กรมอนามัยเตือนใช้ถังสีบรรจุอาหารเสี่ยงรับสารตะกั่ว-ระบบประสาทส่วนปลายอาจอัมพาต (31 พ.ค. 59)

ThaiPBS 31 พฤษภาคม 2559
กรมอนามัยเตือนใช้ถังสีบรรจุอาหารเสี่ยงรับสารตะกั่ว-ระบบประสาทส่วนปลายอาจอัมพาต

กรมอนามัยเตือนใช้ถังสีบรรจุอาหารเสี่ยงรับสารตะกั่ว และอาจส่งผลต่อระบบประสาทส่วนปลายเป็นอัมพาตที่นิ้วเท้าและมือ พร้อมแนะผู้ประกอบการเลือกภาชนะบรรจุอาหารที่ปลอดภัย ล้างทำความสะอาดเป็นประจำ ป้องกันสิ่งปนเปื้อน

วันนี้ (31 พ.ค.2559) นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การเฝ้าระวังในเรื่องของความปลอดภัยด้านอาหารเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะผู้ประกอบการค้าทั้งในตลาดค้าส่ง ตลาดสด ร้านอาหาร และแผงลอยจำหน่ายอาหารจะต้องมีความตระหนักด้านสุขลักษณะ ความสะอาด ผู้ปรุง ผู้จำหน่ายต้องแต่งกายด้วยเสื้อมีแขน ผูกผ้ากันเปื้อน สวมหมวกคลุมผม เล็บสั้น ใช้อุปกรณ์ในการหยิบจับอาหาร ไม่ใช้มือหยิบจับโดยตรง อาหารที่จำหน่ายต้องมีการปกปิดวางสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร เลือกใช้ภาชนะที่ปลอดภัย เนื่องจากการออกแบบวัสดุที่ใช้ทำภาชนะ และอุปกรณ์ มีผลต่อการปนเปื้อนของสารเคมีลงสู่อาหาร ขณะเดียวกัน อาจทำให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้ โดยเฉพาะการนำถังสีมาใช้จะทำให้ผู้บริโภคได้รับสารตะกั่วที่ตกค้างอยู่ในถังสี หากได้รับพิษตะกั่วอย่างต่อเนื่องและปริมาณมากจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายอย่างเฉียบพลัน คือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง เมื่อพิษสะสมจะทำให้ระบบประสาทส่วนปลายเป็นอัมพาตที่นิ้วเท้าและมือ เหนื่อยง่าย และอ่อนเพลียได้

นพ.ดนัย กล่าวว่า หลักในการเลือกภาชนะหรืออุปกรณ์ใส่อาหารนั้น จะต้องไม่ทำหรือประกอบด้วยวัสดุที่เป็นพิษ เช่น ไม่ทำจากวัสดุที่ใช้แล้ว ไม่มีการแต่งสีในส่วนที่จะสัมผัสอาหาร ภาชนะอุปกรณ์ต้องมีความแข็งแรง ทนทาน ไม่ชำรุด สึกหรอ หรือแตกกระเทาะ เป็นสนิมง่าย ทนต่อการกัดกร่อนของอาหารที่มี รสเปรี้ยวหรือเค็มจัดได้ ทำความสะอาดง่าย มีความปลอดภัยในการนำไปใช้ ผิวเรียบ ไม่มีร่อง ซอก มุม ปากไม่แคบ ก้นไม่ลึกจนเกินไป และต้องป้องกันการปนเปื้อนได้ เช่น ภาชนะใส่น้ำดื่มต้องมีฝาปิด มีก๊อกหรือทางเทน้ำออก เป็นต้น ที่สำคัญ ภาชนะที่จะนำมาใช้กับอาหารต้องไม่ผ่านการใช้บรรจุสารเคมีอันตรายมาก่อน เพราะอาจทำให้เกิดสารเคมีตกค้างได้

ทั้งนี้ นอกจากการเลือกใช้ภาชนะบรรจุอาหารให้เหมาะสม สะอาดและปลอดภัยแล้ว การล้างภาชนะ อุปกรณ์ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันสิ่งสกปรกและการปนเปื้อนสู่อาหารได้ ซึ่งพ่อค้า แม่ค้า ผู้ประกอบการร้านอาหารจะต้องล้างทำความสะอาดทุกครั้งหลังจากใช้แล้ว และหากไม่แน่ใจว่าสะอาดเพียงพอ เช่น พบคราบไขมัน ฝุ่นละออง หรือสิ่งสกปรกตกค้างอยู่บนภาชนะ หรือหากภาชนะอุปกรณ์ปนเปื้อนระหว่างการใช้ เช่น ทำตก หล่น หรือมีแมลงวันไต่ตอม ต้องนำไปล้างให้สะอาดอีกครั้ง