สถานการณ์ "มลพิษสารปรอท" ในวันที่ไทยเข้าร่วม "อนุสัญญามินามาตะฯ" (4 ก.ค. 60)

สถานการณ์ "มลพิษสารปรอท"
ในวันที่ไทยเข้าร่วม "อนุสัญญามินามาตะฯ"

กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ

          ประเทศไทยได้ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นภาคีใน “อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท” อย่างเป็นทางการ โดยเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560[1] รัฐบาลไทยได้ส่ง “ภาคยานุวัติสาร”[2] ไปยังสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีใน “อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท” ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ออกมาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560  ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท ลำดับที่ 66 ของโลก


ทำไมต้องควบคุมสารปรอท
และ“ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ” จาก “มลพิษสารปรอท”

          ในแง่ของสุขภาพ พิษของสารปรอทสามารถทำลายการทำงานของระบบประสาท ไต ระบบหัวใจ และการไหลเวียนโลหิต อีกทั้งยังก่อความเสียหายอย่างมากต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ โดยเฉพาะพัฒนาการทางระบบประสาทซึ่งอ่อนไหวสูงต่อมลพิษสารปรอท โดยทารกในครรภ์สามารถรับสารปรอทจากแม่ผ่านทางสายรก  

          แม้ผู้คนส่วนใหญ่มักจะได้รับสารปรอทผ่านทางการบริโภคปลาที่ปนเปื้อน รวมถึงชาวเมืองมินามาตะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ต้องทนทุกข์ทรมาน พิการ และเสียชีวิตด้วยโรคร้ายที่เกิดจากพิษสารปรอท จนกลายเป็นที่มาของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอท  แต่ก็ยังมีช่องทางสำคัญอื่นๆ ที่สารปรอทสารปรอทสามารถเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ เช่น การบริโภคข้าวที่ปนเปื้อน หรือการได้รับโดยตรงจากสิ่งแวดล้อมผ่านทางการหายใจ

          แต่มลพิษปรอทไม่เพียงก่อผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ ผลการวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการจัดการสิ่งแวดล้อม (Journal of Environmental Management) ซึ่งผ่านระบบตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (peer-reviewed journal)  ได้ระบุว่า กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มประเทศเศรษฐกิจระยะเปลี่ยนผ่าน ได้สูญเสียโอกาสทางรายได้ปีละหลายพันล้านบาทจากมลพิษสารปรอท โดยประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากระดับเชาวน์ปัญญาที่ลดลงของประชากรที่ได้รับมลพิษสารปรอทในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มประเทศเศรษฐกิจระยะเปลี่ยนผ่าน

          คณะวิจัยซึ่งนำโดยนายแพทย์ลีโอนาร์โด ทราซอนด์ (Leonardo Trasande, MD) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านกุมารแพทย์ เวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม และนโยบายสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาการปนเปื้อนสารปรอทในประชากรกลุ่มตัวอย่าง 236 คนจาก 17 พื้นที่ปนเปื้อนมลพิษใน 15 ประเทศทั่วโลก และพบค่าการสูญเสียโอกาสทางรายได้มากถึง 77 - 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,700 - 4,600 ล้านบาทต่อปี  ทั้งนี้ กลุ่มประชากรตัวอย่างเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้แหล่งกำเนิดสารปรอทที่ระบุไว้ในอนุสัญญามินามาตะ ซึ่งข้อตกลงระหว่างประเทศได้ระบุให้รัฐบาลต่างๆ มีภารกิจลดและขจัดมลพิษสารปรอทเพื่อปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

