ชี้ทางออกจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ และซากผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ไฟฟ้า (14 ต.ค. 57)

ASTVผู้จัดการออนไลน์ 14 ตุลาคม 2557
ชี้ทางออกจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ และซากผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ไฟฟ้า

ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ชี้ทางออกในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ และซากผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ไฟฟ้า เนื่องจากในปัจจุบันมีจำนวนเพื่อมากขึ้น และถือว่าเป็นขยะมีพิษ 
       
       นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ “อีเวสต์” (E-waste) และซากผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ไฟฟ้าเกิดขึ้นในประเทศไทยจำนวนมาก ส่วนหนึ่งมาจากการผลิต และใช้ในประเทศ อีกส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้าอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือที่ใช้แล้วจากต่างประเทศ สินค้าเหล่านี้จะมีอายุการใช้งานสั้น และจะเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ และซากผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ไฟฟ้าต่อไป ซึ่งทำให้เกิดขยะพิษในประเทศไทยจำนวนมาก ในปี 2555 กรมควบคุมมลพิษสำรวจพบว่า มีขยะอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นประมาณ 359,714 ตัน และคาดว่าปี 2559 จะเพิ่มขึ้นเป็น 401,387 ตัน หรือร้อยละ 12 ต่อปี
       
       โดยทุกวันนี้ประชาชนส่วนใหญ่จะทิ้งขยะเหล่านี้ปะปนกับขยะทั่วไป หรือบางส่วนจะแยกขยะดังกล่าว และขายให้ผู้รับซื้อของเก่าซึ่งจะถูกส่งต่อไปยังร้านรับซื้อของเก่าโดยจะทำ การคัดแยก เช่น การทุบ บด ตัด เผา ใช้สารเคมีละลาย เป็นต้น เพื่อเอาของมีค่าบางชนิดไปขายต่อ เช่น ทองแดง ตะกั่ว เงิน ทอง เป็นต้น การดำเนินการดังกล่าวป็นวิธีการที่ไม่ถูกหลักสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมก่อให้ เกิดสารพิษทั้งสารเคมี โลหะหนักแพร่กระจายไปในสิ่งแวดล้อมเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
       
       นอกจากนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังพบว่า มีการลักลอบนำขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก โดยมีการส่งขยะเหล่านี้ไปยังชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านนำไปคัดแยก ถอดชิ้นส่วน เพื่อนำโลหะไปขาย เศษที่เหลือของขยะอิเล็กทรอนิกส์จะนำไปทำลายโดยการเผา และฝังกลบ
       
       เช่น กรณีการเกิดหมู่บ้านขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตำบลโคกสะอาด อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งประชาชนเกือบทั้งตำบล หรือ 12 หมู่บ้าน ประชากรกว่า 7,500 คน มีอาชีพเก็บขยะรับซื้อของเก่าโดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ และซากผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ไฟฟ้าแล้วนำมาคัดแยกเอาของมีค่าไปขาย จนมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ และซากผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ไฟฟ้าเหลือทิ้งมากกว่า 2 หมื่นตันต่อปีก่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมอย่างมาก
       
       โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายในการควบคุมขยะเหล่านี้ ทุกวันนี้ทำได้แต่เพียงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปเก็บมาแล้วกำจัดส่วน ใหญ่ก็คือ เทกองไว้กลางแจ้ง หากประเทศไทยกำลังจะดำเนินการจัดทำพระราชบัญัติขยะแห่งชาติ จึงควรนำเรื่องการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ และซากผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นเรื่องเร่งด่วนด้วย
       
       นายสนธิ คชวัฒน์ กล่าวว่า ข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยควรดำเนินการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ไฟฟ้าดังนี้
       
       1.เร่งออกกฎหมายการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ และซากผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือ WEEE(waste from electrical and electronic equipment) ภายใต้หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต หรือ EPR(Extended producer responsibility) ซึ่งหมายถึงกฎหมายที่จะกำหนดความรับผิดชอบของผู้ผลิต และผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ (ทั้งสินค้ามือหนึ่งและมือสอง) ทั้งด้านการเงินและด้านกายภาพในการจัดระบบรับคืน รวบรวม ขนส่ง รีไซเคิล และกำจัดซากผลิตภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ โดยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้บริโภค ท้องถิ่น และผู้จัดจำหน่าย โดยกำหนดให้ผู้บริโภคเมื่อต้องการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะต้องทำการคัด แยกออกมาต่างหาก และจ่ายค่าธรรมเนียมในการกำจัดให้แก่ภาครัฐที่รับขนไปยังโรงงานรีไซเคิล
       
       นอกจากนี้ ร้านค้าปลีกต้องรับสินค้าเก่าคืนเมื่อขายสินค้าใหม่โดยผู้ผลิตต้องรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการรับซื้อคืน และรีไซเคิล ซึ่งผลดีคือ ปริมาณการรีไซเคิลจะมีจำนวนมากขึ้นลดปัญหาการกำจัดลง และผู้ผลิตจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณสมบัติรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ลดการใช้วัสดุที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อลดภาระการรีไซเคิลที่จะตาม มาก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์สีเขียวที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ข้อเสียคือ ราคาสินค้าจะแพงมากขึ้นบ้าง
       
       เช่น ประเทศญี่ปุ่นประกาศกฎหมายการรีไซเคิลเครื่องใช้ในบ้าน หรือ SHAR (Specified Home Appliances Recycling Law) ภายใต้หลักการ EPR ตั้งแต่ปี ค.ศ.2001 กฎหมายดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตรวมตัวกันเพื่อสร้างระบบการรับคืน และการรีไซเคิลให้มีประสิทธิภาพ มีการรวมตัวเพื่อสร้างโรงงานรีไซเคิลของตนเอง และพยามสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการรีไซเคิลลง ทำให้สินค้าญี่ปุ่นได้รับการยอมรับในตลาดสากลในฐานะผลิตภัณฑ์สีเขียว
       
       2.รัฐบาลต้องเร่งสนับสนุนให้เกิดประเภทโรงงานรีไซเคิลมากขึ้น โดยต้องสนับสนุนทั้งองค์ความรู้ งบประมาณช่วยเหลือ และควรกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมประเภทกำจัดกากของเสียอันตราย (โรงงานประเภท 101) และโรงงานอุตสาหกรรมประเภทรีไซเคิล (โรงงานประเภท 106) ทั้งหมดต้องตั้ง และดำเนินการภายในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมเพื่อสะดวกในการควบคุมและกำกับ ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม
       
       3.ขณะที่ยังไม่มีกฎหมายในการจัดการขยะอิเล็กำทรอนิกส์ และซากผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ไฟฟ้า รัฐบาลต้องเร่งกำกับดูแลไม่ให้เกิดการลักลอบการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่าง ประเทศเข้ามาในประเทศไทย และรณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะดังกล่าวออกมา และรัฐบาลนำมาดำเนินการกำจัด หรือรีไซเคิลให้ถูกหลักสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมต่อไป