แนะนำโครงการ "สมุทรสาครสีเขียว"

สมุทรสาครสีเขียว

มูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้ริเริ่มโครงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเพื่อสุขภาวะองค์รวม หรือ “โครงการสมุทรสาครสีเขียว” จากการสนับสนุนงบประมาณของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนและสถานประกอบการอาศัยอยู่ร่วมกันได้ โดยสนับสนุนให้เกิดการปรับปรุงการจัดการปัญหามลพิษและการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเพื่อสุขภาวะของประชาชนในจังหวัดสมุทรสาคร ด้วยการสร้างความร่วมมือของภาคีต่างๆ จากภาครัฐ เอกชน สถาบันวิชาการ และประชาชนในพื้นที่ในการขับเคลื่อนนโยบายการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เข้มแข็งและการส่งเสริมการปรับปรุงสุขภาวะของประชาชนในระดับท้องถิ่น  เน้นความยั่งยืนของของการแก้ปัญหาในจังหวัดสมุทรสาคร

วัตถุประสงค์ของโครงการสมุทรสาครสีเขียว คือ

  1. เพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรมและการขยายตัวของชุมชน โดยการบูรณาการทรัพยากรจังหวัดสมุทรสาครในการแก้ไขปัญหา
  2. เพื่อริเริ่ม สนับสนุนกลไก และมาตรการติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังมลพิษ ที่สนับสนุนให้เกิดการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
  3. เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชน แรงงานต่างด้าว องค์กรปกครองส่วน  ท้องถิ่น และภาคเอกชน ให้เกิดเครือข่ายการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

นอกจากนี้ มูลนิธิบูรณะนิเวศยังได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินการโครงการเพื่อพัฒนาความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการจากส่วนกลาง สถาบันวิชาการภายในจังหวัด นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ  ภาคประชาสังคม โรงเรียน วัด สถานประกอบการ และชุมชนในพื้นที่สมุทรสาคร เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนและการแก้ปัญหามลพิษของจังหวัดสมุทรสาครในด้านต่างๆ ได้แก่

  • โครงการเพื่อนหญิงสุขภาพดี (Building Capacity of Women Migrant Workers on Basic Health Care, Sanitation, Environmental Health and Pollution Prevention through Volunteer System and Self-help Group) ภายใต้การสนับสนุนโดย Canada Fund for Local Initiatives (CFLI) ดำเนินการระหว่างเดือนมิถุนายน 2562 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563
  • โครงการการบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนสู่การปฏิบัติระดับท้องถิ่น เพื่อการสนับสนุนการดำเนินการของวาระ 2030 ในเอเชียและแปซิฟิก (Integrating the Sustainable Development Goals into local action in support of the implementation of the 2030 Agenda in Asia and the Pacific) โดยการสนับสนุนของ The United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (ESCAP) - UN Habitat ดำเนินการระยะแรกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 ถึงเดือนมิถุนายน 2563
  • โครงการ Air Quality (Civil) Internet of Things โดยการสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาเอกชนไต้หวันชื่อ Civil IoT Taiwan Task Force ในการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่น PM2.5 ในเขตอำเภอเมืองสมุทรสาคร ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562  


การริเริ่มโครงการและแนวทางการทำงาน

“สมุทรสาคร” เป็นจังหวัดชายทะเลติดอ่าวไทยที่มีความร่ำรวยและหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนพื้นดินและชายฝั่งทะเล และอยู่ติดกับกรุงเทพมหานคร ที่นี่จึงเป็นศูนย์รวมของการพัฒนาที่รวบรวมเอาความหลากหลายของภาคส่วนต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งภาคอุตสาหกรรม การประมงและกิจการเกี่ยวกับอาหารทะเล การเกษตรและเขตอนุรักษ์  ศาสนสถาน แหล่งประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยว และแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าชายเลน ดังคำขวัญว่า “สมุทรสาคร เมืองประมง ดงโรงงาน ลานเกษตร เขตประวัติศาสตร์”  สมุทรสาครจึงกลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศ

แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การพัฒนาที่เติบโตรวดเร็วและกลายเป็นภาพลักษณ์โดดเด่นของสมุทรสาครคือ เมืองที่มีโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่น มีการจราจร-การขนส่งคับคั่ง และมีชุมชนแรงงานขนาดใหญ่ โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว จังหวัดสมุทรสาครได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีจำนวนแรงงานต่างด้าวสูงที่สุดของประเทศ ที่หลั่งไหลเข้ามาเพื่อทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าในปี 2563 นี้จะมีประชากรที่เป็นแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่ในสมุทรสาครถึงเกือบสี่แสนคน

ปัจจุบันสมุทรสาครมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนราว 6,000 แห่ง  ประกอบด้วย โรงงานแปรรูปอาหารทะเลและกิจการอาหารแช่แข็ง โรงงานฟอกย้อม โรงงานหล่อหลอมโลหะและอโลหะ โรงงานผลิตเคมีภัณฑ์ โรงงานสิ่งทอ โรงงานกระดาษ โรงงานคัดแยกและฝังกลบของเสีย โรงงานรีไซเคิลพลาสติกและของเสียอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ  การเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคอุตสาหกรรมและการขยายของชุมชนเมืองที่ขาดการวางผังเมืองที่ดี และการขาดการควบคุมมลพิษและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐาน ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของจังหวัดสมุทรสาครเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นแหล่งมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษจากน้ำเสีย ปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่น และเสียง ปัญหามลพิษจากมูลฝอยและของเสียอันตรายจากภาคอุตสาหกรรม และปัญหามลพิษอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มว่าจะส่งผลคุกคามรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชนมากขึ้น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจึงได้ประกาศให้จังหวัดสมุทรสาคร เป็นเขตควบคุมมลพิษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา เพื่อให้หน่วยงานราชการและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษเพื่อความปลอดภัยของประชาชนในอนาคต

นอกจากการจราจร-การคมนาคมที่คับคั่ง โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบที่มีอยู่ตลอดเวลาภายในเขตพัฒนาอุตสาหกรรมของจังหวัดแล้ว จังหวัดสมุทรสาครยังมีความสำคัญในฐานะเมืองที่เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมและการขนส่งระหว่างภาคตะวันออก ภาคตะวันตก กรุงเทพมหานคร และภาคใต้ด้วย รัฐบาลจึงได้ทุ่มเทงบประมาณหลายหมื่นล้านบาทเพื่อขยายถนนพระรามสอง ปรับปรุงและเพิ่มเติมโครงสร้างพื้นฐานอีกจำนวนมากในปัจจุบัน ปัจจุบันถนนพระรามสอง ซึ่งเป็นถนนสายหลักของการคมนาคมและการขนส่งคราคร่ำและเนืองแน่นไปด้วยยวดยานพาหนะจำนวนมาก จำนวนรถยนต์ทุกประเภทที่จดทะเบียนในจังหวัดสมุทรสาครสะสมจนถึงปี 2557 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 237,801 คัน ส่งผลให้เกิดมลพิษอากาศและฝุ่นควันรุนแรง ที่นอกเหนือไปจากการปล่อยมลพิษอากาศของโรงงานอุตสาหกรรม

