โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 7 ส.ค. 2558 08:10
เจียดงบทุกกระทรวงขอส่งมอบเป็น 2 งวดเดือนพค.และพย.59
มหากาพย์ทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย “คลองด่าน” ได้ข้อยุติกระทรวงทรัพยากรฯ ยอมจ่าย “ค่าโง่” 9 พันล้านบาท ถ้วนหลังเจรจาสำเร็จ แบ่งจ่ายเป็น 2 งวดใช้งบประมาณปี 2559 งวดแรกจ่าย เดือน พ.ค. 3 พันล้านบาท งวดสองเดือน พ.ย. อีก 6 พันล้านบาท เผยเจียดงบประมาณจากทุกกระทรวงตั้งแต่ 2-10 เปอร์เซ็นต์มาจ่าย “เกษมสันต์” ปลัดกระทรวงฯครวญไม่ต้องถามว่าเจ็บปวดแค่ไหน หน่วยงานอื่นไม่มีเอี่ยวยังต้องร่วมรับผิดชอบ
ลงตัวแล้วสำหรับการเสีย “ค่าโง่” กรณี “คลองด่าน” หลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเมื่อวันที่ 21 พ.ย.2557 ให้กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ่ายค่าเสียหายให้แก่กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ผู้ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ กรณีที่กรมควบคุมมลพิษบอกเลิกสัญญา ก่อนที่กิจการร่วมค้าจะดำเนินโครงการแล้วเสร็จ เป็นเงิน 9,618 ล้านบาท ต่อมา กรมควบคุมฯได้เจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ขอลดดอกเบี้ย รวมทั้งหาวิธีการที่จะทำให้รัฐไม่เสียเปรียบ ใช้ระยะเวลาประมาณ 8 เดือน ล่าสุด ได้ข้อสรุปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยเมื่อวันที่ 6 ส.ค. นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดถึงความคืบหน้ากรณีการจ่ายค่าเสียหายให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพี เอสเคจีว่า ขณะนี้การเจรจาระหว่างกระทรวงทรัพยากรฯ และกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ได้ข้อสรุปแล้วว่า 1.บริษัทร่วมค้าฯ ยอมหยุดการคิดดอกเบี้ยรายวัน วันละ 1.8 ล้านบาท นับจากวันที่ 29 พ.ย.2557 ที่ศาลมีคำสั่งให้จ่ายจนถึงปัจจุบัน 2. เงินที่จะต้องชำระจริง จำนวน 9,000 ล้านบาทถ้วน โดยแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด งวดแรกจ่ายเดือน พ.ค. ปี 2559 จำนวน 3,000 ล้านบาท งวดที่สองเดือน พ.ย. ปี 2559 จำนวน 3,000 ล้านบาท งวดที่สามเดือน พ.ค. ปี 2560 อีก 3,000 ล้านบาท
นายเกษมสันต์กล่าวอีกว่า จากข้อเสนอดังกล่าว กลุ่มกิจการร่วมค้าฯได้แย้งว่าสำหรับงวดสุดท้าย เลยปีงบประมาณไปแล้ว จะขอคิดดอกเบี้ยตามปกติ ขณะที่กระทรวงทรัพยากรฯ ได้นำข้อเสนอดังกล่าวส่งไปยังสำนักงบประมาณ และสำนักงบประมาณทำหนังสือกลับมาว่าให้ไปเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ให้ลดเหลือการจ่ายแค่ 2 งวด เพื่อไม่ให้เสียดอกเบี้ยเพิ่ม จึงได้ข้อสรุปว่ารัฐบาลจะชำระเงิน โดยของบ– ประมาณกลางมาจ่ายให้โดยแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด โดยในเดือน พ.ค. 2559 จ่ายจำนวน 3,000 ล้านบาท และเดือน พ.ย. 2559 จำนวน 6,000 ล้านบาท กระทรวง ได้ทำเรื่องแปรญัตติไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขอเงินจากงบกลางจำนวน 9,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างรอขอกรอบวงเงิน คาดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร
เมื่อถามว่า รัฐบาลจะนำเงินส่วนไหนมาจ่ายเป็นค่าเสียหายให้เอกชน นายเกษมสันต์กล่าวว่า เป็น การนำเงินจากทุกส่วนราชการ ในทุกกระทรวงที่หักไว้ตั้งแต่ 2-10% มาสมทบ โดยแต่ละส่วนราชการสามารถต่อรองได้ตามความจำเป็น เช่น ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรฯนั้น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถูกตัดไป 25 ล้านบาท สำนักปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ 6 ล้านบาท เป็นต้น เมื่อได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วจะนำเสนอต่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีคลองด่าน เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ต่อไป
เมื่อถามอีกว่า ในฐานะปลัดกระทรวงทรัพยา– กรฯ รู้สึกเจ็บปวดหรือไม่ที่จะต้องจ่ายเงินค่าเสียหายหรือค่าโง่กรณีคลองด่าน นายเกษมสันต์กล่าวว่า ไม่ต้องพูดถึง มันเป็นค่าโง่ เงินจำนวน 9 พันล้านบาทเท่ากับงบประมาณประจำปี ช่วงตั้งกระทรวงทรัพยากรฯ ใหม่ๆ ในช่วง 5 ปีแรก สามารถนำไปทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้มากมาย จึงไม่ต้องถามว่าหน่วยงานอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องแต่ต้องมาร่วมรับผิดชอบด้วย จะรู้สึกอย่างไร
เมื่อถามว่า จริงหรือไม่ที่มูลค่าความเสียหายที่ต้องจ่ายให้กลุ่มกิจการร่วมค้าฯไม่น่าจะ เกิน 3,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในเรื่องค่าเสื่อมราคาของอุปกรณ์การก่อสร้างต่างๆ ตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศ นายเกษมสันต์กล่าวว่า เรื่องนี้จบลงตั้งแต่ศาลปกครองมีคำพิพากษา เป็นการพิพากษาตามแนวทาง อนุญาโตตุลาการ หากจะต่อสู้ก็ไม่ควรเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตฯตั้งแต่แรก ตนไม่ทราบนโยบายและแนวทางของผู้ดำเนินการในขณะนั้นว่าทำไมและมีเหตุผลอะไร จึงเปลี่ยนแปลงแนวทางการต่อสู้