ก.พลังงานโหมโรงสัมปทานรอบ 21 กาง 29 แปลงบนบก-ทะเล ใช้ระบบเดิม Thailand3 (10 ต.ค. 57)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 10 ตุลาคม 2557
ก.พลังงานโหมโรงสัมปทานรอบ21 กาง29แปลงบนบก-ทะเลใช้ระบบเดิมThailand3
กาง สัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 รวม 29 แปลง ภาคเหนือ, กลาง, อีสาน และอ่าวไทย แถมมีพื้นที่เขตอุทยานฯในกาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู และสกลนคร เพิ่มพื้นที่เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น ที่ ปตท.สผ.เคยลงพื้นที่สำรวจแต่ไม่พบเปิดให้สำรวจอีกรอบ ด้านเอ็กซอนโมบิลฯบอกสนใจสัมปทานรอบนี้แต่ขอส่งข้อมูลให้บริษัทแม่ตัดสินใจ ลุ้นแหล่งสินภูฮ่อมเจาะหลุมผลิตเพิ่มอีกปีหน้าเพื่อยืนยันปริมาณสำรองว่าควร ต่ออายุสัมปทานหรือไม่
รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เตรียมที่จะเปิดให้เอกชนที่สนใจยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21เพื่อสำรวจและผลิตแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพในประเทศเพิ่มขึ้นภายใน เดือนตุลาคม 2557 นี้ ภายใต้ระบบสัมปทาน Thailand 3 เพื่อรองรับความต้องการใช้ในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า หลังจากนั้น เตรียมที่จะเจรจากับเจ้าของสัมปทานในแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกชที่จะหมดอายุ ในปี 2565-2566 เป็นลำดับต่อไป
ทั้งนี้ หลังจากที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการปิโตรเลียม (บอร์ด) แล้ว จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา จากนั้นจะดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และประกาศเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจยื่นขอสัมปทาน
แหล่ง ข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวกับ"ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แปลงสัมปทานที่เตรียมเปิดให้เอกชนที่สนใจยื่นขอสำรวจและผลิตนั้นยังคงเป็น พื้นที่เดิมที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ทำข้อมูลไว้แล้ว (จากรัฐบาลชุดก่อน) รวมทั้งสิ้น 27 แปลง แบ่งเป็นพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลางรวม 6 แปลง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 แปลง อ่าวไทย 5 แปลง และมีการเพิ่มเติมพื้นที่ใหม่เข้าไปอีก 2 แปลง เช่น แปลงในพื้นที่เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นแปลงที่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) คืนพื้นที่มาก่อนหน้านี้ เป็นต้น รวมแล้วแปลงสัมปทานปิโตรเลียมที่จะเปิดครั้งนี้รวม 29 แปลง
นอก จากนี้ จะมีพื้นที่ 2 แปลงที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ คือ แปลง L7/57 ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และหนองบัวลำภู และแปลง L9/57 ในพื้นที่จังหวัดสกลนครที่ได้หารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อมเรียบร้อยแล้วว่า จะขอให้พื้นที่ดังกล่าวมีการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียม เนื่องจากคาดว่าเป็นพื้นที่มีศักยภาพ ซึ่งกระทรวงพลังงานพยายามหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงพื้นที่ที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก
"เป็น ข้อมูลแปลงสัมปทานที่ทำไว้ตั้งแต่รัฐบาลก่อนแล้ว และปรับเพิ่มเข้าไป 2 แปลงอย่างเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น ที่ ปตท.สผ.คืนพื้นที่มาก่อนหน้านี้ แต่ยังนำมาเปิดสัมปทานอีกครั้งเพราะประเมินว่าน่าจะมีศักยภาพ รายอื่น ๆ ที่มีเทคโนโลยีที่ดีอาจจะสำรวจพบและพัฒนาได้ พื้นที่ภาคอีสานค่อนข้างมีศักยภาพ"
ในเร็ว ๆ นี้กระทรวงพลังงานจะจัดโรดโชว์ให้กับภาคเอกชนที่สนใจเข้ามาสำรวจและพัฒนาใน แปลงสัมปทานต่าง ๆในประเทศ รวมถึงส่งข้อมูลการเตรียมเปิดสัมปทานไปยังสถานทูตต่าง ๆ ด้วย ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศผลสัมปทานรอบนี้ได้ภายใน 3 เดือน
ด้าน นายยงยศ หาญสุวนิช รองประธาน บริษัท เอ็กซอน โมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์กล่าวว่า การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมดังกล่าวจะต้องนำเสนอข้อมูลไปยังบริษัทแม่เพื่อ ตัดสินใจอีกครั้งว่าจะยื่นขอสัมปทานครั้งนี้หรือไม่มองว่าแหล่งปิโตรเลียมใน ประเทศยังค่อนข้างมีศักยภาพ และการใช้ระบบสัมปทานเดิมถือว่าเหมาะสมแล้ว เพราะการใช้ระบบ PSC หรือระบบแบ่งปันผลผลิตนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นประชาชน ภาครัฐ และผู้รับสัมปทานจะต้องทำความเข้าใจระบบดังกล่าวให้มากกว่านี้ ส่วนในพื้นที่เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น ที่ ปตท.สผ.คืนพื้นที่มานั้นมองว่าเมื่อสำรวจแล้วไม่พบก็ยืนยันได้ระดับหนึ่งว่า ไม่มีแหล่งปิโตรเลียม
นอกเหนือจากการเปิดสัมปทานใหม่แล้ว สิ่งที่กระทรวงพลังงานต้องดำเนินการต่อเนื่อง คือ การต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมในแปลงที่คาดว่ายังคงมีศักยภาพอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอ่าวไทย หรือบนบก อย่างแหล่งสินภูฮ่อมนั้น ในช่วงต้นปีหน้าจะมีการขุดหลุมเพิ่มเพื่อยืนยันปริมาณสำรองว่าเหมาสมที่จะมี การต่อสัญญาหรือไม่ด้วย
"เท่าที่ดูกระแสเอกชนในแวดวงสำรวจ และผลิตทั้งในและต่างประเทศ ยังคงให้ความสนใจที่จะพัฒนาปิโตรเลียมได้ และไทยเองก็มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดสัมปทานใหม่ทั้งบนบกและในทะเล เพราะแหล่งต่าง ๆที่ผลิตอยู่ในขณะนี้เริ่มที่จะผลิตได้น้อยลงจึงควรเพิ่มปริมาณสำรองพลังงาน ให้ประเทศ"
เดินหน้าเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา
นาย ณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ได้เตรียมทีมงานเพื่อเจรจาในการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา แล้ว และกระทรวงพลังงานจะเป็นเจ้าภาพหลัก
ในการเจรจา เบื้องต้นสำหรับข้อตกลงหรือ MOU ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2544 อาจจะต้องดูรายละเอียดว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันหรือไม่ หรือหากว่า MOU ดังกล่าวหมดอายุแล้วทางกระทรวงพลังงานก็ยังสามารถดำเนินการเจรจาต่อได้ทันที
สำหรับ เอกชนที่ถือครองแปลงสัมปทานฝั่งไทย ในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวอาจจะต้องดำเนินการพิจารณาเงื่อนไขสัญญาเดิมที่ ยื่นไว้เดิมว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หรือต้องปรับใหม่ "ในการประชุมคณะรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนที่ สปป.ลาวเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็มีการหารือกัน ทั้ง 2 ประเทศต่างต้องการให้มีการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว เพื่อความมั่นคงของทั้ง 2 ประเทศ และเร็ว ๆ นี้การเจรจาจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน"
รายงานเพิ่มเติมว่า แปลงสัมปทานปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เฉพาะในฝั่งประเทศไทยยังคงอยู่ในสถานะ "หยุดการดำเนินการ" ประกอบด้วยแปลงสัมปทาน 5, 6 ของบริษัท Thailand Block 5&6 (Thailand Block 5&6 LLC), แปลงสัมปทาน 7, 8, 9 ของบริษัทบริติช แก๊ส เอเชีย อิงก์ (British Gas Asia Inc.), แปลงสัมปทาน 10, 11 ของบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต, แปลงสัมปทาน 13 และพื้นที่ 12 (A) และ 12 (B) ของบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต และแปลงสัมปทาน G9/43 ของบริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล ในส่วนของพื้นที่แปลงสัมปทานของกัมพูชา รัฐบาลกัมพูชาได้อนุมัติให้บริษัทเชฟรอน โอเวอร์ซีส์ ปิโตรเลียม แคมโบเดียลิมิเต็ด จากสหรัฐในสัมปทานแปลง A, บริษัทโททาล ออยล์ จากฝรั่งเศส ในสัมปทานแปลง Block 3และบริษัทเอ็มโออีซีโอ จากญี่ปุ่น ใน Block 4 ซึ่งทับซ้อนกับการให้แปลงสัมปทานของรัฐบาลไทยอยู่ในปัจจุบัน