วันนี้ในอดีต - ย้อนเหตุการณ์ 25 ปี โรงงานลำไยอบแห้งระเบิด!! (19 ก.ย. 67)

 

 


ช่วงสายของวันที่ 19 กันยายน 2542 หรือเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ภายในโรงงานลำไยอบแห้งแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ขณะที่คนงานกำลังนำสารโปแตสเซียมคลอเรตผสมกับสารอื่นๆ ตามสูตรสารเร่งดอกลำไย ได้เกิดปฏิกิริยาอันไม่คาดฝันขึ้น
 


เสียงระเบิดดังสนั่นขึ้นมาสองครั้งซ้อน จากภายในโรงงานลำไยอบแห้งของบริษัทหงส์ไทยเกษตรพัฒนา จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านหนองแท่น ต.บ้านกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่
 


หลังสิ้นแรงระเบิด เจ้าหน้าที่ได้เข้าสำรวจสภาพความเสียหายของโรงงาน พบหลุมระเบิดลึก 3 เมตร กว้าง 28 เมตร สภาพโรงงานพังยับเยินเหลือเพียงเศษเหล็ก ความแรงของระเบิดทำให้อาคารบ้านเรือนในรัศมี 1 กม. กว่า 500 หลังคาเรือนได้รับความเสียหาย มีผู้เสียชีวิต 36 คน ได้รับบาดเจ็บกว่า 100 คน  และสูญหายอีกบางส่วน
 


จากการตรวจพิสูจน์หลักฐานของเจ้าหน้าที่ สรุปสาเหตุของการระเบิดว่าเกิดจากการผสมปุ๋ยที่มีส่วนผสมของโปแตสเซียมคลอเรต และเกิดข้อผิดพลาดในขั้นตอนการผสมปุ๋ย ทำให้เกิดประกายไฟและการกระแทกเสียดสีในเครื่องโม่ จึงเกิดการระเบิดขึ้น
 


โรงงานลำไยอบแห้งของบริษัทหงส์ไทยเกษตรพัฒนาฯ จดทะเบียนทำการค้าลำไยกับกระทรวงพาณิชย์ แต่ความเป็นจริงแล้วโรงงานได้ทำการค้าสารเร่งดอกลำไยควบคู่ไปด้วย ซึ่งถือเป็นการทำธุรกิจผิดประเภท
 


โรงงานแห่งนี้มีลูกจ้างทั้งหมด 46 คน แต่โรงงานไม่ได้ทำการจดทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอีกประการหนึ่ง และที่โรงงานนี้มีนโยบายไม่รับคนในพื้นที่หรือชุมชนใกล้เคียงเข้าทำงาน เนื่องจากเกรงข้อมูลแพร่งพรายว่า กิจการของโรงงานมีอันตราย
 


สูตรสารเร่งดอกลำไย คือการนำสารโปแตสเซียมคลอเรตผสมกับสารกำมะถัน และสารอื่นๆ ตามสูตรลับของบริษัท คนงานในโรงงานนี้ รวมทั้งเกษตรกรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตผลลำไย ไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลจากโรงงานหรือเจ้าหน้าที่แรงงานของรัฐเกี่ยวกับอันตรายของสารโปแตสเซียมคลอเรตว่ามีความร้ายแรงเพียงใด ชาวบ้านได้รับรู้แต่ข้อดีของการใช้สารนี้ ว่าเป็นสารช่วยเร่งต้นลำไยให้ออกดอกติดผลนอกฤดูกาลได้
 


สารโปแตสเซียมคลอเรตเป็นวัตถุไวไฟ จะระเบิดเมื่อได้รับความร้อนเกิน 400 องศาเซลเซียส สารโพแทสเซียมคลอเรตมีความเป็นพิษต่อมนุษย์ ทำให้ระคายเคืองผิวหนัง ตา ทำลายเม็ดเลือดแดง เป็นอันตรายต่อไตและกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นวัตถุอันตรายตามนิยามใน พ.ร.บ. ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530
 


จากเหตุที่เกิดขึ้น ทางตำรวจได้ดำเนินคดีกับเจ้าของกิจการในข้อหากระทำการโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ข้อหาโยกย้ายยุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหาการต่อเติมอาคาร ต่อมาได้มีการฟ้องร้องทั้งบริษัทและผู้บริหาร รวมเป็นจำเลย 4 ราย ประกอบด้วย บริษัทหงส์ไทยเกษตรพัฒนา จำกัด ปธาน ตรีฉัตร ผู้จัดการบริษัท เทิดพันธ์ ฉันทะโรจน์ศิริ ประธานกรรมการบริหาร และลีหงเหลิน หุ้นส่วนชาวไต้หวัน
 


คดีนี้มีการต่อสู้กันยาวนานถึง 17 ปี ในที่สุด ศาลฎีกาได้พิพากษาสั่งปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 60,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 จำนวน 6 ปี 10 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 เป็นเวลา10 ปี 2 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 4 (ซึ่งถูกระบุว่าคือเจ้าของโรงงานตัวจริง) เป็นเวลา 10 ปี ปัจจุบัน ลีหงเหลิน อยู่ระหว่างหลบหนีคดีในต่างประเทศ
 


เหตุการณ์นี้คือหนึ่งในภัยอันเกิดจากการที่รัฐบาลปล่อยให้นายทุนเข้ามาฉวยโอกาสหาผลกำไร โดยเอาเปรียบคนงานและชุมชนจากความไม่รู้ และรัฐบาลไม่ได้เข้าไปติดตามตรวจสอบจริงจัง กระทั่งเกิดเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง บางคนต้องสูญเสียคนในครอบครัว บางคนถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว บางคนพิการไปตลอดชีวิต
 


แม้ว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้จะถือเป็นบทเรียนให้ผู้ประกอบการหลายแห่งระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีชาวบ้านหลายพื้นที่รอบโรงงานหลายแห่งในประเทศไทยต้องตกอยู่ในความหวาดหวั่นจากปัญหาสารอันตรายและมลพิษ โดยที่การตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงทำได้ไม่ครอบคลุมและไม่เคร่งครัดเท่าที่ควร
 


และนี่คือสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาคประชาชนบางส่วนได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาล พิจารณาผ่านร่างพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ…. (ร่างกฎหมาย PRTR) เพื่อให้กิจการโรงงานของประเทศไทยมีการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารพิษหรือวัตถุอันตรายต่างๆ สู่สาธารณะ เพื่อลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น เหมือนเหตุการณ์เมื่อ 25 ปีก่อน รวมถึงเหตุการณ์อื่นๆ ที่ยังคงมีการเกิดขึ้นเรื่อยมาเป็นระยะๆ
 


เรื่องโดย พิสิทธิ์ ศรีพุ่มไข่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