ชวนแคลงใจ...ย้ายอธิบดีพาณิชย์ โยงพิษการลอบนำเข้าขยะ?? (26 ก.ย. 67)

 

 

ผอ. บูรณะนิเวศห่วง ย้ายอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศแล้ว นโยบายคุมเข้มขยะนำเข้าจะหายไปด้วยหรือไม่
 


สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (24 กันยายน 2567) ได้มีมติโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ ระดับรองปลัดและอธิบดีกรมต่างๆ รวม 4 กรม ทั้งนี้รวมถึงอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ รณรงค์ พูลพิพัฒน์ ที่ถูกโยกไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง ทั้งหมดมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
 


ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง แสดงความห่วงใยและคลางแคลงใจต่อกรณีดังกล่าว โดยอธิบายว่า “การโยกย้ายข้าราชการในช่วงสิ้นปีงบประมาณถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่กรณีของอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ มีความน่าสนใจ เนื่องจากเมื่อสัปดาห์ก่อน อธิบดีรณรงค์ พูลพิพัฒน์ เพิ่งออกมาให้ข่าวเกี่ยวกับกรณีที่มีการพบขยะเทศบาลซุกซ่อนมากับเศษกระดาษที่บริษัทเอกชนรายใหญ่ของประเทศไทยสั่งนำเข้ามา ดังนั้นถือว่าเป็นผู้บริหารระดับสูงในระบบราชการคนเดียวที่แสดงความห่วงใยในปัญหาการลอบนำเข้าขยะ และได้ประกาศที่จะมีมาตรการเข้มต่อเรื่องนี้ต่อไปด้วย”
 


ตามข่าวที่นำเสนอโดยสำนักข่าว CNA หรือ Commercial News Agency เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ระบุว่า อธิบดีรณรงค์เปิดเผยว่า ทางกรมได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าติดตามและได้เตรียมยกระดับความเข้มข้นของมาตรการในการกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะหากปล่อยให้มีการนำเข้าขยะโดยไม่มีการกำจัดและบริหารจัดการที่ดี ก็จะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการบำบัดและฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมก็ต้องใช้ระยะเวลานานและยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรงอีกด้วย
 


เขายังเปิดเผยด้วยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2567 ทางกรมได้รับการรายงานมาเป็นระยะว่ามีผู้ประกอบการสำแดงการนำเข้าเศษกระดาษ เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในโรงงานสำหรับผลิตเป็นกระดาษและบรรจุภัณฑ์ แต่เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของสินค้ากลับพบว่ามีของเสียและวัสดุอื่นเจือปนอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจัดว่าเป็นขยะอันตราย เช่น ของใช้แล้วจำพวกขวดพลาสติก โฟม ถุงพลาสติก กระป๋องน้ำอัดลม ผ้าอ้อมสำเร็จรูป หน้ากากอนามัย ถุงน้ำยาทางการแพทย์และสายยาง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เศษกระดาษที่สั่งซื้อเข้ามาไม่ได้รับการคัดแยกประเภทและไม่ได้เกณฑ์มาตรฐานสิ่งเจือปนที่ยอมรับได้จากประเทศต้นทาง โดยสินค้าที่มีของเสียและวัสดุอื่นเจือปนเข้าข่ายเป็นขยะเทศบาล ซึ่งเป็นสินค้าห้ามนำเข้าตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะเทศบาลเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้าและห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2562
 


“ประเด็นสำคัญคือ อธิบดีรณรงค์ชี้ออกมาชัดเจนเลยว่า การนำเข้าเศษกระดาษที่ปะปนขยะดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งยังกล่าวฝากไปถึงผู้ประกอบการนำเข้า ให้เพิ่มความระมัดระวังและให้ความสำคัญกับการคัดเลือกตัวแทนผู้จำหน่ายสินค้าเพื่อจะได้ไม่นำขยะจากต่างประเทศเข้ามาในไทย ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชน” เพ็ญโฉมกล่าว และแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า คำพูดดังกล่าวของอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศคนปัจจุบันถือได้ว่ามีความตรงไปตรงมา และสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจในประเด็นปัญหา รวมถึงมีความห่วงใยต่อผลกระทบที่จะเกิดตามมา
 


“เราจึงติดใจว่า สิ่งที่อธิบดีเพิ่งประกาศไว้ที่จะยกระดับความเข้มข้นของมาตรการในการกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม หรือพูดง่ายๆ คือ จะเข้มงวดเพื่อแก้ไขปัญหาการลอบแฝงขยะมาให้สินค้านำเข้า จะยังคงเป็นนโยบายของกรมการค้าต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ หรือจะปล่อยให้ปัญหาการลักลอบนำเข้าขยะจากต่างประเทศยังคงเป็นเรื่องที่อยู่ในเงามืดต่อไป”
 


เรียบเรียงโดย ปานรักษ์ วัฒกะวงศ์ มูลนิธิบูรณะนิเวศ
ขอบคุณภาพจาก กรมควบคุมมลพิษ และ prachachat.net