(รายงานพิเศษ) หลังม่านควัน: "บ.เอกอุทัย" และยอดภูเขาน้ำแข็งมลพิษที่ "กลางดง" (20 ก.ย. 64)

รายงานพิเศษ
หลังม่านควัน: "บ.เอกอุทัย" และยอดภูเขาน้ำแข็งมลพิษที่ "กลางดง"

 

กานต์ ทัศนภักดิ์
ปุณญธร จึงสมาน

(20 กันยายน 2564)

 

          เมื่อเวลาประมา​ณ 3.00 น. ของเช้าวันที่ 4 กันยายน 2564 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้อย่างรุนแรงภายในโรงงานของบริษัทเอกอุทัย จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนมิตรภาพขาเข้า ในเขตพื้นที่ของเทศบาลสีมามงคล ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา  โดยผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ระบุว่า ไฟได้เกิดลุกไหม้ขึ้นในบริเวณโกดังเก็บถ่านหิน สารเคมี และขยะอุตสาหกรรม ก่อนจะลุกลามเป็นกองเพลิง และมีเสียงระเบิดดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง[1]

 

สื่อมวลชน 2 สำนักที่รายงานข่าวนี้ระบุตรงกันว่า[2] เมื่อแรกที่รถดับเพลิงเดินทางมาถึงบริเวณหน้าโรงงานที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ รปภ. ไม่ยอมให้เข้าไปด้านในโรงงาน จนกระทั่ง พ.ต.ท. สกลณัฏฐ ปัตตาเทศา สว. (สอบสวน) สภ.กลางดง ได้มาถึงที่เกิดเหตุและมีคำสั่งให้ รปภ. อนุญาต รถดับเพลิงและเจ้าหน้าที่จึงสามารถเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้  แต่เพลิงได้โหมไม้อย่างรุนแรงและลุกลามไปยังโกดังอื่นที่อยู่ติดกัน จนลำพังรถดับเพลิง 2 คันของเทศบาลตำบลสีมามงคล (ทต. สีมามงคล) ไม่สามารถควบคุมเพลิงเอาไว้ได้ ต้องขอกำลังรถดับเพลิงจากพื้นที่ใกล้เคียงอีก 6 คัน รวมเป็น 8 คัน[3] ระดมฉีดน้ำและโฟมเข้าสกัดประมาณ 2 ชั่วโมงจึงสามารถควบคุมเพลิงให้สงบลง แต่เนื่องจากยังคงมีกลุ่มควันจึงต้องใช้รถแบกโฮของโรงงานตักเศษสารเคมีและเถ้าถ่านออกมา ก่อนให้รถดับเพลิงเข้าฉีดน้ำจนเพลิงดับสนิท[4] 

 

ข้อมูลจากการรายงานของสื่อมวลชนระบุว่า จุดเกิดเหตุเป็นโกดังคอนกรีตขนาด 30 x 30 เมตร ซึ่งอยู่บริเวณช่วงหัวของเตาเผาปูนขาว ใช้เก็บถ่านหินและสารเคมีที่เป็นขยะอุตสาหกรรมทั้งของแข็งและของเหลว   โดยเพลิงได้ลุกไหม้โกดังจนเสียหายทั้งหลัง  ห่างออกไปประมาณ 30 เมตร คือบ่อเก็บสารเคมีที่เพิ่งเกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่เมื่อประมาณ 50 วันก่อนหน้า[5] 

 

          “...โรงงานแห่งนี้รับกำจัดสารเคมีอันตราย ซึ่งรับมาจากโรงงานทั่วประเทศทั้ง จ.ระยอง, จ.ชลบุรี  และอีกหลายจังหวัด...มีการลักลอบทิ้งสารเคมีลงไปในดิน โดยการขุดหลุมแล้วฝังกลบ 
          ทางเทศบาลตำบลสีมามงคลไม่มีการต่อใบอนุญาตให้...แต่ยังลักลอบขนขยะเข้ามาภายในโรงงานตลอด...หลายหน่วยงานเข้ามาตรวจพื้นที่หลายครั้ง พบมีการลักลอบทิ้งสารเคมีจำนวนมากลงดินจริง แต่เรื่องก็ยังไม่คืบหน้า  หน่วยงานของรัฐยังไม่มีการดำเนินการอะไร 
          ถ้าเป็นไหม้ตอนกลางวันก็คงมองเห็นควันพิษลอยขึ้นจำนวนมาก...”[6]

         

ภายหลังจากที่สื่อมวลชนเสนอข่าวเหตุเพลิงไหม้  กลวัชร เทพาพรสุวรรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทเอกอุทัย จำกัด ได้นำสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งเข้าไปยังอาคารที่เกิดเหตุ และให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวว่าเพลิงไหม้โกดังสารเคมีนั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากบริษัทเอกอุทัยฯ ไม่มีสต็อกสารเคมี ส่วนใหญ่เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเผาปูนขาว เช่น ขยะ ไม้พาเลซ ไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายแต่อย่างใด “...รวมทั้ง บริษัทไม่ได้รับกำจัดกากอุตสาหกรรม หรือสารเคมีอันตราย เป็นเพียงการนำกากอุตสาหกรรมตามกฎหมายมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเผาปูนขาวเท่านั้น...”   โดยเพลิงไหม้ครั้งนี้เกิดจากจุดเก็บเชื้อเพลิงซึ่งถูกเผาไหม้ไปประมาณ 4-5 ตัน คิดเป็นเงินหลักแสนบาท ขณะที่ไซโล (silo) หรือถังขนาดใหญ่ที่ใช้เก็บปูนขาวนั้นไม่ได้รับความเสียหาย ส่วนสาเหตุของเพลิงไหม้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบ[7]

 

“...เอกอุทัยเป็นบริษัทผลิตปูนขาว ซึ่งจะรับซื้อวัสดุเชื้อเพลิงที่เป็นกากอุตสาหกรรมเป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินสำหรับเผาปูนขาว...ซึ่งก่อนรับซื้อจะส่งรายละเอียดให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมพิจารณา เมื่อได้รับอนุญาตจึงรับซื้อ...” [8]

 

สำหรับในด้านมลพิษ กรรมการผู้จัดการบริษัทเอกอุทัยฯ ระบุว่ากำลังมีการวัดค่ามลพิษ พร้อมทั้งให้ความเห็นว่า

 

...ตอนเกิดเหตุกลิ่นจากการเผาไหม้อยู่ภายในบริเวณโรงงานไม่ได้ออกไปข้างนอกแต่อย่างใด...เพลิงไหม้บริเวณจำกัดและไหม้อยู่ไม่เกิน 1 ชั่วโมง คาดว่า มลพิษคงไม่มีเท่าไหร่...” [9]   

 

ทั้งนี้ ทางบริษัทเอกอุทัยฯ คำนึงถึงความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยของชาวบ้านและชุมชนเป็นอย่างมาก จึงได้ไปตรวจสอบตามหน่วยงานต่างๆ และไม่พบผู้ร้องเรียนว่าได้รับมลพิษจากเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด[10]

 

          จากการลงพื้นที่สอบถามประชาชนในพื้นที่ พบข้อมูลที่ค่อนข้างขัดแย้งกับความเห็นดังกล่าว โดยผู้ที่พักอาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับโรงงานที่เกิดเหตุระบุว่า ขณะเกิดเหตุกลิ่นและควันจากเพลิงที่ลุกไหม้ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งจำต้องอพยพออกไปอาศัยตามบ้านญาติที่ไกลจากจุดเกิดเหตุเป็นการชั่วคราว[11] 

 

อีกทั้งยังพบข้อมูลด้วยว่า โรงงานแห่งนี้ได้เคยเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่มาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง โดยครั้งก่อนหน้าคือเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา และครั้งที่รุนแรงที่สุดคือเมื่อเดือนกรกฎาคม 2547 ที่ทำให้ผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุถึง 2 คน 

 

โดยประชาชนในพื้นที่หลายคนให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ตนต้องประสบกับปัญหาความเดือดร้อนจากโรงงานแห่งนี้มาโดยตลอด ทั้งมลพิษจากกลิ่นเหม็น ฝุ่นควัน ซึ่งได้เคยร้องเรียนไปแล้วหลายครั้ง แต่ “ไม่เห็นจะมีอะไรดีขึ้น”[12]

 

ขณะที่นายกเทศมนตรีและเจ้าหน้าที่จากเทศบาลตำบลสีมามงคล (ทต.สีมามงคล) ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ระบุว่า โรงงานแห่งนี้เคยถูกตรวจสอบพบการลักลอบฝังกลบขยะอุตสาหกรรมที่ปนเปื้อนสารเคมีอันตรายด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีการรองพื้นป้องกัน มาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง  โดยครั้งล่าสุดคือเมื่อต้นปี 2564 นี่เอง ซึ่งทาง ทต.สีมามงคล ยอมรับว่าปัญหานี้ก่อให้เกิดความวิตกว่า อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำใต้ดินและสุขภาพอนามัยของประชาชน เนื่องจากพื้นที่ ต.กลางดง ทั้งหมดใช้ระบบประปาบาดาล โดยสูบน้ำจากใต้ดินขึ้นมาผลิตเป็นน้ำประปาก่อนแจกจ่ายเข้าสู่ครัวเรือนของประชาชน และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ทต.สีมามงคล มีคำสั่งไม่ต่อใบอนุญาตให้แก่โรงงานแห่งนี้  โดยหลังจากนั้นทางบริษัทเอกอุทัยฯ ได้ทำการยื่นอุทธรณ์ ปัจจุบันเรื่องอยู่ที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์[13]

 

