รายงานโดย c-editor
13 ก.ย. 2558 เพจเฟซบุ๊ก ASEAN Mining WATCH เผยแพร่ข้อความและรูปภาพระบุ “พรุ่งนี้ I คนเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายเปิดเหมืองทองคำ 12 จังหวัด วันอาทิตย์ที่ 13 ก.ย.2558 เวลา 8.00-11.00 น. ตั้งโต๊ะลงรายชื่อ หน้าร้านดินอุ้มดาว ปากทางเข้าสันติอโศก ร่วมคัดค้านกับประชาชน 12 จังหวัด และกรุณาอย่าลืมบัตรประชาชน”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันพรุ่งนี้ กลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายขยายพื้นที่สร้างเหมืองแร่ทองคำใน 12 จังหวัด จะไปตั้งโต๊ะรับลงรายชื่อ เวลา 08.00-11.00น. ที่บริเวณหน้าร้านดินอุ้มดาว ใกล้ซอยนวมินทร์ 46 ถ.นวมินทร์
ในช่วง 2 สัปดาห์ ที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่อาศัยใกล้พื้นที่ทำเหมืองแร่ทองคำ และชาวบ้านในหลายจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เตรียมขยายเหมืองได้เคลื่อนไหวรวบ รวมรายชื่อให้ครบ 2 หมื่นรายชื่อ เพื่อยื่นหน่วยเกี่ยวข้องคัดค้านนโยบายเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งขณะนี้ รวบรวมได้แล้วประมาณ 12,000 รายชื่อ และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้มีการตั้งโต๊ะในวันพรุ่งนี้
ทั้งนี้ 12 จังหวัดที่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมขยายพื้นที่ให้เอกชนเข้าสำรวจเพื่ออนุมัติใบอาชญาบัตร ได้แก่ พิจิตร พิษณุโลก ลพบุรี เลย สตูล สระแก้ว สุราษฎร์ธานี จันทบุรี ระยอง สระบุรี นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์
ตามกำหนดเดิม กพร. เตรียมจัดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดในวันที่ 15 ก.ย และ 17 ก.ย.2558 ส่งหนังสือ "ด่วนที่สุด" ลงวันที่ 8 ก.ย. 2558 แจ้งผู้ว่าฯ 12 จังหวัด ขอยกเลิกการจัดเวทีรับฟังความเห็นต่อร่างนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ออกไปไม่มีกำหนด โดยใหเเหตุผลเพราะการประชาสัมพันธ์นโยบายฯ ไม่ทั่วถึง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ยังไม่รับทราบข้อมูล และมีเพียงพื้นที่เดียวคือ จ.พิจิตร ที่ให้เหตุผลว่ามีประชาชนคัดค้านอย่างมีนัยสำคัญ
หลังจากที่มีกลุ่มชาวบ้านบางส่วน ยื่นเรื่องคัดค้านการจัดเวที เนื่องจากให้เหตุผลว่า การให้ข้อมูลของทาง กพร. เกี่ยวกับนโยบายการขยายพื้นที่สร้างเหมืองแร่ ยังไม่มีความชัดเจน และชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลรอบด้านต่อผลได้ผลเสียของเหมืองที่จะเกิดใน พื้นที่อาศัย
นอกจากนั้น ในวันที่ 13 ก.ย. นี้ กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเนินมะปราง และพิษณุโลก ฟอรั่ม จัดกิจกรรม Bike for mango รวมพลังปั่น เพื่อผืนป่า ภูผางาม พื้นท่าหารปลอดภัย วิถีท้องถิ่นของคนเนินมะปราง ชู “ปั่น...เพื่ออนาคตเนินมะปราง พิษณุโลก”
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนและวิชาการเพื่อการจัดการทรัพยากรแร่ของชาติอย่าง ยั่งยืน 19 องค์กรเครือข่าย ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้หยุดโครงการการให้สัมปทานเหมืองแร่ และเร่งแก้ไข พ.ร.บ.แร่ เพื่อประเทศชาติและประชาชน รวมถึงระงับการดำเนินการเกี่ยวกับนโยบายเหมืองแร่และโครงการใหม่ต่างๆ และขอทราบผลการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน
หนังสือดังกล่าวมีอข้อเสนอ ดังนี้ 1.ขอให้หยุดโครงการการให้สัมปทานเหมืองแร่ 2.ขอให้ระงับการจัดทำเวทีรับฟัง ความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำใน 12 จังหวัด ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 15 และ 17 ก.ย. 2558 เนื่องจากปัญหาของเหมืองแร่ในพื้นที่เดิมหลายแห่งยังไม่ได้รับการแก้ไข ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อโครงการเหมืองแร่ที่จะขยายวงไปสู่ พื้นที่ใหม่และเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ เช่น จังหวัดจันทบุรี
3.ขอให้เร่งการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.แร่ ฉบับของอดีตรัฐมนตรีจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช และให้มีการเปิดการประชุม แก้ไขเป็น พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ ฉบับเพื่อประเทศชาติและประชาชน 4.ทุกกระบวนการที่ทางรัฐแก้ไขขอให้มีการเชิญ ตัวแทนของภาคประชาชนไปรับรับทราบแนวทางแก้ไข และได้มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ จนถึงกระบวนการตรวจติดตาม ฟื้นฟู และประเมินผล รวมถึงแผนการชดเชย การฟื้นฟู ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จัดทำแผนการตรวจสุขภาพประชาชนกลุ่มเสี่ยงอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและสากล ตลอดจนแผนการชดเชยเยียวยา การอพยพของประชาชนโดยเฉพาะแต่ละพื้นที่ที่มีความจำเป็น ที่อยู่บนหลักความเป็นธรรม ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ โดยเป็นไปตามหลักสากล
5.ประเทศไทยไม่ควรส่งออกแร่ทองคำเป็นวัตถุดิบ ต้องใช้และแปรรูปในประเทศ ในปริมาณที่พอควรกับการพัฒนาที่ยั่งยืน 6.ทั้งนี้ขอให้รัฐดำเนินการตามคำขอ อย่างเร่งด่วนและก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยจะต้องมีการปรึกษาหารือในเรื่องแผนและแนวทางการจัดการกับประชาชนร่วมกัน ทุกขึ้นตอน
"หากรัฐเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ ภายในวันที่ 30 ก.ย. 2558 ประชาชนจะรวมตัวกันเพื่อแสดงสิทธิและเสรีภาพของตนต่อไป" หนังสือระบุ
ทั้งนี้ บุคคลและเครือข่ายที่ลงนาม ประกอบด้วย 1) กลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองคำ จังหวัดพิจิตร 2) ดร.ไชยรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม เครือข่ายคณาจารย์นิสิตนักศึกษาประชาชน เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 3) ดร.อาภา หวังเกียรติ อาจารย์ประจำวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ม.รังสิต 4) รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล ผู้ประสานงานเครือข่ายนักวิชาการ EHAI คณะวิทยาศาสตร์ ม.ศิลปากร 5) ศศิน เฉลิมลาภ นักวิชาการอิสระ 6) ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ 7) ดร.สมชัย ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และและเทคโนโลยี ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
8) ดร.สมนึก จงมีวศิน อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติ ม.ศิลปากร 9) เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก 10) คณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคม จ.ชลบุรี 11) คณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคม จ.จันทบุรี 12) กลุ่มรักษ์เขาชะเมา 13) สภาองค์กรชุมชน ตำบลชลบุรี 14) เครือข่ายคุ้มครองสิทธิทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.สระแก้ว 15) สมาคมประมงเรือเล็กพื้นบ้าน จ.ระยอง 16) เครือข่ายอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำระยอง-ประแสร์ 17) เครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำพระปรง 18) เครือข่ายปกป้องพื้นที่อนุรักษ์ปราจีนบุรี 19) สมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืน