"15 คำถามที่พบบ่อย" - เกี่ยวกับพิษตะกั่วและการรณรงค์เพิกถอนสารตะกั่วจากสี (21 ต.ค. 56)

Lead_inPiant_who
"คำถามที่พบบ่อย"

"คำถามที่พบบ่อย"

การรณรงค์ระดับสากลเพื่อสร้างการตื่นตัวเรื่องพิษตะกั่ว
สัปดาห์รณรงค์ 20-26 ตุลาคม 2556

โดย องค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO)

ฉบับแปลโดย นิชา รักพานิชมณี, มูลนิธิบูรณะนิเวศ
เผยแพร่ครั้งแรก 21 ตุลาคม 2556

1. พิษตะกั่วส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร

        สารตะกั่วมีผลกระทบต่อทุกระบบภายในร่างกายและก่อผลร้ายแรงต่อสุขภาพของเด็ก ทั่วโลก การได้รับสารตะกั่วในปริมาณสูงแบบเฉียบพลันจะทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้หมดสติ ชักกระตุก และอาจเสียชีวิตได้  เด็กที่รอดชีวิตจากพิษตะกั่วแบบเฉียบพลันมักต้องมีชีวิตอยู่กับความบกพร่อง ทางสติปัญญาและความผิดปกติทางพฤติกรรม  องค์การอนามัยโลกประเมินว่าสารตะกั่วเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตปีละ 143,000 คน หรือเท่ากับร้อยละ 0.6 ของภาระจากโรคนี้ในระดับโลก และสารตะกั่วยังเป็นสาเหตุของความบกพร่องทางสติปัญญาของเด็กรายใหม่ๆ ปีละประมาณ 600,000 คน โดยร้อยละ 99 ของเด็กที่ได้ผลกระทบจากสารตะกั่วปริมาณสูงมักอาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ ปานกลางและรายได้ต่ำ

        การได้รับสารตะกั่วในปริมาณน้อยก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา เปล่า (แต่เดิม เราจึงเข้าใจผิดว่าเป็นภาวะที่ปลอดภัย) ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันแล้วว่า สารตะกั่วก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหลายประการ เช่น ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง ช่วงสมาธิสั้นลง พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ภาวะบกพร่องในการอ่านเขียน (Dyslexia) โรคสมาธิสั้น โรคความดันโลหิตสูง โรคไตเสื่อม ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน และความเป็นพิษต่ออวัยวะสืบพันธุ์  โดยทั่วไปผลกระทบเหล่านี้มักอยู่ถาวร

2. ทำไมพิษตะกั่วยังเป็นปัญหาอยู่จนทุกวันนี้

        สารตะกั่วเป็นโลหะมีพิษที่เกิดตามธรรมชาตซึ่งพบอยู่ในเปลือกโลก ตะกั่วมีประโยชน์หลายอย่าง ได้แก่ การผลิตแบตเตอรี่ตะกั่ว-กรดที่ใช้ในเครื่องยนต์ สีและผงสี ตะกั่วบัดกรี ลูกกระสุน สารเคลือบเซรามิก เครื่องประดับ ของเล่น ตลอดจนเครื่องสำอางและยาพื้นบ้านบางชนิด และยังคงมีการใช้ผสมในน้ำมันเบนซินในอีกบางประเทศ กระบวนการผลิต ใช้ และกำจัดสารตะกั่วล้วนก่อให้เกิดการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมและเข้าสู่ร่าง กายมนุษย์  การได้รับสารตะกั่วเป็นอันตราย โดยเฉพาะต่อเด็กเล็ก และอาจก่อให้เกิดผลกระทบเรื้อรังและบั่นทอนสุขภาพของทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ทั้งนี้ ไม่มีระดับการได้รับสารตะกั่วที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ

         พิษตะกั่วยังคงเป็นภัยใกล้ตัวที่เป็นจริงสำหรับคนจำนวนมากทั่วโลก  ข่าวดีคือพิษตะกั่วเป็นภัยที่ป้องกันได้เต็มที่ ด้วยมาตรการควบคุมการใช้สารตะกั่ว การติดตามตรวจสอบ และการดูแลเรื่องการได้รับสารตะกั่ว แหล่งสำคัญแหล่งหนึ่งของการได้รับสารตะกั่วคือจากน้ำมันเบนซินที่มีส่วนผสม ของสารตะกั่ว ซึ่งเลิกใช้ไปแล้วในประเทศส่วนใหญ่  สีตะกั่วเป็นแหล่งสำคัญอีกแหล่งหนึ่งของการได้รับสารตะกั่วของเด็กและคนงาน ทว่าในหลายประเทศยังมีการทำอะไรน้อยมากเพื่อกำจัดสารตะกั่วจากสี

3. สีตะกั่วคืออะไร

       "สีตะกั่ว" คือ สีที่มีสารประกอบของตะกั่วอย่างน้อยหนึ่งชนิดเป็นส่วนผสม  “สี” ตามคำนิยามนี้รวมถึง วาร์นิช แลกเกอร์ สีย้อมพื้นและผนัง สีเคลือบเงา สีเคลือบเซรามิก สีรองพื้นเหล็กและคอนกรีต และวัสดุเคลือบพื้นผิวอื่นๆ  ตามปกติแล้วสีคือ ส่วนผสมตามสูตรที่ประกอบด้วยสารยึดเกาะ ผงสี สารเติมเต็ม ตัวทำละลาย และสารเติมแต่งอื่นๆ ในสัดส่วนตามสูตร

4. องค์การอนามัยโลกแก้ปัญหาสารตะกั่วในสีและผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร

        องค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) ชี้ว่าสารตะกั่วเป็น 1 ใน 10 สารเคมีหลักที่ก่อปัญหาด้านสาธารณสุข และต้องการให้ประเทศสมาชิกดำเนินมาตรการคุ้มครองสุขภาพของคนงาน เด็ก และสตรีในวัยเจริญพันธุ์

        องค์การอนามัยโลกกำลังพัฒนาคู่มือการป้องกันและจัดการพิษตะกั่ว เพื่อเป็นแนวปฎิบัติที่อิงข้อมูลหลักฐานแก่ผู้กำหนดนโยบาย หน่วยงานด้านสาธารณสุข และผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข ในการกำหนดมาตรการคุ้มครองสุขภาพเด็กและผู้ใหญ่จากการได้รับสารตะกั่วเข้าไป

        เนื่องจากสีผสมสารตะกั่วยังคงเป็นแหล่งที่ทำให้คนได้รับสารตะกั่วในหลาย ประเทศ  องค์การอนามัยโลกจึงร่วมมือกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme - UNEP) ก่อตั้งเครือข่ายความร่วมมือระดับโลกเพื่อเพิกถอนสารตะกั่วจากสี (Global Alliance to Eliminate Lead Paint - GAELP) ความร่วมมือนี้เน้นไปที่และต้องการกระตุ้นให้เกิดความพยายามเพื่อให้บรรลุ เป้าหมายระดับโลกในการป้องกันเด็กจากการสัมผัสสารตะกั่วในสีและเพื่อลดการ รับสารตะกั่วจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน วัตถุประสงค์เชิงภาพรวมคือ การส่งเสริมให้ยกเลิกการผลิตและการจำหน่ายสีที่มีส่วนผสมของสารตะกั่ว และนำไปสู่การกำจัดอันตรายจากสีตะกั่วในที่สุด

5. ทำไมองค์การอนามัยโลกจึงรณรงค์เรื่องนี้

        การรณรงค์เกิดขึ้นเพื่อสร้างการตื่นตัวให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ แก้ปัญหาสุขภาพจากการได้รับหรือสัมผัสสารตะกั่ว โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเด็กเล็ก และกระตุ้นให้มีการเพิกถอนสารตะกั่วจากสี