          จากการสืบค้นข้อมูลทั้งจากเอกสาร รายงานข่าว คำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ ทำให้พบว่าโรงงานแห่งนี้มีความเป็นมาที่น่าสนใจอย่างมาก ทั้งในแง่ที่มีการเปลี่ยนเจ้าของหรือบริษัทผู้ประกอบกิจการมาแล้วอย่างน้อย 5 ราย และในแง่การพิพาทกับประชาชนในพื้นที่ผ่านข้อร้องเรียนทั้งปัญหามลพิษ อุบัติภัย และการบุกรุกพื้นที่ป่า 

 

รายงานพิเศษนี้ จึงขอพาไปทำความรู้จักกับโรงงานแห่งนี้ตั้งแต่แรกเริ่ม และปัญหาของ “คนกลางดง” ที่มาจากการการประกอบกิจการของโรงงานแห่งนี้  โดยเฉพาะด้านมลพิษที่ได้รับการยืนยันว่า เกิดขึ้นต่อเนื่องมาไม่ต่ำกว่า 1 ทศวรรษ และยังคงเกิดขึ้นในปัจจุบัน


 


กว่าจะเป็น "เอกอุทัยกลางดง"  

         ตามข้อมูลที่ปรากฏในเว็บไซต์ทางการของบริษัทเอกอุทัย จำกัด ระบุว่า ตั้งอยู่เลขที่ 499 หมู่ 1 ถ.มิตรภาพ ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จดทะเบียนเป็นบริษัทเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2554 มีโรงงานเผาปูนขาว (Lime) ขนาดใหญ่ บนเนื้อที่ 23 ไร่ 3 งาน 3 ตารางวา  ในหน้า “เกี่ยวกับเรา” บริษัทเอกอุทัยฯ ได้กล่าวถึงตนเองว่า ...มีความสามารถในการกำจัดของเสีย สารเคมีใช้แล้ว และกากอุตสาหกรรม  ด้วยการเผาของเสียอันตรายที่อุณหภูมิสูง แบบเตาเผา Rotary Kiln[14]  ซึ่งสอดคล้องกับในหน้าแรก (home) ที่ว่า “บริษัทเอกอุทัย จำกัด ครบวงจรในการบริหารจัดการกาก อุตสาหกรรม ทั้งของแข็งและของเหลว โดยได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม”[15]

 

ข้อมูลจากแหล่งเดียวกันระบุว่า บริษัทเอกอุทัยฯ มีสำนักงานใหญ่ (head office) ตั้งอยู่เลขที่ 47/349 ถ.ป๊อบปูล่า ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี มีสำนักงานสาขาอยู่ใน 3 จังหวัด และเป็นที่ตั้งของโรงงาน 3 แห่ง ได้แก่[16]

 

(1) สาขาศรีเทพ: โรงงานแห่งนี้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 105 คือการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว[17] เลขทะเบียนโรงงาน 3-105-1/45พช[18] ตั้งอยู่ที่ ต.คลองกระจัง อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์

 

(2) สาขาอุทัย: โรงงานแห่งนี้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 106 คือการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม[19] [20] เลขทะเบียนโรงงาน 3-106-7/57อย[21] ตั้งอยู่ที่ ต.สามบัณฑิต อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา

 

(3) สาขากลางดง: โรงงานแห่งนี้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ 2 ประเภท ได้แก่ โรงงานลำดับที่ 57(1) คือการทำซีเมนต์ ปูนขาว หรือปูนปลาสเตอร์  และใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 101 คือโรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม (central waste treatment plant)[22] เลขทะเบียนโรงงาน 3-57(1)-1/43นม[23] ตั้งอยู่ที่ ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

           

          เมื่อสืบค้นข้อมูลในใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ก็พบว่า โรงงานเดียวกันกับที่เป็นของบริษัทเอกอุทัยฯ สาขากลางดง ได้เคยมีบริษัทเข้ามาประกอบกิจการรวมแล้วถึง 5 บริษัท  โดยลำดับแรกสุดคือบริษัทอโศก เคมีคอล จำกัด ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 57(1) เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2543  ระบุในใบอนุญาตฯ ว่า ผลิตปูนขาวได้ปีละ 240,000 ตัน กำลังเครื่องจักร 1,966.2 แรงม้า จำนวนคนงาน 30 คน เริ่มประกอบกิจการโรงงานเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2544[24] ซึ่งต่อมาได้มีการเพิ่มประเภทการประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 101 โดยได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2547[25] ก่อนที่โรงงานแห่งนี้จะเปลี่ยนชื่อเจ้าของเป็นบริษัทกลางดงไลม แอนด์ เอ็กซ์เพิร์ทเอ็นไวรอนเมนท์ จำกัด[26] เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2547[27]

 

28 ตุลาคม 2548 บริษัทกลางดงไลมฯ ได้มีการ “ขยายโรงงาน” ครั้งที่ 1 โดยเพิ่มเติมการประกอบกิจการโรงงานลำดับ 105 และ 106 เพิ่มกำลังเครื่องจักรเป็น 2,234.12 แรงม้า ได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2548[28]

 

ในปี 2554 หรือราว 6 ปีต่อมา โรงงานแห่งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง คือมีการยกเลิกการประกอบกิจการโรงงานลำดับ 105 และ 106 ซึ่งมีผลให้การอนุญาตให้ขยายโรงงานครั้งที่ 1 เมื่อปี 2548 ถูกยกเลิกไปด้วย[29] และเปลี่ยนผู้ประกอบกิจการเป็นบริษัททอพ-คลาส คอนซัลแทนท์ จำกัด เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2554[30] ก่อนจะเปลี่ยนเป็นบริษัทคลาซซี่ คอนซัลแทนท์ จำกัด ในวันที่ 22 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน[31]

 

         กระทั่งในปี 2559 โรงงานแห่งนี้จึงได้เปลี่ยนผู้ประกอบกิจการเป็น “บริษัทเอกอุทัย จำกัด”  โดยได้รับโอนใบอนุญาตประกอบกิจการเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559  

 

นับรวมเวลาตั้งแต่บริษัทเอกอุทัยฯ ได้เข้ามาประกอบกิจการโรงงานแห่งนี้จนถึงปัจจุบัน (กันยายน 2564) เป็นเวลา 5 ปี 6 เดือน ภายใต้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 57(1) และ 101 เนื่องจากใบอนุญาตฯ ของโรงงานลำดับที่ 105 และ 106 ได้ถูกยกเลิกไปแล้วในปี 2554 ก่อนที่บริษัทเอกอุทัยฯ จะเข้ามารับโอนกิจการ ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

 

        ดังนั้น ถึงแม้บริษัทเอกอุทัยฯ จะมีใบอนุญาตฯ ของโรงงานลำดับที่ 105 และ 106 แต่ก็เป็นใบอนุญาตฯ ที่ออกให้แก่โรงงานของบริษัทเอกอุทัยฯ ที่ จ.เพชรบูรณ์ และ จ.พระนครศรีอยุธยา ตามลำดับ จึงไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการประกอบกิจการโรงงานของบริษัทเอกอุทัยฯ ที่ ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา แห่งนี้แต่อย่างใด
 

ทุกข์ของ "คนกลางดง

          องค์การบริหารส่วนตำบลกลางดง หรือ อบต.กลางดง ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “องค์การบริหารส่วนตำบลสีมามงคล” และยกฐานะเป็น “เทศบาลตำบลสีมามงคล” เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550  จากนั้นพื้นที่ ต.กลางดง ก็ได้แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 2 ท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาลตำบลกลางดง (ทต.กลางดง) และเทศบาลตำบลสีมามงคล (ทต.สีมามงคล) อันเป็นที่ตั้งของบริษัทเอกอุทัยฯ รวมทั้งตัวโรงงาน

 


(วิโรจน์ ศรีสังข์ นายกเทศมนตรีตำบลสีมามงคล)

 

          วิโรจน์ ศรีสังข์ ชาว ต.กลางดงโดยกำเนิด เข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร อบต.กลางดง เมื่อปี 2542 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลสีมามงคล ได้เล่าทบทวนความทรงจำว่า  ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโรงงานแห่งนี้ ปะทุตัวขึ้นให้เห็นชัดเจนเป็นครั้งแรกราวในปี 2547 ซึ่งขณะนั้นตนมีตำแหน่งเป็นนายก อบต.กลางดง  โดยเริ่มต้นขึ้นจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2547 ซึ่งถือเป็นโศกนาฏกรรมเนื่องจากเป็นเหตุให้คนงานชาวลาว 2 คนเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ  โดยรายงานข่าวส่วนใหญ่ในช่วงเวลานั้นได้ระบุถึงสาเหตุและรายละเอียดของเหตุการณ์ว่า

 

"...คนงานใช้แก๊สตัดเหล็กที่ปากถัง ทำให้เกิดระเบิด คนงาน 2 คน ลอยกระเด็นข้ามไปไกลนับร้อยเมตร เสียชีวิต 2 ศพ[32] ...ขยะที่ถูกเพลิงไหม้เป็นกากขยะอุตสาหกรรม ที่เก็บมาจากโรงงานแถบภาคตะวันออก ทำให้ประชาชนใกล้เคียงต่างมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ” [33]

อย่างไรก็ตาม พบรายงานข่าวจากอย่างน้อย 1 สำนักที่ระบุว่า สาเหตุของเพลิงไหม้ครั้งดังกล่าวอาจเกิดจาก “การลอบวางเพลิง”[34]  โดยข้อมูลจากแหล่งเดียวกันระบุด้วยว่า ในขั้นต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานเป็นเวลา 90 วัน[35]

 

 

          ถัดจากเหตุการณ์เพลิงไหม้เพียง 2 เดือน ก็ได้เกิดเหตุลักลอบฝังกลบกากของเสียอันตรายจำนวนมหาศาลในบริเวณพื้นที่หลังโรงงาน โดยในครั้งนั้นวิโรจน์ได้เข้าตรวจสอบเหตุด้วย

 

