หนังสือ "บันทึกข้อมูล ข้อถกเถียง: กรณีน้ำมันดิบรั่วไหลสู่อ่าวไทย พ.ศ. 2556" (พิมพ์ครั้งแรก: ม.ค. 58)


"บันทึกข้อมูล ข้อถกเถียง: กรณีน้ำมันดิบรั่วไหลสู่อ่าวไทย พ.ศ. 2556"

พิมพ์ครั้งแรก: มกราคม 2558
ISBN: 978-616-91395-1-5

ผู้เขียน: กานต์ ทัศนภักดิ์ และวิภาวดี พันธุ์ยางน้อย
บรรณาธิการ: เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง และกานต์ ทัศนภักดิ์

จัดพิมพ์โดย: มูลนิธิบูรณะนิเวศ Ecological Alert and Recovery-Thailand (EARTH)
สนับสนุนโดย: มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

(คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลดหนังสือฉบับ PDF)


 

บางส่วนจากคำนำในฉบับพิมพ์ครั้งแรก

          “บันทึกข้อมูล ข้อถกเถียง: กรณีน้ำมันดิบรั่วไหลสู่อ่าวไทย พ.ศ. 2556”  เป็นความพยายามที่จะรวบรวมข้อมูลทั้งในแง่ลำดับสถานการณ์และปฏิบัติการต่างๆ ทั้งที่ถูกเผยแพร่โดยตรงจาก PTTGC และ ปตท. เอง ปรากฏอยู่ในเอกสารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการรายงานของสื่อมวลชน นับตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุไปจนถึงวันสุดท้ายของปฏิบัติการเก็บกู้คราบน้ำมัน และบางเหตุการณ์สำคัญถัดจากนั้น โดยนำมาบันทึกไว้อย่างเป็นลำดับ  นอกจากนั้น ยังได้นำบางคำถาม ข้อสังเกต ข้อถกเถียงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญของเหตุการณ์มาเรียบเรียงไว้ และร่วมอภิปรายในบางประเด็น  ทั้งนี้ ได้แบ่งเนื้อหาหลักออกเป็น 2 บท คือ

บทที่ 1 ลำดับเหตุการณ์และข้อมูลทั่วไป
          ในบทนี้จะแสดงลำดับเหตุการณ์และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทั้งในแง่สถานการณ์และปฏิบัติการต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2556โดยอ้างอิงข้อมูลจากแถลงการณ์ของ PTTGC ที่เผยแพร่ผ่านทางเวบไซต์ www.pttgc-oilspill.com  และรายงานของ ศูนย์ประสานงานป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน [1]  เป็นหลัก  ประกอบด้วยบางส่วนจากรายงานข่าวและข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านสื่อแขนงต่างๆ  รวมถึงการให้สัมภาษณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริหาร PTTGC และ ปตท. ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ

บทที่ 2 ข้อสังเกต ข้อกังขา และข้อถกเถียง         
          ในบทนี้จะเป็นการหยิบยกข้อสังเกต ข้อกังขา และข้อถกเถียงจากฝ่ายต่างๆ ในสังคม ซึ่งโต้แย้งต่อข้อมูลต่างๆ ในบทที่ 1 ที่เห็นว่ามีความน่าสนใจ  โดยเฉพาะคำถามและข้อกังขาที่ล้อมรอบ 3 ประเด็นหลักคือ ปริมาณน้ำมันดิบทั้งหมดที่รั่วไหล แนวทางของปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันและปริมาณสารเคมีที่ถูกใช้ไป และผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งมีชีวิตในทะเล มานำเสนอพร้อมทั้งร่วมอภิปรายในบางประเด็น เพื่อเชื้อเชิญให้ผู้อ่านได้ร่วมกันพิจารณา วิเคราะห์หาสมมุติฐานจากข้อถกเถียงดังกล่าว  อันน่าจะนำไปสู่การค้นหาจุดลงตัวของข้อเท็จจริง หรือสมมุติฐานความเป็นไปได้ที่เข้าใกล้ความเป็นจริงที่สุดต่อไป
 

          นอกเหนือจากการตระหนักในความสำคัญของการบันทึกข้อมูลต่างๆ เอาไว้ ก่อนที่จะถูกลืมเลือนไปกับกาลเวลา หรือจมหายไปใต้กระแสของข้อมูลข่าวสารที่ไหลบ่าแล้ว 
การจัดทำบันทึกฯ ครั้งนี้ยังมาจากความคาดหวังว่า การบันทึกและอภิปรายถึงข้อมูลตลอดจนข้อถกเถียงต่างๆ อาจเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาและวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ของทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่สมมุติฐานที่สมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น เข้าใกล้ข้อเท็จจริงมากยิ่งขึ้นต่อไป

          เพราะยิ่งสามารถเข้าใกล้ข้อเท็จจริง โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญที่ว่า น้ำมันดิบที่รั่วไหลนั้นแท้จริงแล้วมีปริมาณเท่าใด สารเคมีที่ถูกใช้เพื่อสลายคราบน้ำมันนั้นมีปริมาณเท่าใด อย่างไร ย่อมทำให้สามารถประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ใกล้เคียงความเป็นจริง อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ทั้งในแง่การฟื้นฟูสภาพแวดล้อม การชดเชยค่าเสียหาย ได้อย่างถูกต้อง ตรงจุด และเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายมากยิ่งขึ้น 

          ในทำนองเดียวกัน การวิเคราะห์ถกเถียงถึงความสมเหตุสมผล ข้อดีข้อเสียของปฏิบัติการ และการตัดสินใจแต่ละขั้นตอนของฝ่ายต่างๆ ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น น่าจะช่วยให้การสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นไปอย่างถูกต้องเที่ยงตรงมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะ
อย่างยิ่ง PTTGC ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท. ผู้ประกาศเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความ
มั่นคงทางพลังงาน ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนศรัทธาต่อ “พลังของการตั้งคำถาม” เสมอมา  ในการที่จะหาแนวทางป้องกันและรับมือต่อเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

 

          “บันทึกข้อมูล ข้อถกเถียง: กรณีน้ำมันดิบรั่วไหลสู่อ่าวไทย พ.ศ. 2556” เล่มนี้  ย่อมไม่อาจจะถือได้ว่า เป็นบทสรุปชี้ขาดของข้อเท็จจริงใดๆ หรือแม้แต่จะเป็นสมมุติฐานสุดท้ายของการอธิบายประเด็นต่างๆ ในเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทยนี้  เป็นแต่เพียงการพยายามบันทึกข้อมูล
ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นลำดับ และร่วมต่อเติมช่องว่างของบางข้อถกเถียงที่ยังคงความคลุมเครือ

          ทั้งเพื่อท้าทายและเฝ้ารอ, การมาถึงของคำตอบที่สมบูรณ์และชัดเจนมากยิ่งขึ้น
จนสามารถคลี่คลายทุกข้อกังขาออกมาเป็นข้อเท็จจริง - ในวันหนึ่งข้างหน้า
 

[1] ศูนย์ประสานงานป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน, เอกสารบันทึกข้อความ เลขที่ 0312.4/รย. พิเศษ.002 เรื่อง รายงานสรุปความคืบหน้า กรณีการขจัดคราบน้ำมันบิเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง, 9 สิงหาคม 2556.

..........

(คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลดหนังสือฉบับ PDF)