ค้าน! กฎหมายแร่ฉบับ คสช. เครือข่ายประชาชนฯ จวกเอื้อประโยชน์นายทุน ยันต้านถึงที่สุด (23 ต.ค. 57)

ประชาไท 23 ตุลาคม 2557
ค้าน! กฎหมายแร่ฉบับ คสช. เครือข่ายประชาชนฯ จวกเอื้อประโยชน์นายทุน ยันต้านถึงที่สุด

เดชา คำเบ้าเมือง
ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)

องค์กรชาวบ้าน-เอ็นจีโอ ‘เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรแร่ประเทศไทย’ เดินหน้าค้าน หลังรัฐบาลประยุทธ์ อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.แร่ จวกฉวยโอกาสเร่งผลักดันกฎหมายเอื้อนายทุน ผลกระทบเดิมยังไม่แก้ ไม่สมกับคำว่าคืนความสุขให้ประชาชน
 
22 ต.ค. 2557 องค์กรชาวบ้านในพื้นที่ผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ และองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ ที่ทำงานติดตามนโยบายการจัดการทรัพยากรแร่ และปัญหาการทำเหมืองแร่ที่มีผลกระทบต่อชุมชน ในนาม ‘เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรแร่ประเทศไทย’ ออกมาคัดค้านการผ่านร่างกฎหมายแร่
 
หลังจากเมื่อวาน (21 ต.ค.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งนำโดยพลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประชุม ครม. และมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ตามลำดับ
 
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ... เป็นการยกเลิกกฎหมายว่าด้วยแร่ และกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ทุกฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่หลายประเด็น อาทิ การลดขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาตให้สั้นลง ผู้ประกอบการสามารถรับบริการขออนุญาตทำเหมืองแล้วเสร็จในจุดเดียว หรือ One stop service กำหนดอัตราค่าภาคหลวงแร่ใหม่และจัดสรรผลประโยชน์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น
 
นอกจากนี้ยังมีการแบ่งประเภทและการออกประทานบัตรการทำเหมืองแร่ออกเป็น 3 ประเภท คือ การทำเหมืองประเภทที่ 1 ได้แก่ การทำเหมืองในเนื้อที่ไม่เกินหนึ่งร้อยไร่ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตจังหวัดที่มีการทำเหมืองเป็นผู้ออกประทานบัตร การทำเหมืองประเภทที่ 2 ได้แก่ การทำเหมืองในเนื้อที่ไม่เกินหกร้อยยี่สิบห้าไร่ ให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เป็นผู้ออกประทานบัตร
 
และการทำเหมืองประเภทที่ 3 ได้แก่ การทำเหมืองในทะเลการทำเหมืองใต้ดินตามที่กำหนดในหมวด 5 การทำเหมืองที่ไม่ใช่การทำเหมืองประเภทที่ 1 หรือการทำเหมืองประเภทที่ 2 ให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ออกประทานบัตร ซึ่งปัจจุบันกฎหมายแร่ไม่ได้มีการแบ่งประเภทและรัฐมนตรีเป็นผู้ออกประทานบัตร
 
นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน เปิดเผยว่า ตนมีเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับการผ่านร่างกฎหมายแร่ของครม. ได้แก่ 1.รัฐบาลประยุทธ์ไม่ควรเร่งรีบฉกฉวยโอกาสผลักดันออกกฎหมายแร่ในขณะนี้ แต่ควรจะมีการประเมินศักยภาพแร่ทั้งประเทศ ทุกชนิด ว่ามีปริมาณเท่าไร อยู่ที่ไหนบ้าง และมีการใช้ประโยชน์อย่างไร แล้วประกาศให้สาธารณะทราบ 2.การกระจายอำนาจแบ่งประเภทการออกประทานบัตรตามร่างกฎหมายแร่ฟังเหมือนจะดูดี หากแต่เป็นการกระจายการคอรัปชั่นมาสู่ทุกกระบวนการ ซึ่งในอนาคตนายทุนจะวิ่งเข้าหาผู้ว่าฯ เข้าหาท้องถิ่นได้ง่ายขึ้น 3.ปัญหาของการทำเหมืองคือเรื่องผลประโยชน์ซึ่งประเทศชาติจะได้รับยังไม่มีความชัดเจน
 
“การเร่งรีบผ่านกฎหมายแร่มันไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการเมือง เพราะขณะนี้ประเทศไทยกำลังพูดถึงการปฏิรูปการเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม ผมจึงเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นให้ผ่าน อย่างน้อยก็ควรให้มีรัฐธรรมนูญที่ชัดเจนก่อน และให้กฎหมายแร่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ให้มีการเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับร่างกฎหมาย” นายสุวิทย์ กล่าว
 
นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของเครือข่ายเหมืองฯ จะติดตามเนื้อหาของร่างกฎหมายแร่ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และจะมีการคัดค้านการออกกฎหมายแร่ในทุกกระบวนการอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
 
ด้านนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ เลขานุการกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย กล่าวว่า เดิมทีการทำเหมืองแร่ทั้งหมดก็มีผลกระทบมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะแร่ทองคำ และพิกัดอัตราก็ไม่เป็นธรรม ดังนั้นการที่ ครม. มีมติผ่านร่างกฎหมายแร่ ตนจึงเห็นว่าจะเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการสามารถขออนุญาตได้เร็วขึ้น ซึ่งปัญหาผลกระทบก็จะมีมากขึ้น สังคมและสิ่งแวดล้อมก็จะเสื่อมโทรมเร็วขึ้นตามไปด้วย เหมือนกับที่นี่ที่ทหารกำลังเข้าควบคุมแร่ทองคำเพื่อให้ดำเนินการได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น
 
นางสมหมาย หาญเตชะ ประธานกลุ่มคนรักษ์บ้านแหง พื้นที่การขอประทานบัตรเหมืองแร่ลิกไนต์ ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายแร่ ที่ครม.ผ่านความเห็นชอบ โดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายข้าราชการ ซึ่งจะทำให้กระบวนการอนุมัติ อนุญาตทำเหมืองง่ายขึ้น และหลบเลี่ยงการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทั้งนี้ หากยกตัวอย่างว่ามีการขอทีละ 100 ไร่ๆ หลายๆ แปลง โดยผู้ว่าฯ สามารถอนุมัติได้เลยมันก็จะกลายเป็นพัน เป็นหมื่นไร่ มีปัญหาผลกระทบตามมามากมาย
 
สุดท้ายนางมณี บุญรอด กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ชาวบ้านจากพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ซึ่งเป็นเหมืองใต้ดิน อยู่ระหว่างการยื่นคำขอประทานบัตรทำของผู้ประกอบการ กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต่างๆ ก็มีสาเหตุมาจากการออกกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้นายทุน ซึ่งปัจจุบันผลกระทบก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข แล้วรัฐบาลยังจะมาผลักดันกฎหมายแร่อีก ซึ่งไม่มีความเป็นธรรมและไม่สมกับคำว่าจะคืนความสุขให้กับประชาชน และเมื่อรัฐบาลไม่ฟังเสียงของประชาชน พวกเราก็จะต่อสู้คัดค้านจนถึงที่สุด