ไม่สนเสียงต้าน กฟผ.เตรียมเปิดขายซองประกวดราคา 'โรงไฟฟ้าเทพา' (17 พ.ค. 59)

TCIJ 17 พฤษภาคม 2559
ไม่สนเสียงต้าน กฟผ.เตรียมเปิดขายซองประกวดราคา 'โรงไฟฟ้าเทพา' 


 
 

กฟผ. เตรียมเปิดจำหน่ายเอกสารประกวดราคาด้านเทคนิคและราคาสำหรับโครงการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าเทพา ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค - 21 ก.ค. 2559 และกำหนดยื่นซองประกวดราคาวันที่ 19 ต.ค. 2559 ส่วนการจ้างก่อสร้างท่าเทียบเรือและระบบสายพานลำเลียงถ่านหินโครงการโรง ไฟฟ้าเทพาจะเปิดจำหน่ายเอกสารประกวดราคา ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. – 25 ก.ค. 2559 และกำหนดยื่นซองประกวดราคา วันที่ 26 ต.ค. 2559 (ที่มาภาพ: energy24hours.com)

17 พ.ค. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.จะเปิดจำหน่ายเอกสารประกวดราคาด้านเทคนิคและราคา (Bidding Documents) สำหรับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม –  21 กรกฎาคม 2559 และกำหนดยื่นซองประกวดราคาวันที่ 19 ตุลาคม 2559 ส่วนการจ้างก่อสร้างท่าเทียบเรือและระบบสายพานลำเลียงถ่านหิน โครงการโรงไฟฟ้าเทพาจะเปิดจำหน่ายเอกสารประกวดราคา ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม – 25 กรกฎาคม 2559 และกำหนดยื่นซองประกวดราคา วันที่ 26 ตุลาคม 2559  ซึ่ง กฟผ.ยืนยันว่าการเปิดจำหน่ายเอกสารประกวดราคา รวมถึงการยื่นซองประกวดราคานี้ยังไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย  โดย กฟผ.ระบุเงื่อนไขการสงวนสิทธิ์การออกเอกสารสนองรับราคา (Letter of Intent – LOI) ไว้อย่างชัดเจนว่าจะออกเอกสารสนองรับราคาเมื่อโครงการฯ ได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ รวมถึงได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้ดำเนินโครงการอย่างครบถ้วนแล้วเท่านั้น

ครงการโรงไฟฟ้าเทพา

ขายเอกสารประกวดราคา

ยื่นซองประกวดราคา

พิจารณาคัดเลือกผู้รับเหมา

1.        โรงไฟฟ้าเทพา

19 พ.ค. – 21 ก.ค. 2559

19 ต.ค. 2559

6 เดือน

2.        ท่าเทียบเรือและสายพานลำเลียงถ่านหิน

25 พ.ค. – 25 ก.ค. 2559

26 ต.ค. 2559

6 เดือน

นายรัตนชัย กล่าวต่อไปว่า ตามที่ระบุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2015) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะต้องเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2564 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นในอนาคต ดังนั้น เพื่อให้โรงไฟฟ้าเทพาสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามแผน จึงต้องเริ่มดำเนินการจัดหาผู้รับเหมาเพื่อออกแบบ จัดหาอุปกรณ์ และก่อสร้างโรงไฟฟ้า คู่ขนานไปกับขั้นตอนการพิจารณารายงาน EHIA  ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าเทพา จะใช้เทคโนโลยีสะอาดประเภท Ultra Super Critical เพื่อให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ส่วนโครงการท่าเทียบเรือและระบบสายพานลำเลียงถ่านหิน สำหรับโรงไฟฟ้าเทพานั้น จะเป็นระบบปิดทั้งหมด จึงไม่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชุมชน

สำหรับกระบวนการการคัดเลือกผู้รับเหมา ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก คือ กฟผ. จัดทำเอกสารประกวดราคา  ขายเอกสารประกวดราคา – ยื่นซองประกวดราคา  และ กฟผ.พิจารณาข้อเสนอและคัดเลือกผู้รับเหมา ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน รวมเวลาทั้งหมดประมาณ 1.5 – 2 ปี จากนั้นจึงเป็นช่วงของการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4 ปี สำหรับโรงไฟฟ้าประเภทพลังความร้อน ทั้งนี้ ด้วยเวลาที่ค่อนข้างจำกัด จึงดำเนินการคู่ขนานกันไป  แต่หากรายงาน EHIA ไม่ผ่านการพิจารณาและ ครม. ไม่อนุมัติการดำเนินโครงการ กฟผ.จะยกเลิกการประกวดราคาครั้งนี้