          งานวิจัยฉบับนี้เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรสาธารณประโยชน์ใน 15 ประเทศทั่วโลก รวมถึงมูลนิธิบูรณะนิเวศในประเทศไทย ภายใต้เครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเพิกถอนสารพิษตกค้างยาวนาน (IPEN) เพื่อทำการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยวิเคราะห์ปริมาณสารปรอทจากตัวอย่างเส้นผมของประชากรตัวอย่างจาก 15 ประเทศทั่วโลก ประกอบด้วย แอลบาเนีย บังคลาเทศ เบลารุส แคเมอรูน หมู่เกาะคุก อินเดีย อินโดนีเซีย เคนยา เม็กซิโก เนปาล รัซเซีย ศรีลังกา แทนซาเนีย อุรุกวัย และไทย ที่อาศัยอยู่ตามแหล่งกำเนิดสารปรอทประเภทต่างๆ ได้แก่ แหล่งร่อนแร่ทองคำขนาดเล็ก พื้นที่อุตสาหกรรมประเภทโรงงานผลิตคลอร์อัลคาไล โรงไฟฟ้าถ่านหิน เตาเผาขยะ โรงหลอมโลหะนอกกลุ่มเหล็ก โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ และแหล่งปนเปื้อนที่เกิดจากแหล่งกำเนิดมลพิษสารปรอทหลายประเภทรวมกัน นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์ปริมาณสารปรอทที่ปนเปื้อนในชุมชนที่ไม่มีแหล่งกำเนิดสารปรอท แต่ได้รับสารปรอทสะสมจากกระแสน้ำในมหาสมุทรและการบริโภคปลาทะเลที่ปนเปื้อนสารปรอท โดยมีหมู่เกาะคุกซึ่งเป็นชุมชนที่พึ่งพิงปลาทะเลเป็นแหล่งโปรตีนหลัก เป็นประชากรกลุ่มตัวอย่าง  ก่อนส่งไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการที่ได้รับมาตรฐานโดยผู้เชี่ยวชาญของสถาบันวิจัยเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (BRI) ประเทศสหรัฐอเมริกา

          โดยผลการวิจัยพบว่า ระดับความสูญเสียทางเศรษฐกิจมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น ชุมชนขนาดเล็กในประเทศแอลเบเนีย ทวีปยุโรปตะวันออก ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้โรงงานผลิตพลาสติกพีวีซีและคลอร์อัลคาไลที่ถูกทิ้งร้างโดยไม่ได้บำบัดมลพิษ สูญเสียโอกาสทางรายได้ 16,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณ 590,000 บาทต่อปี  ขณะที่ชุมชนเมืองดูอาลา ในประทศแคเมอรูน ทวีปแอฟริกา ซึ่งได้รับมลพิษสารปรอทจากแหล่งกำเนิดมากกว่าหนึ่งประเภท สูญเสียโอกาสทางรายได้มากถึง 54.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณ 1,900 ล้านบาทต่อปี  นอกจากนี้ ชุมชนซึ่งมิได้เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษสารปรอท แต่ได้รับมลพิษสารปรอทจากแหล่งกำเนิดต้นน้ำ เช่น หมู่เกาะคุก ยังสูญเสียโอกาสทางรายได้โดยเฉลี่ยถึง 699,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณ 25 ล้านบาทต่อปี

          กรณีประเทศไทย กลุ่มตัวอย่างประชากรในงานวิจัยนี้ คือ ชุมชน ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งบริโภคปลาจากลำคลองที่อยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่มีการเผาไหม้ถ่านหินปริมาณเฉลี่ย 900,000 ตันต่อปี โดยการเก็บตัวอย่างเส้นผมมีขึ้นเมื่อปี 2556 และเปิดเผยผลการตรวจวิเคราะห์ในต้นปีถัดมา ซึ่งพบว่าทั้งหมด (100%) ของตัวอย่างเส้นผมจากประชาชนที่บริโภคปลาและอาศัยอยู่ภายในรัศมี 2 กิโลเมตรจากพื้นที่อุตสาหกรรม มีสารปรอทสะสมสูงเกินค่าปริมาณอ้างอิง 1.00 ppm ซึ่งเป็นปริมาณที่อาจก่ออันตรายต่อพัฒนาทางสมอง โดยพบสารปรอทในเส้นผมของตั้งแต่ 1.62812.758 ppm[3] 