        ทั้งนี้ การรณรงค์ระดับสากลเป็นไปเพื่อส่งเสริมให้เกิดการตื่นตัวและความเข้าใจ ประเด็นปัญหาในวงกว้าง โดยเฉพาะประเด็นปัญหาทางสุขภาพที่เกิดจากสารตะกั่วในสี และเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่นและระดับนโยบาย

6. ทำไมรณรงค์เฉพาะเรื่องสีและมีความเป็นมาอย่างไร

        นับตั้งแต่มีการถอนสารตะกั่วจากน้ำมันเบนซินไปแล้ว  สีตะกั่วเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดสำคัญที่สุดที่ทำให้เด็กได้รับสารตะกั่ว ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีเด็กรายใหม่ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาสูงปีละกว่า 600,000 คน โดยรวมแล้วร้อยละ 99 ของเด็กที่ได้รับสารตะกั่วในปริมาณสูงอาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้ต่ำ  ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ยังคงใช้สีตะกั่วอย่างแพร่หลาย  นอกจากนี้ สีตะกั่วยังเป็นแหล่งกำเนิดสารตะกั่วและต้นเหตุของพิษตะกั่วต่อไปอีกหลายต่อ หลายปีเมื่อได้ทาสีลงบนพื้นผิวแล้ว   ข้อมูลล่าสุด ณ ปี พ.ศ. 2552 พบว่าสีทาบ้านที่มีสารตะกั่วยังคงเป็นต้นเหตุของพิษตะกั่วในเด็กในประเทศ สหรัฐอเมริกา  งานวิจัยในประเทศออสเตรเลีย โปรตุเกส และอินเดีย ก็ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเด็กที่มีระดับตะกั่วในเลือดสูงและการได้ รับสารตะกั่วจากสีทาบ้าน

         การตัดสินใจครั้งนี้เป็นผลมาจากการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการสาร เคมี ครั้งที่ 2 (ICCM-2 ณ กรุงเจนีวา ระหว่างวันที่  11-15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552) ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ก่อตั้งความร่วมมือระดับโลกเพื่อส่งเสริมให้ยก เลิกการใช้สารตะกั่วในสี  โดยให้ WHO และ UNEP เป็นสำนักเลขาธิการร่วมตามบทบาทและหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของทั้งสององค์กรนี้

7. องค์กรใดเป็นภาคีในการขับเคลื่อนครั้งนี้

        องค์กรภาคี ได้แก่ สมาคมกุมารแพทย์สากล (International Pediatrics Association - IPA) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Program - UNEP) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (United States Centers for Disease Control and Prevention- US CDC) สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐฯ (United States Environmental Protection Agency- US EPA) และองค์การอนามัยโลก ซึ่งทำงานร่วมกันในฐานะส่วนหนึ่งของเครือข่ายความร่วมมือระดับโลกเพื่อเพิก ถอนสารตะกั่วจากสี (Global Alliance to Eliminate Lead Paint - GAELP)

8. สารตะกั่วในสีก่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างไร

        การสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการใช้สารตะกั่วในสีมีทั้งการสูญเสียโดยตรงและโดย อ้อม ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพ และการสูญเสียศักยภาพทางเศรษฐกิจของประชากรที่มีสติปัญญาบกพร่อง

ใน ทางตรงกันข้าม ต้นทุนทางเศรษฐกิจจากการเลิกใช้สารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีหลายอย่างมีค่าใช้ จ่ายต่ำลง เนื่องจากมีผู้ผลิตสีจำนวนหนึ่งได้เปลี่ยนสูตรการผลิตสีโดยไม่ต้องเติมสาร ตะกั่วได้สำเร็จมาแล้ว

9. มีอะไรบ้างเป็นสารทดแทนตะกั่วในสี

        ปัจจุบันนี้ มีสารทดแทนตะกั่วในสีและสะอาดกว่าผงสีตะกั่วที่ใช้มานานระยะหนึ่งแล้ว   อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปยังคงขาดความตื่นตัวต่อปัญหาสารตะกั่ว และยังไม่มีมาตรฐานบังคับเรื่องตะกั่วในสี

