คำสัญญา "นายกฯตู่-เมียนมาร์" จุดพลุ "อิตาเลียนไทย" ลงทุนทวาย (17 ต.ค. 57)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 17 ตุลาคม 2557
คำสัญญา "นายกฯตู่-เมียนมาร์" จุดพลุ "อิตาเลียนไทย" ลงทุนทวาย
ด้วยพื้นที่ใหญ่มหึมา 196 ตารางกิโลเมตร จึงเป็นที่จับตาว่า "โปรเจ็กต์ทวาย" ที่สืบทอดมาจาก "รัฐบาลเพื่อไทย" มาถึงยุค "รัฐบาลประยุทธ์" จะได้ไปต่อหรือไม่
ทั้งนี้ "ITD-บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์" ผู้ริเริ่มโครงการแต่แรกเริ่มต้อง ถอนตัวและปรับสถานะตัวเองเป็นแค่ผู้ลงทุน หลังจากออกแรงเข็นอยู่หลายปี แต่โครงการยังไม่เปรี้ยงอย่างที่คาดหวัง เหตุเพราะระหว่างทางยังติดปัญหาเม็ดเงินลงทุนก้อนโตร่วมแสนล้านบาท ที่สถาบันการเงินไม่เซ็นปล่อยกู้ให้สักทีรวมถึงการโยกย้ายคนออกจากพื้นที่โครงการหรือ Relocation ที่มีอยู่จำนวนมาก ทำให้การรันโครงการไม่สามารถทำได้ง่ายดายอย่างที่คิด
ขณะที่การไปเยือนประเทศเมียนมาร์เมื่อ 9-10 ตุลาคมที่ผ่านมาของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย ไฮไลต์ก็เพื่อตอกย้ำสัญญาพันธมิตรในการพัฒนาโปรเจ็กต์ทวาย ระหว่างรัฐบาลไทย-เมียนมาร์ ซึ่งทำร่วมกันไว้เมื่อปีที่แล้ว
อีกทั้งคาดว่าการไปเยือนเมียนมาร์ครั้งนี้จะเป็นการเร่งเร้า "รัฐบาลเมียนมาร์" พิจารณาข้อเสนอของเอกชนไทย ซึ่งก็คือ "อิตาเลียนไทย" ที่ได้ยื่นประมูลโครงการพัฒนาระยะแรกไปก่อนหน้านี้ให้ลุล่วงไปด้วยดี
"อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การหารือร่วมกับรัฐบาลเมียนมาร์เป็นไปด้วยดี รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศยืนยันจะเดินหน้าโครงการทวายต่อ เพียงแต่จะตัดพื้นที่ 27 ตารางกิโลเมตร มาพัฒนาก่อนเป็นลำดับแรก
โดยรัฐบาลไทยเสนอ สนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานภายในโครงการ กับทั้งเจรจารัฐบาลญี่ปุ่นมาร่วมลงทุนด้วยในนิติบุคคลเฉพาะกิจหรือ SPV ที่รัฐบาลไทยและเมียนมาร์ตั้งขึ้นมา
ส่วนการพัฒนาล่าสุด ปรากฏว่าเหลือบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ร่วมมือกับนิคมอุตสาหกรรมโรจนะรายเดียวยื่นประมูล ซึ่งอยู่ระหว่างรัฐบาลเมียนมาร์พิจารณาข้อเสนอโครงการ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเดือนตุลาคม และเซ็นสัญญาได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยรัฐบาลเมียนมาร์ยืนยันว่าข้อเสนอของอิตาเลียนไทยฯไม่น่าจะมีปัญหา
"ทางเราได้คุยกับรัฐบาลเมียนมาร์ว่าภาครัฐควรจะสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานให้ ก่อนทั้งฝั่งไทยและเมียนมาร์ โครงการถึงจะเกิดได้ ถ้าเอกชนลงทุนคนเดียวคงไม่ไหว ก็ให้รัฐบาลเมียนมาร์พิจารณาต่อว่าจะทำยังไง เพราะโครงการใหญ่มาก รัฐบาลจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนโครงการถึงจะไปได้"
สำหรับ การพัฒนาระยะเริ่มแรก "อาคม" บอกว่า รูปแบบการพัฒนาคงเหมือนเดิมไม่ได้ปรับเปลี่ยนใหม่ กล่าวคือเป็นการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เพื่อสร้างความมั่นใจให้เอกชนเข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เช่น ท่าเรือขนาดเล็ก โรงไฟฟ้า แหล่งน้ำธรรมชาติ ถนนแอสฟัลต์ขนาด 2 ช่องจราจร เป็นต้น คาดว่าใช้เงินลงทุน 4-5 หมื่นล้านบาท
ขณะที่การพัฒนาเฟส 2 "อาคม" ย้ำว่า จะต้องเริ่มต้นไปพร้อมกับเฟสแรก ล่าสุด ทางรัฐบาลญี่ปุ่นแม้ว่าขอถอนตัวจากโครงการระยะแรก ในเวลาเดียวกันก็กำลังศึกษารายละเอียดและความเหมาะสมโครงการระยะสองควบคู่ กันไปด้วย เนื่องจากทางญี่ปุ่นมีความสนใจลงทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในเฟสที่ 2 มากกว่า
ทั้งนี้ทั้งนั้น แนวโน้มความต้องการลงทุนของญี่ปุ่นตั้งอยู่บนเงื่อนไขว่าจะต้องมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้พร้อมสรรพเสียก่อน ดังนั้น จากท่าทีของ "ญี่ปุ่น" ในท่วงทำนองย่ำเท้าอยู่กับที่ ทำให้สถานะโครงการทวายตอนนี้ ภาพที่ออกมาจึงมีแต่รัฐบาล "เมียนมาร์-ไทย" สองแรงแข็งขันจุดพลุโครงการร่วมกัน โดยมี "อิตาเลียนไทย" เป็นผู้อาสาบุกเบิกการพัฒนานำร่องบนพื้นที่ 27 ตารางกิโลเมตร เฟสแรก