เปิดงานศึกษา: การปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายจากขยะอิเล็กทรอนิกส์รีไซเคิลใน "ลูกบิดรูบิก" (เม.ย. 60)

เปิดงานศึกษา:
การปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายจากขยะอิเล็กทรอนิกส์รีไซเคิล
ในลูกบิดรูบิก (Rubik’s cube)

อัครพล ตีบไธสง มูลนิธิบูรณะนิเวศ
วิจัยและเรียบเรียง
(เมษายน 2560)

แม้ปัจจุบันจะมีการควบคุมการใช้พลาสติกรีไซเคิลที่มีส่วนประกอบของ “สารหน่วงการติดไฟที่มีองค์ประกอบของโบรมีน” (Brominated Flame Retardants: BFR) มาผลิตเป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภค โดยเฉพาะในของเล่นสำหรับเด็ก แต่ผลจากการสำรวจตลาดของเล่นเด็กครั้งล่าสุดทั้งในประเทศไทยและในอีกหลายประเทศพบว่า ของเล่นเด็กยอดฮิตคือ “ลูกบิดรูบิก” หรือลูกบาศก์เรียงสี ที่นิยมให้เด็กเล่นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเชาว์ปัญญา มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อระบบประสาทและพัฒนาการทางสมองของเด็กปนเปื้อนอยู่ในระดับสูง

โครงการสำรวจและตรวจวิเคราะห์นี้ดำเนินการโดย “เครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม” หรือไอเพน (IPEN) เป็นเครือข่ายที่ประกอบด้วยนักวิชาการสาขาต่างๆ และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจาก  100 กว่าประเทศ หรือ 700 กว่าองค์กร มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนให้องค์การสหประชาชาติและรัฐบาลต่างๆ มีนโยบายและมาตรการที่มุ่งลดและขจัดสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพคนและสิ่งแวดล้อม  และสมาคมอาร์นิก้า ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมจากสาธารณรัฐเช็ก นักวิจัยหลักของโครงการคือ ดร. โจ ดิกันจิ ผู้เชี่ยวชาญด้านสารอันตรายจาก “เครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษคงทนในสิ่งแวดล้อม” (IPEN) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในสหรัฐอเมริกา และยิตก้า สตราโควา ผู้เชี่ยวชาญด้านสารเคมี จากสมาคมอาร์นิก้า (ARNIKA) องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมจากประเทศสาธารณรัฐเช็ก โดยมีคณะผู้ร่วมการสำรวจจากทั้งหมด 26 ประเทศ รวมถึงมูลนิธิบูรณะนิเวศในประเทศไทย

โครงการได้ดำเนินการสำรวจผลิตภัณฑ์ของเล่นเด็กที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลที่มีสาร BFRs ปนเปื้อนหรือใช้เป็นสารเติมแต่งระหว่างกระบวนการผลิต ใน 26 ประเทศ  ซึ่งประกอบด้วยลูกบิดรูบิกรวม 95 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกจำนวน 16 ตัวอย่าง ได้แก่ แก้วใส่น้ำร้อน กิ๊บหนีบผม หวี ที่คาดผม และของเล่นเด็กอื่นๆ  เพื่อวิเคราะห์หาการเจือปนของสารพิษกลุ่มสาร BFRs ได้แก่ 1) สาร Octabromodiphenyl ether  (OctaBDE), 2) สาร Decabromodiphenyl either (DecaBDE) และ 3) สาร Hexabromocyclododecane (HBCD)  

