ภาคประชาชนเร่งรัดลงนามอนุสัญญามินามาตะ (video clip - 4 พ.ย. 57)
Thai PBS 4 พฤศจิกายน 2557
ภาคประชาชนเร่งรัดลงนามอนุสัญญามินามาตะ 4 พ.ย. 57
ตลอดสัปดาห์นี้ มีเวทีประชุมระดับนานาชาติเกิดขึ้นในประเทศไทย คือเวทีเจรจาของรัฐบาลไทยเพื่อพิจารณาลงนามอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยการ จัดการสารปรอท ขณะที่ภาคีเครือข่ายต้านมลพิษจากทั้งในและต่างประเทศจัดเวทีคู่ขนาน เพื่อสะท้อนผลกระทบและยื่นข้อเสนอการจัดการผลกระทบจากสารปรอท
ผู้แทนกลุ่มผู้ป่วยโรคมินามาตะจากประเทศญี่ปุ่นเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่ง ให้สัตยาบันอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอท เพื่อนำไปสู่การลดการปล่อยสารปรอทสู่สิ่งแวดล้อม
นายทานิ โยอิจิ ผู้แทนผู้ป่วยและผู้เชี่ยวชาญด้าน การจัดการสิ่งแวดล้อมจากประเทศญี่ปุ่นเปิดเผยว่า หลังใช้เวลา 40 ปีลงพื้นที่ชุมชนรอบโรงงานอุตสาหกรรมที่ตรวจพบสารปรอทตกค้าง และช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมินามาตะในประเทศญี่ปุ่น ทำให้เห็นบทเรียนว่ารัฐบาลญี่ปุ่นต้องเสียงบประมาณมหาศาลเพื่อแก้ปัญหา เรื่องนี้ ขณะที่การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชุมชนยังไม่สามารถแก้ได้หมด ทั้งยังมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
แมนนี่ คาลอนโซ่ ประธานเครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวด ล้อม หรือ ไอพีอีเอ็น กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะเกิดขึ้นจากอนุสัญญาฉบับนี้ คือประชาชนจะได้รับสิทธิ์ในการรับรู้ข้อมูลความเสี่ยงด้านสุขภาพที่จะต้อง เปิดเผยสู่สาธารณะ เพราะเนื้อหาสำคัญในข้อที่ 17 ของอนุสัญญา คือรัฐต้องมุ่งเน้นจัดกิจกรรมและวางมาตรการประเมินความเสี่ยงและป้องกันผล กระทบด้วยการเขียนแผนแม่บทระดับชาติ รวมถึงให้ข้อมูลอย่างรอบด้านแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง
ปัจจุบัน แม้จะมี 128 ประเทศทั่วโลกที่ลงนามในอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยการจัดการสารปรอท แต่ในจำนวนนี้ มีเพียง 7 ประเทศเท่านั้นที่ให้สัตยาบัน จึงเป็นที่มาของการเดินหน้าผลักดันให้รัฐบาลอย่างน้อย 50 ประเทศ ให้สัตยาบันในอนุสัญญาฉบับดังกล่าว เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย และเป็นกลไกที่หนุนให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องปรับปรุงกฎหมายเดิมให้ครอบคลุมการจัดการสารปรอท รวมถึงวางแผนป้องกันผลกระทบในระยะยาว