ย้อนรอย - กว่า 40 ปี "กรณีคลิตี้": บาดแผลเรื้อรังของผู้คนและสายน้ำ (ก.ย. 60)
กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ
ย้อนรอย - กว่า 40 ปี "กรณีคลิตี้": บาดแผลเรื้อรังของผู้คนและสายน้ำ[1]
ภาพโดย จามร ศรเพชรนรินทร์
11 กันยายน 2560 ที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรท จำกัด (ประเทศไทย) จ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านคลิตี้ล่าง จ.กาญจนบุรี 151 คน เป็นเงินรวม 36,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับจากวันฟ้องร้องคือ 19 ตุลาคม 2550 ฐานละเมิด พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ปล่อยปละเลยให้สารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยมีชาวบ้านคลิตี้ล่าง 14 คน พร้อมด้วยสมชาย อามีน ทนายความ และสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง ร่วมเดินทางมาฟังคำพิพากษา[2]
ลำดับเหตุการณ์ "กรณีคลิตี้": บาดแผลเรื้อรังของผู้คนและสายน้ำ
ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 40 ปีก่อนหน้า กรณีการปนเปื้อนสารตะกั่ว[3] ในลำห้วยคลิตี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2518[4] หรือเพียง 8 ปีภายหลังการเริ่มดำเนินกิจการของโรงแต่งแร่จากเหมืองตะกั่ว โดยโรงแต่งแร่แห่งนี้เป็นของบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่บริเวณต้นลำห้วยคลิตี้[5] ใกล้กับชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง หมู่ 3 ต.นาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ และหมู่ 4 ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เหรี่ยงโปว์ที่สืบอายุยาวนานมาหลายร้อยปี เมื่อชาวกะเหรี่ยงในชุมชนหลายคนพบเห็นการปล่อยน้ำเสียลงในลำห้วย ก่อนที่ต่อมาไม่นานจะพบว่าน้ำในลำห้วยมีความผิดปกติ
“...มีโคลนดินใต้ท้องน้ำมากผิดปกติ มีกลิ่นเหม็นฉุนอย่างรุนแรง น้ำเป็นสีน้ำตาลขุ่น เมื่อดื่มเข้าไปทำให้เกิดอาการเวียนศรีษะ เมื่ออาบน้ำหรือเล่นน้ำจะเกิดอาการคันตามตัว ปลาน้อยใหญ่ลอยตายเกลื่อนลำห้วย”[6]
หลังจากนั้น ชาวบ้านคลิตี้ล่างได้พยายามค้นหาถึงสาเหตุของปัญหา ก่อนจะพบว่ามีการปล่อยน้ำหางแร่จากโรงแต่งแร่เหนือหมู่บ้านลงในลำห้วยคลิตี้[7] จึงได้เริ่มร้องเรียนต่อทางเหมืองและโรงแต่งแร่ครั้งแรกในปี 2521[8]
ระหว่างปี 2532 - 2541 ประชาชนในหมู่บ้านมีอาการเจ็บป่วยอย่างผิดปกติ แต่คล้ายคลึงกัน คือถ่ายท้อง ปวดหัว ปวดกระดูก ชาตามร่างกาย บางรายตาบอดสนิท และเริ่มทยอยเสียชีวิต หญิงที่ตั้งครรภ์แท้งบุตร ทารกเกิดใหม่บางรายมีอาการผิดปกติด้านร่างกายและสมอง ขณะเดียวกันสัตว์เลี้ยงในหมู่บ้านโดยเฉพาะควายได้ล้มตายลงเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่ตายด้วยอาการล้มชักน้ำลายฟูมปาก[9]
ปัญหาด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทำให้ชาวคลิตี้ล่างรวมตัวกันส่งตัวแทนชุมชนไปเจรจากับโรงแต่งแร่หลายครั้ง รวมทั้งปรึกษากับหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน แต่ปัญหาก็ยังไม่รับการแก้ไข[10]
จนกระทั่งในเดือนเมษายน 2541 ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนาซึ่งเข้าไปพบปัญหา ได้ร้องเรียนไปยังกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กรณีนี้จึงเริ่มเป็นที่รับรู้ในสาธารณะจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนแขนงต่างๆ[11]
