รณรงค์ป้องกันสารตะกั่วในเด็ก ตอน2 (video clip - 22 ต.ค. 57)

Thai PBS 22 ตุลาคม 2557
รณรงค์ป้องกันสารตะกั่วในเด็ก ตอน2

เป็นสัญญาณดีที่ผู้ผลิตสีบางรายบอกว่า พร้อมจะควบคุมสารตะกั่วในสี โดยเฉพาะสีที่ใช้กับเครื่องเล่นเด็กถือว่าน่าเป็นห่วงที่สุด นี่เป็นความพยามของหลายหน่วยงานทั้งกระทรวงมหาดไทย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ตั้งเป้าควบคุมให้ค่าสารตะกั่วในสีเป็นมาตรฐานสากล

หนังสือราชการที่ระบุผลกระทบจากสารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีและของเล่น โดยปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้กำชับ สถานศึกษาเลือผลิตภัณฑ์สี ของเล่น ที่ได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันปัญหาการได้รับพิษตะกั่วในเด็กนักเรียน และหนังสือที่ส่งไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้รับทราบถึงผลกระทบจากตะกั่ว ซึ่งนี่เป็นบางส่วนของความพยายามลดปัจจัยเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพในเด็กเยาวชนจากสารตะกั่ว ในช่วงที่ผ่านมา ที่ชี้ให้เห็นว่าได้รับความใส่ใจมากขึ้น เช่นเดียวกับประกาศของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือ สมอ. ที่ล่าสุดเตรียมบังคับให้ผลิตภัณฑ์สีน้ำมันเคลือบเงา หรือ สีเคลือบแอลคีด ต้องมีส่วนผสมตะกั่วไม่เกิน ร้อยละ 0.01 หรือ 100 พีพีเอ็ม

ส่วนนางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้จัดการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ยอมรับว่ามาตรฐานที่เกิดขึ้นใหม่ มีส่วนลดปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตในส่วนผู้ประกอบการสี แต่ยังมองว่า หากเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากกว่า

ขณะที่ผู้ผลิตสีต่างขานรับในประกาศฉบับใหม่ของ สมอ. โดยนายสุชาติ เตียนโพธิทอง กรรมการผู้จัดการ บ.เครโดอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นอุปนายกสมาคมผู้ผลิตสีไทย ยอมรับว่า การยกเลิกใช้ตะกั่วเป็นส่วนประกอบของสีเพื่อความคงทน และคุณภาพของสี อาจเพิ่มต้นทุนร้อยละ 20 - 30 แต่เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงจึงพร้อมปฏิบัติตาม ไม่ต่างจากผู้ผลิตสีรายใหญ่ ที่ต่างยอมรับว่าไม่จำเป็นต้องปรับแนวทางการผลิตตามประกาศของ สมอ. เพราะที่ผ่านมาไม่ใช้ตะกั่วเป็นส่วนประกอบในสี ทั้งนี้อยากเห็นการบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เตรียมกำหนดให้ผลิตภัณฑ์สีเป็นสินค้าควบคุมฉลาก เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้ผู้บริโภค โดยจะกำหนดเนื้อหาควบคุมให้สอดคล้องกับประกาศ สมอ. โดยในเร็วๆนี้จะทำประชาพิจารณ์ ถามความเห็นผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสี เพื่อให้มีแนวทางควบคุมที่เหมาะสมร่วมกัน