สองปีคดีน้ำพุ ชัยชนะที่ไปไม่ถึงไหน และการฟื้นฟูที่ดูริบหรี่ สาเหตุและทางออกที่พอมีอยู่

 

รายงานพิเศษ: สองปีคดีน้ำพุ ชัยชนะที่ไปไม่ถึงไหน และการฟื้นฟูที่ดูริบหรี่ สาเหตุและทางออกที่พอมีอยู่

24 ธันวาคม 2565

 

    

ภาพซ้ายบน/ขวาล่าง: กานต์ ทัศนภักดิ์ ; ภาพขวาบน: มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH); ภาพซ้ายล่าง: ปุณญธร จึงสมาน

 

วันนี้เมื่อสองปีที่แล้ว ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ได้บังเกิดขึ้นในบวนการสิ่งแวดล้อมไทย...
.

24 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาในคดีที่ประชาชน ต. น้ำพุ อ. เมือง จ. ราชบุรี ยื่นฟ้องบริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด จากเหตุได้รับความเดือดร้อนจากการประกบกิจการโรงงานรีไซเคิลของบริษัทดังกล่าวมานานเกือบ 20 ปี

.

กรณีนี้ประชาชนในพื้นที่ได้มีการร้องเรียนให้หน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็น น้ำเสีย และความเสียหายทางการเกษตรมาโดยตลอด  แต่ไม่เป็นผล จึงตัดสินใจพึ่งอำนาจศาลในปี 2560 โดยคดีนี้เป็นคดีสิ่งแวดล้อมแบบกลุ่ม (Environmental Class Action Lawsuit) ครั้งแรกของประเทศไทย

.

กล่าวได้ว่า วันฟ้องคดีก็เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ในระดับหนึ่งแล้ว แต่คำพิพากษาของศาลในวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ยิ่งควรต้องจารึก โดยหลังจากที่ได้พิจารณาหลักฐานและสืบพยานครบถ้วน ศาลแพ่งได้ตัดสินให้ประชาชนเป็นฝ่ายชนะ ด้วยการสั่งให้บริษัทและกรรมการบริษัทเยียวยาค่าเสียหายทางการเกษตรแก่ประชาชน รวมไปถึงค่ารักษาพยาบาล และที่สำคัญ คือศาลได้มีคำสั่งให้จำเลยรับผิดชอบฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่อีกด้วย

.

การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมถือเป็นประเด็นสำคัญอันดับต้นๆ สำหรับประชาชน ต. น้ำพุ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยพืชที่ปลูมากใน ต. น้ำพุ คือลำไย ธนู งามยิ่งยวด เกตรกรลำไยที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงานรีไซเคิลของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ เล่าว่า ตนเคยมีผลผลิตสูงและมีคุณภาพ ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร เคยส่งออกลำไยของตนไปขายที่จีน แต่ปัจจุบัน เมื่อน้ำในพื้นที่ของตนปนเปื้อน จึงแทบไม่สามารถปลูกอะไรในสวนได้อีกต่อไป ผลคือธนูใช้ชีวิตโดย “แทบไม่มีรายได้”เพราะฉะนั้น หากสิ่งแวดล้อมได้รับการฟื้นฟูกลับคืนมาจริง ก็จะส่งผลไปถึงความหวังที่จะได้รับวิถีชีวิตของชุมชนกลับคืนมา

.

บัดนี้ ผ่านไปแล้วสองปี แต่สวนลำไยของธนูซึ่งมีลำห้วยน้ำพุไหลผ่านยังคงปนเปื้อนอยู่ บ่อยครั้งยังได้กลิ่นสารเคมีเหม็นฉุน ไม่ไกลจากลำห้วยนั้นคือที่ตั้งโรงงานผู้เป็นจำเลย ซึ่งภายในเขตรั้วของที่ดินผืนใหญ่ สารเคมีและกากของเสียยังตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นเสมือนระเบิดเวลาที่แม้ได้ระเบิดไปแล้วเมื่อกลางปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่สิ้นฤทธิ์

.

เหตุเพลิงไหม้ในโกดังเก็บสารเคมีของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่ ทั้งในขณะเกิดเหตุและหลังจากนั้น เสียงเรียกร้องให้จัดการขนย้ายสารเคมีและกากของเสียออกไปกำจัดนอกพื้นที่ดังไม่ขาดสาย แต่จนถึงปลายปีแล้ว การเคลื่อนย้ายของเสียเพิ่งเริ่มต้นขึ้นและเป็นไปอย่างล่าช้า ชุมชนอาศัยอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวว่า ระเบิดเวลาจะปะทุอีกหรือไม่

.

