บีกริมขอต่ออายุโรงไฟฟ้าSPP เล็งโปรเจกต์ตปท.เมียงยางพม่า (16 ต.ค. 57)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 16 ตุลาคม 2557
บีกริมขอต่ออายุโรงไฟฟ้าSPP เล็งโปรเจกต์ตปท.เมียงยางพม่า
บี กริม พาวเวอร์ฯ ชง ก.พลังงานต่อสัญญา-เปิดรับซื้อไฟจากกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม-ไอน้ำ ดึงโรงงานใช้ไอน้ำไม่ให้ย้ายฐานผลิต จี้ปรับราคาขายก๊าซใหม่ รายเล็กซื้อแพงกว่ารายใหญ่ และกฟผ.วางเป้า 5 ปี เพิ่มกำลังผลิตแตะ 5,000 เมกะวัตต์ ล่าสุดลุยประมูลโรงไฟฟ้าที่เมียนมาร์
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท บี กริม พาวเวอร์ จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ"ว่า ขณะนี้สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ซึ่งทางบริษัทเป็นสมาชิกอยู่ ได้ทำเรื่องเสนอไปยังกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้มีการพิจารณาทบทวนต่อสัญญาอายุโรงไฟฟ้าเดิม และเพิ่มกำลังผลิตใหม่ที่มาจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม-ไอน้ำ หรือ Cogeneration ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ประเภทโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ของประเทศ หรือ PDP (Power Development Plan) ที่อยู่ในระหว่างจัดทำ เนื่องจาก 1) เทคโนโลยีในปัจจุบันพัฒนาประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้ก๊าซในปริมาณเท่าเดิม แต่ได้กำลังผลิตเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนลงได้มากกว่า 300 ล้านบาท/โรง 2) โรงงานในหลายพื้นที่ยังต้องการใช้ไอน้ำในระบบผลิต หากไม่มีการต่ออายุหรือเพิ่มโรงใหม่โรงงานอาจย้ายฐานการผลิตไปเพื่อนบ้านแทน
นอกจากนี้ ต้องการให้มีการปรับเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติของกลุ่ม SPP ด้วย ที่มติของคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กพช.) ระบุให้ SPP ซื้อจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และกำหนดราคาไว้ที่ 320 บาท/ล้านบีทียู ในขณะที่ราคาขายก๊าซให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ที่เพียง 200 กว่าบาท/ล้านบีทียู เท่ากับว่ากลุ่ม SPP ซื้อก๊าซในราคาที่แพงกว่า แต่จำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ประกอบการต่าง ๆ ในราคาที่ใกล้เคียงกับ IPP ที่ประมาณ 3.20-3.50 บาท/หน่วย ซึ่งหากปรับราคาก๊าซให้มีความเป็นธรรมมากกว่านี้จะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ 10 สตางค์/หน่วย
"โรงไฟฟ้า Cogeneration ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะขายตรงให้กับโรงงานต่าง ๆ โดยตรงในพื้นที่ เช่น โรงงานผลิตรถยนต์ TOYOTA การใช้เชื้อเพลิงคุ้มค่ามากที่สุดคือได้ทั้งไฟฟ้าและไอน้ำ นอกจากนี้ การขยายตรงให้ลูกค้ายังช่วยลดการสูญเสียในระบบ ในกรณีที่ต้องส่งกระแสไฟฟ้าไปยังพื้นที่ห่างไกลด้วย ใช้เวลาการก่อสร้างเพียง 21 เดือนเท่านั้น และประชาชนในพื้นที่ไม่ต่อต้าน"
นาง ปรียนาถกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันบริษัท บี กริมฯ มีกำลังผลิตติดตั้งทั้งในและต่างประเทศรวม 906.3 เมกะวัตต์ โดยในปี 2558 จะมี 3 โครงการใหม่ที่จะเริ่มผลิตไฟฟ้าเข้าระบบคือโครงการบี กริม บีไอพี พาวเวอร์ โครงการบางกะดี คลีน เอนเนอร์ยี่ และอมตะ บี กริม พาวเวอร์ 4 กำลังผลิตที่ประมาณ 110 เมกะวัตต์/โครงการ หลังจากนั้นจะมีอีกประมาณ 7 โครงการทยอยเข้าระบบอย่างต่อเนื่อง โรงสุดท้ายที่จะเข้าระบบคือโครงการบี กริม พาวเวอร์ (ราชบุรี) 2 ในเดือนตุลาคม 2562 ทำให้บริษัท บี กริม พาวเวอร์มีกำลังผลิตใหม่อีกรวม 1,252.5 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 2,258.8 เมกะวัตต์
ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ (2557-2561) บริษัท บี กริม พาวเวอร์ฯ จะเพิ่มกำลังผลิตให้อยู่ที่ระดับ 5,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการในประเทศร้อยละ 80 และโครงการในต่างประเทศร้อยละ 20 เช่น หากมีการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าใหม่ ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างพิจารณาว่า "อาจจะ" มีการเปิดประมูลใหม่ประเภทโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ เพื่อลดสัดส่วนการใช้ก๊าซลง โดยบริษัท บี กริม พาวเวอร์ฯ ได้เตรียมที่ดินในพื้นที่ใกล้ทะเลสำหรับรองรับ หากมีการเปิดประมูลไว้แล้ว
นอก จากนี้ ยังได้เข้าไปยื่นประมูลโรงไฟฟ้า IPP กำลังผลิต 200 เมกะวัตต์ หรือ "เมียงยางโปรเจ็กต์" ในรัฐมัณฑะเลย์ รวมถึงกำลังอยู่ระหว่างพิจารณานโยบายของกระทรวงพลังงานว่าจะส่งเสริมพลังงาน ทดแทนอย่างไร รวมถึงระบบสายส่งยังพอรองรับได้อีกหรือไม่ อาจจะพิจารณาลงทุนในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม)และพลังงานลมในพื้นที่ภาคกลางหรือภาคเหนือ
บริษัท บี กริม พาวเวอร์ฯ เชื่อมั่นว่าในสิ้นปีนี้จะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าอยู่ที่ 28,000 ล้านบาท คาดว่าจะมีกำไรอยู่ที่ 1,600 ล้านบาท ซึ่งอาจจะต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย เนื่องจากว่ามีบางโรงไฟฟ้าที่ยังเดินเครื่องเข้าระบบไม่เต็มปี
ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่ใช้อยู่ปัจจุบัน หรือ PDP 2555-2573 จะมีกำลังผลิตใหม่ในส่วนของโรงไฟฟ้า Cogeneration รวมทั้งสิ้น 6,476 เมกะวัตต์