         “...เราได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการใช้รถแบคโฮขุดพื้นดินบริเวณข้างหลังโรงงาน แล้วก็เอาถัง 200 ลิตร ซึ่งข้างในเป็นน้ำมันเก่าอะไรต่อมิอะไร มาเปิดฝาออก จากนั้นก็ใช้รถแบคโฮบี้ เพื่อให้น้ำมันไหลลงพื้น ที่เป็นถังใหญ่พันลิตรสองพันลิตรเขาก็เปิดให้น้ำมันไหลลงพื้นเลย...[36]

 

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2547 โดยใน “รายงานความคืบหน้า” ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระบุว่า[37]

 

         “...มีกลุ่มบุคคลเข้าไปในพื้นที่ติดกับโรงงานของบริษัท อโศกเคมีคอล จำกัด บริเวณหมู่ที่ 1 ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่เก็บกากของเสียที่เป็นอันตรายจากโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อรอนำไปเผาในเตาเผาปูนขาวของโรงงานบริษัท อโศกเคมีคอล จำกัด โดยใช้รถแบคโฮล์บดอัดถังโลหะขนาด 200 ลิตร ซึ่งภายในบรรจุกากสารเคมี และได้นำกากสารเคมีที่บรรจุอยู่ในถังซึ่งส่วนใหญ่เป็นของเหลวไปเทลงในบ่อดินที่ขุดขึ้นใหม่ในพื้นที่ โดยไม่มีการป้องกันการปนเปื้อนลงดินแต่อย่างใด และมีกากสารเคมีบางส่วนหกหล่นอยู่บนพื้นดิน ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นของสารเคมีกระจายทั่วบริเวณใกล้เคียง กากของเสียที่เป็นอันตรายที่พบ ได้แก่ น้ำมันเครื่องใช้แล้ว กากสี สารตัวทำละลายอินทรีย์ใช้แล้ว กากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสีย ยางมะตอย และเศษวัสดุที่ปนเปื้อนสารเคมี เป็นต้น...[38]

 

อย่างไรก็ตาม จากการเข้าตรวจสอบพื้นที่พบว่า บริเวณที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่โรงงานของบริษัทอโศก เคมีคอลฯ นั้น เป็นพื้นที่ของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอเวอร์ทัฟ คอนกรีต[39]  โดย “บริษัทบริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน)” หรือ “เจนโก้”[40] ซึ่งเป็นบริษัทรับกำจัดขยะอุตสาหกรรมที่มีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้เข้ามาทำการเช่าพื้นที่ดังกล่าว และ “มีการลักลอบนำขยะกากอุตสาหกรรมสารเคมีอันตราย มาทำลายและทิ้งไว้จำนวนมากกว่า 3,000 ถัง”[41]  

 

         “...จากการสังเกตของผู้สื่อข่าวพบว่าบริเวณกองถังกากอุตสาหกรรมสารเคมียังคงมีกลิ่นเหม็นฉุนตลบอบอวลไปทั่วบริเวณจนทำให้แสบจมูก เนื่องจากน้ำเสียในถังพลาสติกและถังนำมันขนาด 200 ลิตรที่บรรจุสารเคมีหลายร้อยถังรั่วไหลออกมายังเจิ่งนองเป็นบริเวณกว้างและไหลปนเปื้อนออกสู่พื้นที่ใกล้เคียงอยู่ตลอดเวลา...[42]

 

ข้อมูลจากอีกแหล่งหนึ่งที่ช่วยให้ภาพรายละเอียดของสถานที่เกิดเหตุในเวลานั้นได้เป็นอย่างดี แม้จะขัดแย้งกับข้อมูลของสื่อมวลชนในเรื่อง “จำนวน” ของถังบรรจุกากอุตสาหกรรม ก็คือรายงานการติดตามตรวจสอบปริมาณสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs)  โดยผู้เชี่ยวชาญภาครัฐ[43] ซึ่งระบุว่า

 

         “...พบถังบรรจุสารเคมีขนาด 200 ลิตร จำนวน 500 ใบ ที่มีการเทสารเคมีทิ้งลงในหลุมฝังกลบ โดยไม่มีการปูพื้นที่ก้นหลุม และมีถังที่รอการกำจัดจำนวน 8,786 ใบ...เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ ได้จับกุมคนงานจำนวน 13 คนในที่เกิดเหตุขณะลักลอบเข้ามาทำลายฝังกลบกากอุตสาหกรรมดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนเพื่อดำเนินคดีและสืบสาวถึงผู้ว่าจ้าง ทางด้านการดำเนินการกับผู้ประกอบการโรงงานที่เกี่ยวข้องนั้น ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมกำลังรวบรวบข้อมูล หลักฐานต่างๆ เพื่อดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างถึงที่สุดในเร็วๆ นี้...”[44]

 

อนึ่ง แม้ว่าทั้งรายงานของภาครัฐและสื่อมวลชนในช่วงเวลนั้น จะระบุว่าโรงงานซึ่งตั้งอยู่ติดกับที่เกิดเหตุเป็นของบริษัทอโศก เคมีคอลฯ แต่เมื่อพิจารณาตามลำดับการ “เปลี่ยนมือ” ในใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานก็พบว่า เหตุการณ์ลักลอบฝังกลบกากของเสียอันตรายในวันที่ 9 กันยายน 2547 เกิดขึ้นในช่วงที่บริษัทกลางดงไลมฯ ได้เข้ามารับช่วงต่อจากบริษัทอโศก เคมีคอลฯ อย่างเป็นทางการ คือได้มีการเปลี่ยนชื่อบริษัทผู้ประกอบกิจการในใบอนุญาตฯ เป็นเวลาประมาณ 1 เดือนแล้ว  อีกทั้งยังปรากฏในรายงานข่าวอย่างน้อย 2 ชิ้นว่า บริษัทกลางดงไลมฯ ได้เข้ามารับช่วงการบริหารต่อจากบริษัทอโศก เคมีคอลฯ อย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2547[45]  

 

ส่วน “ที่มาที่ไป” ของถังกากอุตสาหกรรมนั้น  ฮาเล็ม เจะมาริกัน ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 ในขณะนั้นกล่าวว่า ตามที่ตนได้รับรายงานในที่ประชุมคือ

 

         “ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับรายงานในที่ประชุม พอสรุปได้ว่า ถังกากอุตสาหกรรมดังกล่าว ทางบริษัทเจนโก้ได้ ส่งมาให้ บริษัทอโศก เคมีคอล จำกัด ภายใต้กลุ่มเจ้าของเดิมดำเนินการทดลองกำจัดในโรงงานเตาเผาปูนขาวของบริษัทอโศกมาตั้งแต่ปี 2544-2546  แต่มีปัญหาการกำจัดมาตลอด...และที่สำคัญบริษัทอโศกฯเพิ่งจะได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานฯ ให้สามารถนำกากอุตสาหกรรมมากำจัดได้เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา”[46]

 

ซึ่งสอดคล้องกับที่เรืองศักดิ์ งามสมภาค อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมในขณะนั้น ระบุว่า

        

         ...ก่อนหน้านั้นได้กำหนดให้โรงปูนต่างๆ สามารถทดลองเผาขยะได้ด้วย โดยโรงงานปูนของบริษัทอโศก เคมีคอลเป็นหนึ่งในโรงงานที่ทดลองเผาขยะ แต่ต่อมาเกิดปัญหาไฟไหม้ และกรมโรงงานฯ มีนโยบายให้ติดระบบวัดของเสียที่ออกจากปล่องที่เผาขยะ จึงได้มีนโยบายสั่งปิดปรับปรุงโรงปูนทั้งหมดรวมถึงอโศกฯ ด้วยเมื่อช่วง 1- 2 เดือนที่ผ่านมา...[47] [48]

 

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ผู้บริหารบริษัทกลางดงไลมฯ ได้ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนว่า จากที่ได้พยายามค้นดูเอกสารหลักฐานภายใต้การบริหารของกลุ่มเจ้าของเดิม ซึ่งก็ไม่พบว่าบริษัทอโศก เคมีคอลฯ ได้ทำสัญญาผูกพันเพื่อดำเนินการซื้อหรือรับจ้างกำจัดขยะอุตสาหกรรมกับบริษัทเจนโก้แต่อย่างใด “...เท่าที่ทราบจากผู้บริหารชุดเก่าเล่าให้ฟังพบว่า ได้พยายามแก้ปัญหา ติดต่อให้เจนโก้ดำเนินการขนขยะอุตสาหกรรมฯ ที่กองอยู่ด้านข้างโรงงานกลับไปหลายครั้ง แต่ไม่คืบหน้า...”[49]

 

            สำหรับการแก้ไขปัญหา ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ก่อนมอบหมายให้บริษัทเจนโก้นำกากของเสียอันตรายดังกล่าวไปกำจัด[50]  โดยข้อมูลจากรายงานข่าวในวันที่ 15 กันยายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่ 3 ของการคัดแยกและเก็บขนกากขยะอุตสาหกรรมจากที่เกิดเหตุไปรอการกำจัดที่บริษัทเจนโก้ จ.ระยอง ระบุว่า ต้องใช้คนงานกว่า 10 คน พร้อมด้วยรถแบ็คโฮ ทำการขนถ่ายถังบรรจุกากอุตสาหกรรมขึ้นรถบรรทุกสิบล้อซึ่งจอดเรียงรายอยู่หลายคันตลอดทั้งวัน เนื่องจากมีจำนวนมาก

 

ในส่วนของการปนเปื้อนจากกากสารเคมีที่ถูกเท/ฝังลงดิน  กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) และกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ซึ่งได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างนำไปตรวจพิสูจน์ได้รายงานผลตรวจสอบพบว่า พบการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ที่ความลึกระดับ 1 เมตรจากผิวดิน ครอบคลุมพื้นที่ 20,400 ตารางเมตร แต่ยังตรวจสอบไม่พบการปนเปื้อนในบ่อบาดาลบริเวณรอบๆ โรงงาน  นอกจากนั้นยังพบการปนเปื้อนของสารเคมีอีก 3 ชนิด คือ ไตรคลอโรเอธิลีน เบนซีน และไตรคลอโรอีเธน ในบ่อสังเกตการณ์ใกล้พื้นที่ปนเปื้อน[51]