ส่วนเรื่องการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมแทบไม่ต้องพูดถึง เจ้าของโงงานไม่ทีท่าว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งศาล ขณะที่หน่วยงานรัฐยังไม่มีใครแสดงตัวเป็น “เจ้าภาพ” ในเรื่องนี้

.

ธนู ในฐานะโจทก์ที่หนึ่งผู้ชนะคดี ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาใด  และต้องทยอยขายทรัพย์สินของตนเพื่อเอาเงินมาหมุนใช้จ่าย

.

สถานการณ์ดูกลับตาลปัตร หรือเราหลุดมาในโลกคู่ขนานที่คำว่า “ชัยชนะ” มิได้มีความหมายดังที่เราเข้าใจ... 

.

แท้จริงแล้ว ชัยชนะที่ไม่ไปไหนของประชาชน ต. น้ำพุ เป็นภาพสะท้อนของจุดล้มเหลวสำคัญในระบบความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย นั่นคือ เราไร้ซึ่งโครงสร้างหรือกลไกที่จะทำห้เกิดการเยียวยาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งบทความชิ้นนี้จะขอตีแผ่กลไกที่ขาดแคลน และแนวทางการแก้ไขในอนาคต

.

กลไกที่ขาดแคลนอย่าที่หนึ่งคือกองทุนที่มีไว้เพื่อการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ

การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนกากอุตสาหกรรมต้องใช้เงินจำนวนมาก เพราะสารเคมีที่เกี่ยวข้องมีความซับซ้อนและอันตราย เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ปัจจัยแรกที่ต้องพูดถึงคือเงิน หากจะฟื้นฟู ต. น้ำพุ เราจะเอาเงินจากที่ไหนได้บ้าง

แหล่งเงินที่เป็นไปได้ในปัจจุบันคือ “กองทุนสิ่งแวดล้อม” ซึ่งเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เพื่อเป็นมาตรการทางการเงินที่จะสร้างแรงจูงใจให้ทุกภาคส่วน ทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ในการเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อการป้องกันและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศตามหลักการผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle: PPP)” คำนิยามนี้ดึงมาจากสื่อสิงพิมพ์ของ สำนักงานกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แม้คำนิยามดังกล่าวจะระบุถึงหลัก PPP แต่ในทางปฏิบัติ การนำเอาเงินจากกองทุนดังกล่าวมาใช้ในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมต้องผ่านขั้นตอนมากมาย เนื่องจากวัตถุประสงค์ของกองทุนนี้ไม่ได้เฉพาะเจาะจงไปที่การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม 

นอกจากนี้ ในระบบปัจจุบัน การนำเงินจากกองทุนดังกล่าวมาใช้ต้องผ่านขั้นตอนมากมาย เริ่มจาก สผ. ต้องพิจารณาก่อนว่า การขอรับเงินไปบำบัด/กำจัดกากอุตสาหกรรมในพื้นที่อยู่ในเกณฑ์และเงื่อนไขหรือไม่ หากผ่านขั้นตอนนี้ได้ กระทรวงอุตสาหกรรมก็ต้องเสนอให้นายกรัฐมนตรีประกาศให้พื้นที่ปนเปื้อนกากอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่อาจก่อภยันตรายต่อสาธารณชน จากนั้นก็จะมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทน โดยมอบหมายให้อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมจัดทำเป็นโครงการที่จะยื่นต่อ สผ. และ สผ. ก็ต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อมต่อไป

กระบวนการที่ซับซ้อนนี้ ทำให้การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นงานที่ควรทำแข่งกับเวลาเนื่องจากเดิมพันอยู่กับชีวิตและสุขภาพผู้คน เป็นไปได้ช้าและยากอย่างยิ่ง

ต่างกับในกรณีของสหรัฐอเมริกา ที่มีการจัดตั้งกองทุนภายใต้กฎหมาย Comprehensive Environmental Response, Compensation, and Liability Act (CERCLA) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า Superfund ซึ่งใช้ในการทำความสะอาดพื้นที่ปนเปื้อนโดยเฉพาะ และให้อำนาจแก่หน่วยงานหนึ่งเดียวคือ Environmental Protection Agency (EPA)ในการจัดการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

การจัดตั้งกองทุนโดยเฉพาะ ทำให้ EPA สามารถปฏิบัติหน้าที่และแก้ไขปัญหาเรื่องพื้นที่ปนเปื้อนได้อย่างรวดเร็ว แม้ไม่มีคำพิพากษาศาลมาบีบก็ตาม

.