ภายหลังการร้องเรียน คพ. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ[12] และพบการปนเปื้อนสารตะกั่วในน้ำ ตะกอนดิน ท้องน้ำ และในสัตว์น้ำ โดยเฉพาะจุดที่อยู่ใต้โรงแต่งแร่คลิตี้ลงไป โดยสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมในห้วยคลิตี้ที่ตรวจพบในปี 2541 คือ บริเวณใต้โรงแต่งแร่คลิตี้ พบการปนเปื้อนสารตะกั่วในน้ำในรูปของตะกั่วทั้งหมด (Total Lead) เกินมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน และพบตะกอนดินท้องน้ำปนเปื้อนสารตะกั่วในระดับสูงมาก สัตว์น้ำมีการสะสมสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานอาหารให้มีสารปนเปื้อนตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (2529) ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 1.0 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยพบว่า ปลามีปริมาณตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานอาหารให้มีสารปนเปื้อน 6 - 82 เท่า ปู มีปริมาณตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานฯ 125 เท่า และกุ้ง มีปริมาณตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานถึง 130 เท่า[13]
ต่อมาในในปี 2542 ได้มีการตรวจติดตามสุขภาพของประชาชนในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง โดยหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ กรมอนามัย ซึ่งการตรวจเลือดเพื่อหาระดับสารตะกั่วในเลือด ครั้งนี้พบว่า ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีระดับสารตะกั่วในเลือดสูง โดยเด็กอายุ 0-6 ปี มีระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ย 23.56 มิลลิกรัม/เดซิลิตร, เด็กอายุ 7-15 ปี มีระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ย 28.30 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป มีระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ย 26.31 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขณะที่ค่าเฉลี่ยจากการสำรวจระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ยของคนไทยทั่วไปเมื่อปี 2538 - 2539 โดยกองอาชีวอนามัย อยู่ที่ 4.29 มิลลิกรัม/เดซิลิตร[14] และต่อมาพญ.อรพรรณ เมธาดิลกกุล ได้ออกใบรับรองแพทย์ให้ผู้ป่วยบางรายในหมู่บ้านว่า “เป็นโรคพิษสารตะกั่ว” ขณะที่น้ำในลำห้วยยังคงเป็นสีดำแดง[15]
ในปีเดียวกัน บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ปิดกิจการลง[16]
22 พฤษภาคม 2543 คพ. ซึ่งยังคงเฝ้าติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่รวมถึงกระบวนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ก็พบว่าในลำห้วยยังคงมีสารตะกั่วปนเปื้อนในปริมาณสูง
ในปี 2544 ได้มีการปิดเหมืองแร่ตะกั่วลงอย่างถาวร[17]
2 ปีถัดมา สาธารณสุขอนามัยเกริงกระเวีย ได้เข้าไปปิดประกาศ “งดบริโภคน้ำและปลาในลำห้วยชั่วคราว” เพื่อเตือนมิให้ใช้น้ำและจับสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2545[18]
ขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่มีความคืบหน้า อีกทั้งชาวคลิตี้ล่างจำนวน 8 คนที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกอาชีวเวชศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี และแพทย์บ่งชี้ว่าทั้ง 8 คนป่วยจากพิษสารตะกั่วเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม การรักษาที่ถูกต้องทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีระดับตะกั่วในเลือดลดลง และสุขภาพดีขึ้น[19]
30 มกราคม 2546 ผู้ป่วย 8 คนที่แพทย์รับรองว่าเป็นป่วยจากพิษสารตะกั่ว ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเอาผิดกับบริษัทเอกชนผู้ก่อมลพิษ[20]
2547 ตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ 22 คน ยื่นฟ้อง คพ. ต่อศาลปกครองกลาง ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าในการฟื้นฟูลำห้วย[21]
ภาพโดย จามร ศรเพชรนรินทร์
19 ตุลาคม 2550 ชาวบ้านคลิตี้ล่างรวม 151 คน ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด กับพวกรวม 7 คน เป็นจำเลยที่ 1- 7 ในข้อหาหรือฐานความผิด ละเมิดตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เป็นคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ 2659/2550 หมายเลขแดงที่ 1290/2553 เรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,041,952,000 บาท พร้อมทั้งขอให้จำเลยรับผิดชอบในการฟื้นฟูขจัดมลพิษในลำห้วยคลิตี้[22]
