ได้เวลา ‘เปิดข้อมูลมลพิษ’ ผลักดันกฎหมาย PRTR วงสนทนาที่ชวนคนทำงานเรื่องมลพิษมาถกหาทางออก (2 ต.ค. 67)
26 กันยายน 2567 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้จัดงานชวนสนทนาประเด็นปัญหามลพิษในไทย ปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทย โดยตั้งคำถามหลักไว้ว่า ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ประเทศไทยต้องผลักดันให้ข้อมูลมลพิษเป็น “ข้อมูลเปิด” เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงสร้างมาตรฐานและความรับผิดชอบของผู้ที่เป็นต้นเหตุก่อมลพิษต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
วงเสวนานี้ได้รวมคนทำงานในแวดวงด้านมลพิษมาช่วยกันให้ข้อมูลว่า “การเปิดข้อมูลมลพิษ” จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ชีวิตของคนไทยที่ถูกคุกคามจากมลพิษมีทางออกอย่างไร อีกทั้งจะดีกว่าไหมที่พวกเราทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษได้ด้วยตนเอง แล้วรับรู้ตั้งแต่ต้นว่า โรงงานที่จะมาตั้งใกล้บ้านของเราจะนำพาความเสี่ยงอะไรมาสู่สุขภาพของเราบ้างหรือไม่
“เรื่องกากๆ คำว่ากากที่ผมพูดถึงมีเรื่องกากอุตสาหกรรม และก็มีคำว่า กาก ในอีกความหมายหนึ่งด้วย…”
สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา หัวหน้าฝ่ายสื่อสารและดูแลภาพลักษณ์องค์กร สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เปิดเวทีเสวนาด้วยการย้อนสถานการณ์ปัญหาเรื่องกากอุตสาหกรรมในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา
“ประเด็นที่ต้องตั้งต้นคือกลุ่มโรงงาน เราแยกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือ Waste Generator หรือโรงงานที่ให้กำเนิดของเสีย และอีกกลุ่มที่เรากำลังจะโฟกัสคือ กลุ่ม Waste Processor หรือโรงงานที่รับกำจัดและบำบัดของเสีย ซึ่งโรงงานกลุ่มหลังเป็นประเด็นหลักที่เรากำลังพูดถึงกันว่า เป็นคนที่นำมลพิษที่ต้องถูกกำจัด หรือบำบัด หรือรีไซเคิล ไปทำอย่างอื่น ซึ่งก็คือการนำไปทิ้งในสิ่งแวดล้อม หรือนำไปวางทิ้งไว้เฉยๆ นำไปฝัง หรือไปเทลงน้ำ”
สถาพรอธิบายเพิ่มเติมโดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่า สิ่งที่น่าสนใจคือ ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปี 2566 เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง Waste Generator ต่อ Waste Processor มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โรงงานรับกำจัดขยะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะภาคตะวันออก การเพิ่มขึ้นเหล่านี้สอดคล้องกับช่วงหลังรัฐประหาร 2557 เพราะในปี 2559 ได้มีคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 ซึ่งเป็นคำสั่งที่ทำให้กฎหมายผังเมืองรวมถูกยกเว้นการบังคับใช้ และเปิดโอกาสให้โรงงานประเภทคัดแยกของเสียและรับบำบัดกำจัดของเสียสามารถตั้งอยู่ในผังเมืองสีอะไรก็ได้ ซึ่งคือกลุ่มโรงงาน 105 106 และรวมถึงโรงไฟฟ้าขยะด้วย
“โรงงาน 101 อยู่ที่ 114 แห่ง โรงงาน 105 หรือโรงงานคัดแยกของเสียไม่อันตรายและฝังกลบ อยู่ที่ 1,586 แห่ง และโรงงาน 106 หรือรีไซเคิล อยู่ที่ 993 แห่ง ทั้งหมดนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงหลังปี พ.ศ. 2558 หรือ 2559 เป็นต้นมา” สถาพรกล่าว
