เอกสารแถลงข่าวมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และ Arnika เนื่องใน "วันโอโซนโลก" (16 ก.ย. 63)
เอกสารแถลงข่าวมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และอาร์นิกา (Arnika) เนื่องใน "วันโอโซนโลก"
16 กันยายน 2563
การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เหมาะสม
ส่งผลทำลายสุขภาพของมนุษย์ สิ่งแวดล้อมและชั้นโอโซนของโลก
กรุงเทพฯ /กรุงปราก – ประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งในประเทศปลายทางของขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลก ซึ่งโครงการความร่วมมือระหว่าง ระหว่างมูลนิธิบูรณะนิเวศ [1] และสมาคมอาร์นิก้า (Arnika Association) สาธารณรัฐเช็ก [2] พยายามหาคำตอบว่าปัญหานี้มีความรุนแรงเพียงใด โดยในปี 2562 องค์กรทั้งสองได้เก็บตัวอย่างดินครั้งแรกจากบริเวณที่มีการรื้อเศษซากอิเล็กทรอนิกส์หรือมีการเผาเศษพลาสติกจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว 3 แห่ง และตรวจพบว่าดินมีการปนเปื้อนของสารพิษไดออกซิน (Dioxins) ทั้งในรูปของสารคลอรีน (chlorinated) และโบรมีน (brominated) ซึ่งมาจากพลาสติกที่เติมแต่งสารหน่วงการติดไฟประเภทโบรมีน (BFR: Brominated Flame Retardants) นอกจากนี้ มูลนิธิบูรณะนิเวศได้ศึกษาและนำเสนอปริมาณการนำเข้าของเสียไว้ในรายงาน “Trading Away Health and the Environment: The Toxic Business of Waste Imports into Thailand” (การค้าสุขภาพและสิ่งแวดล้อม: ธุรกิจที่เป็นพิษจากการนำเข้าขยะมาในประเทศไทย)
ผลการวิเคราะห์ล่าสุดของโครงการความร่วมมือระหว่างสาธารณรัฐเช็กและไทยซึ่งสนับสนุนโดยคณะกรรมธิการยุโรปนั้นได้ยืนยันว่าการเปิดให้มีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ส่งผลให้มีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและอาจก่ออันตรายต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงโรงงานจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ “เราพูดถึงปัญหามลพิษเนื่องในโอกาสวันพิทักษ์ชั้นโอโซนสากล วันที่ 16 กันยายน [3] เมื่อมีการรื้อขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งรวมถึงตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่แล้วไม่มีการถ่ายสารทำความเย็นออกจากซากตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ ถ้าเป็นเครื่องเก่ามากอาจจะมีสารทำความเย็น ฟรีออน (Freon) [4] ซึ่งทำลายชั้นโอโซน การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เหมาะจึงเป็นสาเหตุของการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ใช่เพียงในบริเวณที่มีการจัดการเศษซากอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น แต่มีผลกระทบถึงชั้นโอโซนที่ปกป้องสิ่งมีชีวิตบนพื้นโลกจากอันตรายของรังสียูวี” Ing. Miroslava Jopková
องค์กรอาร์นิก้า สาธารณะเช็ก ผู้ประสานงานโครงการได้กล่าวไว้
โรงงาน “รีไซเคิล” ในประเทศไทยไม่เพียงแค่เป็นที่รองรับขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วประเทศไทย ซึ่งก็มีความยากลำบากในการรับมือกับขยะที่ผลิตในประเทศอยู่แล้ว รายงานล่าสุดจากเครือข่าย BAN (Basel Action Network) [5] พิสูจน์ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากยุโรปถูกส่งมายังสถานที่รีไซเคิลหลายแห่งในประเทศไทย นอกจากนี้มูลนิธิบูรณะนิเวศยังพบหลักฐานว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากสาธารณเช็กก็ส่งออกมายังไทยด้วย ยิ่งกว่านั้นข่าวไทยพีบีเอส (THE EXIT: ปัญหาขยะพลาสติก) ได้รายงานว่าปริมาณการนำเข้าขยะพลาสติกของประเทศไทยอาจจะเพิ่มมากขึ้นถึง 650,000 ตันในปี 2564 “การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการจัดการขยะและมลพิษอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของโครงการ ซึ่งเป็นที่มาของการจัดทำคลิปวีดีโอขึ้นมาเพื่อเตือนภัยสาธารณชน ประชาสังคม องค์กร และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ถึงความรุนแรงของสถานการณ์ ขณะนี้เราได้เผยแพร่วิดีโอชิ้นแรกซึ่งแสดงให้เห็นถึงปัญหามากมายที่เกิดมาจากการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งเข้ามาในประเทศไทยอย่างไม่เหมาะสม” RNDr. Jindřich Petrlík ผู้เชี่ยวชาญในด้านสารพิษและขยะของอาร์นิก้าได้อธิบายไว้
อาร์นิก้าและมูลนิธิบูรณะนิเวศจะคงดำเนินการเพื่อรายงานสถานการณ์การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทยและจะมีการเก็บตัวอย่างเพิ่มเติม “ถ้าประเทศไทยให้สัตยาบันข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซลฯ (Ban Amendment) ก็จะช่วยให้ประเทศของเรามีเครื่องมือทางกฎหมายสากลเพื่อปกป้องเราจากการนำเข้าขยะอันตราย” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศได้กล่าวซ้ำอีกครั้งถึงหนึ่งในข้อสรุปจากหนังสือเผยแพร่ภายใต้โครงการนี้ “วันพิทักษ์ชั้นโอโซนสากล เป็นวันที่เหมาะสมที่จะพิจารณาปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นข้อตกลงสากลในการปกป้องชั้นโอโซนเฉกเช่นเดียวกันกับพิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocol) ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างดีและสะท้อนให้เห็นว่าความร่วมมือระหว่างประเทศสามารถทำให้เกิดผลจริงในการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่ออนุชนรุ่นต่อไปได้ และหากข้อตกลงด้านการเคลื่อนย้ายสารเคมีและของเสียเช่นอนุสัญญาบาเซลฯ ได้ดำเนินตามแบบอย่างความสำเร็จที่น่าทึ่งนี้ สิ่งแวดล้อมที่สะอาดจะได้รับการคุ้มครอง” Petrlík กล่าวสรุปปิดท้าย
