"อุตสาหกรรม" ปลดล็อกเหมืองแร่สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ เพิ่มแสนล้าน (29 ก.ย. 57)

มติชนออนไลน์ 29 กันยายน 2557
"อุตสาหกรรม" ปลดล็อกเหมืองแร่สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ เพิ่มแสนล้าน

วันที่ 29 กันยายน นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดถึงผลการหารือกับสภาการเหมืองแร่แห่งประเทศไทยว่า ทางสภาการเหมืองแร่ฯ ได้ร้องเรียนถึงปัญหาการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ที่มีความล่าช้ามาก โดยมีผู้ขออนุญาตรายหนึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ยื่นขอประทานบัตรมาตั้งแต่ปี 2539 แต่ยังไม่ได้รับอนุญาต จนถึงปัจจุบันรวมเวลานานถึง 18 ปี อีกทั้งยังพบว่าบางรายยื่นขอประทานบัตรซึ่งได้ดำเนินการผ่านทุกขั้นตอนครบถ้วนแล้ว แต่เรื่องมาค้างอยู่ที่ขั้นตอนการเซ็นต์ลงนามของรัฐมนตรีจนถึงปัจจุบันเป็นเวลานานสูงสุด 6 ปี

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมอบนโยบายให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เร่งปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ ตามพ.ร.บ.แร่ เพื่อเอื้อต่อการประกอบธุรกิจให้มากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมากระบวนการอนุญาตหลายขั้นตอนเกินความจำเป็นไม่เหมาะสม ทำให้เกิดความล่าช้า ซึ่งขณะนี้ตนก็อยู่ระหว่างเร่งลงนามอนุญาตใบอาชญาบัตรสำรวจแร่และประทานบัตรทำเหมืองแร่ที่คั่งค้างอยู่กว่า 100 ราย คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทให้แล้วเสร็จโดยเร็ว คาดว่าจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องได้อีกหลายแสนล้านบาท เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

"ผมได้กำชับให้กรมลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เพื่อเร่งรัดการพิจารณาออกใบอนุญาตประทานบัตรที่อยู่ในส่วนความรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรม หลังผ่านความเห็นจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และส่งเรื่องให้กรมพิจารณานั้น ต้องเสนอเรื่องให้ข้าราชการผู้มีอำนาจลงนามอนุญาตแล้วเสร็จภายใน 6 สัปดาห์ และยังให้กรมแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.แร่ เกี่ยวกับขั้นตอนการอนุญาตโดยให้ผู้มีอำนาจอนุญาตเป็นข้าราชการประจำ ไม่ต้องเป็นรัฐมนตรีเท่านั้น สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. ...ที่รัฐบาลกำลังจะขอความเห็นชอบจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เร็วๆ นี้"นายจักรมณฑ์ กล่าว

ด้านนายปณิธาน จินดาภู อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้ จะให้อำนาจข้าราชการประจำเป็นผู้มีอำนาจลงนามอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่แบ่งเป็น 3 ระดับแบบตามขนาดพื้นที่กิจการ คือ 1.เหมืองแร่ขนาดเล็ก มีพื้นที่ไม่เกิน 100 ไร่ มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงนามอนุญาต 2.เหมืองแร่ขนาดกลางพื้นที่ไม่เกิน 625 ไร่ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมปานกลาง ให้อธิบดีกพร.ลงนามอนุญาต และ3.เหมืองแร่ขนาดใหญ่พื้นที่ไม่ต่ำกว่า 625 ไร่ มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก เช่น เหมืองใต้ดิน เหมืองแถบลุ่มน้ำ เหมืองในทะเล มอบหมายให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมลงนามอนุญาต

ในส่วนของการออกใบอาชญาบัตรสำรวจแร่แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1.อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ สำหรับพื้นที่ไม่เกิน 10,000 ไร่ ให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจอนุญาต 2.อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ พื้นที่ 1-2 ตารางกิโลเมตร ให้อธิบดีกพร.อนุญาต และ3.อาชญาบัตรเดินสำรวจแร่ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีอำนาจอนุญาต ซึ่งเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจและข้าราชการสามารถทำงานได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น