สนช. ปรับชื่อร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ เห็นชอบออกเป็น กม. - ให้นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ คกก.กำกับ (21 พ.ค. 59)

Citizen ThaiPBS 21 พฤษภาคม 2559
สนช. ปรับชื่อร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ เห็นชอบออกเป็น กม. - ให้นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ คกก.กำกับ

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2559 มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ พ.ศ. … ตามที่คณะกรรมาธิการยวิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จ ด้วยคะแนนเสียง 144 เสียง ต่อ 1 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง เตรียมประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป พร้อมกับเห็นชอบกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ

ร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ พ.ศ. ... มีจำนวน 152 มาตรา ไม่มีสมาชิกขอแก้ไขและสงวนความเห็น ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นร่าง พ.ร.บ.เพื่อควบคุมการประกอบกิจการที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์และรังสีให้เกิดความปลอดภัย และความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี และการพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ เพื่อคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ในทางสากลเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์

อีกทั้ง ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อกำกับและดูแลการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์และรังสี

ในการพิจารณา คณะกรรมาธิการฯ ได้มีการเพิ่มเติมชื่อร่างจาก พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ พ.ศ. ... เป็นร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ... และปรับถ้อยคำให้มีความเหมาะสม

นอกจากนี้คณะกรรมาธิการยังตั้งข้อสังเกตท้าย พ.ร.บ.หลายประการ อาทิ กรณีบัญญัติไม่ใช้บังคับแก่ยานพาหนะทางทหารของต่างประเทศ ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งอาจส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้ในการขับเคลื่อนยานพาหนะและมาตรการป้องกันอันตรายจากรังสีของยานพาหนะ จึงควรให้กระทรวงกลาโหมพิจารณาทบทวนแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายต่างๆ เพื่อให้มีการควบคุมดูแลยานพาหนะทางทหารที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์

ส่วนการประกอบกิจการต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ.นี้อาจก่อให้เกิดความเสียหายทางนิวเคลียร์และรังสีแก่ประชาชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการกำหนดความรับผิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีดังกล่าว จึงควรให้มีกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่งสำหรับความเสียหายที่เกิดจากนิวเคลียร์และรังสีโดยเร็ว เพื่อกำหนดให้มีการประกันภัย การจัดตั้งกองทุน หรือการวางหลักประกันเพื่อชดเชยความเสียหาย เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2558 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. พลังงานนิวเคลียร์ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอ สนช. โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.มีดังต่อไปนี้

1. กำหนดให้ยกเลิกพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 และพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2508

2. กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้บังคับแก่การดำเนินการเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์และรังสีในทางสันติ และไม่ใช้บังคับแก่ยานพาหนะทางทหารของต่างประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร

3. กำหนดให้มีคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่งจำนวนเก้าคน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินหกคน และเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นกรรมการและเลขานุการ

4. กำหนดให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ กำกับดูแลทางนิวเคลียร์และรังสี ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง วางระเบียบควบคุมและดำเนินกิจการให้เป็นไปตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในใบอนุญาต ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยจากพลังงานนิวเคลียร์ กำหนดมาตรฐานต่าง ๆ อันพึงใช้โดยเฉพาะเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ รวมทั้งกำหนดแผนเพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี

5. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการควบคุมวัสดุกัมมันตรังสีและเครื่องกำเนิดรังสี วัสดุนิวเคลียร์ สถานประกอบการนิวเคลียร์ กากกัมมันตรังสี และเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว

6. กำหนดมาตรการความปลอดภัย ความมั่นคงปลอดภัย และการพิทักษ์ความปลอดภัย

7. กำหนดให้ผู้ครอบครองวัสดุกัมมันตรังสี วัสดุนิวเคลียร์ กากกัมมันตรังสี เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ หรือเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว ซึ่งประสงค์ทำการขนส่งวัสดุดังกล่าว มีหน้าที่ต้องแจ้งต่อเลขาธิการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และผู้นั้นรวมถึงผู้รับขนส่งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนด

8. กำหนดมาตรการกรณีมีเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี กรณีที่เกิดอันตรายหรือความเสียหายอันเกิดจากการประกอบกิจการตามใบอนุญาต ให้ผู้รับอนุญาตมีหน้าที่ระงับเหตุในเบื้องต้นตามแผนป้องกันอันตรายจากรังสี และต้องบอกแจ้งเหตุนั้นให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบทันที ส่วนกรณีอันตรายหรือความเสียหายที่มีลักษณะหรือขยายขอบเขตเป็นความเสียหายสาธารณะ รวมทั้งกรณีอันตรายหรือความเสียหายอันเกิดจากนิวเคลียร์หรือรังสีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศซึ่งผลกระทบต่อประเทศไทย ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีอำนาจเข้าระงับเหตุแห่งความเสียหายสาธารณะนั้นได้ทันที

9. กำหนดให้เลขาธิการมีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน แก้ไขปรับปรุง หรือปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ กรณีที่ผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงหรือประกาศหรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้

10. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานประกอบการยานพาหนะ ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ สถานที่ก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ หรือสถานที่ให้บริการกากกัมมันตรังสี เพื่อตรวจสอบการทดสอบระบบเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ การบรรจุวัสดุนิวเคลียร์ และการเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ รวมทั้ง การตรวจ ค้น กัก ยึด อายัด หรือนำไปเป็นตัวอย่างเพื่อตรวจสอบ เป็นต้น

11. กำหนดให้ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ต้องรับโทษอาญา

12. กำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับคณะกรรมการประกอบด้วยประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการโดยตำแหน่งตามมาตรา 9 (1) (2) และ (3) ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 9 (4) ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ต่อมา วันที่ 11 ก.พ. 2559 ที่ประชุม สนช. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ พ.ศ. ... ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียง 189  เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง พร้อมมอบหมายให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว จำนวน 15 คน กำหนดแปรญัตติ 15 วัน กรอบระยะเวลาดำเนินการ 60 วัน


เรียบเรียงจาก : สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม, ผู้จัดการออนไลน์, เว็บไซต์สถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์รัฐสภา, เว็บไซต์รัฐบาลไทย

ที่มาภาพ: https://powerplant2.wordpress.com

ข้อมูลเพิ่มเติม : 
ร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ พ.ศ. … (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ)
- ร่างพ.ร.บ.นิวเคลียร์ฯ เข้าสนช. เปิดช่องตั้งโรงงานนิวเคลียร์ได้ แต่หลักเกณฑ์ความปลอดภัยยังไม่ชัด