"ประยุทธ์" ถกพม่าฟื้นทวาย-ITDยังตื๊อไม่เลิก (9 ต.ค. 57)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์  9 ตุลาคม 2557
"ประยุทธ์" ถกพม่าฟื้นทวาย-ITDยังตื๊อไม่เลิก

"บิ๊กตู่" นำทีมถกการค้า-ลงทุนไทย-เมียนมาร์ เล็งบูมเขตเศรษฐกิจแม่สอด-บ้านพุน้ำร้อน สานต่อ "ทวาย-พลังงาน-ค้าชายแดน" ชูโมเดล "อีโค พาร์ตเนอร์ชิป" ดึงญี่ปุ่นร่วมทุนพัฒนานิคมอุตฯ-ถนน "อิตาเลียนไทย" ยังตื๊อไม่เลิก

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในการไปเยือนประเทศเมียนมาร์ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 9-10 ต.ค.นี้ นอกจากจะสานความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุน และความร่วมมือพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจตามแนวชายแดนแล้ว จะหารือถึงความร่วมมือด้านการลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่ปัจจุบันรัฐบาลเมียนมาร์กับรัฐบาลไทยมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะเดินหน้าพัฒนา โครงการต่อ โดยเฉพาะการให้รัฐบาลญี่ปุ่นร่วมลงทุนและเข้ามามีบทบาทร่วมกันพัฒนาในรูปแบบ อีโคพาร์ตเนอร์ชิป เนื่องจากทวายเป็นโครงการใหญ่มาก จึงต้องการความเชื่อมั่นในระดับรัฐบาลกับรัฐบาล

เบื้องต้น ญี่ปุ่นให้ความสนใจและเข้าร่วมทุนด้วยในนิติบุคคลเฉพาะกิจ หรือ SPV ที่รัฐบาลไทยและเมียนมาร์ตั้งขึ้น ขณะนี้ สศช.กำลังเตรียมข้อมูลนำเสนอนายกฯพิจารณา ก่อนหารือร่วมกับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เพื่อผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในระยะเริ่มต้น รวมถึงโครงการก่อสร้างถนนที่จะเชื่อมระหว่างทวายกับพื้นที่ชายแดนของไทย ที่ด่านบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ซึ่งขณะนี้ภาคเอกชนแสดงความสนใจจะเป็นผู้ลงทุนในทวาย แต่ต้องการความมั่นใจ

สำหรับความคืบหน้าโครงการ ที่ ผ่านมาคณะทำงานร่วมระหว่างไทยกับเมียนมาร์กำลังพิจารณาถึงการทำงานของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานพัฒนาโครงการก่อนหน้านี้ เพื่อประเมินเงินลงทุนก่อสร้างที่บริษัทได้ดำเนินการไปแล้วว่าจะใช้เงินลง ทุนราว 6,000 ล้านบาท ตามที่บริษัทระบุหรือไม่

"โครงการยังไม่หยุด และให้อิตาเลียนไทยฯทำงานเท่าที่จำเป็น ส่วนการพัฒนาต่อไปคงต้องดูว่าสุดท้ายนิคมอุตสาหกรรมที่จะได้เริ่มต้นนั้น ใครเป็นผู้พัฒนา ซึ่งอิตาเลียนไทยเสนอตัวเข้ามาด้วย แต่คงจะต้องหารือร่วมกันระหว่างเมียนมาร์กับไทยก่อน" 

นาย อาคมกล่าวว่า นอกจากนี้จะหารือกับเมียนมาร์เกี่ยวกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจที่ อ.แม่สอด จ.ตาก บริเวณ ต.แม่ปะ-ต.ท่าสายลวด พื้นที่ 5,603 ไร่ ซึ่งขณะนี้ทางกรมทางหลวง (ทล.) ได้ศึกษาโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 พร้อมถนนต่อเชื่อมเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเป็นโครงข่ายเชื่อมเข้าสู่เมืองและเขตเศรษฐกิจ โดยจะหารือเพื่อกำหนดจุดเส้นทางที่ไปเชื่อมในเมืองฝั่งเมียวดี ไม่รวมที่กระทรวงคมนาคมมีแผนจะปรับปรุงโครงข่ายในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ มากขึ้น เช่น ขยายถนน 4 เลน ศึกษาก่อสร้างด่านศุลกากรแม่สอด และปรับปรุงสนามบินแม่สอดใหม่ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศกับเมียนมาร์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และรองรับการลงทุน อีกจุดเชื่อมสำคัญคือด่านสิงขร เบื้องต้นเห็นว่าจะพัฒนาร่วมกัน แต่ยังติดที่ฝั่งมะริด ประเทศเมียนมาร์ ถนนที่สร้างไว้เป็นลูกรังยังไม่เสร็จสมบูรณ์

ด้านนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานกรรมการบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า บริษัทได้ร่วมกับบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 50:50 เพื่อลงทุนพัฒนาโครงการทวายในระยะเริ่มต้น ใช้เงินลงทุน 4-5 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่รวมวงเงินลงทุน 6,200 ล้านบาท ที่ลงทุนไปก่อนหน้านี้ 

"ล่าสุดกำลังเจรจารัฐบาลเมียนมาร์ เพื่อขอสัมปทาน 75 ปี โดยเมียนมาร์ท้วงติงเรื่องแผนพัฒนา เช่น การปรับพื้นที่ การขายพื้นที่ให้นักลงทุน จะกำหนดเวลากี่ปี สร้างอะไรบ้าง คาดว่าจะได้ข้อสรุปและลงนามสัญญาร่วมกัน 1 พ.ย.นี้"

นายเปรมชัยกล่าวว่า สำหรับพื้นที่พัฒนาระยะเริ่มต้น มีขนาด 27 ตารางกิโลเมตร ใช้เวลาพัฒนา 5 ปี จากปี 2558-2562 ภายในโครงการจะมีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสำหรับขายให้กับนักลงทุน เน้นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปไม้ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ฯลฯ ระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ได้แก่ ท่าเรือขนาดเล็ก โรงไฟฟ้า ถนนลาดยาง 4 ช่องจราจรเชื่อมไทย อ่างเก็บน้ำ ระบบโทรคมนาคม เป็นต้น

"ทางญี่ปุ่นที่จะเข้ามาร่วมลงทุนจะเป็นระยะต่อไป หลังมีการพัฒนาเต็มเฟสแล้ว น่าจะอีก 5 ปีจากนี้ไป ตอนนี้อิตาเลียนไทยฯพร้อมลงทุนและเปิดขายพื้นที่นิคม คาดว่าจะเริ่มได้ต้นปี 2558 เพราะเป็นการต่อยอดโครงการเดิม แค่เราเปลี่ยนบทบาทจากเดิมเป็นผู้บริหารโครงการทั้งหมดเป็นแค่ผู้ลงทุนส่วน หนึ่ง ภายใต้การบริหารของ 2 รัฐบาลคือไทยและเมียนมาร์"

ขณะ ที่นายชูศักดิ์ เกวี อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ได้เตรียมข้อมูลโครงการก่อสร้างถนนที่จะเชื่อมต่อกับด่านชายแดนติดกับเมีย นมาร์มี 2 ด่านสำคัญ ได้แก่ 1.ด่านบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี จะเชื่อมกับทวาย กรมมีแผนงาน 3 โครงการ คือปรับปรุงถนนเดิมจากกาญจนบุรี-ชายแดนบ้านพุน้ำร้อน 4 ช่องจราจร ให้เป็นถนนมาตรฐาน ระยะทาง 78 กิโลเมตร วงเงิน 4,600 ล้านบาท มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี 96 กิโลเมตร เงินลงทุน 55,600 ล้านบาท และมอเตอร์เวย์จากกาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อน 70 กิโลเมตร 27,000 ล้านบาท

