ภาครัฐเร่งดันกฎหมายคุมสารตะกั่วในสี ป้องกันเด็กไทยปัญญาอ่อนจากพิษตะกั่ว (22 ต.ค. 57)
ประชาไท 22 ตุลาคม 2557
ภาครัฐเร่งดันกฎหมายคุมสารตะกั่วในสี ป้องกันเด็กไทยปัญญาอ่อนจากพิษตะกั่ว
กระทรวงสาธารณสุขจับมือกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมผลักดันมาตรฐานคุมสารตะกั่วในสีทาอาคาร ลดปัญหาพิษตะกั่วที่ต้นเหตุ นักวิจัยเผยผลสำรวจ 129 โรงงานสี พบผู้ประกอบการยินดีทำตามกฎหมายหากรัฐชัดเจนทางนโยบายและตรวจสอบลงโทษผู้ฝ่าฝืน
22 ต.ค. 2557 กิจกรรมสัปดาห์ป้องกันภัยจากพิษตะกั่ว ปี 2557 (Lead Poisoning Prevention Week of Action, Thailand 2014) ในหัวข้อ ‘ปกป้อง IQ เด็กไทย จากภัยสารตะกั่ว’ จัดโดยความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์วิจัยเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี และแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ห้องจักรพันธุ์ อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินี
กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรณรงค์ตลอดสัปดาห์ใน 30 กว่าประเทศทั่วโลก นำโดย “เครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการเพิกถอนสารตะกั่วในสีทาอาคาร” (GAELP) ก่อตั้งโดยองค์การอนามัยโลกและโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ
ดันทั่วโลกเลิกใช้สารตะกั่วผลิตสี ภายใน 6 ปี ข้างหน้า
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข แสดงความห่วงใยถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่มีเด็กป่วยด้วยโรคปัญญาอ่อนจากพิษตะกั่ว กว่า 6 แสนคนทุกปีจากทั่วโลก และเด็กไทยก็เป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงจากภัยของพิษตะกั่วเช่นกัน ซึ่งแหล่งกำเนิดที่สำคัญที่สุดในขณะนี้คือ สารตะกั่วที่ผสมอยู่ในสีทาบ้านหรือสีตกแต่งอาคาร ซึ่งเด็กมักได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายจากการกินแผ่นสีที่ลอกออกมา หรือฝุ่นสีที่หลุดร่อนจากผนังต่างๆ และไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ร่างกายของเด็กเล็กแตกต่างจากผู้ใหญ่คือ เด็กเล็กสามารถย่อยและดูดซึมสารตะกั่วได้ดีกว่าผู้ใหญ่ และเด็กยังเป็นวัยที่อ่อนไหวเป็นพิเศษ เนื่องจากสารตะกั่วจะเข้าไปทำลายเซลล์สมองของเด็กที่กำลังพัฒนา ซึ่งจะทำให้เด็กมีอาการผิดปกติทางสมองได้ แม้ได้รับสารตะกั่วในปริมาณเพียงเล็กน้อย
ดร.ลีวีอู เวดราสโก ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่าพิษตะกั่วเป็นต้นเหตุของปัญหาทางสุขภาพที่หลากหลาย ทั้งโรคโลหิตจาง โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคของระบบสืบพันธุ์ อีกทั้งพัฒนาการทางสติปัญญาบกพร่อง และความผิดปกติเชิงพฤติกรรม เช่น โรคสมาธิสั้น ทั้งที่พิษตะกั่วเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ ด้วยเหตุนี้ องค์กรอนามัยโลกจึงต้องการให้ประเทศสมาชิกทุกแห่งยกเลิกการใช้สารตะกั่วในการผลิตสี
นายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ตระหนักถึงอันตรายของสาระกั่วเป็นอย่างยิ่ง จึงได้จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ให้สีเคลือบเงามีปริมาณสารตะกั่วได้ไหม่เกิน 100 ส่วนในล้านส่วน (พีพีเอ็ม) จากเดิม 600 พีพีเอ็ม และขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงเป็นมาตรฐานบังคับด้านความปลอดภัยเรื่องโลหะหนักเป็นพิษ ซึ่งกำหนดให้มีสารตะกั่ว ปรอท และแคดเมียม ไม่เกิน 100 พีพีเอ็ม ซึงเป็นไปตามพันธกิจของรัฐบาลไทยที่ได้ร่วมลงมติก่อตั้งเครือข่ายความร่วมมือเพื่อเพิกถอนสารตะกั่วจากสี (GAELP) ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยการจัดการสารเคมีอย่างปลอดภัย ครั้งที่ 2
“ผมยินดีอย่างยิ่งที่ทราบว่าองค์การอนามัยโลกและโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ได้ร่วมผลักดันและกำหนดเป้าหมายให้ยกเลิกการใช้สารตะกั่วในสีในทุกประเทศทั่วโลกภายใน พ.ศ. 2563 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว
สารตะกั่วมักถูกใช้เป็นวัตถุดิบในสีน้ำมันทาอาคารและสีน้ำมันตกแต่ง โดยมักอยู่ในรูปของผงสีโทนสด เช่น สีเหลือง สีแดง สีเขียว ในบางกรณี สารตะกั่วยังถูกนำมาเป็นส่วนผสมของสารเร่งแห้งและสารเร่งปฏิกิริยาทางเคมี แต่เนื่องจากสารตะกั่วในสีเป็นต้นเหตุของโรคพิษตะกั่วในเด็กจำนวนมาก ปัจจุบัน รัฐบาลกว่า 40 ประเทศทั่วโลกมีกฎหมายเลิกใช้สารตะกั่วในสี และล่าสุด เมื่อธันวาคม 2556 ฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ออกกฎหมายห้ามผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์สี บรรจุภัณฑ์อาหาร ตลอดจนสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีสารตะกั่วเจือปน ภายในปี 2559
นักวิจัยเผยผลสำรวจ ชี้โรงงานสียินดีทำตามกฎหมายหากรัฐมีนโยบายชัด
นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า สมอ. ได้กำหนดมาตรฐานควบคุมปริมาณสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคารตั้งแต่ปี 2538 อันเป็นปีเดียวกันที่ประเทศไทยออกกฎหมายเพิกถอนสารตะกั่วจากน้ำมันเชื้อเพลิง แต่เนื่องจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์สีเป็นเพียงมาตรฐานสมัครใจ จึงทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ปฏิบัติตาม เกือบ 30 ปีต่อมา ผลการสำรวจสีน้ำมันทาอาคาร 120 ตัวอย่างโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศเมื่อปี 2556 พบสีน้ำมันทาอาคารร้อยละ 79 มีสารตะกั่วปนเปื้อนสูงกว่ามาตรฐาน มอก. แบบสมัครใจ ซึ่งกำหนดให้มีสารตะกั่วเจือปนได้ไม่เกิน 100 ส่วนในล้านส่วน (พีพีเอ็ม)
นอกจากนี้ พบผลิตภัณฑ์สีจำนวนมากที่แสดงฉลาก ‘ไร้สารตะกั่ว’ แต่ตรวจพบสารตะกั่วเจือปนสูง ตั้งแต่ 230 พีพีเอ็ม ถึง 56,000 พีพีเอ็ม
ดร.ปนันดา จันทร์สุกรี รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำในสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการสีขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวน 129 ราย พบว่าร้อยละ 95 ยินดียกเลิกใช้สารตะกั่วเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์สีหากรัฐประกาศมาตรฐานบังคับ และผู้ประกอบการเล็งเห็นประโยชน์ของมาตรฐานบังคับว่าจะช่วยป้องกันผลกระทบทางสุขภาพต่อพนักงานและลูกค้า อีกทั้งจะช่วยให้ภาพลักษณ์ของบริษัทดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการสีเรียกร้องให้รัฐออกมาตรการที่ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากมาตรฐานสมัครใจไร้สภาพบังคับ อีกทั้งยังเรียกร้องให้รัฐตรวจสอบผลิตภัณฑ์อย่างเข้มงวด มีบทลงโทษผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และควบคุมการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานจากประเทศเพื่อนบ้าน
สธ.ร่วม อก.ดันกฎหมายคุมปริมาณสารตะกั่วในสี ลดปัญหาที่ต้นเหตุ
“ผมขอยืนยันว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะศึกษาเพิ่มเติมเพื่อพัฒนามาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้สามารถปรับเปลี่ยนสู่การผลิตสียุคใหม่ที่ปลอดสารตะกั่ว” นายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญและดำเนินการยกร่างมาตรฐานบังคับ เพื่อควบคุมปริมาณสารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีน้ำมันทาอาคาร ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางขององค์การอนามัยโลกและโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ
“ผมหวังว่าการจัดกิจกรรมสัปดาห์ป้องกันภัยจากพิษตะกั่วในครั้งนี้ จะส่งผลให้ทุกภาคส่วนเกิดความตระหนัก เข้าใจถึงอันตราย และร่วมมือดำเนินการผลักดันนโยบายควบคุมการใช้ตะกั่วในสีทาอาคารให้เป็นมาตรฐานบังคับในอนาคตอันใกล้ เพื่อเป็นการควบคุมตะกั่วที่ต้นกำเนิด อันจะเป็นการป้องกันเด็กให้ห่างไกลพิษสารตะกั่ว มีต้นทุนสมองและต้นทุนสุขภาพที่ดีเป็นอนาคตของชาติต่อไป” นพ.ศิริวัฒน์ กล่าว
นายชัยสิทธิ์ บุญกัน นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในการประชุมวันที่ 29 ต.ค.นี้ คณะกรรมการว่าด้วยฉลากจะพิจารณากำหนดให้สีตกแต่งและสีทาอาคารเป็นสินค้าควบคุมฉลาก เพื่อบังคับให้ภาชนะบรรจุสีแสดงข้อมูลปริมาณสารตะกั่วและคำแนะนำเรื่องอันตรายทางสุขภาพจากสารตะกั่ว เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค