สารเคมีรั่วที่บ้านฉาง โรงงานปิโตรเคมี IRPC ระเบิดที่เชิงเนิน และบททดสอบแรกของทำเนียบการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR) ในประเทศไทย ( 10 ต.ค. 57)
กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 มิถุนายน 2557
สารเคมีรั่วที่บ้านฉาง โรงงานปิโตรเคมี IRPC ระเบิดที่เชิงเนิน และบททดสอบแรกของทำเนียบการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR) ในประเทศไทย
Blogpost โดย ธารา บัวคำศรี -- มิถุนายน 10, 2557
เหตุการณ์สารเคมีรั่วเป็นกลิ่นเหม็นรุนแรงทำให้ชุมชนในเขตอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ต้องอพยพออกจากพื้นที่ (ในวันที่ 7 และ 9 มิถุนายน 2557) และเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ภายใน บริษัท ผลิตปิโตรเคมี IRPC ที่ตั้งอยู่ ณ ตำบลเชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง กลายเป็นอุบัติภัยสารเคมีร้ายแรงที่ต้องจารึกลงในบัญชีรายชื่ออันยาวเหยียดของอุบัติภัยทางอุตสาหกรรมจากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกหรืออีสเทอร์นซีบอร์ดอีกครั้งหนึ่ง
อุบัติภัยทางอุตสาหกรรมสองเหตุการณ์นี้มีความแตกต่างในแง่ที่ว่า ในเหตุการณ์แรก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือการนิคมอุตสาหกรรมยังไม่สามารถหาต้นตอของกลิ่นสารเคมีอันรุนแรงที่ทำให้ชาวบ้านและคนงานต้องล้มป่วยและจำต้องอพยพไปอยู่ที่ปลอดภัย ส่วนในเหตุการณ์หลัง เรารู้ชื่อและทำเลที่ตั้งของการเกิดอุบัติภัยจากเหตุระเบิดและเพลิงไหม้
ความเหมือนกันของเหตุการณ์ทั้งสองคือ เราไม่ค่อยพบการรายงานข่าวในสื่อกระแสหลักมากนัก โดยเฉพาะเหตุระเบิดที่บริษัทผลิตปิโตรเคมี IRPC นอกเหนือไปจากการชี้แจงของหน่วยงานและบริษัทถึงที่มาที่ไปของการเกิดเหตุและภาระรับผิด (liability) ที่ควรจะเป็นจากผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชีวิตทรัพย์สินของประชาชนและการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม
แนวทางจัดการกับอุบัติภัยสารเคมีแนวทางหนึ่งที่กรีนพีซเรียกร้องคือให้มีการจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษหรือ Pollutants Release and Transfer Register (PRTR) ในประเทศไทย โดยภาคประชาสังคม อย่างเช่น มูลนิธิบูรณะนิเวศ กำลังผลักดันให้เป็นกฎหมาย เพื่ออย่างน้อยที่สุด สังคมไทยน่าจะพอได้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์อยู่บ้าง และเมื่อเร็วๆ นี้เอง กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การความร่ว มมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) จัดให้มีโครงการนำร่องทำเนียบการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษในจังหวัดระยองเป็นแห่งแรกโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลการจัดการมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทต่างๆสู่สาธารณชน ลดและแก้ไขปัญหาการปลดปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทโรงงานอุตสาหกรรม และเพื่อติดตามและประเมินความก้าวหน้าในการดำเนินนโยบายลดและขจัดมลพิษจากแหล่งกำเนิดของหน่วยงานราชการ รวมทั้งการติดตามตรวจสอบมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทต่างๆ
การดำเนินการให้มีทำเนียบการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษยังเป็นไปตามแผนการดำเนินงาน ภายใต้ยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการจัดการสารเคมีและมลพิษทั้งในและระหว่างประเทศ อาทิเช่น แผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2550-2554) แผนปฏิบัติการที่ 21 (Agenda 21) อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants: POPs) ยุทธศาสตร์การดำเนินงานระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการสารเคมี (Strategic Approach to International Chemicals Management : SAICM)
และประเด็นสำคัญที่ควรจะกล่าวไว้ ณ ที่นี้คือ โครงการนำร่องนี้เป็นไปตามข้อเรียกร้องจากภาคประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ให้มีการนำ PRTR มาใช้เป็นเครื่องมือส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหามลพิษในจังหวัดระยอง
เรามาดูกันว่าทำเนียบการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษทำงานอย่างไร
อันดับแรกเป็น URL ของทำเนียบการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษโดยคลิกที่ http://prtr.pcd.go.th หน้าแรกของเว็บไซต์ ประกอบด้วยเมนูต่างๆ ได้แก่ หน้าหลัก PRTR ประเทศไทย แหล่งกำเนิดมลพิษ รายงานปลดปล่อยมลพิษ แผนที่ PRTR ตลอดจนรายการสารเคมี 107 รายการ กำหนดขึ้นตามระเบียบ PRTR ให้โรงงานหรือสถานประกอบการต้องรายงานข้อมูลการปลดปล่อย