สองข่าวสำคัญที่คนไทยควรรู้ แต่...! (3 ส.ค. 58)

ASTVผู้จัดการออนไลน์ 3 สิงหาคม 2558
สองข่าวสำคัญที่คนไทยควรรู้ แต่...!

บทความจากคอลัมน์ "โลกที่ซับซ้อน"
โดย ประสาท  มีแต้ม

ข่าวแรก เรื่องสารพิษจากเหมือง และโรงไฟฟ้าถ่านหินไหลทะลักลงสู่อ่าวมรดกโลกที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ที่สำคัญในประเทศเวียดนาม เนื่องจากฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ขนาด 600-800 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 3 วัน เหตุเกิดเมื่อ 30 กรกฎาคมนี้ ผมนำเสนอรูปภาพก่อนนะครับ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ ตามที่เขาบอกกันว่าหนึ่งภาพให้ความหมายมากกว่าตัวหนังสือหนึ่งพันคำ
       
       ผมทราบข่าวนี้จากเว็บ EcoWatch (http://ecowatch.com/2015/07/31/vietnam-floods/2/) ซึ่งผมได้สมัครเป็นสมาชิก เขาจึงส่งข่าวทำนองนี้มาเป็นประจำ ในภาพชาวบ้านลงไปงมเอาถ่านหินขึ้นมาโดยไม่รู้ถึงสารพิษอันตรายซึ่งได้แก่ สารหนู แคดเมียม แบเรียม เป็นต้น

สองข่าวสำคัญที่คนไทยควรรู้ แต่...! / ประสาท  มีแต้ม

น้ำสารพิษเหล่านี้จะลงสู่อ่าว Ha Long ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากนักท่องเที่ยว
       
ภาพข้างล่างแสดงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเหมืองถ่านหิน และโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมทั้งสภาพของอ่าว Ha Long ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ดูแล้วคล้ายกับอันดามันเรามากครับ 

สองข่าวสำคัญที่คนไทยควรรู้ แต่...! / ประสาท  มีแต้ม

ผมถือว่าข่าวนี้เป็นข่าวสำคัญมากสำหรับคนไทย ก็เพราะว่าทางเครือข่ายปกป้องอันดามันเพิ่งประท้วงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่าน หินในจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวติดอันดับโลกของคนไทย และของโลกด้วย
       
ถ้าอาศัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกต่อไป ไม่ว่าที่จังหวัดกระบี่ ที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และที่หัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งที่ใดๆ ในโลกใบนี้อีกแล้วครับ
       
เหตุการณ์ในเวียดนาม เกิดจากฝนตกหนัก 600 ถึง 800 มิลลิเมตร ซึ่งไม่เคยเกิดมาก่อนในรอบ 40 ปีในเวียดนาม แต่ผมจำได้แม่นว่าที่จังหวัดสงขลาบ้านเรา เคยมีฝนรั่ว 500 มิลลิเมตรในวันเดียวเท่านั้นเกิดขึ้นในวันที่ 31 ธันวาคม แต่ผมจำปีที่เกิดไม่ได้ ดังนั้น อะไรที่ไม่เคยเกิดก็สามารถเกิดขึ้นได้เสมอในระบบโลกที่ปั่นป่วนในปัจจุบัน 
       
เหตุการณ์ในเวียดนามครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2558 มีคนเสียชีวิต 17 คน สูญหายอีก 6 คน แต่ผมไม่เห็นข่าวนี้ในทีวีบ้านเราครับ ต่างจากข่าวอื่นๆ ที่มีความสำคัญน้อยกว่านี้มากแต่กลับเป็นข่าว
       

มาถึงข่าวสำคัญเรื่องที่สอง ซึ่งผมเห็นว่าเกี่ยวข้องกับข่าวแรก
       
คนจำนวนหนึ่งมีความเห็นว่า ในเมื่อเราจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า แต่ทำไมต้องคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน คนระดับผู้ว่าราชการจังหวัดบางคนถึงกับกล่าวว่า “พวกเอ็นจีโอคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าดีนัก ลองถูกตัดไฟฟ้าสักสองสามวันแล้วจะรู้สึก” ผมเองก็ยังถูกด่าจากบางคนว่า “ถ้ายังใช้ไฟฟ้าอยู่ถือว่าหน้าด้าน” ซึ่งถือว่าเป็นคำด่าที่เบามากแล้วนะครับ
       
ข่าวที่สองนี้จะเป็นทางออกจากกับดักโรงไฟฟ้าถ่านหินครับ
       
ข่าวนี้เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม 2558 ถือว่ายังสดๆ อยู่ คือ คำประกาศนโยบายของนางฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐอเมริกา
       