จึงนำมาสู่ประเด็นที่สอง คือความไม่ชัดเจนหรือความไม่เหมาะสมในการจัดแจงหน้าที่ของหน่วยงานราชการในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ในสหรัฐอเมริกา EPA มีอำนาจหน้าที่ในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ก่อมลพิษอีกด้วย จึงมีความสอดคล้องกันระหว่างหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา เมื่อสองหน้าที่นี้อยู่ภายใต้หน่วยงานเดียว หน่วยงานนั้นจึงมีตรรกะภายในที่จะควบคุมการปลดปล่อยมลพิษอย่างเข้มงวด มีความสม่ำเสมอในการทำงานและรวบรวมข้อมูล นอกจากนี้ EPA ยังเป็นองค์กรสิ่งแวดล้อมที่มีหน้าที่ปกป้องสิ่งแวดล้อมโดยตรง รวมทั้งมีศักยภาพและองค์ความรู้ในเรื่องนี้ดี

.

แต่ในกรณีของประเทศไทยนั้นแตกต่างไปมากกล่าวคือ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ที่สังคมส่วนใหญ่มักเข้าใจกันว่าคือหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการป้องกันและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เสียหายจากกิจกรรมของโรงงาน ทว่า ตามกฎหมายแล้ว คพ. ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนี้โดยตรงแต่อย่างใด และตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา มีความชัดเจนแล้วว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในเรื่องนี้ เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมได้ปรับปรุงกฎหมาย โดยออกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2560กำหนดให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีหน้าที่รับผิดชอบ ความปลอดภัยจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเพื่อสร้างความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม พัฒนาคุณภาพชีวิต และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรม” 

.

อย่างไรก็ตาม หน้าที่และอำนาจของกรมโงงานอุตสาหกรรมก็มีความย้อนแย้งมาตั้งแต่ต้นแล้ว นั่นคือ หน่วยงานนี้มีหน้าที่ส่งเสริมและกำกับดูแลกิจการอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงการออกใบอนุญาตจัดตั้งโรงงาน การกำกับดูแลเกี่ยวกับกากอุตสาหกรรมอันตราย และการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ บทบาทหน้าที่ที่ทับซ้อนกันนี้ไม่สามารถทำให้เกิดความสมดุลในการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมได้  ดังนั้นการมีหน้าที่ที่จะต้องเข้ามารับผิดชอบเรื่องการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม จึงไม่ได้รับความสำคัญ ขาดความตระหนัก และขาดการพัฒนาความเชี่ยวชาญของข้าราชการในกรมแห่งนี้ ดังปรากฏว่า ในครั้งที่ชาวน้ำพุไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้กรมฯ ปฏิบัติตามคำพิพากษาในเรื่องการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ข้าราชการระดับบริหารคนหนึ่ง็โต้แย้งทัทีว่า กรมฯ มิได้มีหน้าที่ในส่วนนั้น

ในเรื่องของศักยภาพ บ่อยครั้งที่เราได้ยินกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือหน่วยงานอื่นในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวอ้างว่า ที่ยังไม่สามารถฟื้นฟู/แก้ไขปัญหาได้ เพราะขาดทรัพยากรบ้าง ขาดอุปกรณ์บ้าง ขาดบุคลากรบ้างผู้ที่ได้ยินคำกล่าวเช่นนี้อาจเกิดคำถามขึ้นว่า ถ้ากรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่มีศักยภาพในการควบคุมมลพิษจากโรงงาน เช่นนั้นแล้วอนุญาตให้เกิดโรงงานจำนวนมากขนาดนี้ได้เช่นไร ก็กรมโรงงานอุตสาหกรรมเองที่มีอำนาจออกใบอนุญาตโรงงาน

หนึ่งในทางออกของปัญหาการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จึงอาจยู่ที่การปรับโครงสร้างหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพกว่านี้ รวมถึงทัศนคติและองค์ความรู้ของข้าราชการที่เกี่ยวข้องด้วย

.

ท้ายที่สุด เราขาดซึ่งกลไกในการบังคับให้ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย หรือการทำให้ PPP เป็นรูปธรรม ปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ได้รับข่าวคราวมาว่า บ. แวกซ์ กาเบ็จฯ อ้างว่าตนล้มละลาย ในกรณีที่ผู้ก่อมลพิษไม่สามารถจ่ายค่าฟื้นฟูได้ เราจะต้องนำเงินรัฐ ซึ่งก็คือภาษีของจากประชาชนทั่วไปอย่างพวกเรา มาใช้ ซึ่งควรจะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ รือ?