          สำหรับความสูญเสียทางเศรษฐกิจ งานวิจัยข้างต้นได้ระบุว่า มลพิษสารปรอทส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ซึ่งประเมินผ่านโอกาสทางรายได้ที่สูญหายไปจากค่าเชาวน์ปัญญาที่ลดลง เป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 278,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณ 10 ล้านบาทต่อปี

          “มลพิษสารปรอทมาพร้อมกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล เราจึงจำเป็นต้องเร่งรับรองอนุสัญญามินามาตะฯ และนำภารกิจภายใต้อนุสัญญานี้มาสู่การปฏิบัติ เพื่อป้องกันการสูญเสียโอกาสทางรายได้ในชุมชนอีกหลายพันแห่งทั่วโลก นอกจากประชากรกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยฉบับนี้”  ดร. โจ ดิกานจิ นักวิจัยร่วมและที่ปรึกษาด้านเทคนิคและวิทยาศาสตร์ของเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเพิกถอนสารพิษตกค้างยาวนาน หรือไอเพน (International POPs Elimination Network - IPEN) กล่าว

          ร้อยละ 61 ของประชากรกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยนี้มีค่าสารปรอทปนเปื้อนในร่างกายสูงกว่า 1 ส่วนต่อล้านส่วน หรือพีพีเอ็ม (parts per million - ppm) ซึ่งเป็นค่าแนะนำขององค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (US EPA) ซึ่งหากประเมินตามระดับการปนเปื้อนสารปรอทที่อาจก่อผลเสียต่อสุขภาพ คือ 0.58 พีพีเอ็ม และวิเคราะห์ตามข้อมูลใหม่ที่ระบุว่าพบผลเสียต่อสุขภาพจากค่าสารปรอทในร่างกายแม้ในระดับต่ำ ก็จะพบว่า สัดส่วนของประชากรที่มีสารปรอทปนเปื้อนในร่างกายในระดับที่เป็นพิษสูงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 73 หรือประมาณ 3 ใน 4

          “งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของการเฝ้าระวังระดับมลพิษสารปรอทที่สะสมในสิ่งมีชีวิต แม้อนุสัญญามินามาตะฯจะกำหนดแหล่งกำเนิดสารปรอทประเภทต่างๆ เอาไว้  แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มีการวิเคราะห์ผลกระทบจากแหล่งกำเนิดมลพิษสารปรอทประเภทต่างๆ ด้วยมาตรฐานการวิเคราะห์เดียวกันทั่วโลก ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าเราจำเป็นต้องเฝ้าระวังการสะสมของสารปรอทในสิ่งมีชีวิตต่อไป เพื่อประเมินผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม” ดร. เดวิด เอเวอร์ส นักวิจัยร่วมและผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Research Institute) กล่าว

        

 

 

ประเทศไทย กับการเป็นภาคี อนุสัญญามินามาตะฯ

          แม้จะเป็นเรื่องน่าชื่นชมและยินดี ประเทศไทยได้ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นภาคีใน “อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท” อย่างเป็นทางการ เพราะนับจากนี้ย่อมกล่าวได้ว่า ไทยจะต้องเข้าผูกพันตามอนุสัญญาดังกล่าวอันหมายถึงการที่จะต้องเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมและจัดการสารปรอทอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสืบไป  ดังที่สุวรรณ นันทศรุต รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้ระบุผ่านสื่อมวลชนว่า จะต้องมีการออกกฏหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอทให้มีปริมาณสารปรอทในปริมาณจำกัดตามที่อนุสัญญาฯได้กำหนดไว้ การห้ามใช้สารปรอทในกระบวนการผลิตบางประเภทที่มีการใช้สารปรอทเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา เป็นต้น  โดยตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่เติมสารปรอท ได้แก่ แบตเตอรี่ หลอดไฟโฟร์ออเลตเซนต์ สวิทช์ไฟฟ้าและรีเลย์ ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อเครื่องสำอาง สบู่ผิวขาว ครีมผิวขาว ซึ่งจะต้องเลิกเติมปรอทหรือเติมในปริมาณที่อนุสัญญากำหนดไว้เท่านั้น   นอกจากนี้ โรงผลิตไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน โรงงานอุตสาหกรรมพลังงานถ่านหิน โรงหลอมโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก เช่น ตะกั่วทองแดง โรงงานปูนซีเมนต์ และโรงเผาขยะ ก็จะต้องปลดปล่อยปริมาณปรอทไม่เกินกว่าที่อนุสัญญากำหนดเอาไว้เช่นกัน และจะต้องมีการควบคุมการปลดปล่อยสารปรอทในน้ำและดินให้เป็นไปตามกฎหมายภายใน รวมถึงมีแผนจัดการระดับชาติในการควบคุมจัดการอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม[7]