พื้นที่จังหวัดสมุทรสาครจึงเป็นจังหวัดอันดับต้นๆ ที่มีประสบปัญหารุนแรงจากฝุ่นละออง PM2.5 เนื่องจากความหนาแน่นของมลพิษอากาศที่ปล่อยจากโรงงานอุตสหกรรมหลายพันแห่ง โดยเฉพาะโรงงานหล่อหลอม โรงงานรีไซเคิลของเสียและพลาสติก รวมถึงเชื้อเพลิงฟอสซิลหลายประเภทที่ใช้ตามโรงงานต่างๆ  ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กนักเรียนในวัยประถมศึกษา ซึ่งมีภูมิต่อต้านน้อย ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะส่งผลให้เจ็บป่วยเรื้อรังในระยะยาวได้ เนื่องจากฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ที่เราอาจจะมองเห็นเป็นหมอกควันขมุกขมัว ที่จริงแล้วเกิดจากการรวมตัวกันของฝุ่นและละอองสารเคมีที่มีขนาดเล็กมากโดยเฉพาะสารที่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ เช่น โลหะหนักอย่างตะกั่ว ปรอท และสารหนู ที่จะก่อให้เกิดโรคทางระบบประสาท สารก่อมะเร็ง เช่น สารกลุ่มพีเอเอ็ช (polycyclic aromatic hydrocarbons, PAH) สารก่อการกลายพันธุ์ อย่างไดอ๊อกซิน (dioxin) นอกจากนี้ยังอาจจะมีเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนร่วมอยู่ด้วยอีกหลายตัว เป็นต้น

มูลนิธิบูรณะนิเวศได้สำรวจและศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหามลพิษในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครระหว่างเดือนสิงหาคมถึง ธันวาคม 2561 โดยการระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ หน่วยงานราชการในส่วนท้องถิ่น บุคลากรด้านสาธารณสุข ตัวแทนสถานประกอบการภายในจังหวัด นักวิชาการและครู และตัวแทนประชาชน เกี่ยวกับการริเริ่มกิจกรรมการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของอำเภอเมืองสมุทรสาครและตำบลใกล้เคียงเพื่อหาแนวทางร่วมกันในการพัฒนาให้จังหวัดสมุทรสาครเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนและการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเชิงบูรณาการ ซึ่ง  ผลการวิเคราะห์แรงผลักดันที่ทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาวะและปัจจัยที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย

แรงผลักดัน:  การเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องของจังหวัดตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นโดยจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีกรอบนโยบาย แนวทางและเครื่องมือเฉพาะเจาะจงในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและการควบคุมมลพิษของพื้นที่ มาตรการทั่วไปที่ใช้ในการกำกับดูแลสถานประกอบการคือ การกำกับและการควบคุม (command and control) อย่างหลวมๆ ไม่เข้มงวด ประการสำคัญคือ ไม่มีการกำกับติดตามต่อเนื่อง ไม่มีมาตรการกำกับให้มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพและลดการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด  อย่างไรก็ดีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีและการลดการปล่อยมลพิษมีต้นทุนดำเนินการที่สูงเกินความสามารถของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก ขณะเดียวกันหน่วยงานผู้รับผิดชอบส่วนท้องถิ่นยังขาดขีดความสามารถด้านทรัพยากร งบประมาณ  ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม

ปัจจัยที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

•      การมีแผนขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ที่เฉพาะเจาะจงในการบริหารจัดการพื้นที่สิ่งแวดล้อมต่อเนื่องและระยะยาว เช่น แผนแม่บทการจัดการมลพิษ 10 ปี และแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรสาคร

•      การดำเนินงานในรูปแบบการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ที่ต่างตระหนักถึงภาวะความเสี่ยงทางสุขภาพจากปัญหามลพิษมากขึ้น

•    การปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก และการปรับเปลี่ยน
ภูมิทัศน์

•      การมีโครงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้ก่อมลพิษกับชุมชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

 

แรงผลักดัน: ผู้ก่อมลพิษขาดแรงจูงใจที่จะปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่สะอาดกว่า หากไม่ได้รับแรงกดดันทางสังคมและการกำกับที่จริงจังขึ้นจากภาครัฐ

ปัจจัยที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

•      การเสริมสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานรับผิดชอบในการติดตามตรวจสอบ เช่น การจัดทำแผนที่จุดกำเนิดมลพิษ

