ส.อ.ท.ดันโรงงานสู่ Eco Factory เพื่อนชุมชน (15 ต.ค. 57)
ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 15 ตุลาคม 2557
ส.อ.ท.ดันโรงงานสู่ Eco Factory เพื่อนชุมชน
ส.อ.ท.เข็นโรงงานกว่า 1 หมื่นราย ใน 5 จังหวัด เข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หวังหนุนนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมผลักดันการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้ ได้ภายในปี 2561 ประเดิมเอกชน 2 ราย ได้รับใบรับรองแล้ว ขณะที่ กลุ่มเพื่อนชุมชน ดึง 120 โรงงาน ในนิคมฯมาบตาพุดเข้าร่วมก่อนขยายความร่วมมือ โดยปีหน้าทุ่มงบอีกกว่า 50 ล้านบาท ผักดันกิจกรรม
นางสาวพรรรัตน์ เพชรภักดี ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากกที่ส.อ.ท.ได้ร่วมกับทุกภาคส่วนได้ออกหลักเกณฑ์โดยมีกรอบในการดำเนินงาน ทั้ง 14 ด้าน ได้แก่ 1.การใช้วัตถุดิบ 2.การใช้พลังงาน 3.การจัดการด้านขนส่งและโลจิสติกส์ 4.ห่วงโซ่อุปทานสีเขียว 5.การจัดการพื้นที่และภูมิทัศน์สีเขียว 6.การจัดการสารเคมีและวัตถุอันตราย 7.การจัดการน้ำและน้ำเสีย 8.การปล่อยก๊าซเรือนกระจก 9.การจัดการมลพิษทางอากาศ 10.การจัดการกากของเสีย 11.ความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน 12.ความหลากหลายทางชีวภาพ 13.การสร้างอาชีพและกระจายรายได้ให้กับชุมชน และ 14.การเปิดเผยข้อมูลและรับผิดชอบต่อชุมชนโดยรอบ
ทั้งนี้ เพื่อให้โรงานอุตสาหกรรมต่างๆ นำไปปฏิบัติเพื่อเข้าสู่การเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศหรือ Eco Factory ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง เป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงอุตสาหกรรมวางไว้ในปี 2561
ขณะที่การดำเนินงานของ ส.อ.ท.นั้น ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2559 จะต้องผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมใน 5 จังหวัดดังกล่าว เข้าสู่การเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้ได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนโรงงานที่ มีกว่า 1 หมื่นแห่ง และหลังจากนั้นจะขยายความร่วมมือไปยังโรงงานอื่นๆ ต่อไป ซึ่งจากการทดลองและประเมินโรงงานที่ผ่านเกณฑ์แล้วมีจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท ระยองโอเลฟินส์ จำกัด และบริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด และยังมีโรงงานที่อยู่ระหว่างการประเมินอีกประมาณ 40-50 โรงงาน
นายชลณัฐ ญาณารณพ นายกสมาคมเพื่อนชุมชน เปิดเผยว่า สำหรับการก้าวสู่ปีที่ 5 ของสมาคมในปี 2558 ทางสมาคมมีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นเมือง อุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างจริงจังให้สำเร็จภายในปี 2561 โดยจะดึงสมาชิกที่มีอยู่จำนวน 42 โรงงาน มาเป็นต้นแบบโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ( Eco Factory) ภายใต้หลักเกณฑ์ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ที่ได้พัฒนาขึ้นมา และได้รับการรับรองจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม และหลังจากนั้น จะขยายความร่วมมือไปยังโรงงานต่างๆ ที่มีอยู่ในนิคมฯมาบตาพุด 120 แห่ง ภายในปี 2560
โดยเบื้องต้นทางสมาคมจะกำหนดแผนการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่าง เป็นรูปธรรม ซึ่งจะเริ่มจัดเวที พบปะชุมชนจำนวน 52 ชุมชน เพื่อรับฟังความคิดเห็น พร้อมทั้งสื่อสารเผยแพร่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในชุมชนเกิดความรู้ และจะมีการสำรวจทัศนคติของผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ต่อการพัฒนามาบตาพุด พร้อมกันนี้ ยังเตรียมร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมให้เกิดต้นแบบชุมชนเชิงนิเวศและโรงเรียนเชิงนิเวศ เช่น ส่งเสริมการดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชนและโรงเรียนพร้อมปลุกจิตสำนึกและ เผยแพร่ให้ความรู้ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชนและนักเรียน จากนั้นจะขยายความร่วมมือไปยังชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อสร้างเครือข่ายชุมชนเชิงนิเวศทั้งระบบ ส่งผลให้เกิดการยกระดับมาบตาพุดให้เป็นต้นแบบเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town)ได้ตามเป้าหมายภายในปี 2561 พร้อมร่วมสนับสนุนให้เกิดการขยายพื้นที่ไปยังเขตอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั่วประเทศด้วย
ส่วนกานดำเนินงานของสมาคม ในปี 2558 นั้น คาดว่าจะใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อมาผลักดันกิจกรรมต่าง จากช่วง 4 ปีที่ผ่านมาได้ใช้งบไปแล้วกว่า 200 ล้านบาท