 

อนึ่ง พบข้อมูลที่อ้างอิงจากแหล่งรายงานของภาครัฐระบุว่า การเทและฝังสารอันตรายในครั้งนั้น “...เป็นเหตุให้เกิดการปนเปื้อนสารในกลุ่ม DNAPLs ลงสู่ดินที่ระดับความลึก 2 เมตร และพบการปนเปื้อนสู่ใน[52]น้ำใต้ดินที่ระดับความลึกถึง 40 เมตร...[53]

       

          พรทิภา พยมพฤกษ์ หัวหน้าฝ่ายบริหารงานสาธารณสุข  รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ทต.สีมามงคล ให้ข้อมูลว่า นอกจากอุบัติภัยเพลิงไหม้และการลักลอบกำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างผิดกฎหมายแล้ว โรงงานแห่งนี้ยังถูกร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องมากว่าสิบปีจนถึงปัจจุบัน ถึงปัญหาความเดือดร้อนจากการประกอบกิจกรรมของโรงงาน โดยเฉพาะในด้านมลพิษทางอากาศ ฝุ่นควัน กลิ่นเหม็น[54]

 

สอดคล้องกับที่ธนิต สืบศิริ อดีตผู้บริหารบริษัทอโศก เคมีคอลฯ ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทอโศก แมชชีน จำกัด ที่ตั้งอยู่ห่างจากโรงงานของบริษัทเอกอุทัยฯ ประมาณ 700 เมตร ได้เปิดเผยว่า ตนและประชาชนที่อาศัยอยู่ในละแวกเดียวกับโรงงานได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นฉุนและละอองฝุ่นที่ฟุ้งกระจายจากโรงงานแห่งนี้มาสิบกว่าปีแล้ว คือตั้งแต่ก่อนที่บริษัทเอกอุทัยฯ จะเข้ามารับช่วงกิจการ รวมถึงได้เคยร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง แต่ก็เหมือนไม่มีอะไรดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม[55]


(ธนิต สืบศิริ)

 

          การร้องเรียนของธนิตเริ่มต้นขึ้นในปี 2556 โดยระบุว่า โรงงานซึ่งขณะนั้นเป็นของบริษัทคลาสซี่ คอลซัลแทนท์ฯ ไม่มีระบบการควบคุมฝุ่นละอองและกลิ่น ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนและสัตว์เลี้ยง ซึ่งภายหลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมาก็ได้ทำหนังสือตอบกลับมายังธนิต โดยยอมรับว่า “การกำจัดและบำบัดฝุ่นละอองที่เกิดจากกากอุตสาหกรรม ฝุ่นละอองปูนขาว และฝุ่นละอองจากถ่านหินของโรงงานไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ”[56]

 

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาและความเดือดร้อน ศูนย์ดำรงธรรมฯ แจ้งว่า “ทางโรงงานได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา” โดยจะนำกากอุตสาหกรรมที่ยังคงเหลือส่งไปกำจัดยังโรงงานผู้รับกำจัดภายใน 15 วัน จะปรับปรุงระบบฝุ่นละอองปูนขาวให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน รวมถึงจะมีการลดกำลังผลิตลงและติดตั้งเครื่องฉีดละอองน้ำเพิ่มเติมภายใน 7 วัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และ จะติดต่ออาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเข้ามาให้คำแนะนำ ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากถ่านหินให้ลดลงและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 90 วัน โดยทางจังหวัดจะติดตามผลและแจ้งความคืบหน้าให้ทราบ[57]

 

            “...เขาเคยติดตั้งระบบกำจัดฝุ่น แต่มันก็ไม่ได้ดีขึ้น เป็นแค่เรื่องแหกตา คือเวลาชาวบ้านร้องเรียนก็เอาผักชีโรยหน้าหน่อยนึง พออุตสาหกรรมจังหวัดมาตรวจก็ดีแค่ตอนมาตรวจนั่นแหละ พอกลับออกจากโรงงานก็อีกเรื่องหนึ่ง ตามเดิม

         ....เดือนสองเดือนก่อนหนักมาก กลิ่นคล้ายๆ ยาฆ่าแมลง...แล้วคิดดูว่าผมอยู่ห่างยังเหม็นขนาดนี้ คุณลองไปถามเอเวอร์ทัฟดูเถอะ เขาอยู่ติดกัน แต่ตอนนี้เขาย้ายบ้านไปแล้ว หนีกลิ่น...[58]

 


(พิสิษฐ์ สืบศิริ)

 

          พิสิษฐ์ สืบศิริ อีกหนึ่งในสมาชิก “สืบศิริ” อันเป็นตระกูลเก่าแก่ของตำบลกลางดง ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจและพักอาศัยอยู่ในย่านเดียวกับโรงงานดังกล่าว ยอมรับว่าได้รับผลกระทบทางกลิ่นและฝุ่นละอองมาตั้งแต่ปี 2547

 

         “...เขาเปลี่ยนมือกันมาหลายเจ้า แต่ยังสร้างปัญหาเหมือนเดิม บางครั้งที่มันมาเป็นกลิ่นบางๆ มันก็เหมือนจะไม่เท่าไหร่ แต่ถ้ามาหนักๆ หรือดมติดต่อกันระยะเวลาหนึ่ง จะเกิดอาการแสบคอ มึนหัว วิงเวียน ต้องลองมาอยู่จะเข้าใจ...”

 

หลังจากอดทนอยู่สิบกว่าปี ในที่สุดพิสิษฐ์และครอบครัว ซึ่งเดิมทีมีบ้านอยู่ภายในบริเวณโรงงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดเอเวอร์ทัฟคอนกรีต ติดกับบริษัทเอกอุทัยฯ ก็ต้องตัดสินใจย้ายออกมาซื้อคอนโดมิเนียมอยู่ห่างไกลออกไป เนื่องจากทนปัญหาฝุ่นละอองและกลิ่นเหม็นไม่ไหว ที่สำคัญคือเกรงว่าจะส่งผลกระทบกับสุขภาพของลูก

 

         “...ช่วงหลังๆ กลิ่นมันรุนแรงขึ้น จนเมื่อ 3 ปีที่แล้วผมมีลูกคนที่สอง เลยตัดสินใจว่าไม่ไหวแล้ว ต้องย้ายออกมา คุณคิดดูบ้านผมสองชั้น ไปดูได้เลย แต่ผมต้องกัดฟันออกมาซื้อคอนโดอยู่... 

         ก็ยังต้องเข้าไปทำงานทุกวัน เข้าไปดมทุกวัน แต่ถึงยังไงเราก็ยังกลับมานอนที่นี่ได้ ไม่ต้องดมทั้งวันคืน พวกคนงานที่เขาต้องอยู่ตรงนั้นตลอดนี่สิ เขาเลี่ยงไม่ได้...”

 

เมื่อสอบถามว่าเคยได้พยายามเจรจากับทางโรงงานเพื่อขอให้แก้ไขปัญหานี้บ้างหรือไม่ เจ้าของเอเวอร์ทัฟคอนกรีต ตอบว่า

         “...คุยกันไม่ได้ เคยแล้ว มีครั้งหนึ่งเขาเอารถขนสารเคมีมาจอดหน้าโรงงานผม ผมจะขอเข้าไปตำหนิเขา เขายังไม่ยอมให้ผมเข้าโรงงานเลย

         บางทีเขาเอาแสลน (ตาข่ายกรองแสง) มาติดรอบๆ โรงงาน อาจจะเป็นเพราะผมเคยไปถ่ายรูป...”[59]

         

 “บุกรุกพื้นที่ป่า” คืออีกข้อร้องเรียนของโรงงานแห่งนี้  โดยในปี 2556 นอกจากธนิตจะร้องเรียนเรื่องกลิ่นหม็นและฝุ่นละอองแล้ว เขายังได้ร้องเรียนไปพร้อมกันด้วยว่า โรงงานของบริษัทคลาสซี่ฯ บุกรุกพื้นที่ “ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเสียดอ้า ป่าเขานกยูง และป่าเขาอ่างหิน”

 

ในประเด็นนี้ทางศูนย์ดำรงธรรมฯ ได้ตอบกลับมาว่า “บริเวณโรงงานผลิตปูนขาว...มีแนวเขตคาบเกี่ยวกับแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ” ตามที่ธนิตร้องเรียนจริง แต่เนื่องจากทางบริษัทคลาสซี่ฯ แจ้งว่า “เอกสารสิทธิในที่ดิน เก็บรักษาไว้ที่สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ประสานกับบริษัทฯ และสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาปากช่อง เพื่อตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่อไป

 

ก่อนที่เรื่องราวดังกล่าวจะเงียบหายไปอีกหลายปี

 

 

การมาของ “เอกอุทัย”

          นายกเทศมนตรี และเจ้าหน้าที่ ทต.สีมามงคล ยอมรับว่า ตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา ในฐานะหน่วยงานท้องถิ่นได้พยายามติดตามแก้ไขปัญหาโดยแจ้งเรื่องไปยังอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลโรงงาน ถึงปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนรวมถึงการการละเมิดกฎหมายของโรงงาน แต่ตลอดมาปัญหาและความวิตกของประชาชนต่อคุณภาพชีวิตของตนก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้หมดไป

 

         จนกระทั่งในปี 2559 บริษัทเอกอุทัย จำกัด ได้เข้ามารับช่วงประกอบกิจการต่อ โดยได้มีการปิดโรงงานเพื่อทำการปรับปรุงเป็นเวลาประมาณ 1 ปี ก่อนที่จะทำการ “ทดลองเครื่อง” ในปี 2560[60]

 

         “...ในระหว่างที่เขาทดลองเครื่อง ซึ่งเรายังไม่ได้ออกใบอนุญาตอะไรนะ ปรากฏว่าเขาเอาตราสัญลักษณ์ ISO มาติดตั้งไว้หน้าโรงงานเลย...