          แต่อย่างไรก็ตาม ตามที่อนุสัญญาฯ ฉบับนี้ ได้กำหนดให้การค้าขายปรอทและสารประกอบปรอทจะสามารถกระทำได้เฉพาะกับกลุ่มภาคีด้วยกันเท่านั้น และในกรณีที่ประเทศนอกภาคีจะเข้าร่วมเป็นภาคีจะต้องแจ้งล่วงหน้าว่าจะยินยอมให้มีการนำเข้าจากประเทศนอกภาคีหรือไม่นั้น   ในกรณีของประเทศไทย มติ ครม. วันที่ 20 มิถุนายน 2560 ได้เห็นชอบให้มี “การแจ้งยินยอมให้มีการนำเข้าปรอทจากประเทศนอกภาคี” [8], [9]

          แต่ขณะเดียวกันการแจ้งแสดงความ “ยินยอมให้มีการนำเข้าปรอทจจากประเทศนอกภาคี” ก็ยังคงเป็นสิ่งที่น่าวิตก  แม้ต่อกรณีนี้ รองอธิบดี คพ. เปิดเผยว่า จะมีการใช้ พ... วัตถุอันตราย มาควบคุม[10]  ขณะที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ให้ความเห็นว่า การยินยอมให้นำเข้าปรอทจากประเทศภาคี ควรอนุญาตให้นำเข้าเฉพาะการนำเข้าเพื่อใช้ในงานที่อนุญาตให้มีการใช้ปรอทได้ตามที่ระบุในอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอท ข้อ 3 "แหล่งอุปาทานปรอทและการค้าปรอท" และประเทศนอกภาคีที่เป็นผู้ส่งออกให้การรับรองแหล่งที่มาของปรอทตามที่กำหนดในอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอท[11]

          สถานการณ์ “มลพิษสารปรอท” ของประเทศไทย – ประเทศภาคี “อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอท” ลำดับที่ 66 ของโลก จึงยังคงไม่อาจวางใจได้ และจำเป็นต้องร่วมกันจับตากันต่อไป

 

 

[1] “"ข่าวดี! ‘ไทย’ เข้าร่วมอนุสัญญา ‘มินามาตะ’ แล้ว ลำดับ 66 ของโลก – ขึ้นแท่นผู้นำเอเชียอาคเนย์"”, สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม, 23 มิถุนายน 2560. https://greennews.agency/?p=14273

[2] สารให้ความยินยอมของรัฐซึ่งไม่ได้เป็นรัฐภาคีที่เข้าร่วมเจรจาและลงนามในสนธิสัญญาตั้งแต่แรก ได้ดำเนินการให้ความยินยอมเพื่อเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาและผูกพันตามสนธิสัญญาที่รัฐอื่นๆ ได้ทำการวินิจฉัยตกลงก่อนแล้วและสนธิสัญญานั้นได้มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนแล้ว – เพิ่งอ้าง.

[3] มูลนิธิบูรณะนิเวศ. เอกสารแถลงผลการศึกษา เรื่องการสะสมของปรอทในปลาและคน บริเวณรอบโรงไฟฟ้าและพื้นที่อุตสาหกรรม ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี, 9 มกราคม 2556.