การสำรวจตลาดของเล่นเด็กในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ปัญหาและหาคำตอบว่า “สารหน่วงการติดไฟ” ที่พบในขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น จอคอมพิวเตอร์ พลาสติกห่อหุ้มเครื่อง เป็นต้น ที่ถูกนำมารีไซเคิล จะเป็นสาเหตุที่ทำให้สารพิษกลุ่มนี้ปนเปื้อนสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่หรือไม่  โดยข้อกังวลดังกล่าวมาจากการคาดการณ์ในรายงานทางเทคนิคของ “คณะกรรมการพิจารณาทบทวนสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน” (POPs Review Committee)  ซึ่งเป็นคณะกรรมการระหว่างประเทศตามกลไกของสหประชาชาติ  เกี่ยวกับสารอันตรายดังกล่าวโดยเฉพาะในกลุ่ม 3 ชนิดคือ  สาร Octabromodiphenyl ether  (OctaBDE), สาร Decabromodiphenyl either (DecaBDE) และ สาร Hexabromocyclododecane (HBCD) ที่จัดอยู่ในกลุ่มสาร BFRs และจะมีการนำเสนอผลการศึกษานี้สู่การประชุมครั้งที่ 8 ของผู้แทนรัฐบาลที่เป็นรัฐภาคี (8th Conference of the Parties: COP8) ของอนุสัญญาสต็อกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษตกค้างยาวนาน (Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants) ในปลายเดือนเมษายน 2560 ที่กรุงเจนีวา   

สารเคมีทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวเป็นอันตรายต่อพัฒนาการทางสมอง สามารถทำลายระบบประสาท และทำให้เกิดปัญหาต่อพัฒนาการทางเชาว์ปัญญาของเด็ก  นอกจากนั้นยังเป็นพิษและก่อให้เกิดมะเร็งในตับได้  ปัจจุบัน OctaBDE เป็นสารเคมีที่ทั่วโลกห้ามใช้ตามข้อบังคับของอนุสัญญาสต็อกโฮล์ม ปกติจะใช้ในการผลิตเทอร์โมพลาสติก ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดอ่อนตัวเมื่อโดนความร้อน, HBCD เป็นสารเคมีที่ทั่วโลกห้ามใช้ตามอนุสัญญาสต็อกโฮล์มเช่นกัน ปกติจะใช้ในการผลิตโฟมที่เป็นฉนวนกันความร้อนภายในอาคาร และ DecaBDE เป็นสารเคมีที่กำลังจะมีการเสนอให้ทั่วโลกห้ามใช้ตามอนุสัญญาสต็อกโฮล์มในการประชุม COP8   

ทั้งนี้ อนุสัญญาสต็อกโฮล์มฯ กำหนดให้สาร PentaBDE, OctaBDE และ HBCD อยู่ในภาคผนวกเอ ของอนุสัญญาฯ ซึ่งหมายถึงกลุ่มสารที่ประเทศภาคีจะต้องเลิกผลิต/เลิกใช้ (Annex A: Elimination)  และในการประชุม COP8 ที่จะถึงนี้ รัฐบาลจากประเทศต่างๆ จะทำการตัดสินใจว่าจะเพิ่มสาร DecaBDE ไว้ในภาคผนวกเอด้วยหรือไม่  นอกจากนี้จะต้องหามาตรการเชิงป้องกันตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญาฯ  ที่จัดทำขึ้นเป็นกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมจากสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม

ประเทศไทยได้ร่วมลงนามและให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2545 และวันที่ 31 มกราคม 2548 ตามลำดับ โดยกรมควบคุมมลพิษทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงาน (Focal point) ในการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญา ปัจจุบันอนุสัญญาฉบับนี้มีสารเคมีอันตรายภายใต้การควบคุมรวม 26 ชนิด/กลุ่ม โดยสารเคมี 22 ชนิดใน "ภาคผนวกเอ" มีข้อบังคับ "ห้ามผลิต" และ "ห้ามใช้" แต่บางชนิดมีข้อยกเว้นให้ใช้ได้บางกรณี  ส่วน "ภาคผนวกบี" ที่กำหนดให้มีการควบคุมการใช้งานอย่างเข้มงวดประกอบด้วยสารเคมีจำนวน 2 ชนิด และ "ภาคผนวก ซี" กำหนดให้สารเคมี 6 ชนิดที่ต้องลดการปลดปล่อยหรือเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจโดยไม่ตั้งใจ  เช่น  สารเคมีอันตรายที่เกิดจากเตาเผาและกระบวนการความร้อนในอุตสาหกรรม เป็นต้น


การสำรวจในประเทศไทย

มูลนิธิบูรณะนิเวศได้สำรวจและซื้อลูกบิดรูบิกที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลในตลาดของเล่นเด็กของไทยในจังหวัดกรุงเทพฯ ปทุมธานี นครปฐม และระยอง ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2558  รวม 9 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากประเทศจีนทั้งหมด  (รายละเอียดยี่ห้อ บริษัทผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่ายในตารางที่ 1)  และทำการทดสอบหาปริมาณของสารโบรมีนทั้งหมด (Total Bromine Content: Br) ด้วยเครื่องวิเคราะห์ Handheld X-ray Fluorescence (HHXRF)  (รายละเอียดการทดสอบในตารางที่ 2) เพื่อคัดกรองตัวอย่างที่มีปริมาณโบรมีนทั้งหมด (Total Br) ในปริมาณเข้มข้นเกิน 1,000 ส่วนในล้านส่วน (ppm) เพื่อส่งไปวิเคราะห์เพิ่มเติมที่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเคมี (Institute of Chemical Technology) ประเทศสาธารณรัฐเช็ก เพื่อวิเคราะห์หาความเข้มข้นของกลุ่มสาร PBDEs (OctaBDE และ DecaBDE) และ HBCD ด้วยวิธีวิเคราะห์ด้วยเครื่อง gas chromatography/mass spectrometry,  mode: Electron ionization (GC-MS/MS-EI)  โดยขีดความสามารถในการวิเคราะห์ความเข้มข้นของสาร หรือค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ตรวจวัดได้ (Detection limit) คือ 0.1 ส่วนในพันล้านส่วน (ppb) สำหรับกลุ่มสาร PBDEs  และ 3 ppb สำหรับสาร HBCD

ผลการวิเคราะห์พบว่า ลูกบิดรูบิกจำนวน 9 ตัวอย่างจากประเทศไทย มี 2 ตัวอย่างที่พบปริมาณสารโบรมีนทั้งหมด (Total Br) สูงเกิน 1,000 ppm  และจากการวิเคราะห์ของห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเคมี สาธารณรัฐเช็ก เฉพาะ 2 ตัวอย่างที่มีโบรมีนรวมเกิน 1,000 ppm โดยพบว่าทั้งสองตัวอย่างปนเปื้อนสาร OctaBDE ที่มีปริมาณเข้มข้นสูง 25 – 48 ppm และสาร DecaBDE มีปริมาณเข้มข้นสูง 21 – 23 ppm  ทั้งนี้มี 1 ตัวอย่างที่มีสาร HBCD ในปริมาณเข้มข้น 5 ppm (ดังรายละเอียดตารางที่ 3)
 


[1]  ดาวน์โหลดภาพเพิ่มเติมได้ที่: https://drive.google.com/drive/folders/0B2e0Ck-wPJQOY09fQkY0SHRCbkE?usp=sharing

 

ผลการสำรวจใน 26 ประเทศ

การวิเคราะห์ตัวอย่างจากประเทศต่างๆ รวม 26 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยลูกบิดรูบิก 95 ตัวอย่าง  และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จำนวน 16 ตัวอย่าง ได้แก่ แก้วใส่น้ำร้อน กิ๊บหนีบผม หวี ที่คาดผม และของเล่นเด็กอื่นๆ  พบว่ามี 100 ตัวอย่าง (ร้อยละ 90) มีสาร OctaBDE ปนเปื้อนในปริมาณเข้มข้นระหว่าง 1- 1,174 ppm;  พบสาร HBCD ในจำนวน 45 ตัวอย่าง (ร้อยละ 41)  ระดับความเข้มข้นอยู่ที่ 1 - 1,586 ppm  และสาร DecaBDE ในจำนวน 101 ตัวอย่าง (ร้อยละ 91)  มีช่วงความเข้มข้นที่พบคือ 1 -  672 ppm