2550 ศาลอุธรณ์ภาค 7 (แผนกคดีสิ่งแวดล้อม) ได้มีคำพิพากษาตัดสินให้บริษัทผู้ก่อมลพิษต้องชดใช้เงินค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 8 คนเป็นจำนวนเงิน 29,551,000 บาท จากนั้นได้มีชาวบ้านคลิตี้อีก 151 คน ยื่นฟ้องบริษัทฯ[23]
2551 ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาว่า คพ. ล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูหรือระงับการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วย และให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 743,226 บาท จากนั้นคดีได้ขึ้นสู่ชั้นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด[24]
20 ธันวาคม 2553 ศาลจังหวัดกาญจนบุรีได้มีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ชาวคลิตี้ล่างจำนวน 151 คน เป็นเงินรวมกันทั้งสิ้น 36,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับจากวันฟ้อง “จากการที่จำเลยปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารตะกั่วลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ของชาวบ้าน จนทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยเรื้อรัง และไม่สามารถใช้สอยลำห้วยได้เหมือนเดิม” นอกจากนี้ยังให้จำเลยดำเนินการฟื้นฟูหรือขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไป “หากจำเลยไม่ยอมดำเนินการ ให้โจทก์มีอำนาจดำเนินการเองโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย” [25]
2554 ศาลอุธรณ์ภาค 7 (แผนกคดีสิ่งแวดล้อม) ได้พิพากษาให้บริษัทผู้ก่อมลพิษ และกรรมการ จ่ายเงินค่าเสียหายจำนวน 36,050,000 บาท ฐานเป็นผู้ก่อมลพิษ[26]
7 กุมภาพันธ์ 2555 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมมีคำพิพากษา ยืนตามศาลชั้นต้น ในประเด็นเรื่องการกำหนดค่าเสียหาย แต่ในประเด็นเรื่องการฟื้นฟูลำห้วย ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย “โดยเห็นว่า พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ไม่ได้บัญญัติให้ประชาชนทั่วไปเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับเอกชนผู้ก่อมลพิษดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยได้โดยตรง แต่เป็นอำนาจของกรมควบคุมมลพิษที่จะบังคับตามกฎหมายให้ผู้ก่อมลพิษฟื้นฟูลำห้วย หากผู้ก่อมลพิษไม่ทำ”[27]
10 มกราคม 2556 ศาลปกครองสูงสุด ได้คำพิพากษาให้ คพ. ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 ราย รายละ 177,199.55 บาท และให้ติดตามตรวจคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตลอดระยะเวลา 1 ปี พร้อมทั้งให้กำหนดแผนหรือแนวการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ จนกว่าค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำ ในลำห้วยคลิตี้อยู่ในระดับไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี รวมถึงต้องแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบโดยวิธีการเปิดเผย[28] ทำให้ คพ. ต้องจ่ายค่าชดเชยและทำโครงการกำหนดแนวทางฟื้นฟูลำห้วย (ระยะที่ 1) พร้อมให้ศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตราย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ศึกษาแนวทางฟื้นฟูมานำเสนอในเดือนกันยายน 2556 โดยมีกรอบทำงาน 120 วัน[29]
27 สิงหาคม 2556 คพ. รับอนุมัติงบประมาณประจำปี 2556 เป็นงบกลางวงเงิน 11,850,000 บาท ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เพื่อใช้ดำเนินโครงการกำหนดแนวทางฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว แต่เงินจำนวนนี้ก็เป็นเพียงเงินในการศึกษาแนวทางในการฟื้นฟูเท่านั้น แม้คำพิพากษาจะผ่านมากว่า 8 เดือนแล้ว แต่ไม่มีทีท่าทีว่าจะมีการลงมือฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ทั้งที่เคยมีแผนการจะฟื้นฟูแล้วตั้งแต่ปี 2541 ในช่วงต้นที่ คพ. ได้ทราบเรื่อง โดยการทำทางน้ำอ้อมเพื่อดูดตะกอนตะกั่วออก ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท แต่ก็ระงับไปเมื่อบริษัทผู้ก่อมลพิษไม่ให้ความร่วมมือ[30]