โครงการความร่วมมือในปี 2562-2565 ระหว่างองค์กรอาร์นิก้าและมูลนิธิบูรณะนิเวศในชื่อ “การมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านวิทยาศาสตร์พลเมืองและการปรับปรุงระบบการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม” ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป และร่วมทุนสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณเช็กภายใต้กรอบของโครงการโปรแกรมส่งเสริมการเปลี่ยนผ่าน
วิดีโอเรื่องปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์สามารถรับชมได้จาก “ ‘The secret life’ of the dangerous e-waste – its journey and what you might not know about it”
บทสรุปผู้บริหารจาก “รายงานการค้าสุขภาพและสิ่งแวดล้อมฯ” สามารถดาวน์โหลดได้จาก “Trading Away Health and the Environment: The Toxic Business of Waste Imports into Thailand”
หมายเหตุ:
[1] มูลนิธิบูรณะนิเวศเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนไม่แสวงผลกำไร มีความมุ่งหมายให้เกิดความยั่งยืนและความเป็นธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศทำหน้าที่ในการติดตามเฝ้าระวังนโยบายอุตสาหกรรมของรัฐบาลไทย มลภาวะอุตสาหกรรม และรูปแบบของการบริโภคที่ไม่ยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมการลดโลกร้อนอย่างเป็นธรรม ธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบของภาครัฐและองค์กรสากล มูลนิธิบูรณะนิเวศมีความสนใจในเรื่องผลกระทบจากสารอันตรายต่อระบบนิเวศ ชุมชนท้องถิ่น และสุขภาพของคนงาน อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมูลนิธิได้ที่ http://www.earththailand.org/th/ , http://www.earththailand.org/en
[2] องค์กรพัฒนาเอกชนอาร์นิก้าแห่งสาธารณะเช็กให้ความใส่ใจในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ การจัดการสารพิษและของเสีย การมีส่วนร่วมของภาคสาธารณชนต่อการตัดสินใจในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม อาร์นิก้าเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งยุโรปที่มีคุณภาพในเรื่องการต่อสู้ในประเด็นสารพิษและสารเคมี หรือการปนเปื้อนอันไม่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมสิทธิในการรู้ข้อมูลเกี่ยวกับมลภาวะจากสารเคมี อาร์นิก้าร่วมมือกับพันธมิตรจากทั่วโลก อาทิ ยูเครน อาร์มีเนีย หรือบอสเนีย และเฮอร์เซโกวีนา เพื่อสร้างสรรอนาคตที่ดีขึ้นและมีสุขภาพที่ดีขึ้นให้เกิดขึ้นมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะอยุ่ในภูมิภาคใดก็ตาม
[3] ในปี พ.ศ. 2537 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้วันที่ 16 กันยายนเป็นวันสากลเพื่อคุ้มครองชั้นบรรยากาศโอโซน เพื่อรำลึกถึงวันที่มีการลงนามพิธีสารมอลทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นโอโซนในปี พ.ศ. 2521 พิธีสารมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการนำมาตรการยกเลิกการผลิตและใช้สารเคมีเกือบ 100 ชนิดที่ทำลายชั้นโอโซนไปปฏิบัติทั่วโลก
[4] สารฟรีออนเป็นขับดันในสเปรย์ สารทำความเย็น หรือสารทำละลายอินทรีย์ ที่ประกอบด้วยกลุ่มของคลอโรฟลูออโรคาร์บอนและสารประกอบที่เกี่ยวข้องหนึ่งกลุ่มหรือมากกว่า ด้วยกฎระเบียบของพิธีสารมอลทรีออลทำให้สารฟรีออนเป็นหนึ่งในสารเคมีที่ต้องถูกกำจัดให้หมดไปอย่างสิ้นเชิงภายในปี พ.ศ. 2563
[5] หนังสือเรื่อง “Holes in the Circular Economy: WEEE Leakage from Europe” (ช่องโหว่ของนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน: การไหลบ่าของขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากยุโรป) เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2562 โดย Basel Action Network องค์การเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อม เป็นการศึกษาที่ใช้เวลา 2 ปีในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 10 ประเทศ โดยได้ติดตามเครื่องคอมพิวเตอร์เก่า เครื่องปริ๊นเตอร์เก่า และหน้าจอคอมพิวเตอร์เก่า จำนวน 341 ชิ้น ที่ได้ติดตั้งเครื่องติดตามจีพีเอส งานศึกษาค้นพบการหลั่งไหลอย่างมีนัยสำคัญของการขนส่งแบบผิดกฎหมายของซากอิเล็กทรอนิกส์อันตรายไปยังประชากรกลุ่มเสี่ยงรวมทั้งในประเทศไทยด้วย
[6] ประเทศที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาบาเซลมีทั้งหมด 53 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย