ภาคประชาสังคมร่วมแถลงการณ์ต่อการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลก เพื่อยุติมลพิษพลาสติก (25 มี.ค. 67)

 

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

 

 

องค์กรภาคประชาสังคม 3 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) และมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) เล็งเห็นถึงความสำคัญของมาตรการทางกฎหมายฉบับนี้ จึงร่วมจัดงาน “สนธิสัญญาพลาสติกโลก สู่การยุติมลพิษพลาสติก สำคัญอย่างไรต่อสังคมไทย” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และเพื่อประกาศจุดยืนให้มาตราการทางกฎหมายฉบับนี้ทะเยอทะยาน คำนึงถึงสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายสูงสุด และเป็นจุดเริ่มต้นของการยุติมลพิษพลาสติกเพื่อโลกที่ยั่งยืน สะอาด และเป็นธรรม โดยมีข้อเสนอให้รัฐบาล 175 ประเทศทั่วโลก รวมถึงรัฐบาลไทย สร้างสนธิสัญญาพลาสติกที่บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยต้องมีเป้าหมายที่ทะเยอทะยาน มีกรอบเวลาชัดเจน มีกลไกการเงิน ดังนี้
 


1. ลดการผลิตพลาสติกอย่างจริงจัง ยกเลิกการผลิตและการใช้พลาสติกที่เป็นปัญหา จัดการได้ยาก สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ได้ 
2. กำหนดให้มีการเลิกใช้สารเคมีอันตรายตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก พิจารณาการใช้สารเคมีทดแทนที่ปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
3. กำหนดให้มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการลดการใช้พลาสติก การใช้ซ้ำ การเติม การซ่อมแซม ที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย และเข้าถึงได้โดยมนุษย์ทุกคน 
4. กำหนดให้มีการพัฒนากฎหมายการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) ที่ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของพลาสติกและค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม 
5. กำหนดให้ผู้ผลิตพลาสติกรายงานข้อมูลสารเคมีในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการรายงานข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารเคมีและมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก สู่สาธารณะ
6. กำหนดให้มีมาตรฐานสากลในการจัดการพลาสติกที่ใช้แล้ว ที่ให้ความสำคัญกับการลดพลาสติกแต่ต้นทาง การห้ามเผาขยะพลาสติก การกำหนดมาตรฐานการจัดการขยะที่เข้มงวด รวมไปถึงการรีไซเคิลและการผลิตพลังงาน และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน
7. ไม่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ผิดทาง รวมไปถึงการรีไซเคิลสกปรก การขยายโรงไฟฟ้าขยะ และพลาสติกทางเลือกที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่น
8. ไม่สนับสนุนการเคลื่อนย้ายพลาสติกใช้แล้วข้ามพรมแดน และการส่งออกเทคโนโลยีที่ก่อมลพิษ อันเป็นการผลักภาระมลพิษไปยังประเทศกำลังพัฒนา 
9. กำหนดให้มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติก
10. กำหนดให้มีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน รวมไปถึง ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ผู้ปฏิบัติงานและแรงงานที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตที่ปลอดมลพิษพลาสติก โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

 

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

 

 

คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลดเอกสาร