รัฐบาลไทยเมินร่วม “อนุสัญญามินามาตะฯ”เครือข่ายต้านมลพิษไทย-เทศจี้เร่งทำภาคยานุวัติคุมสารปรอท (5 พ.ย. 57)
ประชาธรรม 5 พฤศจิกายน 2557
รัฐบาลไทยเมินร่วม “อนุสัญญามินามาตะฯ”เครือข่ายต้านมลพิษไทย-เทศจี้เร่งทำภาคยานุวัติคุมสารปรอท
วานนี้ 4 พ.ย. 57 มูลนิธิบูรณะนิเวศร่วมกับเครือข่ายประชาชนต้านมลพิษทั้งในไทยและต่างประเทศ เรียกร้องรัฐบาลไทยเร่งกู้หน้า ภายหลังจากที่ผู้แทนรัฐบาลไทยพลาดท่าลงนามร่วมอนุสัญญามินามาตะฯ ไม่ทันเวลา โดยต้องเร่งทำภาคยานุวัติ ดำเนินนโยบายและมีมาตรการป้องกันภัยจากสารปรอทตามอนุสัญญาฯ เพื่อควบคุมอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เตาเผาขยะ และบรรดาสินค้าที่มีสารปรอทเป็นส่วนประกอบ
เมื่อวันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน 2557 มูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับเครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (IPEN) กลุ่มกรีนพีช นักวิชาการ และตัวแทนชุมชนจากพื้นที่ต่างๆ เช่น ระยอง ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และกระบี่ ได้ร่วมกันจัดงานแถลงข่าวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งอนุวัติตามเนื้อความอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอท ซึ่งปัจจุบันมี 128 ประเทศทั่วโลกได้ลงนามไปแล้ว รวมถึงประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ตลอดจนกลุ่มประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ อินเดีย และสหภาพยุโรป เป็นต้น นอกจากนี้มี 7 ประเทศให้สัตยาบันแล้ว ขณะที่ประเทศไทยลงนามไม่ทันจึงพลาดโอกาสการเป็นประเทศภาคีของอนุสัญญาฉบับนี้ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และจะก่อให้เกิดอุปสรรคสำหรับการค้าระหว่างประเทศด้วย
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้แทนรัฐบาลจากกว่า 100 ประเทศเดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อร่วมเวทีประชุมระหว่างรัฐบาลที่จะมีการเจรจาเกี่ยวกับอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอท ภายใต้เป้าหมายร่วมกันพัฒนาแนวทาง และมาตรการต่างๆ ที่จะนำไปสู่การ “ปกป้องสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการปลดปล่อยสารปรอทและสารประกอบของปรอท” เช่น การควบคุมการปล่อยสารปรอทจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน เตาเผาขยะ และอุตสาหกรรมบางประเภท รวมทั้งการกำหนดนโยบายการเลิกผลิตและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้สารปรอทเป็นส่วนผสม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าขื่นขันก็คือรัฐบาลไทยที่เป็นเจ้าภาพกลับไม่ได้มีโอกาสที่จะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับนี้แล้ว เนื่องจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของรัฐบาลที่ขาดวิสัยทัศน์ ไม่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จนทำให้ลงนามรับรองอนุสัญญาฯ ไม่ทันเวลา
ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าวสรุปว่า “ความไม่รู้นี้ไม่จำเฉพาะแต่ที่ท่าตูมเท่านั้น แต่เป็นสถานการณ์ของทั้งประเทศ โดยที่ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งกำเนิดสารปรอทกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ มีการลักลอบทิ้งขยะอันตรายอยู่ทั่วไป แต่ไม่มีข้อมูลชัดเจนเพียงพอว่าคือที่ใดบ้าง ดังนั้นความเสี่ยงที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจึงเป็นความเสี่ยงที่อยู่ในความมืด แม้รัฐบาลไทยไม่ลงนามร่วมในอนุสัญญามินามาตะฯ แต่ก็สามารถปฏิบัติตามพันธะของอนุสัญญา เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการมีนโยบายการควบคุมสารปรอทอย่างจริงจัง และพัฒนามาตรการเพื่อให้คนไทยและสังคมไทยพ้นจากภัยสารปรอท
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างวันที่ 3-7 พฤศจิกายนนี้ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้จัดการประชุมเรื่องอนุสัญญามินามาตะฯ ขึ้น ณ สำนักงานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) กรุงเทพฯ
