อุตฯถกหนัก"ผู้ว่า-กนอ."ใครคุมศก.พิเศษ (1 ต.ค. 57)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 1 ตุลาคม 2557
อุตฯถกหนัก"ผู้ว่า-กนอ."ใครคุมศก.พิเศษ

"จักรมณฑ์ สั่งทบทวน พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ชง 2 ทางเลือกให้ กนอ.ดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดดูแล แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) คาดอีก 3 เดือนจะสรุปรายละเอียดเสนอ ครม.

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า ขณะนี้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาทบทวนร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2548 พิจารณาทางเลือกใน 2 ประเด็น คือ 1) ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงาน กนอ.เพื่อรองรับการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ภายใต้สำนักงานเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดย กนอ.จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิพิเศษ (กนพ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หรือ 2) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีเขตเศรษฐกิจตั้งอยู่เป็นผู้บริหารจัดการหรืออาจจะตั้งตำแหน่งใหม่เพื่อดูแลเฉพาะเขตไป แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กนพ.

อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างดังกล่าวไม่สามารถทำได้ทันที เนื่องจาก กนอ.ยังติดข้อจำกัดคือ การบริหารจัดการบุคลากรของ กนอ.ที่มีอยู่ประมาณ 560 คน และการบริหารสินทรัพย์ของ กนอ.ที่มีมูลค่าประมาณ 14,000 ล้านบาท ที่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนต้องหารือกันในรายละเอียด เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็แนวทางปฏิบัติต่อไป

ด้านนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการ กนอ. (บอร์ด) กล่าวภายหลังการหารือว่าในที่ประชุมได้เตรียมการพัฒนาพื้นที่นิคมเพื่อรองรับการเตรียมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี"58 รวมถึงการพัฒนาโครงการเมืองยาง (Rubber City) เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ (Country Strategy) เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มอุตฯยางพารา เนื่องจากเป็นอุตฯฐานรายได้ และเป็นการส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาปัจจัยแวดล้อมในการเอื้อต่อการพัฒนานิคม รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ส่วนการเตรียมการพัฒนาพื้นที่นิคม เพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมภาคใต้ จังหวัดสงขลา และโครงการเมืองยาง มีความพร้อมที่จะเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นศูนย์กระจายสินค้าหรือนิคมบริการด้าน Logistics และ SMEs Complex จะสามารถเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน อำเภอสะเดา(ด่านศุลกากรสะเดา และศุลกากรปาดังเบซาร์) ห่างจากเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน อำเภอสะเดา 50 กิโลเมตร สำหรับพื้นที่อื่น ๆ ทั้งจังหวัดมุกดาหาร, เชียงราย, หนองคาย, กาญจนบุรี กนอ.ได้ศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีศักยภาพในการรองรับ และการขยายตัวของตลาดสินค้า ตลอดจนเชื่อมโยงสู่กลุ่มประเทศอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ด้านนายวีระพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวว่า หากมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างของ กนอ.จะทำให้ขอบข่ายหน้าที่การทำงานของ กนอ.เปลี่ยนไปด้วย โดยหน่วยงานนี้จะต้องดูแลด้านพาณิชยกรรมทั้งระบบ เช่น ระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างขั้นพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์เป็นต้น ซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้จะมีอำนาจปกครองตนเองทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกในการประกอบกิจการมากขึ้น ซึ่งหากมีการปรับรูปแบบ กนอ.ก็จะเปลี่ยนสภาพมาเป็นฝ่ายเลขานุการของสำนักงานเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กนพ. คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้นเสนอ ครม.พิจารณา

"เดิม กนอ.ทำแต่เรื่องนิคม แต่เขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีการท่องเที่ยว พาณิชยกรรมขณะที่กฎหมายของ กนอ.เดิมไม่สามารถให้ความสะดวกอื่น ๆ ได้ เช่นการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน หรือท่าเรืต้องขออนุญาตกรมเจ้าท่า"

ปัจจุบัน กนอ.มีนิคมในกำกับ 11 แห่งและร่วมพัฒนากับเอกชน 45 แห่ง ซึ่งสามารถแยกตัวออกมาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษหากมีความพร้อม ส่วนนิคมใดที่ยังไม่มีความพร้อมจะโอนไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยยังคงสิทธิประโยชน์ลงทุนให้ตามเดิม