19 มกราคม 2558 คพ. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว เป็นครั้งที่ 3[31] ภายหลังจากที่ได้ว่าจ้างให้ มข. ทำการศึกษาและจัดทำแนวทางการฟื้นฟู แต่ในครั้งนี้ไม่มีการรับความคิดเห็นจากหน่วยงานและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องจากส่วนกลางเช่นครั้งก่อนๆ และเป็นการลงพื้นที่ไปจัดรับฟังความคิดเห็นเฉพาะหมู่บ้านคลิตี้บนเท่านั้น ในขณะที่ครั้งที่ผ่านๆ มาจัดรับฟังความคิดเห็นที่หมู่บ้านคลิตี้ล่างด้วย[32]
ในวันเดียวกัน วิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดี คพ. เปิดเผยว่า คพ. ได้ทำคำของบประมาณปี 2559 จำนวน 590 ล้านบาท เพื่อการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้และพื้นที่ที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนปริมาณสูงและนำไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งได้ทำร่างขอบเขตการว่าจ้างไว้แล้วเพื่อเร่งดำเนินการฟื้นฟูให้เร็วยิ่งขึ้น และมีคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในห้วยคลิตี้ได้แต่งตั้งคณะทำงานวิชาการเพื่อเสนอแนะแนวทางการฟื้นฟูห้วยคลิตี้ ประกอบด้วยนักวิชาการที่เสนอจากภาคประชาชนและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อพิจารณาแนวทางและวิธีการฟื้นฟูห้วยคลิตี้จากผลการศึกษาของ คพ. ที่ว่าจ้าง มข. ให้ถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาการและสอดคล้องกับคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด[33]
“พื้นที่ทำบ่อฝังกลบเพื่อรองรับตะกอนดินปนเปื้อนสารตะกั่วที่ได้จากการขุดลอกตะกอนท้องน้ำจากลำห้วยคลิตี้และพื้นดินที่ปนเปื้อนสารตะกั่ว จะสร้างในพื้นที่บริเวณใกล้กับเหมืองบ่องาม ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งเดิมของตะกั่วและปัจจุบันไม่มีประชาชนใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใกล้เคียง สำหรับบ่อฝังกลบนี้จะก่อสร้างเป็นหลุมฝังกลบแบบปลอดภัยในพื้นที่ซึ่งสามารถรองรับปริมาณตะกอนดินที่ปนเปื้อนสารตะกั่วได้ประมาณ 110,000 ลูกบาศก์เมตร”
นอกจากนี้ อธิบดี คพ. ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภายใต้แผนฯ มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องที่ต้องดำเนินการ คือ การก่อสร้างหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย, การขุดลอกตะกอนดินและดินปนเปื้อน, การขนส่งตะกอนดินและดินที่ปนเปื้อนไปกำจัดยังหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย, การก่อสร้างฝายดักตะกอนเพิ่มเติม จำนวน 2 แห่ง และการปกคลุมพื้นที่ปนเปื้อนรอบโรงแต่งแร่ด้วยดินสะอาด ซึ่งคาดการณ์ว่าจะดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยปีแรกต้องจัดทำบ่อฝังกลบให้แล้วเสร็จ และขุดลอกตะกอนบางส่วนไปฝังกลบ[34]
5 สิงหาคม 2558 ชาวบ้านชุมชนคลิตี้และศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ได้เข้ายื่นหนังสือต่อรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ให้เร่งฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และให้กรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหาย โดยศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงฯ ได้เสนอหลักการในการฟื้นฟู 7 ข้อ คือ[35]
1) การฟื้นฟูต้องมีเป้าหมาย เพื่อให้ชาวบ้านคลิตี้กลับมาใช้น้ำ ใช้ดิน กินปลา ได้ดังเดิม โดยปราศจากมลพิษ
2) ค่าตะกั่วในดินบริเวณโดยรอบห้วยคลิตี้ต้องไม่เกินค่ามาตรฐาน
3) การฟื้นฟูต้องดูดตะกอนในลำห้วยและขุดลอกริมตลิ่งและใกล้เคียงลำห้วยที่มีการปนเปื้อนตะกั่วเกินค่ามาตรฐาน โดยเริ่มตั้งแต่บริเวณโรงแต่งแร่ และพื้นที่ใกล้เคียงลงมาตามลำน้ำ
4) เร่งฟื้นฟูและเยียวยาบริเวณหมู่บ้านคลิตี้ล่าง เช่น บริเวณโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สนามเด็กเล่น เนื่องจากมีตะกั่วในดินปนเปื้อนในสนามที่น้ำท่วมถึงถึง 3,906 มิลลิกรัม/กิโลกรัม[36]
5) ตะกอนและดินที่ปนเปื้อนตะกั่ว ต้องได้รับการกำจัดอย่างของเสียอุตสาหกรรมและมีการปรับเสถียร
6) ต้องจัดให้มีกลไกการตรวจสอบประเมินผลโดยคณะกรรมการที่ชุมชน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนมีส่วนร่วม
7) เยียวยาชุมชนคลิตี้ล่างโดยจัดน้ำสะอาดให้ชาวบ้านทั้งอุปโภคบริโภค อย่างเพียงพอ
ระหว่างวันที่ 5 - 8 สิงหาคม 2558 จงจิตร์ นีรนาทเมธีกุล รองอธิบดี คพ. และทีมงาน ได้ร่วมกับคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในห้วยคลิตี้ ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ รวมทั้งมีการร่วมประชุมและนำเสนอรายละเอียดของกิจกรรมในแผนฟื้นฟูสำหรับปี 2559[37]
22 มกราคม 2559 วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้แถลงผลความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ โดยระบุว่าแผนแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้จะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคมนี้ จากนั้นจะนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือบอร์ดสิ่งแวดล้อมตามลำดับขั้นตอน ก่อนจะจัดซื้อจัดจ้างในเดือนมีนาคม
ทั้งนี้ ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการคือ ได้มีการลงพื้นที่เพื่อวางแผนร่วมกับชุมชน โดยจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคีร่วมกับภาคประชาชน และอยู่ระหว่างการขออนุญาตใช้พื้นที่จากทางพื้นที่อุทยานแห่งชาติลำคลองงู พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำโจน และพื้นที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) จ.กาญจนบุรี ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตของทางหน่วยงานดังกล่าว คาดว่าจะได้ลงมือดำเนินการตามแผนในเดือนเมษายนปีนี้ [38]
แม้ คพ. จะประชาสัมพันธ์การเตรียมการฟื้นฟูและมีการลงพื้นที่ที่ทำให้ชาวคลิตี้มีความหวังว่าพื้นที่ปนเปื้อนจะได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่ความเหมาะสมของแผนฟื้นฟูก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่า ต่อประเด็นนี้ สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ได้ให้ความเห็นว่า ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาสั่งให้กรมควบคุมมลพิษ เร่งฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ภายใน 3 เดือน แต่ คพ. มีความล่าช้าในการดำเนินงานจนผ่านไป 3 ปี จึงสามารถเริ่มได้ อีกทั้งชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบกลับไม่ได้รับทราบแผนและรายละเอียดโครงการในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วเลย แม้จะมีการตั้งให้ชาวบ้านเป็นคณะกรรมการไตรภาคี แต่เมื่อไม่มีรายละเอียดโครงการก็ไม่ทราบจะติดตามได้อย่างไร ทั้งนี้ ชาวบ้านต้องการให้ฟื้นฟูจนสามารถกลับไปใช้น้ำและจับสัตว์น้ำกินได้ดังเดิม ไม่ควรนำสิ่งปนเปื้อนไปฝังกลบไว้ในพื้นที่เหนือลำห้วยคลิตี้ เพราะหากมีการรั่วไหลจะลงสู่ลำห้วยคลิตี้โดยตรงและกลับมาสู่หมู่บ้าน แต่ต้องนำไปกำจัดอย่างถูกต้องโดยบริษัทผู้รับกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรม เนื่องจากกรมควบคุมเคยตรวจสอบพบว่าเป็นสารพิษจากอุตสาหกรรมและนำออกไปกำจัดภายนอกแล้ว 4 หลุม และในระหว่างที่การฟื้นฟูลำห้วยยังไม่เสร็จสิ้น คพ. ต้องเยียวยาจัดน้ำสะอาดและอาหารแทนการบริโภคสัตว์น้ำ[39]
14 กรกฎาคม 2559 ศาลจังหวัดกาญจนบุรี อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา (แผนกคดีสิ่งแวดล้อม) ให้บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 1 และนายคงศักดิ์ กลีบบัว จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวบ้าน 8 คน เป็นค่าเจ็บป่วย ค่ารักษาในอนาคต เป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท พร้อมกับให้ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้กลับมาใช้ได้ดั่งเดิม จากที่ถูกยื่นฟ้องในข้อหาละเมิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535[40]
