คำพิพากษาศาลปกครองนครสวรรค์ คดีหลุมฝังกลบขยะเอกอุทัย สาขาศรีเทพ
เป็นเวลาเกือบครึ่งทศวรรษมาแล้วที่ประชาชนหมู่ที่ 4 บ้านม่วงชุม ต. คลองกระจัง อ.ศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์ ได้ร้องเรียนถึงความเดือดร้อนที่ตนประสบจากการประกอบกิจการหลุมฝังกลบขยะของบริษัทเอกอุทัย จำกัด แต่ไม่ว่าประชาชนจะพยายามส่งหนังสือร้องเรียนกี่ครั้ง ชุมนุมเรียกร้องการแก้ปัญหากี่หน เข้าร่วมการประชุมไตรภาคีครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ปัญหาก็ยังไม่คลี่คลาย แม้ว่าในปี 2564 กรมควบคุมมลพิษได้พบการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่ายหรือ VOCs (Volatile Organic Compound) ในน้ำชะในบ่อรวบรวมน้ำชะจากบ่อฝังกลบในโรงงาน บ่อสังเกตการณ์และบ่อน้ำใต้ดินของโรงงาน สอดคล้องกับสารที่พบบ่อน้ำใต้ดินของประชาชนที่อยู่ใกล้โรงงาน ด้านผลตรวจของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลระบุว่า “สารอินทรีย์และสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่พบในบ่อน้ำตื้น น้ำคลองธรรมชาติ และน้ำบาดาลระดับลึกภายในหมู่บ้าน มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับคุณสมบัติทางเคมีของน้ำชะขยะในบริษัท” แต่ในปี 2565 กรมโรงงานอุตสาหกรรมกลับอนุญาตให้บริษัทฯ เปิดหลุมฝังกลบที่สอง
วันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ประชาชนบ้านม่วงชุม 14 รายได้ยื่นฟ้องอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์, อบต. คลองกระจัง, นายก อบต. คลองกระจัง ในฐานความผิดละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร โดยศาลได้ไต่สวนเรื่องโดยเร่งด่วนในวันเดียวกัน และต่อมาได้พิจารณาให้บริษัทเอกอุทัย จำกัด เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5
ในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ศาลนครสวรรค์ได้มีคำพิพากษาว่าหน่วยงานทั้งสี่ได้ละเลยหรือล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ โดยระบุรายละเอียดโดยสรุปดังนี้:
จากการตรวจสอบพยานผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พบค่า #โลหะหนัก สารอินทรีย์ระเหยง่าย (#VOCs) และสารพิษต่าง ๆ ในบ่อน้ำโรงงานของบริษัทเอกอุทัย จำกัด และบ่อน้ำของประชาชนภายนอกโรงงาน เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และพบค่าไอระเหยสารอินทรีย์มีค่าเกินระดับที่สามารถรับรู้กลิ่นได้ โดยรายงานของพยานทั้งสองสอดคล้องกับความเห็นอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ตามที่ปรากฏในหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อปลายปี 2564 นอกจากนี้ ผลตรวจสอบสารอินทรีย์ระเหยง่ายของอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมและบริษัทเอกอุทัย จำกัด ยังได้พบสารไวนิลคลอไรด์ในบ่อสังเกตการณ์ของโรงงานอีกด้วย
หลังพิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลเห็นว่า การที่อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ มิได้พิจารณาสั่งการให้บริษัทเอกอุทัย จำกัด ประกอบกิจการให้เป็นไปตามกฎหมายและเงื่อนไขตามที่ได้รับอนุญาต จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช่าเกินสมควร ด้านนายก อบต. คลองกระจัง และ อบต. คลองกระจัง ก็ไม่ได้มีมาตรการใด ๆ เพื่อระงับและแก้ไขเหตุรำคาญที่เกิดจากการประกอบกิจการของบริษัทเอกอุทัย จำกัด ให้หมดสิ้น จึงถือเป็นการละเลยหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรเช่นกัน
ศาลจึงตัดสินให้หน่วยงานรัฐ/ข้าราชการทั้งสี่ดำเนินการระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญหรือเหตุรำคาญ (ตามแต่อำนาจหน้าที่) ภายในระยะเวลา 30 วัน คำพิพากษาได้ระบุอีกว่า หากบริษัทเอกอุทัย จำกัด ไม่ปรับปรุงแก้ไขหรือปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ภายในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมใช้อำนาจตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 กับบริษัทเอกอุทัย จำกัด แล้วแต่กรณี
คดีหลุมฝังกลบขยะเอกอุทัย สาขาศรีเทพ กลายเป็นคดีปกครองด้านสิ่งแวดล้อมที่มีคำพิพากษารวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยใช้เวลาเพียงสามเดือนเท่านั้น