•      การจัดตั้งหน่วยเฝ้าระวังและตรวจสอบ (Third party) ที่มีความโปร่งใสและทันต่อสถานการณ์

•      การสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีที่สะอาดและมีประสิทธิภาพ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีต้นแบบ (prototype technology) และการสนับสนุนที่ปรึกษาด้านวิชาการ การฝึกอบรมผู้ประกอบการ ศึกษาดูงาน และเครือข่ายผู้ประกอบการในพื้นที่

•      การพัฒนาโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อมโดยความร่วมมือกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในรูปแบบ Big brothers และในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน

 

แรงผลักดัน:  ผู้ที่ได้รับผลกระทบมักเป็นประชาชนกลุ่มที่ยากจนหรือขาดอำนาจต่อรอง ไม่มีการรวมตัวอย่างจริงจังและไม่มีข้อมูล รวมถึงเครื่องมือและความรู้ความเข้าใจการติดตามตรวจสอบผลกระทบ แต่มีความต้องการให้มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของพื้นที่

ปัจจัยที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูมลพิษ

•      การสร้างความสามารถในการรับมือและจัดการกับปัญหามลพิษท้องถิ่น เช่น การพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับมลพิษท้องถิ่นให้กับโรงเรียน วัด ศาสนสถาน การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และแรงงานต่างด้าว

•      การเชื่อมโยงและพัฒนาข้อมูลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพระดับจังหวัดและท้องถิ่น และเครือข่ายสิ่งแวดล้อมเมือง เช่น ศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมระดับเมือง ท้องถิ่นและชุมชน ศูนย์เฝ้าระวังและประสานการจัดการด้านมลพิษ จังหวัดสมุทรสาคร (Pollution Monitoring Center – PMC)

•      การมีกิจกรรมสาธารณะด้านการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เช่น โรงเรียนสีเขียว วัดสีเขียว ศาสนสถานสีเขียว ตลาดสีเขียว มีเวทีสาธารณะ มหกรรมสุขภาพ ตลาดนัดแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีสะอาด รวมทั้งการจัดเวทีสุขภาพประจำปี

 

ปัญหาที่ผู้มีส่วนได้เสียได้สะท้อนออกมาและเรียงตามลำดับความสำคัญ มีดังนี้

   อันดับหนึ่งคือ ปัญหาน้ำเสียจากอุตสาหกรรม

   อันดับสองคือ ปัญหาของเสียจากอุตสาหกรรม

   อันดับสามคือ ปัญหามลพิษทางอากาศและขยะจากชุมชน

   อันดับสี่คือ ปัญหาน้ำเสียจากบ้านเรือน

   อันดับห้าคือ ปัญหาสารพิษปนเปื้อนจากการเกษตร

 

การขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงให้จังหวัดสมุทรสาครมุ่งไปสู่ความยั่งยืนและเป็นเมืองน่าอยู่

มีแนวทางสำคัญดังนี้

  • เน้นความยั่งยืนของแผนการทำงานและการขับเคลื่อน โดยสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมและสร้างความเป็นเจ้าของร่วมกัน ดังนั้นโครงการที่ดำเนินการในพื้นที่นี้โดยมูลนิธิบูรณะนิเวศเน้นบทบาทหลักคือ การเป็นผู้สนับสนุนการทำงานและการประสานงานแผนงาน โครงการ และกิจกรรมที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่แล้ว และริเริ่มงานที่จำเป็นหรือเป็นความต้องการของทุกภาคส่วน
  • ปฏิบัติการแบบบูรณาการในพื้นที่ (Area-based approach) เพื่อให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และวัดผลได้ชัดเจนโดยจะเริ่มที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก มีปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรง และประชาชนมีความเดือดร้อนจากปัญหามลพิษ
  • ประสานงานและบูรณาการแผนการขับเคลื่อนให้เข้ากับงานระดับจังหวัด โดยการทำงานผ่านคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และกลไกของหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่มีอยู่