มแข็งเกิดจากการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง และต้องครอบคลุมทักษะหลายด้าน ทั้งการเฝ้าระวังทางเทคนิค การใช้สื่อ การเรียกร้องเชิงนโยบาย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับชุมชนสมควรได้รับการถ่ายทอดทักษะเหล่านี้ เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมของพวกเขา ชุมชนที่เข้มแข็งต้องการแรงสนับสนุนที่เข้มแข็งเช่นกัน” เลมูเอกล่าวทิ้งท้าย
ส่วนจูเลีย จาก CIEL ได้ในความเห็นในมิติของนโยบายและกฎหมายเพิ่มเติมว่า “หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรป้องกันไม่ให้อุตสาหกรรมส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และสิทธิของชุมชน การจัดตั้งโครงสร้างเพื่อบังคับใช้หลัก "ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย" (Polluters-Pay-Principle) ในทางปฏิบัติอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเป็นธรรม ผู้ที่ได้รับผลกระทบควรได้รับการเยียวยา และควรได้รับการฟื้นฟู ที่เพียงพอและรวดเร็ว”
ภาพถ่ายโดย: มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
อ่านเรื่องราวปัญหามลพิษ และการต่อสู้ของชาวน้ำพุ ได้ที่ เพจ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
และขอชวนอ่าน "ห้วยน้ำพุ": บทบันทึกกรณีพิพาทด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมระหว่างชาว ต.น้ำพุ อ.เมือง และ ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี กับโรงงานรีไซเคิลและฝังกลบของเสีย จัดพิมพ์โดย มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) เมษายน 2561 www.earththailand.org/th/document/159
“สองปีคดีน้ำพุ ชัยชนะที่ไปไม่ถึงไหน และการฟื้นฟูที่ดูริบหรี่ สาเหตุและทางออกที่พอมีอยู่...”
ได้ที่: https://earththailand.org/th/article/6808
ข่าวโดย: เพจ “หยุดภัยมลพิษ Pollution-Free EARTH”