ส่วน ที่ด่านแม่สอด ที่รัฐบาลจะพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในปี 2558 กรมมีแผนก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 และถนนต่อเชื่อม ระยะทาง 22.4 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 3,600 ล้านบาท และค่าเวนคืน 300 ล้านบาทขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า หลังการเยือนเมียนมาร์ครั้งนี้แล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะนำคณะร่วมการประชุมระดับสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 25 ระหว่าง 12-13 พ.ย.นี้ ที่เมียนมาร์อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเป็นการเตรียมประกาศแสดงวิสัยทัศน์หลังกลุ่มประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด โดยฝ่ายไทยจะหารือถึงแนวทางการส่งเสริมการค้าและการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ แม่สอด เป็นประเด็นหลัก 

นอกจากนี้จะเร่งรัดจัดการประชุมคณะ กรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission : JC) ไทย-เมียนมาร์ ครั้งที่ 8 หลังไม่ได้ประชุมนานกว่า 1 ปี นับจากครั้งล่าสุดตั้งแต่ 27-28 ก.พ. 2556 หากมีการประชุม JTC จะได้ร่วมกันหาทางออกปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ เกี่ยวกับการค้าการลงทุน

ส่วน ปัญหาที่กระทรวงพาณิชย์เมียนมาร์ประกาศห้ามนำเข้าสินค้าไทย 15 รายการก่อนหน้านี้ ทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือและแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อเนื่องจนทำให้ไทยสามารถส่ง ออกสินค้ากลุ่มนี้เข้าไปจำหน่ายในเมียนมาร์ได้แล้ว มูลค่าการค้าชายแดนไทย-เมียนมาร์ ช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) 2557 เท่ากับ 123,095 ล้านบาท ลดลง 2.51% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะปัญหาเรื่องการบันทึกตัวเลขการนำเข้า ก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์ ซึ่งจะทำให้ยอดการค้าโดยรวมลดลง สำหรับการประชุมสำคัญ ๆ ที่จะเกิดขึ้นเดือน พ.ย. อาทิ การประชุมความร่วมมือเอเชีย-แปซิฟิก (ASEM) ครั้งที่ 9 วันที่ 5-6 พ.ย. ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว 2) การประชุมผู้นำเอเปก (AELM) การประชุมรัฐมนตรีเอเปก (AMM) ครั้งที่ 22 วันที่ 7-11 พ.ย. ณ กรุงปักกิ่ง และเวทีประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 25 ที่เมียนมาร์ ตั้ง คกก.ดูผลประโยชน์ไทย-พม่าพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการเดินทางไปประเทศพม่าของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าจะไปสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้ถือเป็นจังหวะที่ดีที่สุดในการสร้างความสัมพันธ์ นอกจากนี้ พม่ามีทรัพยากรที่ดี ส่วนไทยก็มีความพร้อม น่าจะทำให้เรื่องระบบเศรษฐกิจ ความมั่นคงตามแนวชายแดนดียิ่งขึ้น 

"ส่วนเรื่องเขตเศรษฐกิจ พิเศษทวายเราจะไปแสดงความจริงใจและความร่วมมือที่ดี นอกจากนี้จากเดิมที่มีการทำงานที่ยาวจะทำให้สั้นขึ้น โดยจะตั้งคณะกรรมการให้พูดได้ในทุกเรื่อง เช่น เรื่องเขตเศรษฐกิจทวาย เรื่องพลังงาน เรื่องความมั่นคงชายแดน ซึ่งทุกเรื่องจะนำมาสู่ผลประโยชน์ของประเทศทั้งสองและของอาเซียน" ขณะที่ผู้ลงทุนส่วนของบริษัทเอกชนยังคงเป็นบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) รายเดียวที่เสนอ ส่วนการลงทุนเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานที่จะเข้าไปส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าใน พม่า ก็จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อให้ทุกอย่างดำเนินการเร็วขึ้น ยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำงานให้เร็ว ไม่มีวาระซ่อนเร้น โปร่งใส ได้ประโยชน์สูงสุด