อัครพล ตีบไธสง นักวิชาการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ผู้ร่วมการศึกษาในโครงการนี้กล่าวให้ความเห็นว่า  “สารเคมีอันตรายกลุ่มนี้มักเจือปนอยู่ในขยะพลาสติก เป็นสิ่งอันตรายมากโดยเฉพาะต่อพัฒนาการทางสมอง ระบบประสาทของเด็ก และมีผลกระทบต่อระบบฮอโมนส์ของร่างกายด้วย จึงไม่ควรนำมาผลิตของเล่นเด็กโดยเด็ดขาด และควรมีมาตรการกำจัดผลิตภัณฑ์ที่อันตรายต่อเด็กออกจากท้องตลาดด้วย”

ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ ดร. โจ ดิกันจิ ผู้เชี่ยวชาญด้านสารอันตรายของ IPEN จากสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวว่า “การรีไซเคิลวัสดุที่มีสารพิษเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นวัฏจักรที่จะทำให้ปนเปื้อนสารพิษในสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาไม่จบสิ้น และยังจะทำลายความน่าเชื่อถือของการรีไซเคิลวัสดุ รัฐบาลของแต่ละประเทศจึงควรหาทางยุติปัญหานี้และควรมีมาตรการเชิงป้องกันระยะยาวด้วย”

ขณะที่ยิตก้า สตราโควา ผู้เชี่ยวชาญด้านสารเคมีจากสมาคมอาร์นิกา สาธารณรัฐเช็ก และหนึ่งในนักวิจัยหลักของโครงการ ได้ให้ความเห็นว่า “ประเทศต่างๆ จะต้องมีการกำหนดระดับความเข้มข้นของสารอันตรายเหล่านี้เพื่อเป็นมาตรการเชิงป้องกัน” รวมทั้งได้ให้ข้อมูลว่า “พลาสติกจากการรีไซเคิลที่มีการปนเปื้อนของสารพิษเกิดจากความไม่เคร่งครัดในการควบคุมสารอันตราย ปัญหาเหล่านี้มักเกิดในประเทศกำลังพัฒนา หรือกลุ่มประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่ำถึงรายได้ปานกลาง ประชาชนในประเทศเหล่านี้จึงมีความเสี่ยงด้านสุขภาพสูง นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลเหล่านี้ดังกล่าวยังเป็นช่องทางของการแพร่กระจายสารพิษไปยังประเทศอื่นๆ อีกด้วย”


“เครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม” หรือไอเพน (IPEN) เป็นเครือข่ายที่ประกอบด้วยนักวิชาการสาขาต่างๆ และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจาก  100 กว่าประเทศ หรือ 700 กว่าองค์กร มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนให้องค์การสหประชาชาติและรัฐบาลต่างๆ มีนโยบายและมาตรการที่มุ่งลดและขจัดสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพคนและสิ่งแวดล้อม  และสมาคมอาร์นิก้า ที่เป็นผู้ดำเนินโครงการสำรวจและวิเคราะห์สารอันตรายของโครงการนี้

ผลการศึกษานี้ได้ชี้ให้เห็นว่า สารหน่วงการติดไฟที่อยู่ในขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นยังคงปนเปื้อนในของเล่นเด็กและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ผลิตจากการรีไซเคิลขยะเหล่านี้อย่างน่าวิตก  ยิ่งไปกว่านั้นของเล่นหลายชนิดปนเปื้อนสารอันตรายมากกว่า 50  ppm ในที่นี้คือ OctaBDE และ HBCD  รวมถึง DecaBDE ที่การประชุม COP8 จะพิจารณาให้มีการเลิกใช้ต่อไป