3 สิงหาคม 2559 การฟื้นฟูลำห้วยคลิติต้องชะงักลงอีกครั้ง เมื่อ คพ. สั่งยกเลิกการประกวดราคากลาง เนื่องจากมีผู้ผ่านคุณสมบัติเพียงรายเดียว ต่อกรณีนี้ คพ. ได้ยืนยันว่าการยกเลิกการประกวดราคาจะไม่ส่งผลต่อแผนดำเนินงานที่วางไว้[41]
13 กันยายน 2559 หลังคำพิพากษาศาลฎีกา (แผนกคดีสิ่งแวดล้อม) เมื่อ 2 เดือนก่อนหน้า ประชาชนผู้ฟ้องคดีชุดแรกรับเงินชดเชยจากพิษตะกั่วคลิตี้ หลังต่อสู้คดีมานานกว่า 13 ปี โดยแต่ละรายจะได้รับเงินชดเชยคนละ 2-3 ล้านบาท[42] ขณะที่ยังมีคดีที่ประชาชนอีก 151 รายได้ยื่นฟ้องร้องบริษัทฯ และกรรมการบริษัทที่เกี่ยวข้อง ในฐานความผิดเดียวกัน โดยเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินกว่าหนึ่งพันล้านบาท ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้ง 151 ราย เป็นเงิน 36 ล้านบาท และคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา[43]
11 กันยายน 2560 ที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรท จำกัด (ประเทศไทย) จ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านคลิตี้ล่าง จ.กาญจนบุรี 151 คน เป็นเงินรวม 36,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับจากวันฟ้องร้องคือ 19 ตุลาคม 2550 ฐานละเมิด พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ปล่อยปละเลยให้สารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม[44]
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังคงไม่มีการดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้
[1] ปรับปรุงจาก “คลิตี้: บาดแผลเรื้อรังของผู้คนและสายน้ำ” ใน เพ็ญโฉม แซ่งตั้ง และ กานต์ ทัศนภักดิ์ (บรรณาธิการ) “ปัญหามลพิษอุตสาหกรรม 2558 - 2559”, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, พิมพ์ครั้งที่1: มิถุนายน 2560.
[2] "ศาลฎีกา"ตัดสินให้เอกชนจ่ายชดเชย 36 ล้านบาทชาวคลิตี้ล่าง, ไทยพีบีเอส, 11 กันยายน 2560. https://news.thaipbs.or.th/content/265964
[3] “สารตะกั่ว” (LEAD) เป็นโลหะหนักที่มีพิษและไม่มีประโยชน์ใดๆ ต่อร่างกาย แตกต่างจากโลหะหนักบางชนิด ปัจจุบันมีองค์ความรู้
ทางการแพทย์มากขึ้นที่ชี้ชัดว่า สารตะกั่วเป็นภัยต่อสุขภาพ แม้ได้รับในปริมาณเพียงเล็กน้อย และล่าสุด เมื่อปี พ.ศ. 2553 องค์การอนามัยโลก
ได้ประกาศว่า ไม่มีระดับสารตะกั่วในร่างกายที่ปลอดภัยต่อสุขภาพไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่
แม้ในประเทศไทย ค่าที่ถูกกำหนดว่า “ยอมรับได้” ของสารตะกั่วในเลือดเด็ก คือ 10 ไมโครกรัม/เดซิลิตร (10 ug/dL) แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุว่า การมีสารตะกั่วในเลือดเพียง 5 ug/dL ก็สามารถทำให้ระดับเชาว์ปัญญา (IQ) ของเด็กลดลง
ที่มา: มูลนิธิบูรณะนิเวศ, “”สารตะกั่วในสี” มหันตภัยใกล้ตัวเด็ก, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, 21 ตุลาคม 2556.
[4] สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, “ตะกั่วในลำห้วยคลิตี้: คดีตัวอย่างการเยียวยาชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ”. ใน สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, “สุขภาพคนไทย 2557 : “ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง” สู่การปฏิรูปประเทศจากฐานราก”, สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, 2557, หน้า 68 - 72. http://docs.wixstatic.com/ugd/bdfbef_674a3b030bc542a1a69
d58005d6c66ef.pdf
[5] “14 ปีห้วยคลิตี้ เมืองกาญจน์ฯ สารตะกั่วยังสูง แม้กรมควบคุมมลพิษจะยืนยันว่า “น้ำ” ดื่มได้ แต่ “สัตว์น้ำ” ยังกินไม่ได้”, ไทยพับลิก้า, 31 พฤษภาคม 2555. http://thaipublica.org/2012/05/14-years-houyclity-high-lead-content/
[6] สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, “ตะกั่วในลำห้วยคลิตี้: คดีตัวอย่างการเยียวยาชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ”, อ้างแล้ว.
