สั่งโละโรงไฟฟ้าก๊าซ 'ดันถ่านหินสะอาด' (8 ต.ค. 57)

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์  8 ตุลาคม 2557
สั่งโละโรงไฟฟ้าก๊าซ'ดันถ่านหินสะอาด'

สั่งโละโรงไฟฟ้าก๊าซดันถ่านหินสะอาด "อารีพงศ์" ลุยเพิ่มสัดส่วนเชื้อเพลิงถ่านหิน ลดก๊าซบรรจุแผนพีดีพี 2015
พลังงานเล็งเปลี่ยนโรง ไฟฟ้าก๊าซที่จะปลดระวางของกฟผ. เป็นถ่านหินสะอาดทั้งหมด เพิ่มสัดส่วนเชื้อเพลิงถ่านหิน ทดแทนก๊าซธรรมชาติในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าพีดีพี 2015 

.
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในแผนพีดีพีฉบับ ใหม่ที่คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุม กพช.ในเดือนธ.ค.นี้กระทรวงพลังงานมีความพยายามให้เกิดการใช้เชื้อเพลิงถ่าน หิน และพลังงานทดแทนให้มากขึ้น
รวมทั้งแผนการประหยัดพลังงาน เพื่อลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ แอลเอ็นจีจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ค่าไฟฟ้าไม่แพงเกินไป

นอกจากนี้ยังจะต้องพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ทั้งที่ผลิตจากถ่านหินและไฟฟ้าพลังงานน้ำเข้ามาเสริมระบบ ซึ่งหากยังไม่เพียงพอ ก็จะต้องพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ เข้ามาอยู่ในแผนพีดีพีฉบับใหม่นี้ด้วย
“กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาในหลายๆ ทางเลือก ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ โดยการจัดทำแผนพีดีพีฉบับ ใหม่ จะต้องสอดคล้องกับแผนประหยัดพลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทน ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา ในการดำเนินการ แผนทั้งหมดน่าจะเสร็จภายในสิ้นปีนี้" นายอารีพงศ์ กล่าว
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในแผนพีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 (2553-2573) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น จะมีสัดส่วนของโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าในสัดส่วนประมาณ 9%ในปี 2557 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 13% ปี 2573 ส่วนโรงไฟฟ้าที่ใช้ลิกไนต์ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 9%ในปี 2557 จะลดลงเหลือประมาณ 7% ในปี 2573 ส่วนก๊าซธรรมชาติจะลดสัดส่วนจาก 67% ลงเหลือ 57%
ตัวเลขกำลังการผลิตไฟฟ้าโดยรวมเมื่อสิ้นปี 2573 คาดว่าจะมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 70,686 เมกะวัตต์ หรือจะต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 55,000 เมกะวัตต์ โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จะดำเนินการ จะมีโรงไฟฟ้าของ บริษัทเนชั่นแนล พาวเวอร์ ซัพพลาย ขนาด 540 เมกะวัตต์ ในปี 2559 และโรงไฟฟ้าถ่านหินของกฟผ.จำนวน 4 โรง โรงละ 800 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเข้าสู่ระบบ ในปี 2562, 2565, 2568 และ 2571
ทั้งนี้ความพยายามที่จะเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยังต้องรอความชัดเจนในระดับนโยบายจากรัฐบาล ว่า ในส่วนของโรงไฟฟ้าไอพีพี ของกลุ่มบริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอจี ดีเวลลอปเมนท์ และมิตซุย ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังการผลิต 5,000 เมกะวัตต์ ที่จะทยอยเข้าสู่ระบบในปี 2564-2569 จะมีการยกเลิกโครงการหรือถูกสั่งให้มีการลดกำลังการผลิตลง เพื่อเปลี่ยนเชื้อเพลิงมาเป็นถ่านหินหรือไม่

รวมทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าของกฟผ.เดิม ที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งจะมีการปลดระวาง ตั้งแต่ปี 2564 ไปจนถึงปี 2570 คือ โรงไฟฟ้าบางปะกง กำลังการผลิตรวม 5,400 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ กำลังการผลิตรวม 3,600 เมกะวัตต์ ว่าจะสามารถเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ มาเป็นถ่านหิน ได้ในสัดส่วนเท่าไหร่

กฟผ.กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาเทคโนโลยีที่จะนำถ่านหินมาบดและผสมน้ำให้ เป็นของเหลว ก่อนเข้าสู่โรงไฟฟ้า เพื่อไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายและสะดวกต่อการขนส่ง หากเทคโนโลยีดังกล่าวใช้ได้ผลดีก็มีความเป็นไปได้ที่กฟผ.จะเปลี่ยนเชื้อ เพลิงในโรงไฟฟ้าเก่ามาเป็นถ่านหินมากขึ้น

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ในแผนพีดีพีฉบับใหม่ หรือพีดีพี 2015 ที่จะใช้ตั้งแต่ปี 2558-2579 นั้น พบว่าค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดต่ำ จากแผนพีดีพีฉบับเดิมกว่า 10,000 เมกะวัตต์