วันนี้ในอดีต - สารเคมี “อินโดรามา” รั่ว อุบัติภัยซ้ำซากบนความไม่รู้ (22 ก.ย. 67)
วันนี้เมื่อสองปีที่แล้ว เกิดเหตุสารเคมีรั่วไหลจากโรงงานแห่งหนึ่งใน ต.ขุนแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ขณะเกิดเหตุเวลาประมาณ 06.15 น. กลิ่นสารเคมีฟุ้งกระจายไปทั่ว ลอยไปตามทิศทางลมไกลถึง จ.นนทบุรี หรือประมาณ 20 กม.
โรงงานที่เป็นต้นเหตุของการรั่วไหลในครั้งนั้นคือบริษัทอินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ จำกัด (มหาชน) จ.นครปฐม เป็นโรงงานผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์และเกล็ดพลาสติก จากการรีไซเคิลขวดพลาสติก PET เริ่มประกอบกิจการตั้งแต่ปี 2557 กำลังการผลิต 127,000 ตันต่อปี
อินโดรามาฯ เป็นบริษัทเคมีภัณฑ์ระดับโลกที่มีโรงงานในเครืออยู่ในประเทศต่างๆ ทั้งในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ แอฟริกา และเอเชีย สำหรับในประเทศไทย นอกจากที่ จ.นครปฐมแล้ว ยังมีโรงงานในอีกหลายพื้นที่
เมื่อแรกเกิดเหตุ ซึ่งเป็นยามเช้าตรู่ของวันที่ 22 กันยายน 2565 ทั้งผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ประสบเหตุ ต่างไม่อาจทราบได้ว่า สิ่งที่แพร่กระจายออกมาและก่อปัญหาจนกระทั่งโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียงต้องประกาศหยุดเรียนในวันดังกล่าว นั้นคืออะไร มีพิษภัยอย่างไร
จนต่อมาเมื่อมีการตรวจสอบแล้วจึงมีการสรุปว่า สารเคมีที่รั่วไหลเป็นน้ำมันร้อน (hot oil downterm DT1) ซึ่งเป็นสารแลกเปลี่ยนความร้อนของระบบหล่อเย็น (cooling) เป็นสารกลุ่มอะโรเมติกเบนซิน ชนิดไบฟีนิล (Biphenyl) และไดฟีนิลออกไซด์ 75% (Diphenyl Oxide) รั่วไหลจากระบบการผลิตเม็ดพลาสติก บริเวณโรงกลั่นพลาสติก แพลนท์ 2 ประมาณ 30 ลิตร สารเคมีดังกล่าวมีน้ำหนักเบา ทำให้ลอยไปได้ไกล
สำหรับพิษภัยของสารกลุ่มอะโรเมติกเบนซิน ประเภทไบฟีนิลและไดฟีนิลออกไซด์ เมื่อถูกความร้อนจะกลายเป็น สารไฮโดรคาร์บอนที่ลอยไปได้ไกล หากหายใจเข้าไปจะมีอาการมึนงง เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ อาเจียน ทำลายถุงลมปอด มีผื่นคันตามผิวหนัง ระคายเคืองตา ถ้าได้รับในระดับที่เข้มข้นมาก อาจทำให้เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งตับได้
หลังเกิดเหตุ บริษัทอินโดรามาฯ ได้ออกมาขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งเยียวยาประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจำนวน 1 คน แต่ตัวเลขของผู้ได้รับผลกระทบแท้จริงไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ส่วนความเสี่ยงของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้โรงงานนั้นก็เป็นความเสี่ยงแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวและไม่อาจที่จะตระหนักรู้ได้เลย ว่าสารเคมีที่อยู่ในโรงงานข้างบ้านเป็นสารเคมีชนิดใด อันตรายมากน้อยแค่ไหน และจะมีวิธีการปกป้องตัวเองอย่างไร จะทราบข้อมูลก็ต่อเมื่อเกิดเหตุอุบัติภัยขึ้นและมีผู้ได้รับผลกระทบแล้วเท่านั้น
สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (PRTR) ซึ่งนับวันประชาชนต่างก็เข้าใจแล้วว่ากฎหมายนี้จำเป็นอย่างไร แต่ยังต้องลุ้นว่าเมื่อไรรัฐบาลที่เข้าบริหารประเทศจะเข้าใจและใส่ใจ
นอกจากกฎหมาย PRTR แล้ว ผู้ประกอบการโรงงานก็ควรมีการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันตัวเองเมื่อเกิดอุบัติภัยด้วย เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชนโดยรอบ ถือเป็นการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและหลีกเลี่ยงการแก้ไขปัญหาแบบ “วัวหายล้อมคอก”
เรื่องโดย พิสิทธิ์ ศรีพุ่มไข่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