10. หากรู้ว่าบ้านของเราทาด้วยสีที่มีสารตะกั่ว จะปกป้องลูกของเราอย่างไร

          สีตะกั่วจะเป็นอันตรายเมื่อเริ่มเสื่อมสภาพหลุดออกเป็นแผ่นหรือฝุ่น และเมื่อมีการลอกสีด้วยการขัดหรือด้วยความร้อน  แผ่นสีและฝุ่นสีเหล่านั้นจะทำให้สภาพแวดล้อมในบ้านปนเปื้อนสารตะกั่ว และจะเข้าสู่ร่างกายของเด็กเล็กได้โดยง่าย เนื่องจากเด็กมักเล่นกับพื้นและมักนำมือหรือของเข้าปาก  การใช้ความร้อนหรือการเผาสีตะกั่วจะทำให้เกิดควันที่มีสารตะกั่วซึ่งร่างกาย สามารถหายใจเข้าไปได้   มีวิธีการระยะสั้นที่คุณสามารถทำได้เพื่อลดอันตรายจากสารตะกั่ว ได้แก่ การซ่อมแซมพื้นผิวที่สึกหรอและทาสีใหม่ด้วยสีที่ไม่มีสารตะกั่ว รวมถึงการหมั่นทำความสะอาดเพื่อลดปริมาณฝุ่น  วิธีการในระยะยาวที่สามารถทำได้คือการลอกสีเก่าออกทั้งหมด และหากเป็นไปได้ ควรเป็นการกำจัดสีด้วยผู้ที่มีความรู้เฉพาะทาง และคุณควรไปพักอาศัยที่อื่นก่อนจนกว่าการกำจัดสีจะเสร็จสิ้น  หน่วยงานรัฐในท้องที่ของคุณอาจให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติใน เรื่องนี้ได้

11. เด็กอาจได้รับพิษตะกั่วจากการกินเท่านั้น หรือการเล่นตามพื้นที่ทาด้วยสีตะกั่วก็เป็นอันตรายได้

          เด็กสามารถได้รับสารตะกั่วผ่านการหายใจเอาฝุ่นที่ปนเปื้อนสารตะกั่วและการ กินฝุ่นและดินที่ปนเปื้อนสารตะกั่วผ่านพฤติกรรมหยิบของเข้าปาก รวมถึงการอมและกลืนสิ่งของซึ่งปนเปื้อนสารตะกั่วหรือทาด้วยสีปนเปื้อนสาร ตะกั่ว  ถึงแม้ว่าการเล่นบนพื้นผิวที่ทาด้วยสีตะกั่วโดยปกติจะไม่ก่อให้เกิดพิษ ตะกั่ว แต่ก็อาจเป็นแหล่งทำให้ได้รับสารตะกั่วได้เมื่อพื้นผิวนั้นเสื่อมสภาพ จึงควรต้องมั่นตรวจตรา ควบคุม และจัดการพิษภัยจากสารตะกั่วตามสิ่งแวดล้อมของเด็กให้มีความปลอดภัยขึ้น

12. ประเทศใดที่แข็งขันที่สุดในการเพิกถอนสารตะกั่วจากสี

          กลุ่มประเทศที่เคยใช้สีตะกั่วมาก่อน  เช่น ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ได้ศึกษาจนมีข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับอันตรายจากการใช้สีตะกั่วและระยะเวลา ยาวนานของปัญหาหลังจากที่ทาสีบนพื้นผิวไปแล้ว  กลุ่มประเทศเหล่านี้มีการประเมินและพบนัยสำคัญของค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจที่ เป็นผลมาจากการได้รับสารตะกั่วของเด็ก  ประเทศเหล่านี้ทำงานเชิงรุกด้วยการเผยแพร่ข้อมูลแก่ประเทศอื่นๆ เพื่อป้องกันมิให้บทเรียนความผิดพลาดเกิดซ้ำซ้อนแก่สังคมใดอีกโดยเฉพาะค่า ใช้จ่ายโดยตรงทางการแพทย์และภาระทางเศรษฐกิจอื่นๆ  