นางฮิลลารี คลินตัน ได้ประกาศ “สองเป้าหมายของชาติที่ท้าทาย” ว่า “ถ้าข้าพเจ้าได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดี ในวันแรก ข้าพเจ้าจะขอตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย 2 ข้อ” คือ
       
หนึ่ง จะให้บ้านทุกหลังในสหรัฐอเมริกาได้ใช้พลังงานหมุนเวียนภายในปี 2027 หรือภายใน 10 ปี
       
สอง จะติดแผงโซลาร์เซลล์ไม่น้อยกว่า 500 ล้านแผง (ย้ำ 500 ล้านแผง) ก่อนหมดวาระแรก
       
ผมได้โพสต์ในเฟซบุ๊กของผมว่า “ฟังหูไว้หู แต่สะท้อนถึงกระแสโลก” 

สองข่าวสำคัญที่คนไทยควรรู้ แต่...! / ประสาท  มีแต้ม

ด้วยความที่ผมเคยผิดหวังกับนักการเมืองทั่วโลก รวมทั้งประธานาธิบดีบารัค โอบามาด้วย ผมจึงได้เตือนตัวเองว่า ฟังหูไว้หู
       
ผมจะลองวิเคราะห์เป้าหมายข้อที่สองเพียงข้อเดียวว่าเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งนางคลินตัน อ้างว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานหลายล้านตำแหน่ง
       
ประการแรกเธอไม่ได้ระบุว่า แผ่นโซลาร์เซลล์มีขนาดกี่วัตต์ (ซึ่งมักจะเป็นเล่ห์เหลี่ยมของนักการเมือง) ในที่นี้ผมถือว่าเป็นขนาดทั่วไปที่เขานิยมติดกันคือ 285 วัตต์ ถ้าติด 500 ล้านแผ่นก็จะได้ 142,500 เมกะวัตต์
       
จากข้อมูลพบว่า ในปี 2014 ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ติดไปแล้วจำนวน 18,280 เมกะวัตต์ โดยมีอัตราการเพิ่มร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปีก่อน ดังนั้น อีก 6 ปีนับจากปี 2015 จำนวนโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งจะรวมกันได้ถึง 208,220 เมกะวัตต์ มากกว่าที่เข้าตั้งไว้ในเป้าหมายที่ท้าทายของชาติ
       
โดยที่ไม่ต้องอาศัยอำนาจประธานาธิบดีคนใหม่แต่ประการใด
       
เห็นแล้วหรือยังครับว่า นักการเมืองที่รู้จักฉวยโอกาสให้มาเป็นประโยชน์แก่ตนเอง โดยไม่ต้องทำอะไรเลย แต่ได้คะแนนได้ใจประชาชนไปครอง แต่ก็ยังดีนะครับ ยังดีกว่าพวกที่ชอบทำแต่เรื่องเลวๆ ในบางประเทศ
       
สำหรับเป้าหมายแรก ผมไม่ขอวิจารณ์นะครับทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าไม่มีความชัดเจนว่า ทุกบ้านที่ใช้พลังงานหมุนเวียนนั้นได้ใช้พลังงานหมุนเวียนล้วนๆ โดยไม่มีอย่างอื่น เช่น ถ่านหิน และนิวเคลียร์มาปนด้วยหรือไม่ นักการเมืองก็ชอบพูดอะไรคลุมเครือแบบนี้แหละ
       
กลับมาสู่เรื่องไฟฟ้าในบ้านเราครับ
       
ท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่า “ถ้าใครอยากติดโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เอง ก็ทำไป อันนี้เรายินดีอยู่แล้ว แต่การเชื่อมต่อกับสายส่งนั้นมันผิดระเบียบ” 
       
อันนี้ผมต้องเรียนด้วยความเคารพว่า มันทำไม่ได้จริงๆ ครับท่าน ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีอยู่ 44 รัฐที่มีกฎหมายรองรับให้มีการเชื่อมต่อไฟฟ้าระหว่างบ้านที่ผลิตเองกับระบบ สายส่งได้ มันต้องเชื่อมต่อก่อนจึงจะผลิตได้ ถ้าใช้แบตเตอรี่ก็ไม่คุ้มทุน และทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งไม่ควรทำแม้จะรักโลกสักเพียงใดก็ตาม
       
ผมเองพยายามลองคิดด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ง่ายๆ ว่า ทำอย่างไรให้การไฟฟ้าฯ ยอมให้มีการเชื่อมต่อไฟฟ้าได้ โดยที่การไฟฟ้าฯ ไม่สูญเสียผลประโยชน์ 
       