สถาพรเน้นว่า ที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรมก็มีความพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตัดราคา ที่โรงงานต้นทางต่างรู้อยู่แล้วว่า การที่โรงงานปลายทางเขารับราคาถูก ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้นำไปกำจัดจริง เพราะในอดีต Waste Generator จะปลดภาระความรับผิดชอบทันทีที่ของไปถึง Waste Processor แต่ในช่วงปลายปี 2566 กรมโรงงานอุสาหกรรม ได้มีการแก้ประกาศ ‘การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566’
“ต่อไปนี้ Waste Generator หรือโรงงานต้นทางจะมีภาระความรับผิดชอบตลอดไป เมื่อไปเจอของท่านอยู่ที่ไหนก็ตาม จะไม่พ้นภาระการรับผิด เพื่อให้คิดก่อนนะ ก่อนจะส่ง ว่าจะส่งไปให้โรงงานไหนรับกำจัด ถ้าส่งไปที่โรงงานที่รับถูกๆ แล้วเขาไม่กำจัด ท่านก็ยังมีภาระการรับผิดอยู่”
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้กล่าวว่า จากประสบการณ์การติดตามประเด็นปัญหาเรื่องผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรมมา 20 กว่าปี ปัญหาเรื่องนี้ไม่เคยลดลงไป มีแต่เพิ่มขึ้น ปัญหาของชาวบ้านแต่ละพื้นที่ก็เพิ่มขึ้น นานวันปัญหาเหล่านี้ยิ่งทวีความซับซ้อนขึ้น
“สถานการณ์ล่าสุดตอนนี้ ปัญหาที่เราคาดไม่ถึงคือเรื่องทุนจีนเทา ซึ่งอันนี้เกิดขึ้นหลังจากผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมในประเทศของจีน จีนต้องการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ถ้าย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว จะเห็นภาพชาวปักกิ่งเขาใส่หน้ากากกันมลพิษทางอากาศ จีนจึงตัดสินใจแก้ปัญหาทั้งประเทศ ด้วยการตรวจสอบทุกพื้นที่ และใช้งานวิจัย เขาพบว่าสาเหตุของปัญหา PM 2.5 ที่รุนแรง ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายเปิดรับขยะจากทั่วโลก ซึ่งในอดีตจีนเคยเป็นแหล่งระบายขยะจากทั่วโลกประมาณ 40-50% มาทำการ รีไซเคิล คัดแยก และฝังกลบ
“เราทราบมาว่าจีนปิดโรงงานรีไซเคิลที่ตรวจพบว่าไม่ได้มาตราฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม และเป็นตัวปัญหาหลักของมลพิษฝุ่นและมลพิษอากาศในบ้านเขา ประมาณ 700 กว่าแห่ง ใน 700 กว่าแห่ง เราสงสัยอยู่ว่า มาอยู่ที่ไทยกี่แห่ง”
เพ็ญโฉม ขยายความเพิ่มเติมว่า ถ้าดูตัวเลขการรับขยะพลาสติกของประเทศไทยก่อนปี 2561 ไทยเคยรับขยะพลาสติกเพียงแค่ไม่กี่หมื่นตัน แต่ในปี 2561 กลับมีการรับพุ่งสูงถึง 5 แสนตัน แล้วมีการรับขยะอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ด้วย
“ตอนนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องขยะพลาสติก มันมีเรื่องเศษโลหะและขยะอุตสาหกรรมชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นแดง และสารพัดสิ่ง หรือแม้กระทั่งอะลูมิเนียม ดรอส ซึ่งเราพบว่าทุนจีนนำเข้ามาหล่อหลอมในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก พบทั้งในปราจีนบุรี ลพบุรี เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร ชลบุรี และเชื่อว่าระยองก็มีไม่น้อย
“การที่เราสู้กับปัญหามลพิษมานาน เรารู้สึกว่าปัญหามันกระจาย และผู้เดือดร้อนเยอะ และหน่วยงานราชการเองมีกำลังไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นกำลังในการตรวจสอบ หรือว่ากำลังในการจัดการปัญหา ข้อจำกัดในเรื่องกฏหมายก็มีสูงมาก เราเคยคุยกับท่านอธิบดีจุลพงษ์ ท่านบอกว่ากฎหมายที่มีอยู่ทำให้เราทำอะไรเขาไม่ได้ ซึ่งเราก็ตกใจเหมือนกัน เพราะถ้ากฏหมายที่มีอยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงสิ่งแวดล้อมทั้งหมดทำอะไรไม่ได้ เราต้องมาทบทวนกันใหม่แล้ว”
เพ็ญโฉมเน้นว่า ในวันนี้อยากพูดถึงกฎหมายฉบับหนึ่ง ที่ประเทศไทยควรจะต้องมีมานานแล้ว แต่ ณ วันนี้ยังไม่มี กฎหมายนี้เรียกสั้นๆ ได้ว่า กฎหมาย PRTR หรือชื่อเต็มคือร่างพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ. … ซึ่งกำลังอยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
“ทุกวันนี้เราไม่มีกฎหมายที่ครอบคลุม หรือบอกได้ว่า มลพิษที่ปล่อยที่เราหายใจเข้าไป ที่มาจากโรงงานทั้งหมดกว่า 70,000 กว่าแห่ง เขาปล่อยมลพิษแต่ละอย่างจำนวนกี่ตัน เราจะรู้แค่วันนี้คุณภาพอากาศเป็นอย่างไร แต่ไม่รู้ว่ามีอะไรปนเปื้อนในอากาศบ้าง”
เพ็ญโฉม ยกตัวอย่างต่ออีกว่า สมมติเราวัดคุณภาพอากาศ เราจะรู้แค่เป็นค่า PPM (ส่วนในล้านส่วน) แต่เราจะไม่รู้ว่าในแต่ละโรงงาน มีอะไรทั้งหมดกี่ตัน แต่เคยมีงานศึกษาในสมุทรสาครที่พบว่า อุตสาหกรรมในสมุทรสาครที่ส่วนใหญ่เป็นโรงหลอมและโรงงานรีไซเคิล ปล่อย PM 2.5 ออกมา ปีหนึ่ง 40,000 ตัน ขณะที่ภาคขนส่งปล่อยมา 200 กว่าตัน จึงเป็นระดับที่ต่างกันมาก ซึ่งที่ผ่านมา เวลามองปัญหา PM 2.5 ส่วนใหญ่จะมองว่าปัญหามาจากการเผาในที่แจ้ง และปัญหาการขนส่ง แต่ไม่ค่อยมีการมองต้นตอที่มาจากกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ
“ณ วันนี้ร่างกฎหมาย PRTR ถูกบรรจุอยู่ในวาระพิจารณา ในสภาผู้แทนราษฏรแล้ว แต่เราไม่รู้ว่าจะผ่านการพิจารณาไหม จะผ่านการประกาศเป็นกEหมายไหม แต่ถ้าไม่ผ่านก็เป็นสิ่งที่เราต้องต่อสู้ต่อไป” ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าว
ด้านสุเมธ เหรียญพงษ์นาม เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้เล่าว่า ตนเป็นเกษตรกร ได้เดินทางไปทำงานมาหลายจังหวัด แล้วเมื่อได้กลับมาอยู่บ้านที่ ต.กรอกสมบูรณ์ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี เขาได้พบกับกองภูเขาขนาดใหญ่ที่ส่งกลิ่นเหม็นแสบตา แสบจมูก กลิ่นเหมือนสารเคมี และเมื่อสอบถามพ่อในฐานะที่อยู่ในพื้นที่มากกว่าตน กลับได้คำตอบว่าน่าจะเป็นกองปุ๋ย คำตอบของพ่อเป็นภาพสะท้อนว่า แม้แต่คนในพื้นที่ก็ยังไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากมลพิษที่ต้องสูดดมทุกวัน
“พ่อบอกว่าเป็นกองปุ๋ย เขาบอกว่าจะมีกองปุ๋ยที่จะมาตั้งอยู่ที่บ้านเรา จะเห็นว่าคำตอบของคนที่อยู่ใกล้ที่สุด อยู่ใกล้มากๆ พอพ่อบอกเป็นกองปุ๋ย ก็ไปถามคนในชุมชน ก็ตอบว่าไม่เคยรู้ว่ามันมีกองปุ๋ยกองนี้อยู่”
หลังจากนั้น สุเมธจึงเริ่มหาคำตอบเกี่ยวกับกองปุ๋ยส่งกลิ่นเหม็น พยายามสอบถามชาวบ้านหลายหลังคาเรือน จนไปถึงหน่วยงานท้องถิ่น แต่ก็ได้คำตอบแบบปัดๆ บ้างก็อ้างว่าไม่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ สุดท้ายเขาได้รู้ว่ามันคือกองขยะที่มาจากโรงงานกำจัดขยะอุตสาหกรรม ซึ่งมาจากกลุ่มโรงงาน 105 และ 106
“เราไม่ทราบเลย แม้แต่คนในหมู่บ้านก็ไม่ทราบ แต่เรารู้เพียงอย่างเดียวว่ามันเกิดมลพิษที่บ้านเรา คือกลิ่นเหม็น คือเช้ามา ถ้าได้กลิ่น บางคนจะมีอาการคลื่นไส้ อยากอาเจียน พอแปรงฟัน ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็คืออยากอ้วกเลย”
เรื่องราวประสบการณ์ของสุเมธ เป็นภาพแทนชะตากรรมของชาวบ้านอีกหลายพื้นที่ ที่ต่างไม่มีโอกาสได้รับรู้ว่าบ้านของตนจะมีอะไรมาตั้ง หรือถูกลักลอบทิ้งอะไร กว่าจะรู้ก็คือวันที่เกิดผลกระทบในวงกว้างแล้ว “มันมีหลายๆ ที่ที่เขาประสบปัญหา แต่เขาไม่รู้ที่มาที่ไป มลพิษมันคืออะไร อันนี้คือสิ่งสำคัญที่ชาวบ้านเองไม่มีโอกาสที่จะทราบเลยว่าอะไรอยู่ในนั้น”
