"บนทางแห่งภัย เมื่อสารพิษคุกคามพัฒนาการเด็ก" (28 ก.ย. 55)
"บนทางแห่งภัย เมื่อสารพิษคุกคามพัฒนาการเด็ก"
จากต้นฉบับ "In Harm’s Way: Toxic Threats to Child Development"[1]
ผู้แปล: มัทนี เกษกมล
พิมพ์ครั้งที่ 1: กันยายน 2555
ISBN: 978-616-91395-0-8
ความหนา 236 หน้า พิมพ์ด้วยกระดาษรีไซเคิล
ผู้จัดพิมพ์: มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
โทรศัพท์ 02 952 5061 โทรสาร 02 952 5062 E-mail: toxiccampaign.earth@gmail.com
คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลดฉบับ PDF
แม้ดูเหมือนว่าสังคมไทยจะให้ความสำคัญต่อปัญหาความเจ็บป่วยและพัฒนาการของเด็กค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาการออทิสซึม ภาวะด้อยสมรรถภาพในการเรียนรู้ สมาธิสั้น พฤติกรรมก้าวร้าว ไฮเปอร์ การกำเนิดมาพร้อมกับความผิดปกติทางร่างกาย ฯลฯ แต่สมมุติฐานหลักถึงสาเหตุของอาการเหล่านี้ก็มักจะมุ่งไปที่ปัจจัยทางพันธุกรรมและการเลี้ยงดูเป็นหลัก โดยมองข้ามหรือไม่ทันเฉลียวใจถึงปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง นั่นคือสารเคมีจำนวนมหาศาลที่เราใช้และสัมผัสกันอยู่ในชีวิตประจำวันผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆ ปะปนอยู่ในสภาพแวดล้อม ปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่เรากิน ในน้ำที่เราดื่มเข้าไป ในอากาศที่เราสูดหายใจ
ผลจากการศึกษาวิจัยของกลุ่มแพทย์ในสหรัฐอเมริกา ในนาม "องค์กรแพทย์เกรทเตอร์บอสตันเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม" (Greater Boston Physicians for Social Responsibility: GBPSR) ที่ตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือภาษาอังกฤษชื่อ "In Harm’s Way: Toxic Threats to Child Development" แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สมองและระบบประสาทที่กำลังอยู่ในช่วงเจริญเติบโตนั้น มีความเปราะบางเป็นพิเศษต่อสารเคมีที่เข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้สารเคมีที่ร่างกายมีอยู่เป็นปกติ เช่น ฮอร์โมนชนิดต่างๆ หากเปลี่ยนความเข้มข้นไปเพียงเล็กน้อยและมีสารพิษบางอย่างเข้าสู่ร่างกายด้วย ก็จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งและถาวรขึ้นในสมองและระบบประสาทที่กำลังเจริญเติบโต และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้สามารถนำไปสู่ความบกพร่องในด้านต่างๆ ได้
ข้อมูลและหลักฐานทางวิชาการ รวมถึงกรณีศึกษาต่างๆ ที่เชื่อมโยงอย่างเป็นรูปธรรมให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งอัดแน่นอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ได้ทำให้เราตระหนกต่อพิษภัยของสารเคมีที่พบเห็นและสัมผัสอยู่ในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญคือเด็กๆ สามารถรับสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายได้ตลอดเวลาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ในบ้าน ตามท้องถนนและสถานที่ต่างๆ รวมทั้งในโรงเรียน พร้อมๆ กับที่ทำให้เราหันมาตระหนักถึงระดับของปัญหาและอันตรายจากสารเคมี ว่าไม่ใช่เรื่อง "ไกลตัว" หรือ "รอได้" อีกต่อไป
"In Harm’s Way: Toxic Threats to Child Development" ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยและจัดพิมพ์โดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ในชื่อ "บนทางแห่งภัย: เมื่อสารพิษคุกคามพัฒนาการเด็ก" ในเดือนกันยายน 2555 แน่นอนว่า การที่ฉบับภาษาอังกฤษถูกตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อปี 2543 และความแตกต่างทางพื้นที่ นั่นคือบริบทของกรณีศึกษาในหนังสือเล่มนี้ล้วนแต่อยู่ในต่างประเทศนั้น ย่อมไม่อาจเป็นข้ออ้างใดๆ ที่สังคมไทยจะเพิกเฉยต่อหนังสือเล่มนี้
ตรงกันข้าม นัยสำคัญของ "ความแตกต่าง" ดังกล่าวกลับคือข้อเท็จจริงที่ว่า ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศได้ประกาศห้ามใช้สารเคมีบางชนิดไปแล้วด้วยเหตุจากพิษภัยของมัน แต่เกือบทั้งหมดของสารเคมีเหล่านั้นกลับยังคงถูกอนุญาตให้ใช้และจำหน่ายอย่างแพร่หลายในประเทศไทย
คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลดฉบับ PDF
[1] จากรายงานของ "องค์กรแพทย์เกรทเตอร์บอสตันเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม" (Greater Boston Physicians for Social Responsibility: GBPSR) ภายใต้โครงการร่วมกับ "กองทุนน้ำสะอาด" (Clean Water Fund: CWF) พฤษภาคม 2543