ผมเสนออย่างนี้ครับ คือ (1) ไม่ต้องมีการชดเชยค่าไฟฟ้าจากผู้ผลิตจากโซลาร์เซลล์ ตามที่สภาปฏิรูปแห่งชาติเคยเสนอ แต่การไฟฟ้าฯ ปฏิเสธ (แสดงว่าการไฟฟ้าฯ มีอำนาจเหนือรัฐบาลที่ไม่มีความรู้) และ (2) บ้านที่ติดโซลาร์เซลล์ทุกๆ 1 กิโลวัตต์จ่ายให้การไฟฟ้าปีละ 300 บาท ผลการคำนวณพบว่า ผู้ติดตั้งจะคุ้มทุนภายใน 11 ปี ทีเหลืออีกประมาณ 14 ปี ได้ใช้ไฟฟ้าฟรี โดยมีเงื่อนไข ดังตาราง คือ
       
       (1) เงินลงทุน 5 หมื่นบาท พร้อมค่าเสียโอกาสจากดอกเบี้ยฝากธนาคาร 2.25% ต่อปี
       
       (2) ค่าไฟฟ้าปัจจุบัน 4.49 บาทต่อหน่วย (คิดทุกอย่าง รวมเอฟที และภาษี สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวน 800 หน่วยต่อเดือน โดยที่ค่าไฟฟ้าขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี ศึกษาจากรายงานประจำปีของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคปี 2553 ถึง 2557)
       
       (3) ผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1,350 หน่วย (งานวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผลิตได้กิโลวัตต์ละ 1,366 หน่วยในเขตกรุงเทพมหานคร) 

สองข่าวสำคัญที่คนไทยควรรู้ แต่...! / ประสาท  มีแต้ม

ถ้ามีการติดตั้ง 1,000 เมกะวัตต์ ทางการไฟฟ้าฯ ก็จะมีรายได้ปีละ 300 ล้านบาททุกปีโดยไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ถ้าติดสัก 3 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณร้อยละ 2.3 ของความต้องการทั้งประเทศในปี 2557 (หมายเหตุ : ปี 2014 ญี่ปุ่นติด 23,300 เมกะวัตต์) การไฟฟ้าฯ จะได้เงิน 9 พันล้านบาทต่อปี
       
ถ้าเป็นอย่างนี้ท่านนายกฯ ประยุทธ์ รับได้ไหมครับ เอาไหมครับ เลิกคิดเถอะครับเรื่องถ่านหิน แนวนโยบายของกระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฯ ในปัจจุบันกำลังสวนกระแสโลกอย่างรุนแรง
       
โลกเขาเดินทางมาถึงยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 3 ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นในปี 2553 หรือเมื่อ 5 ปีมานี่เอง เป็นยุคที่ระบบเศรษฐกิจพื้นฐานของโลกต้องเปลี่ยนไปเมื่อเทคโนโลยีการสื่อสาร แบบใหม่คือ อินเทอร์เน็ตมาบรรจบกับระบบเทคโนโลยีพลังงานแบบใหม่ ซึ่งก็คือ พลังงานหมุนเวียนนั่นเอง (หมายเหตุ : การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 1 คือ การค้นพบเครื่องจักรทอผ้า เมื่อปลายศตวรรษที่ 18 ในประเทศอังกฤษ ยุคที่สอง คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดย Henry Ford เมื่อต้นศตวรรษที่ 20)
       
ในยุคนี้ เป็นยุคที่คนหลายร้อยล้านคนสามารถผลิตไฟฟ้าสีเขียวเพื่อใช้เองในบ้าน ในสำนักงาน รวมทั้งในโรงงานของตนเอง ไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้จะถูกส่งไปแบ่งปันไปให้แก่ผู้ใช้ที่อยู่ข้างเคียง ดังภาพข้างล่างนี้ซึ่งเป็นของนักอนาคตศึกษา 
        

สองข่าวสำคัญที่คนไทยควรรู้ แต่...! / ประสาท  มีแต้ม

มันเกิดขึ้นแล้ว และเป็นจริงครับมันคือ หลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ท่านนายกฯ พูดถึงอยู่บ่อยๆ นั่นเอง ความพยายามในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยของ คสช.คือ การป้องฟ้าด้วยฝ่ามือ คือ การหลอกใช้อำนาจของ คสช.เพื่อให้พ่อค้าถ่านหินได้ขายถ่านหินซึ่งเป็นต้นเหตุของภัยพิบัติทาง ธรรมชาติของโลกเท่านั้นเองครับผม