ในฐานะคนปราจีนบุรี สุเมธเล่าว่า ณ ปัจจุบันในพื้นที่ได้มีการตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะเกิดขึ้นใหม่หลายโรง ซึ่งมีทั้งแบบมีใบอนุญาตและแบบไม่มี จำนวนไม่น้อยเป็นทุนจีน ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างผลกระทบให้ประชาชนในพื้นที่ ทั้งอากาศและการปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำ รวมไปถึงกระบวนการปกปิดข้อมูลการตรวจสอบของประชาชน
สุเมธให้คำหลัก 3 คำ ที่สะท้อนภาพที่ชาวปราจีนกำลังเผชิญว่า “กาก ขยะพิษ อิทธิพล”
“กาก ขยะพิษ อิทธิพล เหล่านี้มันครอบคลุมไปทุกพื้นที่ ไม่ว่าเราจะมีกฎหมายตัวใด ไม่ว่าจะท้องถิ่น หรือเรื่องของการรับฟังความคิดเห็น หรือการเอื้ออำนวยให้กลุ่มทุนจีนเหล่านี้ ซึ่งกากขยะเหล่านี้มันมีชีวิตจริง มันสามารถสร้างมลพิษ นำมลพิษต่างๆ ไปกระจายทั่วทุกที่ ที่เขาคิดว่าเขาจะได้ผลประโยชน์” สุเมธกล่าว
ชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายผู้เชี่ยวชาญคดีสิ่งแวดล้อม เสริมข้อมูลว่า ถ้าประเทศไทยมีกฎหมาย PRTR จะมีส่วนสำคัญในการปกป้องสิทธิของประชาชน และช่วยให้ทนายที่ทำงานด้านคดีสิ่งแวดล้อมมีข้อมูลมากขึ้น เพราะจากประสบการณ์เวลาต่อสู้คดี เรื่องกากสารเคมี เรื่องการปนเปื้อน โรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากจะปฏิเสธ อ้างว่าผลกระทบเหล่านี้ไม่ได้มาจากตน สารพิษเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในพื้นที่เกษตรกรรม โดยชาวบ้านใช้ปุ๋ย ใช้ยา ใช้สารเคมี
“ในกระบวนการพิจารณาคดีด้านสิ่งแวดล้อม วิธีการดำเนินคดีส่วนใหญ่มันก็จะมีปัญหาในเรื่องข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย สองส่วนมาประกอบกัน เพื่อให้ศาลใช้ดุลยพินิจในการไปปรับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ว่าข้อเท็จจริงนี้มันผิดไปจากแนวทางของกฎหมายไหม สามารถลงโทษและเป็นหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่จะพิจารณาโทษได้หรือไม่ และค่าเสียหายเพียงใด”
ชำนัญอธิบายด้วยว่า ในการพิจารณาคดีด้านสิ่งแวดล้อมมีความแตกต่างจากคดีแพ่งและอาญาทั่วไป เนื่องจากคดีด้านสิ่งแวดล้อม ต้องมีข้อเท็จจริง หรือ “นิติวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม” มาประกอบ ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาในเรื่องนี้เท่าใดนัก ในขณะที่เปรียบเทียบกับต่างประเทศจะมีการใช้ในการเทียบอัตลักษณ์ของสารเคมีที่ปนเปื้อน ที่กระจายสู่ภายนอก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดสมมติฐานและการเชื่อมโยงได้ แล้วจะทำให้เกิดการสอบทานแล้วชี้ไปได้ว่าใครคือแหล่งกำเนิดมลพิษ
“วินโพรเสสฯ เราก็เจอปัญหาที่เขาสู้ว่า มันเกิดจากปัญหาน้ำท่วมขังที่ต้นยางตาย แต่เขาตอบไม่ได้ว่าค่า ph ที่เป็นกรดเกิดจากอะไร แล้วเขาก็บอกว่าเขาดูแลอย่างดีแล้ว ไม่ได้ปล่อยให้ปนเปื้อน”
ทนายผู้เชี่ยวชาญคดีสิ่งแวดล้อม เน้นว่า ที่ผ่านมาในกระบวนการต่อสู้คดี ชาวบ้านไม่สามารถใช้สิทธิเข้าถึงกระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้เลย หรือแม้แต่ทนายความด้านนี้ ก็ไม่ได้มีความรู้ด้านนี้เฉพาะ ในเรื่องของวิทยาศาสตร์หรือเคมี
“การไม่มีกฎหมาย PRTR หรือการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ ทำให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิง่ายขึ้น เข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เข้าถึงสิทธิในการมีส่วนร่วม สิทธิในสิ่งแวดล้อมของตัวเอง ภาวะเรื่องการเจ็บป่วย ภาวะเรื่องเฝ้าระวัง ผมคิดว่า PRTR เป็นเรื่องจำเป็นที่พวกเราต้องตื่นรู้ และผลักดันให้มีกฎหมายนี้ขึ้น” ชำนัญกล่าวทิ้งท้าย
เรื่องและภาพถ่ายโดย นราธิป ทองถนอม มูลนิธิบูรณะนิเวศ