เราก็แจ้งไปที่อุตสาหกรรมจังหวัด แล้วก็แจ้งไปที่ ISO แต่ไม่มีใครตอบอะไรเราเลย”[61]

 

          11 ตุลาคม 2561 ภายหลังจากที่มีประชาชนร้องเรียนถึงมลพิษจากการประกอบกิจการ ทต.สีมามงคลได้ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนมีการเข้าตรวจสอบภายในโรงงานของบริษัทเอกอุทัย

 

            17 ธันวาคม 2561 เทศบาลสีมามงคลได้มีคำสั่งไม่ต่อ “ใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” ซึ่งอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข ให้แก่บริษัทเอกอุทัยฯ เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการ โดยได้อ้างอิงการเข้าตรวจสอบภายในโรงงานโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 รวมถึงผลวิเคราะห์คุณภาพอากาศที่ชี้ว่าปริมาณฝุ่นละอองในปล่องของโรงงานสูงเกินค่ามาตรฐานกว่า 2 เท่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการประกอบกิจการของโรงงานแห่งนี้ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน

 

         “...ภายในพื้นที่โรงงาน บริเวณปล่องระบายอากาศมีฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย และบริเวณที่ใช้กักเก็บสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่โรงงานรับกำจัดมีกลิ่นเหม็นรุนแรง ประกอบกับ...รายงานการตรวจวิเคราะห์คุณภาพอากาศจากศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ...ปริมาณฝุ่นละอองในบรรยากาศจากปล่องระบาย...มีค่าฝุ่นละอองในปล่อง 270 มิลลิกรัมต่อลูกบาสก์เมตร[62] ซึ่งเกินจากประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม...” [63]

 

            อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ ทต.สีมามงคลได้มีคำสั่งไม่ต่อใบอนุญาตฯ บริษัทเอกอุทัยได้ทำการยื่นอุทธรณ์ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 สรุปความว่า “แม้จะรับฟังได้ว่า” การประกอบกิจการของโรงงานดังกล่าว “เป็นเหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนเรื่องกลิ่นเหม็นแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง” แต่เนื่องจาก “คำสั่งดังกล่าวไม่เป็นไปตามรูปแบบของการออกคำสั่งทางปกครอง” จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้ “เพิกถอน” คำสั่งไม่ต่อใบอนุญาตฯ ดังกล่าว[64]


2564: ปัญหาปะทุต่อเนื่อง

          19 มีนาคม ปี 2564 ภายหลังได้รับการร้องเรียนว่ามีการ “...นำกากขยะอุตสาหกรรมมาฝังกลบในพื้นที่ของบริษัทฯ ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวนประชาชน และส่งผลกระทบต่อน้ำใต้ดิน พร้อมทั้งขอให้ตรวจสอบว่าพื้นที่ที่คาดว่ามีการฝังกลบ...อยู่ในพื้นที่ป่าไม้หรือไม่”[65]   หน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ “พยัคฆ์ไพร” และกรมควบคุมมลพิษ ในนามศูนย์ปฏิบัติการผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ศปก.พล.) ได้ร่วมกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 11 นครราชสีมา เทศบาลตำบลสีมามงคล และเจ้าหน้าที่จากอีกหลายหน่วยงาน เข้าตรวจสอบพื้นที่โรงงานของบริษัทเอกอุทัยฯ และบริเวณโดยรอบ  

 

ก่อนจะพบว่า มีการบุกรุกเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์และเป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ โดยเข้าปรับแปรสภาพพื้นที่ กองหิน และก่อสร้างอาคารคอนกรีตเป็นโรงเก็บขยะอุตสาหกรรมจำนวน 3 หลัง รวมพื้นที่ที่ทำการบุกรุกประมาณ 23 ไร่ ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง  จึงได้ทำการตรวจยึดพื้นที่ และมอบหมายให้หัวหน้าหน่วยป่าไม้ที่ นม.1 (ปากช่อง) นำเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องเข้าแจ้งความดำเนินคดีที่ สภ.กลางดง พร้อมทั้งขอให้พนักงานสอบสวนร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่ง "...ให้บริษัทเอกอุทัย จำกัด และบริวารออกจากพื้นที่ดังกล่าว และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด..." [66]  โดยมีการแจ้งความเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564[67]  ส่วนประเด็นการลักลอบฝังกลบกากขยะอุตสาหกรรมนั้น กรมควบคุมมลพิษได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำท่วมขังจากบริเวณหน้าถ้ำในที่เกิดเหตุนำไปตรวจวิเคราะห์

 

                   “...เมื่อก่อนมันเป็นเหวนะตรงนั้น มีตาน้ำมีอะไรด้วย แต่โรงงานช่วงหลังๆ ไม่แน่ใจว่าเอกอุทัยหรือใคร เอาอะไรมาฝังแล้วกลบจนเรียบ...”

ธนิต สืบศิริ ซึ่งคุ้นเคยกับพื้นที่ดังกล่าวให้ข้อมูล ซึ่งสอดคล้องกับที่ทาง ทต.สีมามงคลระบุว่า เดิมทีบริเวณนั้นมีลักษณะเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่

 

   

      6 พฤษภาคม 2564 กรมควบคุมมลพิษ (ในนาม ศปก.พล.) หน่วยพยัคฆ์ไพร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.กลางดง ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม  โดยในครั้งนี้ได้มีการตรวจสอบค่าไอระเหยของสารอินทรีย์ระเหยง่ายโดยวิธี Soil gas ก่อนใช้รถแบ็คโฮขุดพื้นดินในจุดที่พบค่าไอระเหย จำนวน 4 จุด ที่ระดับความลึก 4-5 เมตร ซึ่งพบว่า

 

            “...ทุกจุดมีกลิ่นเหม็นฉุนรุนแรง และมีชั้นดินที่มีลักษณะการทับถมเป็นชั้น บางชั้นมีลักษณะของสารปนเปื้อนอยู่ ศปก.พล.จึงได้ทำบันทึกร่วมกันและได้เก็บตัวอย่างดินที่ปนเปื้อนทั้ง 4 จุด นำไปวิเคราะห์ยังห้องปฏิบัติการและนำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อใช้เป็นหลักฐานในคดีต่อไป”[68]

 

            29 มิถุนายน 2564 ทต.สีมามงคล มีคำสั่งไม่ต่อใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ  “ประเภทผลิตปูนขาวและสะสมหิน” ให้แก่บริษัทเอกอุทัยฯ[69]

           

ผลการตรวจสอบโดยกรมควบคุมมลพิษ

          13 กรกฎาคม 2564 กรมควบคุมมลพิษ ได้แจ้งผลการตรวจสอบที่เกิดเหตุและตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างสิ่งแวดล้อมจากการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 19 มีนาคม และ 6 พฤษภาคม 2564 มายังเทศบาลตำบลสีมามงคล ซึ่งสรุปได้ว่า[70]

          - จากการตรวจสอบตัวอย่างน้ำที่ท่วมขังบริเวณหน้าถ้ำ พบว่ามีค่าความเป็นกรดและด่าง (pH)  เท่ากับ 11.7 และพบการปนเปื้อนสารโลหะหนักหลายชนิดดสูงเกินค่ามาตรฐาน อีกทั้งยังพบการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) หลายชนิด รวมถึงสารพิษอื่นๆ

 

          - จากการตรวจสอบสารอินทรีย์ระเหยง่ายในดินบริเวณหน้าถ้ำ โดยวิธี Soil Gas ที่ความลึก 1 เมตร พบว่า มีค่าสารอินทรีย์ระเหยง่าย ค่าเปอร์เซ็นต์การติดไฟ ค่าไฮโดรเจนซัลไฟด์ และค่าแอมโมเนีย อยู่ในระดับที่บ่งชี้ได้ว่ามีการฝังกลบกากของเสียอุตสาหกรรมใต้พื้นดินบริเวณดังกล่าว

 

          - จากการใช้รถแบ็คโฮขุดเจาะเพื่อตรวจสอบชั้นดินและการปนเปื้อนสารเคมีอันตราย 4 จุด พบว่าบริเวณดังกล่าวมีการทับถมของกากตะกอนวัสดุที่ไม่ใช้แล้วเป็นชั้นๆ โดยมีความลึกรวมกันไม่น้อยกว่า 5 เมตร (สุดบุ้งกี๋ของรถแบ็คโฮที่ 5.2 เมตร) มีกลิ่นคล้ายตัวทำละลายหลายชนิดผสมกันฟุ้งกระจาย จึงได้เก็บตัวอย่างทั้ง 4 จุดไปตรวจวิเคราะห์และพบว่ามีการปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยง่ายและสารโลหะหนักหลายชนิด จนสามารถบ่งชี้ได้ว่ามีการปนเปื้อนของเสียอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างจากจุดที่ 3 (บริเวณทางทิศตะวันออกของหน้าถ้ำ) พบการปนเปื้อนของนิกเกิล (Ni) ซึ่งมีลักษณะเข้าข่ายเป็นของเสียอันตรายตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม

 

          - จากการเก็บตัวอย่างน้ำใต้ดินมาตรวจสอบจำนวน 3 จุด ได้แก่ บ่อสังเกตการณ์ของโรงงาน บ่อน้ำใต้ดินของโรงโม่หิน (ห่างจากโรงงานไปทางทิศตะวันตก 50 เมตร) และบ่อน้ำใต้ดินในบ้านประชาชน (ห่างจากโรงงานไปทางทิศตะวันตก 1 กิโลเมตร) พบว่า บ่อสังเกตการณ์ของโรงงานพบการปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยง่ายและสารโลหะหนักหลายชนิด ซึ่งมีค่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดิน  บ่อน้ำใต้ดินของโรงโม่หินพบการปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยง่ายและสารโลหะหนักหลายชนิด รวมถึงสารพิษอื่นๆ ซึ่งมีค่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดิน  ส่วนบ่อน้ำใต้ดินในบ้านประชาชนก็พบการปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยง่ายและสารโลหะหนักหลายชนิด มีค่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดินเช่นกัน

 

          "...สรุปได้ว่า บริษัทเอกอุทัยจำกัด มีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ข้อ 2.15 ห้ามฝังกลบสิ่งปฏิกูลที่ไม่ใช้แล้วในบริเวณโรงงาน"[71]

          ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษได้ทำการติดตามตรวจสอบน้ำใต้ดินบริเวณโรงงานของบริษัทเอกอุทัยฯ และบริเวณใกล้เคียงมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2547 โดยผลการตรวจสอบในช่วงปี 2557-2560 ไม่พบการปนเปื้อนทั้งสารอินทรีย์ระเหยง่ายและสารโลหะหนัก “...จึงเชื่อได้ว่า การปนเปื้อนในน้ำใต้ดินที่พบในปัจจุบันเกิดขึ้นภายหลังปี 2560...”[72] หรือภายหลังจากที่บริษัทเอกอุทัยฯ ได้เข้ามาดำเนินกิจการแล้วประมาณ 2 ปีเป็นอย่างน้อย  และจากพารามิเตอร์หรือชนิดของสารเคมีที่ตรวจพบในปัจจุบัน “...ของของเสียอุตสาหกรรม น้ำท่วมขัง และน้ำใต้ดิน...มีความสอดคล้องกัน จึงเชื่อได้ว่าการลักลอบฝังกลบของเสียอุตสาหกรรมที่เป็นของเสียอันตรายภายในบริษัทเอกอุทัย เป็นเหตุให้เกิดการปนเปื้อนในปัจจุบัน” [73]

พร้อมกันนั้น กรมควบคุมมลพิษได้มีหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อแจ้งผลการตรวจสอบนี้ โดยให้ความเห็นว่า

          “...กรมควบคุมมลพิษพิจารณาแล้วเห็นว่า หากยังคงให้บริษัทเอกอุทัย จำกัด ประกอบกิจการโรงงานตามปกติ และมีการลักลอบฝังกลบกากของเสียอันตราย...จะส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของมลพิษขยายวงกว้างออกไปจนยากเกินที่จะเยียวยา

          ...จึงขอความร่วมมือจังหวัดนครราชสีมา โปรดพิจารณา...สั่งให้บริษัท...หยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมด เพื่อให้ปรับปรุงแก้ไขโรงงานไม่ให้เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ...”[74]

 

          ไฟไหม้ใหญ่ซ้ำซาก

          กลางดึกของคืนวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 หรือเพียงไม่กี่วันหลังจากที่กรมควบคุมมลพิษได้รายงานผลการตรวจสอบ ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นในโรงงานของบริษัทเอกอุทัย โดยต้นเพลิงเป็นบ่อเก็บน้ำมันเก่าซึ่งมีน้ำมันและน้ำผสมกันอยู่[75]  ห่างจากจุดที่เคยเกิดเหตุเพลิงไหม้ใหญ่ปี 2547 ประมาณ 50-60 เมตร[76]

 

ข้อมูลจากรายงานข่าวระบุว่า ข้างบ่อมีถังเก็บน้ำมันเก่าและสารเคมีจากขยะอุตสาหกรรม ขนาดประมาณ 20,000 – 30,000 ลิตร จำนวน 5 ถัง[77]  เพลิงได้โหมลุกไหม้อย่างรุนแรงจนต้องใช้รถดับเพลิงจาก ทต.สีมามงคล ทต.กลางดง และ อบต.ปากช่อง รวม 5 คัน เข้าระงับเหตุ ก่อนที่เพลิงจะสงบหลังจากเวลาผ่านไปเกือบ 2 ชั่วโมง  เหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำให้สัมพันธ์ พรหมศรีวงศ์ แรงงานชาว สปป.ลาว ได้รับบาดเจ็บโดยถูกไฟลวกที่ใบหน้า แขน หน้าอก รวมส่วนที่ร่างกายถูกไฟไหม้ 22 เปอร์เซ็นต์ แพทย์ต้องให้ออกซิเจนในการช่วยหายใจ[78]  

 

จากเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ ในวันต่อมา พ.ต.อ.อรพล โคตรโนนกอก ผกก. สภ.กลางดง ได้ให้โทรศัพท์สอบถามไปยังคนขับรถบรรทุกสินค้าที่นำมาลงในบ่อเก็บน้ำมันเก่าดังกล่าวและประสบเหตุ ก่อนได้ข้อมูลว่า

 

ชายคนดังกล่าวได้ขับรถบรรทุกน้ำมันเบนซินเก่าผสมน้ำหรือของเหลวไม่ทราบชนิด “...ของบริษัทไทยโอลี่วัน จำกัด จากมาบตาพุด จ.ระยอง จำนวน 12,000 ลิตร...” มายังโรงงานแห่งนี้ ก่อนที่คนงานของบริษัทเอกอุทัยฯ จะพาไปถ่ายเทน้ำมันเบนซินและของเหลวในรถลงบ่อซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุ  ขณะที่กำลังจะขับรถออกมาก็ได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้นทางด้านท้ายรถและเห็นเปลวไฟลุกท่วมสูง จึงเกิดความตกใจและรีบขับรถออกจากที่เกิดเหตุกลับไปยังบ้านที่ จ.ชลบุรี[79]

 

ต่อมาอีกประมาณ 50 วัน คือประมาณตี 3 ของวันที่ 4 กันยายน 2564 ก็ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้อย่างรุนแรงภายในโรงงานของบริษัทเอกอุทัยฯ ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง 

 

          8 กันยายน 2564 หรือ 4 วันหลังเหตุเพลิงไหม้ครั้งล่าสุด คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้ “ทุเลาการบังคับคดี”  จากกรณีที่ นายก ทต.สีมามงคล ไม่ต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพให้แก่โรงงานของบริษัทเอกอุทัย ซึ่งบริษัทบริษัทเอกอุทัยฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ในเวลาต่อมา  โดยให้เหตุผลว่า

 

         “...การหยุดดำเนินกิจการทันทีจะก่อให้เกิดความเสียหายกับคู่สัญญา ประกอบกับยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการประกอบกิจการ...ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสาธารณะอย่างร้ายแรงต่อผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง...”[80]

 

ปัจจุบัน: สถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง?

            แม้เหตุเพลิงไหม้ครั้งล่าสุดภายในโรงงานของบริษัทเอกอุทัยฯ จะไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่ก็ทำให้ชื่อของบริษัทเอกอุทัยฯ ถูกพูดถึงและจับตามองอีกครั้ง รวมถึงมีการหยิบยกกรณีลักลอบฝังกลบขยะอุตสาหกรรมจนเกิดการปนเปื้อนในพื้นที่ขึ้นมานำเสนอผ่านทางหน้าสื่อสารมวลชนอีกครั้ง

 

ประชาชนชาว ต.กลางดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ ทต.สีมามงคล ซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวโรงงานและจุดที่มีการลักลอบฝังกลบขยะจากกากอุตสาหกรรม ก็มองว่าเป็นโอกาสที่พวกเขาจะได้พูดถึงปัญหามลพิษ หรือ “ทุกข์ของคนกลางดง” ที่เรื้อรังมากว่า 10 ปี และยังต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

 

ธนิต สืบศิริ เล่าว่า ภาพรถบรรทุกพ่วงขนาดใหญ่วิ่งเข้าออกโรงงานของบริษัทเอกอุทัยฯ คือสิ่งที่ประชาชนในละแวกนี้พบเห็นอยู่เป็นประจำจนชินตา แม้ ทต.สีมามงคล จะมีคำสั่งไม่ต่อใบอนุญาตฯ ออกมาแล้วก็ตาม

 

          “...เห็นอยู่ทุกวัน ใส่รถพ่วงมาที 4-5 คันน่าจะได้มั้ง บางทีเวลาผมขับรถเข้าบ้านนี่ก็เห็นเขายูเทิร์นมาแล้ว ถ้าอยากรู้จำนวนก็มานั่งนับได้เลย

          ...กากพวกนี้ออกจากไหนไปไหนต้องมีเอกสารระบุ อยู่ๆ จะเอาไปทิ้งทั่วไปไม่ได้ มันต้องมีการกำกับไปทิ้งที่ไหนอย่างไร ต้องบอกหมด”[81]

 

ทั้งนี้ ผู้ที่จะบอกได้แน่ชัดว่าขบวนรถพ่วงดังกล่าว จะเป็นการบรรทุกกากอุตสาหกรรมมาขนถ่ายลงในโรงงาน หรือมาขนย้ายกากอุตสาหกรรมออกไปยังที่ใด หรือขนย้ายวัตถุอื่น ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ก็คงมีเพียงทางโรงงานเองและหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลเท่านั้น

 

          ด้าน ทต.สีมามงคล ยอมรับว่ามีความหนักใจเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากอำนาจในการพิจารณาใบอนุญาตฯ และกำกับดูแลโรงงานเป็นของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก ซึ่งหน่วยงานในพื้นที่ก็คืออุตสาหกรรมจังหวัด  สิ่งที่เทศบาลตำบลในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะพอมีอำนาจต่อโรงงานอยู่บ้าง ก็คือการพิจารณาใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข) ปีละ 1 ครั้ง  ในกรณีที่ผู้มีอำนาจกำกับดูแลโดยตรงเพิกเฉย หรือไม่เข้ามาจัดการตรวจสอบ ก็เป็นการยากที่โรงงานใดๆ จะเกรงใจเจ้าพนักงานท้องถิ่น

 

          “...คือทุกเรื่อง เราจะรายงานถึงอุตสาหกรรมจังหวัด รายงานถึงกรมโรงงานฯ แต่ทุกอย่างไม่มีคำตอบ เราจะทำเรื่องไปกี่ครั้งเขาก็ไม่ตอบ ไม่มีการสั่งเบรกอะไรเลย...”[82]

 

แม้แต่กรณีการลักลอบฝังกลบกากขยะอุตสาหกรรมบริเวณหลังโรงงานซึ่งเป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้เมื่อต้นปี ทต.สีมามงคล ให้ข้อมูลว่า อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาและกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่งจะทำการตรวจสอบด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา หรือภายหลังจากที่กรมควบคุมมลพิษได้รายงานผลการตรวจสอบออกมาแล้ว

          “...คือช่วงเดือนพฤษภาคม อุตสาหกรรมจังหวัดเขาก็มา แต่ไม่ได้แสดงความเห็นอะไร คือมาเฉยๆ ในแบบลงบันทึกการเข้าร่วม เขาไม่เซ็นชื่อ ...หลังจากได้รับแจ้งผลตรวจจากกรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานถึงได้ลงมาดูด้วยตัวเอง เมื่อ 27 กรกฎาคม...ห่างกันประมาณสองเดือน แล้วจะมีอะไรเหลืออยู่ไหมอันนี้ทางเราก็ไม่ทราบ...”[83]

 

          ปัญหาของ “คนกลางดง” ยังคงดำเนินไป พร้อมๆ กับความพยายามดิ้นรนต่อสู้ทั้งของ ทต.สีมามงคล และประชาชนในพื้นที่ ซึ่งต่างก็กล่าวตรงกันว่า ไม่ได้มีเป้าหมายจะที่จะปิดโรงงานแห่งนี้  เพียงแต่ต้องการให้บริษัทเอกอุทัยฯ แก้ไขปัญหาที่ก่อผลกระทบต่อสุขภาพและทรัพยากรของพวกเขา และประกอบกิจการโรงงานใน “บ้าน” ของพวกเขาอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน

 

          “...มันไม่มีอะไรซับซ้อน คุณอย่าสร้างปัญหาให้คนอื่น แค่นั้นเอง คุณสร้างปัญหาให้เขาแล้วคุณก็ส่งคนโน้นคนนี้มาเคลียร์มันไม่ได้หรอก...”[84] ธนิต สืบศิริ ให้ความเห็น

          “...ตอนที่ฝุ่นออกมาเยอะๆ ลูกชายผมต้องหาหมอทุกอาทิตย์ หลอดลมอักเสบ  ตอนไฟไหม้วันก่อน น้องชายผมต้องหนีออกจากบ้านตอนตีสาม ควันเต็มเลย มันหายใจไม่ออก...”[85]

 

แน่นอนว่า ปัญหาที่ “คนกลางดง” จำต้องเผชิญอยู่จะยุติลงได้ ก็ต่อเมื่อหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจกำกับดูแลหันมาใส่ใจทำหน้าที่อย่างจริงจังเท่านั้น

          “...พูดแบบตรงๆ นะ ถ้าโรงงานเคารพกฎหมาย เคารพสิทธิคนอื่น ก็แก้ได้  ถ้าข้าราชการไม่มีส่วนรู้เห็น ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ก็แก้ได้ แต่ตอนนี้เหมือนมันจะไม่เป็นอย่างนั้น

          ...ถ้าคุณไม่เคารพสิทธิคนอื่น ก็ต้องซัดกัน เท่านั้นเอง[86]

        

 

 

[1] เนชั่นทีวี, "เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานกำจัดสารเคมี ริมถนนมิตรภาพ ต.กลางดง", เว็บไซต์เนชั่นทีวี, 4 กันยายน 2564. https://www.nationtv.tv/news/378837672

[2] มติชนออนไลน์, “ไฟลุกไหม้โกดังเก็บถ่านหินและสารเคมีรอบ 2 กลางดึก รถดับเพลิง 7 คัน เกือบเอาไม่อยู่”, เว็บไซต์มติชนออนไลน์, 4 กันยายน 2564. https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2921952 และ เนชั่นทีวี, "เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานกำจัดสารเคมี ริมถนนมิตรภาพ ต.กลางดง", อ้างแล้ว.

[3] กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ, “สัมภาษณ์วิโรจน์ ศรีสังข์ และเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลสีมามงคล”, 5 กันยายน 2564.

[4] มติชนออนไลน์, “ไฟลุกไหม้โกดังเก็บถ่านหินและสารเคมีรอบ 2 กลางดึก รถดับเพลิง 7 คัน เกือบเอาไม่อยู่”, อ้างแล้ว.

[5] เพิ่งอ้าง.

[6] เนชั่นทีวี, "เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานกำจัดสารเคมี ริมถนนมิตรภาพ ต.กลางดง", อ้างแล้ว.

[7] บ้านเมือง, "บ.เอกอุทัยพาสื่อพิสูจน์โกดังโรงงานปากช่องเพลิงไหม้ เป็นกากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงไร้สารเคมี", เว็บไซต์บ้านเมือง, 4 กันยายน 2564.  https://www.banmuang.co.th/news/politic/248991

[8] เพิ่งอ้าง.

[9] เพิ่งอ้าง.

[10] เพิ่งอ้าง.

[11] กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ, “สัมภาษณ์ธนิต สืบศิริ”, 5 กันยายน 2564.

[12] เพิ่งอ้าง.

[13] เพิ่งอ้าง.

[14] บริษัทเอกอุทัย จำกัด, “เกี่ยวกับเรา”, เว็บไซต์บริษัทเอกอุทัย จำกัด.  www.aekuthai.com/เกี่ยวกับเรา/#aboutus

[15] บริษัทเอกอุทัย จำกัด, “หน้าแรก”, เว็บไซต์บริษัทเอกอุทัย จำกัด.  www.aekuthai.com

[16] บริษัทเอกอุทัย จำกัด, “ติดต่อเรา”, เว็บไซต์บริษัทเอกอุทัย จำกัด.  www.aekuthai.com/ติดต่อเรา/

[17] กรมโรงงานอุตสาหกรรม, "บัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม", เว็บไซต์กรมโรงงานอุตสาหกรรม. https://www.diw.go.th/hawk/data/factype.php

[18] กรมโรงงานอุตสาหกรรม, “ข้อมูลโรงงานประเภท 101, 105 และ 106 เดือนกรกฎาคม 2560”, เว็บไซต์กรมโรงงานอุตสาหกรรม, 3 สิงหาคม 2560 (ปรับปรุงล่าสุด 2 มกราคม 2563). https://data.go.th/th/dataset/item_c162568a-1f4b-4e07-8480-e6d24118651a

[19] กรมโรงงานอุตสาหกรรม, "บัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม", อ้างแล้ว.

[20] ในฐานข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุลักษณะการประกอบกิจการว่า “ทำเชื้อเพลิงทดแทน ทำเชื้อเพลิงผสม ซ่อมและล้างบรรจุภัณฑ์ด้วยตัวทำละลาย นำน้ำมันหล่อเย็นที่ใช้แล้วมาผ่านกระบวนการกรองเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ บดย่อยแผงวงจรและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คัดแยกสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย นำสารละลายกรด-ด่างที่ใช้แล้วมาผ่านกรรมวิธีทางอุตสาหกรรมเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่” ดู: กรมโรงงานอุตสาหกรรม, “ข้อมูลโรงงานประเภท 101, 105 และ 106 เดือนกรกฎาคม 2560”, อ้างแล้ว.

[21] กรมโรงงานอุตสาหกรรม, “ข้อมูลโรงงานประเภท 101, 105 และ 106 เดือนกรกฎาคม 2560”, อ้างแล้ว.

[22] กรมโรงงานอุตสาหกรรม, "บัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม", อ้างแล้ว.

[23] กรมโรงงานอุตสาหกรรม, “ข้อมูลโรงงาน”, เว็บไซต์กรมโรงงานอุตสาหกรรม, วันที่สืบค้น 4 กันยายน 2564. https://userdb.diw.go.th/results1.asp

[24] กระทรวงอุตสาหกรรม, “ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน” (ร.ง.4), ที่ (สค. 3) 02-484/2543, ทะเบียนโรงงานเลขที่ 3-57(1)-1/43 นม., 7 พฤศจิกายน 2543, ลำดับที่ 1.

[25] มูลนิธิบูรณะนิเวศ, "เจนโก้ลอบทิ้งขยะพิษ", เว็บไซต์มูลนิธิบูรณะนิเวศ. https://www.earththailand.org/th/pollution/14

[26] บริษัทกลางดงไลมฯ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2541 ประกอบกิจการผลิตปูนขาวและปูนปลาสเตอร์. ดู DATA FOR THAI, "บริษัท กลางดงไลม แอนด์ เอ็กซ์เพิร์ทเอ็นไวรอนเมนท์ จำกัด", เว็บไซต์ DATA FOR THAI.

https://www.dataforthai.com/company/0305541000430/บริษัท%20กลางดงไลม%20แอนด์%20เอ็กซ์เพิร์ทเอ็นไวรอนเมนท์%20จำกัด 

[27] กระทรวงอุตสาหกรรม, “ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน” (ร.ง.4), ที่ (สค. 3) 02-484/2543, อ้างแล้ว, ลำดับที่ 7.

[28] เพิ่งอ้าง, ลำดับที่ 4.

[29] เพิ่งอ้าง, ลำดับที่ 7.

[30] เพิ่งอ้าง, ลำดับที่ 8.

[31] เพิ่งอ้าง.

[32] ไทยรัฐออนไลน์, “พฐ.เก็บหลักฐานไฟไหม้บ่อเก็บน้ำมันที่ปากช่อง รอตรวจอีกรอบ 19 ก.ค.นี้”, เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ 17 กรกฎาคม 2564. https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2143190

[33] มติชน, ไม่ทราบชื่อเรื่อง, 23 กรกฎาคม 2547. อ้างใน อนุช อาภาภิรม (โครงการข่าวสารทิศทางประเทศไทย), "น้ำมันแพง : มรสุมท้าการฝ่าฟัน", ฉบับเดือนกรกฎาคม 2547, เว็บไซต์โครงการข่าวสารทิศทางประเทศไทย สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.). http://ttmp.trf.or.th/

[34] เพิ่งอ้าง.

[35] ในส่วนของการดำเนินคดี ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ยังไม่พบข้อมูล.

[36] กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ, “สัมภาษณ์วิโรจน์ ศรีสังข์ และเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลสีมามงคล, อ้างแล้ว.

[37] กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, “รายงานความคืบหน้าการติดตามตรวจสอบการปนเปื้อนกรณีการลักลอบฝังกลบกากของเสียที่เป็นอันตราย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา” ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี, 2  พฤศจิกายน 2547.  อ้างใน  RYT9, “รายงานความคืบหน้าผลดำเนินการ กรณีการลักลอบฝังกลบกากของเสียที่เป็นอันตรายอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา”, เว็บไซต์สำนักข่าว RYT9, 3 พฤศจิกายน 2547. https://www.ryt9.com/s/cabt/156640

[38] สะกดตามต้นฉบับที่อ้างอิง.

[39] MGR Online, “โคราชตั้งกก.ล่าไอ้โม่งทิ้งกากพิษ พบหลักฐาน"เจนโก้"เช่าพื้นที่”, เว็บไซต์ MGR Online, 16 กันยายน 2547. https://mgronline.com/local/detail/9470000053239

[40] บริษัทบริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) หรือ General Environmental Conservation Public Company Limited (GENCO) (กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมถือหุ้น).

[41] MGR Online, “โคราชตั้งกก.ล่าไอ้โม่งทิ้งกากพิษ พบหลักฐาน"เจนโก้"เช่าพื้นที่”, อ้างแล้ว.

[42] เพิ่งอ้าง.

[43] ธนัญชัย วรรณสุข, “การติดตามตรวจสอบปริมาณสารอินทรีย์ระเหย (VOCs) และโลหะหนักในดิน และน้ำใต้ดิน กรณีการลักลอบฝังกลบของเสียอันตรายพื้นที่ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ปี 2547-2549”, 2550. อ้างใน โฉมสุดา โสมกุล และพงศ์ศักดิ์ หนูพันธ์, "ผลกระทบของสาร Dense Nonaqueous Phase Liquids (DNAPLs) ต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย", วารสารวิทยาศาสตร์บูรพา, 2553, หน้า 116. 

[44] เพิ่งอ้าง.

[45] MGR Online, "มอบ“เจนโก้”เคลียร์ขยะพิษปากช่อง ก่อนหาผู้รับผิดมาจ่ายเงิน", เว็บไซต์ MGR Online, 15 กันยายน 2547. https://mgronline.com/local/detail/9470000053173  และ MGR Online, “โคราชตั้งกก.ล่าไอ้โม่งทิ้งกากพิษ พบหลักฐาน"เจนโก้"เช่าพื้นที่”, อ้างแล้ว.

[46] MGR Online, “โคราชตั้งกก.ล่าไอ้โม่งทิ้งกากพิษ พบหลักฐาน"เจนโก้"เช่าพื้นที่”, อ้างแล้ว.

[47] เพิ่งอ้าง.

[48] ในรายงานข่าวเดียวกันได้ระบุด้วยว่า อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาได้ทำหนังสือถึงบริษัทเจ้าของโรงงานเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2545 ให้กำจัดขยะที่อยู่ในบริเวณข้างโรงงานโดยเร่งด่วน ซึ่งบริษัทเจ้าของโรงงานในขณะนั้นได้ชี้แจงไปว่า “ขยะดังกล่าวเจนโก้ได้มาเช่าที่บริเวณนั้น เพื่อเก็บขยะในการรอให้โรงปูนเป็นผู้กำจัดตามใบอนุญาต 101.

[49] สันธาน ชัยพันธ์วิริยาพร ให้สัมภาษณ์ อ้างใน MGR Online, “โคราชตั้งกก.ล่าไอ้โม่งทิ้งกากพิษ พบหลักฐาน"เจนโก้"เช่าพื้นที่”, เพิ่งอ้าง.

[50] MGR Online, "มอบ“เจนโก้”เคลียร์ขยะพิษปากช่อง ก่อนหาผู้รับผิดมาจ่ายเงิน", อ้างแล้ว

[51] สมาน ตั้งทองทวี, “มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิทางสิ่งแวดล้อม : ศึกษากรณีการตรากฎหมายกองทุนชะล้างดินและนํ้าปนเปื้อนกากอุตสาหกรรม”, จุลนิติ, 2557, หน้า 26. https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/272/files/S%E0%B9%88ub_Jun/3journal/b171%20jun_11_4.pdf

[52] คัดลอกข้อความตามต้นฉบับ.

[53] โฉมสุดา โสมกุล และพงศ์ศักดิ์ หนูพันธ์, "ผลกระทบของสาร Dense Nonaqueous Phase Liquids (DNAPLs) ต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย", อ้างแล้ว, หน้าเดียวกัน. 

[54] กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ, “สัมภาษณ์วิโรจน์ ศรีสังข์ และเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลสีมามงคล”, อ้างแล้ว.

[55] กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ, “สัมภาษณ์ ธนิต สืบศิริ”, อ้างแล้ว.

[56] หนังสือศูนย์ดำรงธรรม จว.นม., ที่ นม 0017.76484, ถึง นายธนิต สืบศิริ, เรื่อง ร้องเรียนโรงงานผลิตปูนขาวของบริษัทคลาสซี่ คอลซัลแทนท์ จำกัด, ลงวันที่ 24 มีนาคม 2556. (หมายเหตุ: ตัวเลขวันที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นวันที่ 24 หรือ 28 - ผู้เขียน)

[57] เพิ่งอ้าง.

[58] เพิ่งอ้าง.

[59] กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ, “สัมภาษณ์ พิสิษฐ์ สืบศิริ”, 5 กันยายน 2564.

[60] กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ, “สัมภาษณ์วิโรจน์ ศรีสังข์ และเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลสีมามงคล”, อ้างแล้ว.

[61] เพิ่งอ้าง.

[62] ค่ามาตรฐานของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานปูนซีเมนต์ ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมคือ 120 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร - ผู้เขียน.

[63] คำวินิจฉัยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 (สำเนาคู่ฉบับ), อุทธรณ์ที่ 31/2562, เรื่อง อุทธรณ์คำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น กรณีไม่ต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535, ลงวันที่ 3 เมษายน 2562, หน้า 2.

[64] เพิ่งอ้าง, หน้า 2-3.

[65] หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ นม.1 ปากช่อง, บันทึกการตรวจยึดพื้นที่, ลงวันที่ 19 มีนาคม 2564.

[66] เพิ่งอ้าง.

[67] เนชั่นทีวี, “กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่หลังพบแอบทิ้งสารเคมีลงดิน”, เว็บไซต์เนชั่นทีวี, 7 พฤษภาคม 2564. https://www.nationtv.tv/news/378823079

[68] เพิ่งอ้าง.

[69] คำสั่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามพระราชบัญญัติการสาธารสุข พ.ศ. 2535, อุทธรณ์ที่ 72/2564, ลงวันที่ 8 กันยายน 2564.

[70] หนังสือกรมควบคุมมลพิษ, ที่ ทส 0307/7602, ถึง นายกเทศมนตรีตำบลสีมามงคล, เรื่อง ผลการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน กรณีการลักลอบฝังกลบกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ของบริษัท เอกอุทัย จำกัด, ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2564, หน้า 1-6.

[71] เพิ่งอ้าง, หน้า 5.

[72] เพิ่งอ้าง, หน้า 6.

[73] เพิ่งอ้าง, หน้าเดียวกัน.

[74] หนังสือกรมควบคุมมลพิษ, ที่ ทส 0307/7603, ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, เรื่อง ผลการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน กรณีการลักลอบฝังกลบกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ของบริษัท เอกอุทัย จำกัด, ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2564, หน้า 7.

[75] ข่าวช่องวัน, "ระทึก! ไฟไหม้ถังเก็บน้ำมัน โรงงานปูนขาวปากช่อง", เว็บไซต์บริษัทวัน สามสิบเอ็ด จำกัด, 17 กรกฎาคม 2564.

[76] ไทยรัออนไลน์, "พฐ.เก็บหลักฐานไฟไหม้บ่อเก็บน้ำมันที่ปากช่อง รอตรวจอีกรอบ 19 ก.ค.นี้",​เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์, 17 กรกฎาคม 2564. https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2143190

[77] NEWS1, "ระทึก! เพลิงไหม้ถังน้ำมันขนาดใหญ่ รง.กำจัดกากอุตสาหกรรม อ.ปากช่อง โคราช บาดเจ็บ 1 ราย", เว็บไซต์ NEWS1, 17 กรกฎาคม 2564. https://news1live.com/detail/9640000069741

[78] เพิ่งอ้าง.

[79] ผู้จัดการออนไลน์, "ระทึก! เพลิงไหม้ถังน้ำมันขนาดใหญ่ รง.กำจัดกากอุตสาหกรรม อ.ปากช่อง โคราช บาดเจ็บ 1 ราย", เว็บไซต์ MGR Online, 17 กรกฎาคม 2564.

[80] คำสั่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามพระราชบัญญัติการสาธารสุข พ.ศ. 2535, อุทธรณ์ที่ 72/2564, อ้างแล้ว.

[81] กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ, “สัมภาษณ์ธนิต สือบศิริ”, อ้างแล้ว.

[82] กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ, “สัมภาษณ์วิโรจน์ ศรีสังข์ และเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลสีมามงคล”,อ้างแล้ว.

[83] เพิ่งอ้าง.

[84] กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ, “สัมภาษณ์ธนิต สือบศิริ”, อ้างแล้ว.

[85] เพิ่งอ้าง.

[86] เพิ่งอ้าง.