ที่ผ่านมาปัญหาเช่นนี้เคยเกิดมาแล้วในกรณีลำห้วยคลิตี้ ซึ่งปนเปื้อนสารตะกั่วจากโรงแต่งแร่ เมื่อเจ้าของโรงงานในช่วงเกิดเหตุสียชีวิต การเรียกเก็บเงินก็กลายเป็นเรื่องยากและซับซ้อน

การแก้ไขปัญหานี้มีนักกฎหมายเคยเสนอทางออกมาแล้ว ชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความด้านสิ่งแวดล้อม และหนึ่งในทนายฝ่ายโจทก์ของประชาชน ต. น้ำพุ กล่าวว่า ควรมีการจัดตั้งกองทุนประกันด้านสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยที่สุด ในรูปแบบของการชำระเป็นรายปีของอุตสาหกรรม คือเป็นภาษีด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มเงินทุนในส่วนในส่วนนี้ให้มากขึ้น ใครที่มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมากก็ต้องจ่ายมาก มีผลกระทบน้อยก็จ่ายน้อย ที่สำคัญคือต้องมีการวางกรมธรรม์ประกันภัย หรือแบงค์การันตีต่าง ๆ ที่จะรับรองว่า หากเกิดเหตุที่มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ก็จะมีวงเงินเพียงพอที่จะมาใช้ในการฟื้นฟูได้ นี่จึงจะเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย”

การเก็บเงินประกันจากโรงงานอุตสาหกรรม ตามเกณฑ์ศักยภาพในการก่อมลพิษ จะทำให้เกิดกองทุนที่มีวัตถุประสงค์ตรงกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจากมลพิษอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันก็ทำให้กิจการที่ก่อมลพิษเป็นกิจการที่มีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งก็สมเหตุสมผล 

.

แนวทางนี้ย่อมดีกว่าส่งต่อต้นทุนไปเป็นความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนทั่วไป ตลอดจนอาจช่วยป้องกันหรือลดการสร้างภาระต่อคนรุ่นถัดๆ ไป

.

ทุกวันนี้ ต. น้ำพุ ไม่ใช่พื้นที่เดียวที่ประสบอุปสรรคในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เราได้กล่าวถึงห้วยคลิตี้มาแล้ว แต่ยังมีกรณีเหมืองทอง จ. เลย ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนของสารโลหะหนัก และศาลสั่งฟื้นฟูแล้วเช่นกัน ส่วนประชาชนในพื้นที่ก็จัดทำแผนการฟื้นฟูไว้แล้ว แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดขานรับที่จะดำเนินการ

.

อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 จ. ฉะเชิงเทรา ที่ปนเปื้อนมลพิษจากกากอุตสาหกรรมที่มีการนำมาลักลอบทิ้ง เป็นอีกพื้นที่การปนเปื้อนขนาดไม่ใหญ่ซึ่งมีการประเมินจำนวนเงินที่ต้องใช้ฟื้นฟูไว้ถึง 1,800 ล้านบาท ปัญหาคือจะนำเงินมาจากไหน และเป็นเงินของใคร 

.

หรือจะกล่าวถึงกรณีน้ำมันรั่วลงอ่าวไทยในปี 2556 ซึ่งเกิดซ้ำในปี 2565 บริษัทผู้ก่อมลพิษทั้งสองได้รับผิดชอบฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนมอย่างเพียงพอแล้วหรือไม่

.

และล่าสุดคือพื้นที่ ต. หนองพะวา จ. ระยอง ที่ศาลเพิ่งพิพากษาเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้ ให้ต้องฟื้นฟูสภาพน้ำและดินในพื้นที่ที่มีความเป็นกรดสูงและเจือด้วยโลหะหนัก 

.

ฯลฯ

.

ประเทศไทยมีพื้นที่ปนเปื้อนแล้วมากมายหลายแห่งที่ได้รับการชี้ขาดว่าต้องฟื้นฟู แต่ในทางปฏิบัติ เรายังไม่มีกลไกที่จะทำงานเรื่องนี้แต่อย่างใด

.

ชาวหนองพะวาเพิ่งได้รับความหวังมาไม่นาน และยังรู้สึกอิ่มใจรับปีใหม่ 2566 แต่ชาวน้ำพุอยู่กับความหวังที่ทยอยเหี่ยวเฉาลงเรื่อยๆมาสองปีเต็มแล้ว

.

หากสังคมไทยยังไม่ปฏิรูปกฎหมายในทิศทางที่สมควร และสร้างกลไกสำหรับปฏิบัติการด้านการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม อีกสองปีเราอาจต้องกล่าวถึงชัยชนะที่ไม่ไปไหนของชาวบ้านหนองพะวาอีกก็เป็นได้