เจียดทุกกระทรวงจ่ายค่าโง่คลองด่าน 9 พันล. ‘นักการเมือง-ขรก.’ที่เกี่ยวข้องกับคดีลอยตัว (7 ส.ค. 58)

ThaiPBS 7 สิงหาคม 2558
เจียดทุกกระทรวงจ่ายค่าโง่คลองด่าน 9 พันล. ‘นักการเมือง-ขรก.’ที่เกี่ยวข้องกับคดีลอยตัว

เจียดทุกกระทรวงจ่ายค่าโง่คลองด่าน 9 พันล. ‘นักการเมือง-ขรก.’ที่เกี่ยวข้องกับคดีลอยตัว

 

 

เผยกรมควบคุมมลพิษต้องขอเจียดเงินจากทุกกระทรวงมาจ่ายค่าโง่ ที่เป็นค่าปรับในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน 9 พันล้านบาท ระบุนักการเมืองและข้าราชการที่เกี่ยวข้องคงไม่ต้องเสียเงินแม้แต่บางเดียว ส่วนคดีฟ้องร้องยังอยู่ระหว่างพิจารณาของศาล

วันนี้ (7 ส.ค.2558) นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงความคืบหน้าในการจ่ายในคดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษแพ้คดีต้องจ่ายเงินค่าปรับและดอกเบี้ยรวมกว่าหมื่นล้าน บาทว่า ขณะนี้ได้กับเจรจากับบริษัท กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเค เรียบร้อยแล้ว สรุปว่า ดอกเบี้ยและค่าปรับลงเหลือ 9,000 ล้านบาท จากเดิมที่หยุดตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.2557 วันละ 1.8 ล้านบาท โดยจะต้องจ่ายเงินค่าปรับในโครงการงวดแรก ในเดือนพฤษภาคม 2559 จำนวน 3,000 ล้านบาท ส่วนงวดที่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2559 อีก 3,000 ล้านบาท. และงวดที่ 3 ในเดือนพฤษภาคม 2560 อีก 3,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากต้องเสียดอกเบี้ย จึงจะคุยกับกรมบัญชีกลาง ขอจ่ายเพียง 2 งวด โดยจะรวบจ่ายงวดที่ 2-3 จำนวน 6,000 ล้านบาท ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างรอขอกรอบวงเงินจากคณะกรรมาธิการงบประมาณพิจารณา

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะนำเงินส่วนไหนมาจ่ายเป็นค่าเสียหาย นายเกษมสันต์กล่าวว่า นำเงินจากทุกกระทรวงที่หักไว้ตั้งแต่ 2-10 เปอร์เซนต์ มาสมทบ โดยแต่ละส่วนราชการสามารถต่อรองได้ตามความจำเป็น เช่น ในส่วนของทส. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถูกตัดไป 25 ล้านบาท สำนักปลัดกระทรวง 6 ล้านบาท เป็นต้น เมื่อได้ข้อสรุปชัดเจนแล้ว จะนำเสนอต่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีคลองด่าน เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ต่อไป

เมื่อถามว่า การนำเงินจากกระทรวงต่างๆ มาใช้จะกระทบกับโครงการในแต่ละกระทรวงหรือไม่ ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯกล่าวว่า ไม่กระทบ เพราะเป็นนโยบายที่สามารถปรับแก้ได้และใช้อำนาจของแต่ละกระทรวง

ส่วนการดำเนินคดีทั้งนักการเมืองและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ทางกรมควบคุมมลพิษ อยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาล แต่เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะนำเงินจากคนผิดมาจ่าย ส่วนทางเลือกในการจัดการโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ขณะนี้ให้องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) เข้าไปศึกษารายละเอียด ว่าจะนำมาปรับใช้ประโยชน์ และเป็นอำนาจตัดสินใจจากรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับตั้งแต่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษแพ้คดีคลองด่าน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา เนื่องจากกระบวนการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมายแล้ว คำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ของประชาชน สัญญาว่าจ้างไม่เป็นโมฆะ ตามที่กรมควบคุมมลพิษกล่าวอ้าง ทำให้ต้องเร่งหาแนวทางเจรจากับผู้ประกอบการเพื่อขอลดทอนการจ่ายค่าเสียหาย ให้ลดลงมากที่สุด

สำหรับมูลค่าความเสียหายจากคดีโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน แบ่งเป็นเงินต้นที่ใช้ในการฟ้องร้องคดีกว่า 5,270 ล้านบาท ดอกเบี้ยจ่ายจากเงินต้นทั้งหมด ตั้งแต่วันที่กรมควบคุมมลพิษยกเลิกสัญญา วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 เป็นต้นมา รวม 11 ปี ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดเป็นเงินประมาณ 4,348 ล้านบาท นับเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งหมดประมาณ 9,618 ล้านบาท ซึ่งกรมควบคุมมลพิษจ่ายเงินค่าก่อสร้างไปแล้วกว่า 21,023 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 90 เมื่อรวมมูลค่าความเสียหายทั้งโครงการสูงกว่า 30,642 ล้านบาท ยังไม่นับรวมค่าเสียโอกาสที่ล่าช้ามากว่า 10 ปี และค่าซ่อมแซมให้ใช้งานได้

ขณะนี้กรมควบคุมมลพิษอยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลขความเสียหายที่ชัดเจนทั้ง หมด กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้นสรุปตัวเลขความเสียหายชัดเจนให้รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรายงานนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป เพื่อขอให้พิจารณาอนุมัติงบกลางฯ มาชำระเงินให้ผู้ประกอบการตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดต่อไป