พิพากษา "ตามยอม" คดีบ่อขยะแพรกษา - ประนีประนอมยอมความตามแผนฟื้นฟู 9 ปี (19 ส.ค. 60)

ธวัชพงศ์ อาจเอี่ยม /กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ 19 สิงหาคม 2560
พิพากษา "ตามยอม"  คดีบ่อขยะแพรกษา - ประนีประนอมยอมความตามแผนฟื้นฟู 9 ปี

ธวัชพงศ์ อาจเอี่ยม /กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ
รายงาน

ศาลแพ่งพิพากษา "ตามยอม" คดีบ่อขยะแพรกษา โจทก์-จำเลยลงนามสัญญาประนีประนอมยอมความ หลังร่วมกันจัดทำแผนฟื้นฟูจนพอใจสองฝ่าย จับตาก้าวต่อไป - ดำเนินการฟื้นฟูตามแผน

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะครั้งใหญ่ ที่ ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เมื่อ 16 - 22 มีนาคม 2557 และก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงเป็นวงกว้าง จนนำไปสู่การฟ้องคดีต่อศาลแพ่งโดยประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งสิ้น 13 คดี รวมโจทก์ทั้งหมด 2,349 คน โดยมีนายกรมย์พล สมุทรสาคร นายเด่นตรง ตั้งเด่นไชย และนางบุญไทย ตั้งเด่นไชย เจ้าของพื้นที่ตั้งบ่อขยะดังกล่าว เป็นจำเลยที่ 1 - 3  ส่วนองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษาซึ่งเคยเป็นจำเลยที่ 4 นั้น ต่อมามีการถอนฟ้อง เพื่อแยกไปฟ้องต่อศาลปกครอง  โดยต่อมาศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินกระบวนการไกล่เกลี่ย ซึ่งมีฝ่ายโจทก์ที่ยินดีถอนฟ้องและยอมรับการบรรเทาความเสียหายรายละ 3,000 บาท เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2559  คงเหลือโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 10 คือ นายสุชาติ นาคนก นายไพฑูรย์ หมายสอนกลาง และนายธานิน พิมสอน ในคดีหมายเลขดำที่ สว.1/2558 ที่ยังคงการฟ้องร้องคดีต่อไปเพื่อให้จำเลยดำเนินการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมภายในพื้นที่บ่อขยะ เพื่อความปลอดภัยสำหรับการอยู่อาศัยของประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2560 ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมได้มีคำพิพากษาตามยอม[1] ในคดีหมายเลขดำที่ สว.1/2558 โดยโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 10 และฝ่ายจำเลยที่ 1 - 3 ได้แก่ นายกรมย์พล สมุทรสาคร นายเด่นตรง ตั้งเด่นไชย และนางบุญไทย ตั้งเด่นไชย ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ภายหลังจากที่ได้ร่วมกันจัดทำแผนฟื้นฟูบ่อขยะตามแนวทางที่ศาลแพ่งได้จัดให้มีขึ้น  พร้อมทั้งได้แต่งตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญรวมทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้คำแนะนำตามหลักวิชาการ จนเป็นที่พอใจแก่ทั้งสองฝ่าย  สำหรับขั้นตอนต่อไปซึ่งได้แก่การดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่นั้น จะอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลของ “คณะกรรมการติดตามแก้ไขผลกระทบจากบ่อขยะแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ” ที่แต่งตั้งโดยจังหวัดสมุทรปราการเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย หน่วยงานราชการทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง คณะผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทนบริษัทเจ้าของบ่อขยะ และผู้แทนประชาชนในพื้นที่  โดยการฟื้นฟูบ่อขยะแพรกษาตามแผนดังกล่าวจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 9 ปี นับตั้งแต่ปัจจุบันไปจนถึงปี 2569

ทั้งนี้ แนวทางการจัดการฟื้นฟูตามแผนฯ ดังกล่าว ได้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ (1) การจัดการขยะ โดยการนำขยะมาทำเป็นเชื้อเพลิง RDF (2) การจัดการน้ำเสีย เลือกใช้ระบบบำบัดน้ำเสียที่ผสมผสานระหว่างระบบบำบัดน้ำเสียทางเคมีและระบบชีวภาพ โดยกระบวนการบำบัดน้ำเสียจะเริ่มดำเนินการหลังจากการจัดการขยะหมดไปแล้ว หลังจากนั้นจึงจะมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำและสำรวจออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียใหม่ เพื่อให้ได้ขนาดบ่อบำบัดที่เหมาะสม (3) การจัดการตะกอนจากการบำบัดน้ำเสีย โดยการใช้ถุงรีดน้ำจากตะกอน จากนั้นจะนำกากตะกอนที่เหลือ ส่งไปกำจัดยังโรงงงานที่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานต่อไป  

นอกจากนี้ยังประกอบด้วยแผนงานต่างๆ 9 ส่วน คือ (1) งานปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณบ่อขยะ (2) งานบริหารจัดการภายในบ่อขยะโดยออกแบบก่อสร้างโรงรื้นร่อน คัดแยกขยะและระบบจัดการขยะ (3) งานบริหารจัดการคุณภาพน้ำในบ่อขยะด้วยการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย (4) การติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำและอากาศ (5) การดำเนินการกรณีฉุกเฉิน (6) การกำจัดกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสีย (7) การประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับสาธารณชน (8) เงื่อนไขการยุติการดำเนินการ (9) การติดตามผลการปฏิบัติงานตามแผนฟื้นฟู

แผนการฟื้นฟูดังกล่าวได้ระบุด้วยว่า ในกรณีที่เจ้าของพื้นที่บ่อขยะไม่ได้ดำเนินการตามแผน หรือดำเนินการแต่เพียงบางส่วน ก็จำเป็นที่จะต้องให้หน่วยงานราชการหรือหน่วยงานอื่นใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาทำการฟื้นฟูแทน โดยเจ้าของพื้นที่จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้แก่หน่วยงานที่จะเข้ามาดำเนินการแทนด้วย

อนึ่ง จากการตรวจวิเคราะห์ขยะโดยบริษัทโอเบค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งได้รับการว่าจ้างจาก หจก. เด่นชัยปากน้ำ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่บ่อขยะแพรกษา อันเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการกำหนดแนวทางการฟื้นฟูบ่อขยะแพรกษาในครั้งนี้นั้น ได้ระบุข้อมูลปริมาณขยะทั้งหมดภายในบ่อขยะแพรกษาว่า คิดเป็น 126,143 ตัน โยแบ่งเป็นขยะส่วนที่อยู่เหนือน้ำ 72,482 ตัน และส่วนที่เป็นขยะที่จมน้ำ 53,661 ตัน ในส่วนขององค์ประกอบขยะนั้น ระบุว่า ขยะส่วนใหญ่เป็นพลาสติกซึ่งมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 56 – 70

 

 

[1] “คำพิพากษาตามยอม” หมายถึง การพิพากษาตามการตกลงทำสัญญาประนีประนอมไกล่เกลี่ยของทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย – กองบรรณาธิการ