โรงไฟฟ้าถ่านหินตัวแปร ล้ม 5 แผนบูรณาการด้านพลังงาน (18 ส.ค. 58)
ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 18 สิงหาคม 2558
โรงไฟฟ้าถ่านหินตัวแปร ล้ม 5 แผนบูรณาการด้านพลังงาน
ปัญหาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาดกำลังการผลิต 870 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดกระบี่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กำลังเป็นโจทย์ใหญ่ที่อาจนำไปสู่การเกิดวิกฤติด้านพลังงานของประเทศในอนาคต อันใกล้นี้ เพราะไม่เพียงปัญหาการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ แต่ดูเหมือนว่าจะได้แรงสนับสนุนจากหน่วยงานของภาครัฐอย่างสำนักงานนโยบายและ แผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือสผ. ที่ออกมาระบุว่า สผ.และคณะผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมหรือEHIA จะยังไม่พิจารณาEHIAโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และท่าเทียบเรือคลองรั้ว ที่ใช้ในการขนถ่ายถ่านหิน จนกว่าคณะกรรมการไตรภาคี ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นจะมีข้อสรุปร่วมกันออกมา โดยไม่มีกรอบระยะเวลา การพิจารณาเสร็จสิ้นเมื่อใด
เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณชี้ให้เห็นว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ อาจจะต้องลากยาว เหมือนกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่เวลานี้ยังไม่สามารถสรุปออกมาได้ว่าจะได้ข้อสรุปเมื่อใด และหากคิดกรณีที่เลวร้ายสุดโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ก่อสร้างไม่ได้ ก็จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังโรงไฟฟ้าถ่านหินอื่นๆ อย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา ที่กฟผ.มีแผนอยู่ในขณะนี้ก็จะไม่สามารถก่อสร้างได้ตามไปด้วย
ทบทวนแผนพีดีพีใหม่
ผลที่ตามมาอะไรจะเกิดขึ้นดร.สราวุธ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงพลังงาน ชี้ให้เห็นว่า ข้อวิตกขณะนี้ หากโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ก็จะกระทบกับแผนบูรณาการด้านพลังงานระยะยาว 20 ปี (2558-2579) ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ประกอบด้วย 5 แผนหลัก ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือพีดีพี 2015 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลการใช้พลังงาน โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า จากแผนพีดีพีเดิม 20% เป็น 25% และสัดส่วนลดการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าลงให้เหลือ 30-40 % จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนสูงถึง 70 %
โดยในแผนดังกล่าวจะต้องมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 9 โรง คิดเป็นกำลังการผลิต 7,365 เมกะวัตต์ ซึ่งนับว่ายังเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่ง อย่างมาเลเซีย ที่มีสัดส่วนของเชื้อเพลิงถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า 49% และมีแผนจะเพิ่มขึ้นเป็น 57% อินโดนีเซีย จาก 59% เป็น 72% เวียดนาม จาก 29% เป็น 43% และฟิลิปปินส์ จาก 47% เป็น 70 % เป็นต้น
ขณะเดียวกันก็เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 15-20% หรือคิดเป็นกำลังการผลิต 12,205 เมกะวัตต์ จากแผนดีพีดีเดิมที่กำหนดไว้เพียง 8% เท่านั้นเมื่อสิ้นปี 2579 และเพิ่มสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศจากแผนเดิม 10% เป็น 15-20%
นำเข้าแอลเอ็นจีพุ่ง
เมื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นไม่ได้ ก็จะต้องมีการทบทวนแผนพีดีพีใหม่ทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงพลังงานยังไม่มีแผนสำรองที่จะดำเนินการในช่วงนี้ เพราะจะต้องรอดูความแน่นอนว่า กระบวนการอนุมัติอีเอชไอเอ จะมีความชัดเจนอย่างช้าสุดภายในไตรมาสแรกปีหน้า และสามารถเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าจนสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ทันช่วงปลาย ปี 2562 ได้หรือไม่ หากทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน ก็ต้องปรับแผนพีดีพี และจะมีผลไปถึงแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของกพช.ในช่วงเดือนกันยายนนี้ ซึ่งในแผนดีพีมีการกำหนว่าจะต้องมีโรงไฟฟ้าจาก๊าซธรรมชาติขึ้นมาอีกจำนวน 15 โรง คิดเป็นกำลังการผลิต 17,478 เมกะวัตต์ ภายในปี 2579
หมายความว่า แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ จะต้องมีการทบทวนใหม่ตามไปด้วย เพราะจะต้องปรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากถ่านหินเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯแทน จากเดิมที่ต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีที่มีราคาแพงกว่าก๊าซฯในอ่าวไทย ในช่วงปลายแผนพีดีพีที่ 20 ล้านตันต่อปี จะเพิ่มเป็น 35 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบันที่นำเข้าแอลเอ็นจีอยู่ประมาณ 3 ล้านตันต่อปี จุดนี้เองที่ทำให้กระทรวงพลังงานเป็นห่วงว่าจะกระทบกับค่าไฟฟ้าของประชาชน ที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากแผนเดิมที่กำหนดไว้ 4.587 บาทต่อหน่วย เพราะไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามาช่วยกระจายความเสี่ยง
“ปัจจุบันไทยมีการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าค่อนข้างสูง ดังนั้นในแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติระยะยาว จะพยายามจำกัดอัตราการลดลงของการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศ จากเดิมปีละ 11% ให้เหลือ 2-5% ต่อปี เพื่อเป็นการยืดอายุแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ ซึ่งแนวทางที่สำคัญคือการเพิ่มสัดส่วนการใช้ถ่านหิน และการปรับราคาก๊าซให้สะท้อนต้นทุนจริง เพื่อจูงใจให้มีการสำรวจและผลิตก๊าซในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นการลดการนำเข้า และก่อให้เกิดการจ้างงาน แต่เมื่อกระจายเชื้อเพลิงไปสู่ถ่านหินไม่ได้ วิกฤติพลังงานของประเทศจะตามมา เพราะขณะนี้พบว่าความมั่นคงทางพลังงานลดน้อยถอยลง เนื่องจากทรัพยากรที่ลดลง และการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่มากขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนพลังงานลดลง”
เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน
นอกจากนี้ จะยังกระทบไปถึงแผนพัฒนาพลังงานทดแทน ที่จะต้องปรับใหม่เช่นกัน ว่าจะสามารถพัฒนาให้มากขึ้นจากแผนที่ระบุไว้ 12,205 เมกะวัตต์ ได้หรือไม่ เพราะจะต้องพิจารณาความเหมาะสมว่า หากเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนขึ้นไปมาก ก็จะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าเช่นกัน เนื่องจากต้องใช้เงินอุดหนุนในการรับซื้อไฟฟ้าเข้ามา และต้องไปพิจารณาดูว่าศักยภาพพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศยังมีเพียงพอหรือ ไม่ด้วย โดยเฉพาะปัญหาสายส่งที่เป็นปัญหาว่าจะรองรับได้มากน้อยเพียงใดด้วย
อีกทั้ง แผนอนุรักษ์พลังงาน(2558-2579) ที่กพช. เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น ก็ต้องปรับเป้าหมายใหม่ จากที่กำหนดลดความเข้มการใช้พลังงานต่อหน่วยจีดีพีในปี 2579 จากแผนเดิม 25% เพิ่มเป็น 30% เมื่อเทียบกับปี 2553 และต้องปรับกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนการอนุรักษ์พลังงานให้เข้มข้นขึ้นจากที่ กำหนด ภายใต้ 3 กลยุทธ์ 10 มาตรการ 4 กลุ่มเศรษฐกิจ ได้แก่ มาตรการบังคับกลุ่มโรงงานและอาคารรวมถึงอาคารภาครัฐด้วยพระราชบัญญัติการส่ง เสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเพิ่มความเข้มข้นที่อาจจะนำค่าธรรมเนียมพิเศษในการใช้ไฟฟ้าส่วนเกิน มาตรฐานที่กระทรวงพลังงานกำหนดมาบังคับใช้ การกำหนดให้อาคารใหม่ที่จะก่อสร้างต้องคำนึงถึงการใช้พลังงานต่อพื้นที่ และมาตรการร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงประชาชนในการลงทุนเพื่อลดใช้ พลังงาน เช่น การเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์ การเปลี่ยนหลอดไฟแสงสว่างเป็นหลอด LED การปรับปรุงบ้านหรืออาคาร โรงงานให้ลดการใช้พลังงานลง เพื่อให้มีความเข้มข้นมากขึ้น ที่จะช่วยลดการนำเข้าพลังงานของประเทศให้มากที่สุด
ปรับแผนน้ำมันตามสถานการณ์
ในขณะที่แผนบริหารจัดการน้ำมันระยะยาวนั้น ซึ่งจะเสนอกพช.ในช่วงเดือนกันยายนนี้ โดยนโยบายของกระทรวงพลังงาน ต้องการสะท้อนต้นทุนราคาพลังงานทุกชนิด ซึ่งได้ดำเนินการในส่วนราคาน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) ไปแล้ว ยังคงเหลือการปรับราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการกำหนดมาตรฐานประหยัดพลังงานของยานยนต์ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนระบบการขนส่งเป็นระบบรางมากขึ้น เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงานสูงสุด พร้อมทั้งผลักดันพัฒนาการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น ไบโอดีเซลและเอทานอล หากโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นไม่ได้ต้องไปพิจารณาว่าจะต้องปรับในส่วนไหนบาง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์
ดังนั้น การที่กระทรวงพลังงานวางยุทธศาสตร์ของเชื้อเพลิงถ่านหินเอาไว้เพื่อที่จะ ช่วยลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติลง ถือเป็นการบริหารความเสี่ยงทางด้านพลังงาน และช่วยยืดอายุแหล่งปิโตรเลียมในประเทศให้ใช้ประโยชน์ได้นานขึ้น เป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต้นทุนด้านพลังงานดีขึ้น หากโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามแผน ก็จะส่งผลกระทบต่อแผนทั้ง 5 แผนที่จะต้องปรับทบทวนตัวเลขกันใหม่ทั้งหมด และจะกระทบต่อการนำเข้าพลังงานเพิ่มมากขึ้น จนไทยสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นเช่นเดียว กัน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3079 วันที่ 16 – 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558