[7] เกิดจากห้วยหลายสายจากผืนป่าทุ่งใหญนเรศวรที่ไหลมารวมกัน ที่มา: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, “ตะกั่วในลำห้วยคลิตี้: คดีตัวอย่างการเยียวยาชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ”, เพิ่งอ้าง.
[8] เพิ่งอ้าง.
[9] เพิ่งอ้าง.
[10] เพิ่งอ้าง.
[11] “14 ปีห้วยคลิตี้ เมืองกาญจน์ฯ สารตะกั่วยังสูง แม้กรมควบคุมมลพิษจะยืนยันว่า “น้ำ” ดื่มได้ แต่ “สัตว์น้ำ” ยังกินไม่ได้”, ไทยพับลิก้า, อ้างแล้ว
[12] กรมควบคุมมลพิษ, “รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยปี 2552”, หน้า 2-2. http://infofile.pcd.go.th/mgt/Report_Thai2552.pdf?CFID=2862655&CFTOKEN=46783005
[13] กรมควบคุมมลพิษ, “รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยปี 2552”, หน้า 2-2. http://infofile.pcd.go.th/mgt/Report_Thai2552.pdf?CFID=2862655&CFTOKEN=46783005
[14] “15 ปีผ่านไป “ห้วยคลิตี้” สายน้ำยังไหลแต่ “มลพิษ” ยังอยู่”, MGR Online, 30 สิงหาคม 2556. http://www.manager.co.th/local/viewnews.aspx?NewsID=9560000108916
[15] สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, “ตะกั่วในลำห้วยคลิตี้: คดีตัวอย่างการเยียวยาชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ”, อ้างแล้ว, หน้า 68 - 71.
[16] “14 ปีห้วยคลิตี้ เมืองกาญจน์ฯ สารตะกั่วยังสูง แม้กรมควบคุมมลพิษจะยืนยันว่า “น้ำ” ดื่มได้ แต่ “สัตว์น้ำ” ยังกินไม่ได้”, ไทยพับลิก้า, อ้างแล้ว.
[17] เพิ่งอ้าง
[18] สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, “ตะกั่วในลำห้วยคลิตี้: คดีตัวอย่างการเยียวยาชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ”, อ้างแล้ว.
[19] เพิ่งอ้าง.
[20] เพิ่งอ้าง.
[21] “สกู๊ปแนวหน้า: ย้อนรอยมหากาพย์ ‘บ้านคลิตี้’ วันนี้ ‘เศษซากมลพิษ’ ยังคงอยู่”, หนังสือพิมพ์แนวหน้า, 30 ตุลาคม 2556. ใน สำนักงานเผยแพร่และประชาสัมพันธ์, “ข่าวจากหนังสือพิมพ์”, เว็บไซต์สำนักสื่อสารความเสียงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค. http://pr.ddc.moph.go.th/press/showimg6.php?id=23945
[22] "ศาลฎีกา"ตัดสินให้เอกชนจ่ายชดเชย 36 ล้านบาทชาวคลิตี้ล่าง, ไทยพีบีเอส, อ้างแล้ว.
[23] สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, “ตะกั่วในลำห้วยคลิตี้: คดีตัวอย่างการเยียวยาชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ”, อ้างแล้ว.
[24] “สกู๊ปแนวหน้า: ย้อนรอยมหากาพย์ ‘บ้านคลิตี้’ วันนี้ ‘เศษซากมลพิษ’ ยังคงอยู่”, หนังสือพิมพ์แนวหน้า, อ้างแล้ว.
[25] "ศาลฎีกา"ตัดสินให้เอกชนจ่ายชดเชย 36 ล้านบาทชาวคลิตี้ล่าง, ไทยพีบีเอส, อ้างแล้ว.
[26] สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, “ตะกั่วในลำห้วยคลิตี้: คดีตัวอย่างการเยียวยาชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ”, อ้างแล้ว.
[27] "ศาลฎีกา"ตัดสินให้เอกชนจ่ายชดเชย 36 ล้านบาทชาวคลิตี้ล่าง, ไทยพีบีเอส, อ้างแล้ว.
[28] “สกู๊ปแนวหน้า: ย้อนรอยมหากาพย์ ‘บ้านคลิตี้’ วันนี้ ‘เศษซากมลพิษ’ ยังคงอยู่”, หนังสือพิมพ์แนวหน้า, อ้างแล้ว.
[29] สุเจน กรรพฤทธิ์, “สิ่งแวดล้อม - หนึ่งทศวรรณ-6 ปี “คลิตี้” สายน้ำติดเชื้อ”, นิตยสารคดี ฉบับที่ 351 พฤษภาคม 2557. http://www.
sarakadee.com/2014/06/26/klity-by-the-river/
[30] “15 ปีผ่านไป “ห้วยคลิตี้” สายน้ำยังไหลแต่ “มลพิษ” ยังอยู่”, MGR Online, 30 สิงหาคม 2556, อ้างแล้ว.
[31] ครั้งที่ 1 และ 2 คือ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 และ 30 ตุลาคม 2557 ที่มา: “แผนฟื้นฟูคลิตี้เดินหน้า ขนย้ายตะกอนดินปนเปื้อนสารตะกั่ว 1.5 แสนตัน กรมควบคุมมลพิษคาดใช้งบฯ 500 ล้านบาท”, ไทยพับลิก้า, 9 กุมภาพันธ์ 2558. http://thaipublica.org/2015/02/clity-12/
[32] เพิ่งอ้าง.
[33] “คพ. ของบฯ 590 ล้านบาท เร่งฟื้นฟูห้วยคลิตี้ปนเปื้อนสารตะกั่ว คาดเริ่มตุลาคมนี้”, ไทยพับลิก้า, วันที่ 20 มีนาคม 2558. http://thaipublica.org/2015/03/clity-13/
[34] “แผนฟื้นฟูคลิตี้เดินหน้า ขนย้ายตะกอนดินปนเปื้อนสารตะกั่ว 1.5 แสนตัน กรมควบคุมมลพิษคาดใช้งบฯ 500 ล้านบาท”, ไทยพับลิก้า, 9 กุมภาพันธ์ 2558, อ้างแล้ว.
[35] “ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงฯจี้กรมควบคุมมลพิษเร่งฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด”, ข่าวสดออนไลน์, 5 สิงหาคม 2558. https://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1438763766
[36] “ผลศึกษาวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำและตะกอนดินในลำห้วยคลิตี้และดิน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555”, หน่วยศึกษาและเฝ้าระวังมลพิษทางน้ำ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, 10 พฤษภาคม 2555. http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/releases/New-Greenpeace-study-shows-Klity-Creek-lead-pollution-much-worse-than-identified-Coalition-calls-for-accountability/
[37] “คพ. เริ่มแผนฟื้นฟูพื้นที่คลิตี้ต้นปี 2559 สร้างบ่อฝังกลบขนาด 50 ไร่ และสร้างฝายเพิ่ม 2 แห่งก่อนขนตะกอนปนเปื้อนตะกั่วไปฝังกลบ ใช้งบเกือบ 600 ล้าน”, ไทยพับลิก้า, 14 สิงหาคม 2558. http://thaipublica.org/2015/08/clity-15/
[38] “คพ.เริ่มต้นฟื้นฟู ‘คลิตี้’ ได้ เม.ย.นี้ กำหนดกรอบ 3 ปี ค่าตะกั่วลดลง”, Green News TV, 22 มกราคม 2559. https://www.matichon.co.th/news/9939
[39] “คพ.ประกาศเริ่มฟื้นฟูคลิตี้ ส.ค.นี้ ด้านชาวบ้านร้องแผนไม่เหมาะสม.... อ่านต่อได้ที่ : http://www.posttoday.com/social/env/437183”, โพสต์ทูเดย์, 13 มิถุนายน 2559. http://www.posttoday.com/social/env/437183
[40] “ปิดฉาก! 10 ปีคดีห้วยคลิตี้ ศาลฎีกาสั่งบ.ตะกั่ว ชดใช้ชาวบ้านกว่า 20 ล้าน”, Nation TV, 14 กรกฎาคม 2559. http://www.nationtv.tv/main/content/social/378509254/
[41] “ยกเลิกประกวดราคาโครงการ ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้”, PPTV, 3 สิงหาคม 2559. https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/31901
[42] https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/34674