ด้านแมนนี่ คาลอนโซ ประธานร่วมของเครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (IPEN) กล่าวว่า สหประชาชาติและประเทศสมาชิกได้รับรองอนุสัญญามินามาตะฯ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ที่เมืองคุมาโมโต ประเทศญี่ปุ่น หลังจากที่ผู้แทนรัฐบาลต่างๆ รวมถึงผู้แทนรัฐบาลไทย ใช้เวลาเจรจาต่อรองนานกว่า 3 ปี จึงเป็นที่ยุติและให้การรับรอง ในส่วนของ IPEN กำลังสนับสนุนให้รัฐบาลประเทศต่างๆ อย่างน้อย 50 ประเทศ ให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ เพื่อทำให้อนุสัญญาฯ ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะส่งผลให้แต่ละประเทศต้องปรับปรุงกฎหมายของตนเพื่อควบคุมมลพิษจากสารปรอท และมีการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อศึกษาและสำรวจอย่างจริงจังว่า แต่ละประเทศมีอะไรเป็นแหล่งกำเนิดหรือแหล่งปล่อยสารปรอทสู่สิ่งแวดล้อมบ้าง เพื่อจะได้วางแผนป้องกันต่อไป และฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารปรอทเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น การสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด การพัฒนาแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด เป็นต้น
ทานิ โยอิจิ ผู้แทนจากกลุ่มผู้ป่วยโรคมินามาตะและกลุ่มพลเมืองผู้สนับสนุนอนุสัญญาสารปรอท ประเทศญี่ปุ่น กล่าวในการแถลงข่าวว่า อยากให้รัฐบาลแต่ละประเทศสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากพิษภัยของสารปรอท เนื่องจากกรณีโรคมินามาตะที่เกิดจากสารปรอทที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมนั้น เป็นโศกนาฏกรรมครั้งรุนแรงที่สุดของคนญี่ปุ่นและเป็นบทเรียนที่สร้างความสูญเสียแก่มนุษยชาติมากพอแล้ว อารยชนทุกคนต้องร่วมมือกันป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันนั้นขึ้นอีก ทั้งนี้เขาหวังว่า จะไม่มีที่ใดในโลกต้องเผชิญกับโรคมินามาตะอีก
ดร. อาภา หวังเกียรติ นักวิชาการจากวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ชี้ว่า อนุสัญญามินามาตะฯ นี้กำหนดให้มีการควบคุมแหล่งกำเนิดสารปรอท ซึ่งเป็นสารเคมีที่ตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม สะสมในห่วงโซ่อาหาร และก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยตามอนุสัญญาฯ จะควบคุมแหล่งกำเนิดทั้ง 2 ประเภท คือ แหล่งกำเนิดแบบจงใจ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่เติมสารปรอทในกระบวนการผลิต และอุตสาหกรรมที่เติมสารปรอทในกระบวนการผลิต เช่น เหมืองแร่ทองคำที่ใช้สารปรอทเป็นสารสกัดแร่ อุตสาหกรรมเคมีที่ใช้ปรอทเป็นสารเร่งปฏิกิริยา เช่น โรงงานผลิตไวนิล คลอไรด์ โมโนเมอร์ (VCM) และโรงงานคลอร์อัลคาไล และแหล่งกำเนิดแบบไม่จงใจ เช่น อุตสาหกรรมที่ระบุในภาคผนวก D ได้แก่ การใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรม โรงหลอมโลหะ (ตะกั่ว สังกะสี ทองแดง ทอง) เตาเผาขยะ เตาเผาปูนซีเมนต์ เป็นต้น
เช่นเดียวกับจริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าอนุสัญญาว่าด้วยสารปรอทเป็นเพียงมาตรการเบื้องต้นที่ทุกประเทศทั่วโลกจำเป็นอย่างยิ่งยวดต้องลงนาม
“ประเทศไทยเพิกเฉยต่อการจัดการสารปรอทมาตลอด ซึ่งนอกจากจะไร้ความรับผิดชอบต่อพลเมืองของประเทศตนเองแล้ว ยังเพิกเฉยต่อพลเมืองของประเทศอื่นด้วย เพราะการปนเปื้อนของสารปรอทไร้พรมแดน มาตรการที่เข้มงวดของการปล่อยสารปรอทตามอนุสัญญาคือการดักจับโดยพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมา แต่ความเป็นจริงแล้ว ประชาชนของประเทศไทยกำลังก้าวหน้ามากกว่านั้น จากการลุกขึ้นมาต่อสู้ให้รัฐบาลยกเลิกถ่านหินในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ของประเทศที่มีแนวโน้มจะเพิ่มการใช้ถ่านหินในประเทศมากขึ้นจากแผนพีดีพีเดิมเพราะนี่คือการปลอดปรอทอย่างแท้จริง” ผู้แทนจากกรีนพีซกล่าว
ด้านสมบุญ พัชรไพบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านที่ตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยมีการศึกษาการปนเปื้อนสารปรอทในปลาและในคนโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศเมื่อปลายปี 2555 กล่าวว่า ในหลายปีที่ผ่านมาชาวบ้านที่ท่าตูมเดือดร้อนจากปัญหามลพิษอุตสาหกรรมอย่างมาก ทั้งฝุ่นและขี้เถ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน กลิ่นเหม็น และน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ชาวบ้านทุกวันนี้กลัวอันตรายจากสารปรอทกันมาก แม้ว่า ในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรมมีการตั้งคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นมาแก้ปัญหาสารปรอทที่ตำบลท่าตูม แต่จนวันนี้ก็ยังไม่มีการฟื้นฟูคลองชลองแวงให้ปลอดภัยและมีสภาพกลับมาดีตามเดิม “ทุกวันนี้ เรายังไม่รู้กันเลยว่า มีโรงงานอะไรบ้างที่เป็นแหล่งปล่อยสารปรอทลงในแหล่งน้ำและทำให้ชาวบ้านเดือดกัน”.