          ขณะนี้มีประมาณ 30 ประเทศทั่วโลกที่เลิกใช้สารตะกั่วในการผลิตสี และ GAELP พยายามที่จะให้มีการเพิกถอนสารตะกั่วจากสีในทุกประเทศภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020)  โดยมีเป้าหมายระยะสั้นคือ ให้มีการเพิกถอนสารตะกั่วใน 70 ประเทศภายในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015)

13. อะไรคืออุปสรรคขัดขวางหลายประเทศที่ยังไม่เพิกถอนสารตะกั่วจากสี

          หลายประเทศประสบอุปสรรคในการจัดการสารเคมีและต้องการการเสริมสร้างศักยภาพใน หลายด้าน หลายประเทศอาจต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการผลิตสีตะกั่ว หรือการใช้สีที่มีสารตะกั่วภายในประเทศของตน และอาจจะไม่รับรู้ถึงอันตรายจากสารตะกั่วในสี  ผลิตภัณฑ์สีตะกั่วจึงยังไม่มีกฎหมายควบคุมในประเทศเหล่านี้ ยกเว้นประเทศพัฒนาแล้ว

14. เครือข่ายความร่วมมือระดับโลกเพื่อเพิกถอนสารตะกั่วจากสี (GAELP) ซึ่งริเริ่มโดย WHO/UNEP คืออะไร

          เครือข่ายนี้เป็นความร่วมมือระดับโลกและเป็นแบบสมัครใจ โดยผ่านการรับรองจากที่ประชุมนานาชาติว่าด้วยการจัดการสารเคมี (ICCM) ซึ่งเป็นองค์กรระดับรัฐบาลระหว่างประเทศ ที่ประกอบด้วยรัฐบาลของประเทศต่างๆ องค์กรระหว่างรัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และผู้แทนหน่วยงานจากหลายภาคส่วน ซึ่งสนใจในประโยชน์ซึ่งจะเกิดขึ้นจากยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีระหว่าง ประเทศ

          เมื่อปี พ.ศ. 2552  การประชุม ICCM ครั้งที่ 2 ลงมติเห็นชอบให้ก่อตั้งเครือข่ายความร่วมมือดังกล่าวและเชิญชวนให้ผู้มีส่วน ได้เสียทั้งหมดร่วมเป็นสมาชิก โดย WHO และ UNEP ทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการร่วม ตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของแต่ละหน่วยงาน

          วัตถุประสงค์โดยรวม คือ การเพิกถอนการผลิตและจำหน่ายสีที่มีสารตะกั่วเป็นส่วนผสม และกำจัดอันตรายจากสีตะกั่วให้ได้ในที่สุด

          ข้อมูลเพิ่มเติม: www.unep.org/hazardoussubstances/Home/tabid/197/hazardoussubstances/LeadCadmium/PrioritiesforAction/GAELP/tabid/6176/Default.aspx

15. ประเทศสมาชิกสามารถทำอะไรได้เพื่อเพิกถอนสารตะกั่วจากสี

          การดำเนินการเพื่อเพิกถอนสารตะกั่วจากสีเป็นสิ่งจำเป็นในทุกประเทศ  บางประเทศเริ่มมีการเผยแพร่ข้อมูลรณรงค์เรื่องสารตะกั่วในสี และผู้ผลิตสีจำนวนหนึ่งได้ดำเนินการโดยสมัครใจเพื่อยุติการใช้สารประกอบของ ตะกั่วเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์สีแล้ว

....................................................................................................

หมายเหตุ:

ดาวน์โหลดฉบับ PDF คลิกที่นี่

ต้นฉบับภาษาอังกฤษ:  http://www.who.int/ipcs/lead_campaign/faq_en.pdf