[4] “"ข่าวดี! ‘ไทย’ เข้าร่วมอนุสัญญา ‘มินามาตะ’ แล้ว ลำดับ 66 ของโลก – ขึ้นแท่นผู้นำเอเชียอาคเนย์"”, อ้างแล้ว.

[5] "ครม.ไฟเขียวไทยเข้าภาคีอนุสัญญามินามาตะ", ฐานเศรษฐกิจออนไลน์, 20 มิถุนายน 2560. http://www.thansettakij.com/content/166339

[6] (1) สวิตซ์ไฟฟ้าและรีเลย์ (2) หลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดคอมแพกต์ สำหรับการใช้งานทั่วไปขนาดต่ำกว่าหรือเท่ากับ 30 วัตต์ และมีปรอทบรรจุมากกว่า 5 มิลลิกรัมต่อหลอด (3) หลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดตรงสำหรับการใช้งานทั่วไป: หลอดที่ใช้สารเรืองแสงแบบแถบ 3 สี น้อยกว่า 60 วัตต์ และมีปรอทบรรจุมากกว่า 5 มิลลิกรัมต่อหลอด และ หลอด Halophosphate phosphor น้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 วัตต์ และมีปรอทบรรจุมากกว่า 10 มิลลิกรัมต่อหลอด (4) หลอดไอปรอทความดันสูง (HPMV) สำหรับการส่องสว่างทั่วไป (5) หลอดฟลูออเรสเซนต์แบบอิเล็กโทรดภายนอก (CCFL) และหลอดฟลูออเรสเซนต์แบบแคโทดเย็น (6) ยาฆ่าเชื้อ (7) เครื่องมือวัดที่ไม่ใช่ระบบอิเล็กทรอนิกส์

[7] “"ข่าวดี! ‘ไทย’ เข้าร่วมอนุสัญญา ‘มินามาตะ’ แล้ว ลำดับ 66 ของโลก – ขึ้นแท่นผู้นำเอเชียอาคเนย์"”, อ้างแล้ว.

[8] "ครม.ไฟเขียวไทยเข้าภาคีอนุสัญญามินามาตะ", อ้างแล้ว.

[9] รวมทั้งการแจ้ง “ขอยกเว้นให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอทจำนวน 7 ประเภท” (1) สวิตซ์ไฟฟ้าและรีเลย์ (2) หลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดคอมแพกต์ สำหรับการใช้งานทั่วไปขนาดต่ำกว่าหรือเท่ากับ 30 วัตต์ และมีปรอทบรรจุมากกว่า 5 มิลลิกรัมต่อหลอด (3) หลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดตรงสำหรับการใช้งานทั่วไป: หลอดที่ใช้สารเรืองแสงแบบแถบ 3 สี น้อยกว่า 60 วัตต์ และมีปรอทบรรจุมากกว่า 5 มิลลิกรัมต่อหลอด และ หลอด Halophosphate phosphor น้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 วัตต์ และมีปรอทบรรจุมากกว่า 10 มิลลิกรัมต่อหลอด (4) หลอดไอปรอทความดันสูง (HPMV) สำหรับการส่องสว่างทั่วไป (5) หลอดฟลูออเรสเซนต์แบบอิเล็กโทรดภายนอก (CCFL) และหลอดฟลูออเรสเซนต์แบบแคโทดเย็น (6) ยาฆ่าเชื้อ (7) เครื่องมือวัดที่ไม่ใช่ระบบอิเล็กทรอนิกส์

[10] “"ข่าวดี! ‘ไทย’ เข้าร่วมอนุสัญญา ‘มินามาตะ’ แล้ว ลำดับ 66 ของโลก – ขึ้นแท่นผู้นำเอเชียอาคเนย์"”, อ้างแล้ว.

[11] กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, "เรื่อง การให้ภาคนานุวัติเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท", หนังสือเลขที่ วท (ปคร) ๐๒๑๑/๔๑๗๗ (ถึง เลขาธิการนายกรัฐมนตรี), ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2560.