"ผู้ป่วยมินามาตะ" เข้าพบตัวแทน รบ./หน่วยงานไทย – เร่งลงนาม "อนุสัญญาสารปรอท" (14 ก.ย. 59)
มูลนิธิบูรณะนิเวศ 14 กันยายน 2559
"ผู้ป่วยมินามาตะ" เข้าพบตัวแทน รบ./หน่วยงานไทย – เร่งลงนาม "อนุสัญญาสารปรอท"
บุษป์สุคนธ์ ปั้นช้าง, มูลนิธิบูรณะนิเวศ
รายงานและถ่ายภาพ
10, 12 ก.ย. 59: “ผู้ป่วยมินามาตะ” พร้อมคณะนักวิชาการจากประเทศญี่ปุ่นและมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ได้เดินทางเข้าพบตัวแทนรัฐบาลและหน่วยงานราชการไทยที่เกี่ยวข้อง เพื่อเรียกร้องให้เร่งลงนามในอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอท
10 กันยายน 2559 หลังเสร็จสิ้นการสัมมนาวิชาการ "60 ปี โรคมินามาตะ: การเรียนรู้หายนะจากมลพิษอุตสาหกรรมเพื่อสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน" ทางคณะผู้จัดงานพร้อมด้วยผู้ป่วยโรคมินามาตะ รวมทั้งชิโนบุ ซาคาโมโต ผู้ป่วยโรคมินามาตะตั้งแต่กำเนิด ได้เข้าพบและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโรคมินามาตะต่อนายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ณ อาคารศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทั้งสอบถามถึงความคืบหน้าในการเข้าร่วมอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอทของประเทศไทย หลังจากที่พลาดการลงนามไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2557 แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีโอกาสในการทำภาคยานุวัติ
โดยในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุสัญญาดังกล่าว อธิบดีกรม คพ. ได้เปิดเผยว่า สาเหตุของการพลาดการลงนามในอนุสัญญา ฯ ครั้งที่ผ่านมาเป็นเพราะทางกระทรวงต่างประเทศ (กต.) เห็นว่าประเทศไทยยังมีความพร้อมไม่เพียงพอเกี่ยวกับความเข้าใจและกฎหมายที่จะต้องนำมาใช้ควบคู่กับอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ จึงขอให้ชะลอการลงนามไว้ก่อน แต่อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการลงนามในอนุสัญญาฯ ครั้งต่อไป นอกจากนี้อธิบดีกรม คพ. ยังให้ความมั่นใจต่อทางคณะผู้เข้าพบว่า จะเร่งดำเนินการเกี่ยวกับการลงนามอนุสัญญาฯ ภายในปลายปี 2560 การควบคุมการใช้สารปรอทในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการนำเข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีสารปรอทเป็นส่วนประกอบ เท่าที่ขอบเขตความรับผิดชอบของ คพ. จะดำเนินการได้
ต่อมาในวันที่ 12 กันยายน 2559 คณะผู้ป่วยโรคมินามาตะจากประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วยคณะผู้แทนจากศูนย์ความร่วมมือเพื่อผู้ป่วยโรคมินามาตะ, ศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง จังหวัดคุมาโมโต ประเทศญี่ปุ่น และมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้เดินทางเข้าพบผู้แทนรัฐบาลไทย เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยขอให้รับรองและให้สัตยาบันอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอทโดยทันที เพื่อปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศให้ปลอดภัยจากมลพิษสารปรอท และไม่เกิดโศกนาฏกรรมโรคมินามาตะ ดังเช่นประเทศญี่ปุ่น
โดยช่วงเช้าผู้แทนสำนักงานปลัดสำนักนายรัฐมนตรีเป็นรับหนังสือในนามรัฐบาลไทย ร.พร้อมทั้งรับฟังข้อมูลและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) โดยหนึ่งในตัวแทนรัฐบาลไทยได้ให้ข้อมูลว่า ทั้ง กต. ทส. และกระทรวงอุตสาหกรรม ตลอดจนสภาฝ่ายความมั่นคง เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ จึงไม่ใช่ความรับผิดชอบของเพียงของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่อย่างไรก็ตามก็เป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว เนื่องจากเมืองไทยเป็นแหล่งรวมโรค อุตสาหกรรมที่มีส่วนทำให้เกิดโรคล้วนแต่รวมอยู่ที่เมืองไทย ซึ่งที่ผ่านมา ปัญหาเกิดจากการที่บังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มแข็ง และการขาดสำนึกของผู้ประกอบการ สิ่งที่นำเสนอนี้จึงเป็นเรื่องที่ดี ทางรัฐบาลจะนำไปพิจารณาเท่าที่ประเทศไทยมีกำลังอยู่ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนส่วนรวม ซึ่งไม่เพียงเฉพาะเมืองไทยแต่ยังเป็นผลดีต่อคนทั่วโลก เท่าที่ประเทศไทยจะมีกำลังอยู่
หลังจากนั้น ในช่วงบ่าย ทางคณะฯ ได้เดินทางไปยื่นต่อ นพ. สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.ปรีชา เปรมปรี ผอ. สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคมินามาตะและแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับมาตรการควบคุมดูแลการใช้สารปรอทในเครื่องมือการแพทย์ และการคุ้มครองด้านสุขภาพของผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากมลพิษอุตสาหกรรม โดยตัวแทนจากทั้งสองหน่วยงานได้กล่าวกล่าวขอบคุณและระบุว่าจะนำเรื่องนี้เสนอไปยัง รมต. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยเชื่อว่าประเทศไทยน่าจะลงนามอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ได้ก่อนประเทศพม่า และลาว พร้อมทั้งกล่าวว่าในโอกาสต่อไปคงจะได้ประสานความร่วมมือกับคณะทำงานเกี่ยวกับโรคมินามาตะจากประเทศญี่ปุ่น
ก่อนจะเดินทางกลับที่พัก ทางคณะฯ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ณ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โดย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. ซึ่งเป็นผู้ออกมาพบและรับหนังสือ ได้กล่าวให้ความเห็นในตอนหนึ่งว่า
"ในส่วนของการลงนามในอนุสัญญา ฯ ฉบับนี้ คงเป็นไปได้ไม่ยาก เพราะเมื่อมีการลงสัตยาบัน กฎหมายลูกต่างๆ ก็จะตามมาเอง แต่ในส่วนการปฏิบัติตามกฎหมายน่าจะเป็นเรื่องยากของประเทศไทย แต่อย่างไรก็ดี คิดว่าไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ เพราะตอนนี้เรากำลังเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย คิดว่าต้องดีกว่าเดิม"
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับผลการเดินหน้าทำความเข้าใจโดยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคมินามาตะ และการยื่นข้อเรียกร้องให้ประเทศไทยรีบเร่งในการลงนามสัตยาบันอนุสัญญามินา มาตะว่าด้วยสารปรอท ฉบับนี้ของประเทศไทย จะคืบหน้าไปเช่นไร คงต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด
ชิโนบุ ซาคาโมโต ผู้ป่วยโรคมินามาตะตั้งแต่กำเนิด
"อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอท"
วัตถุประสงค์สำคัญของอนุสัญญาคือ “เพื่อปกป้องสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ก่อให้ ประเทศ ส่วนใหญ่ในอาเซียนลงนามในอนุสัญญาฯ แล้ว ได้แก่ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ |