แก้ผังเมือง"อีสเทิร์นซีบอร์ด" ตรึงนักลงทุน-โหมโรดโชว์ต่างประเทศ (5 ก.ย. 58)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 5 กันยายน 2558
แก้ผังเมือง"อีสเทิร์นซีบอร์ด" ตรึงนักลงทุน-โหมโรดโชว์ต่างประเทศ

ปลดล็อกผังเมือง-ปรับเงื่อนไขส่งเสริมลงทุนลดภาษีเพิ่ม รับแผนขยายนิคมมาบตาพุด 2 หมื่นไร่ ตรึงนักลงทุนทั้งญี่ปุ่น-เกาหลี-จีน ไม่ให้ย้ายฐานหนีอีสเทิร์นซีบอร์ด บูม 7 คลัสเตอร์หลัก อุตฯยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นธงนำสร้างรายได้ฟื้นเศรษฐกิจ วาดแผนโรดโชว์ต่างประเทศดึงลูกค้า กรมโยธาและผังเมืองสนองนโยบายแต่ตั้งเงื่อนไขเข้ม 3 ข้อ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย"ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การเดินหน้านโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด ในเฟส 1 - 2 ควบคู่การผลักดันให้เกิด 7 คลัสเตอร์ทางเศรษฐกิจ ตามนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ กำลังเข้าสู่กระบวนการอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะคลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ในพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จึงต้องปรับโครงสร้างพื้นฐานขยายท่าเรือแหลมฉบัง และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตั้งเป้าให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก 15,000-20,000 ไร่

ขยายนิคมอุตฯจังหวัดใกล้เคียง

การขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจะขยับไปยังจังหวัดใกล้เคียง เพิ่มสิทธิพิเศษทางภาษีและอัตราค่าเช่าสูงสุดเต็มเพดาน เพื่อสร้างแรงจูงใจ ตรึงนักลงทุน โดยเฉพาะญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, จีนไม่ให้ย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศเวียดนาม และเพื่อนบ้านประเทศอื่น ๆ

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในพื้นที่มาบตาพุดขณะนี้อาจมีบางอุตสาหกรรมที่ติดกฎหมายสิ่งแวดล้อม ถูกร้องเรียนจากประชาชน ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมก็ต้องการพัฒนาพื้นที่เพิ่มและขอเพิ่มพื้นที่สีม่วง (ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม) บางส่วนอาจปรับเปลี่ยนโซนหรือแบ่งการใช้ประโยชน์ใหม่ แต่กรมโยธาธิการและผังเมืองเคยให้ความเห็นว่า พื้นที่ที่เคยอนุมัติไว้ให้จัดทำนิคมอุตสาหกรรม 20,000 ไร่ ขณะนี้ยังไม่มีการใช้พื้นที่เต็มประสิทธิภาพ และยังพัฒนาไม่หมด จึงอาจไม่มีความจำเป็นต้องอนุมัติเพิ่ม

จี้ใช้ประโยชน์ พท.-คุมเข้ม สวล.

หากเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็สามารถ "ปลดล็อก" เพิ่มพื้นที่ได้ แต่ต้องดำเนินการตาม 3 เงื่อนไขคือ 1.ต้องควบคุมให้การลงทุนอุตสาหกรรมเป็นไปตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด 2.พื้นที่ที่เคยกำหนดโซนอุตสาหกรรมไว้แล้ว ต้องเป็นไปตามเดิมเช่น พื้นที่เกษตร, พื้นที่พาณิชยกรรมและพื้นที่อยู่อาศัย 3.พื้นที่สีม่วงที่เคยอนุมัติไว้แต่ยังไม่มีการลงทุน ต้องใช้พื้นที่ส่วนนี้เต็ม

ปรับสิทธิพิเศษภาษี-ค่าเช่าเพิ่ม

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับการขยายท่าเรือแหลมฉบังก็ดำเนินการได้ตามแผนเฟส 1-2 ในกรณีที่มีขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ส่วนการเพิ่มสิทธิพิเศษทางภาษีและอัตราค่าเช่าในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ขณะนี้ได้ยกเว้นภาษีนิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้อีก 50% อีก 5 ปี และอัตราค่าเช่าสำหรับ 50 ปีแรก และต่ออายุรอบ 2 อีก 50 ปี ที่กำหนดไว้ในแต่ละเขต แม้จะเต็มเพดานแล้ว แต่ต้องเสนอแนวทางให้ลดอัตราภาษี และลดอัตราค่าเช่าลงอีก เพื่อจูงใจเอกชนให้มากขึ้น

ประเภทกิจการที่ได้สิทธิพิเศษจากบีโอไอ 13 กลุ่มกิจการ ซึ่งบางจังหวัดถือว่ายังมีบางกิจการได้รับสิทธิ์น้อยเกินไปก็จะเปิดโอกาสให้จังหวัดร่วมกับหอการค้า เสนอขอเพิ่มประเภทกิจการได้

ทั้งนี้ หากกรมโยธาธิการฯอนุมัติเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรม ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอก็จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทันที จากนั้นจะได้นำแผนและกฎเกณฑ์ใหม่ไปโรดโชว์เชิญชวนต่างชาติมาลงทุน

แก้กฎบีโอไอดึงดูดนักลงทุน

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า แนวทางพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เป็นซูเปอร์คลัสเตอร์ตามนโยบายรัฐบาล ทางกระทรวงอุตฯ จะเร่งสรุปแนวโครงการซึ่งจะเชื่อมโยงแต่ละคลัสเตอร์กับเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 1 เดือนตามที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ ขณะเดียวกันในส่วนของการกำหนดขอบเขตสิทธิประโยชน์ที่จะให้แก่นักลงทุน ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อยู่ระหว่างเสนอขอปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯ โดยจะเพิ่มสิทธิพิเศษการยกเว้นและลดหย่อนภาษีให้กับนักลงทุนเพิ่มจากปัจจุบันนิติบุคคลยกเว้นภาษีได้สูงสุด 8 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้ร้อยละ 50 พร้อมกำหนดเงื่อนไขกฎเกณฑ์เพื่อช่วยการขอคืนภาษีให้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้นด้วย

ปรับผังเมืองขึ้นกับท้องถิ่น

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สำหรับผังเมืองรวมมาบตาพุด กรมได้ถ่ายโอนภารกิจให้ทางเทศบาลมาบตาพุดเป็นผู้ดำเนินการวางผังทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างปิดประกาศรับฟังความคิดเห็น 15 วัน หากมีการร้องเรียนหรือปรับผังปรับแก้ ขึ้นอยู่กับองค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นผู้พิจารณา ขั้นตอนจากนี้ หากมีการปรับปรุงปรับแก้จะต้องปิดประกาศอีก 90 วัน คาดว่ากว่าจะมีผลบังคับใช้ต้องใช้เวลา 1 ปี

ก่อนหน้านี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือถึงแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านผังเมืองที่มีต่อการพัฒนาอุตฯ เมื่อต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มี 4 ข้อ ได้แก่ 1.ยกเลิกบัญชีกำหนดประเภทจำพวกโรงงานท้ายกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมืองรวม และจัดทำข้อกำหนดที่มีลักษณะยืดหยุ่น สามารถรองรับนโยบายหรือยุทธศาสตร์ของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวการณ์ได้ รวมทั้งส่งเสริมอุตฯ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและที่จำเป็นต้องมี เพื่อพัฒนา ศก.ในพื้นที่

2.นำผลการศึกษาพัฒนาพื้นที่อย่างมีศักยภาพเพื่อรองรับการลงทุนของกระทรวงอุตฯ ไปใช้เป็นแนวทางในการวางและจัดทำผังเมืองรวม จังหวัด ผังเมือง และผังเมืองรวมชุมชน 3.ให้กระทรวงอุตฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐและเอกชน และประชาชน จัดทำหลักเกณฑ์ข้อกำหนดเกี่ยวกับแนวกันชน (Buffer Zone) และแนวป้องกันที่เหมาะสมกับโรงงานประเภทต่าง ๆ ซึ่งกำหนดระยะร่น 2 กม. ทางกระทรวงอุตฯ ขอทบทวนเรื่องระยะร่นจากชุมชนให้น้อยกว่า 2 กม. แต่ยังไม่ได้ระบุว่าต้องห่างเท่าไหร่ และ 4.กรณีรัฐบาลมีนโยบายกำหนดพื้นที่พิเศษเพื่อพัฒนาอุตฯ ที่เกี่ยวโยงกับพื้นที่ ควรมีการกำหนดพื้นที่เพื่อรองรับอุตฯดังกล่าว และจัดทำผังเมืองให้สอดคล้องกับนโยบาย

"ทั้ง 4 ข้อนั้น ในข้อแรกทางกระทรวงอุตฯจะต้องกลับไปจัดทำบัญชีแนบท้ายประกาศตาม พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม กับเรื่องบัฟเฟอร์โซนที่จะต้องหารือลงรายละเอียด เพราะเกี่ยวข้องกับชุมชนด้วย" นายมณฑลกล่าว