NGO ฟิลิปปินส์-ไทย ชื่นชม อย. ที่สั่งห้ามจำหน่ายเครื่องสำอางปนเปื้อนปรอท 12 ชนิด (17 ก.ย. 67)

 

 

วันนี้ (18 กันยายน 2567) EcoWaste Coalition ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ประเทศฟิลิปปินส์ และมูลนิธิบูรณะนิเวศ ประเทศไทย (EARTH - Ecological Alert and Recovery Thailand) ได้ร่วมกันออกเอกสารแถลงข่าว แสดงความชื่นชมต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย ที่สั่งห้ามการผลิตและการจำหน่ายเครื่องสำอางบำรุงผิว 12 ผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนสารปรอท พร้อมทั้งเรียกร้องให้ อย. ดำเนินการติดตามตรวจสอบและบังคับใช้มาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัดต่อไปด้วย
 


“เราขอชื่นชมสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทยที่รับฟังคำร้องขอของเรา โดยดำเนินการทางกฎหมาย ซึ่งท้ายที่สุดแล้วนำไปสู่การประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องสำอาง 12 ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารปรอท ตามที่เราเคยรายงานไปก่อนหน้านี้” ไอลีน ลูเซโร (Aileen Lucero) ผู้ประสานงานระดับประเทศของ EcoWaste Coalition กล่าว
 


ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว (2566) EcoWaste Coalition ได้เคยร่วมกับเครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ – เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออก หรือ IPEN-SEA (International Pollutants Elimination Network – Southeast and East Asia) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีสมาชิกเป็นองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศต่างๆ กว่า 120 ประเทศ และอีกสองมูลนิธิในประเทศไทย ได้แก่มูลนิธิบูรณะนิเวศ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (Foundation for Consumers - FFC) เข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อ อย. ขอให้ดำเนินการกำกับดูแลตามกฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อหยุดการผลิตและการจำหน่ายเครื่องสำอางที่มีสารปนเปื้อน โดยเฉพาะสารปรอท
 


เนื่องจากก่อนหน้านั้น ในช่วงปลายปี 2565 EcoWaste Coalition ได้ตรวจสอบพบว่า ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ผลิตจากประเทศไทยจำนวน 8 ตัวอย่าง มีสารปรอทปนเปื้อนในระดับสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานที่บทบัญญัติเครื่องสำอางอาเซียน หรือ ACD (ASEAN Cosmetic Directive) ยอมให้มีได้ (นั่นคือ 1 ppm) ในระดับหลายพันจนถึงหลายหมื่นเท่า โดยที่ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีการนำเข้าไปจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ในประเทศฟิลิปปินส์ นั่นจึงเป็นเหตุให้ EcoWaste Coalition ประสานมายังมูลนิธิบูรณะนิเวศ เพื่อเรียกร้องและขอความช่วยเหลือจาก อย. ของประเทศไทย ในการจัดการกับการผลิตเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมายในประเทศไทยและมีการส่งออกไปยังฟิลิปปินส์
 


ทั้งนี้ สารปรอทถือเป็นสารพิษร้ายแรงที่ไม่อนุญาตให้ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง ภายใต้บทบัญญัติ ACD ที่ไทยเป็นรัฐภาคีอยู่ด้วย ในขณะที่อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยการจัดการสารปรอท (Minamata Convention on Mercury) ซึ่งทั้งประเทศไทยและฟิลิปปินส์ต่างให้สัตยาบันเข้าร่วม ก็มีการบัญญัติให้รัฐภาคียกเลิกการผลิต นำเข้า และส่งออกเครื่องสำอางที่มีการปนเปื้อนของสารปรอทเกิน 1 ppm ภายในปี พ.ศ. 2563
 


สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ถูก อย. ของไทยสั่งห้าม ได้แก่ ชุดครีมสาหร่ายทองคำยี่ห้อเลดี้โกลด์ ชุดผลิตภัณฑ์เพื่อผิวสว่างใสยี่ห้อหมอยันฮี จำนวน 5 ชนิด ยี่ห้อหมอวุฒิศักดิ์ 2 ชนิด รวมทั้งผลิตภัณฑ์บำรุงผิวอื่นๆ อีก 4 ชนิด จากการทดสอบของ อย. ได้ผลยืนยันว่า ทั้ง 12 ผลิตภัณฑ์นี้มีสารปรอทปนเปื้อนอยู่จริง นอกจากนั้น ยังพบว่าตัวอย่างบางส่วนมีส่วนผสมของยาที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในเครื่องสำอาง เช่น เบต้าเมทาโซน (betamethasone) ไฮโดรควิโนน (hydroquinone) และกรดเรตินอยด์ (retinoic acid) ซึ่งใช้รักษาโรคผิวหนังบางชนิด และควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัดเท่านั้น


 

 


“การดำเนินการของ อย. ที่สั่งห้ามผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางที่มีสารปรอท เป็นเรื่องน่าชื่นชม ทั้งยังเป็นการปฏิบัติตามและสนับสนุนต่อบทบัญญัติของ ACD และอนุสัญญามินามาตะ อันจะช่วยปกป้องผู้บริโภคในประเทศไทยและในภูมิภาคให้ปลอดภัยจากการได้รับสารปรอทผ่านการใช้ผลิตภัณฑ์ปรับผิวขาวที่ปนเปื้อน แต่เพื่อให้มั่นใจยิ่งขึ้น เราขอให้ อย. ดำเนินการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องด้วย รวมถึงในตลาดออนไลน์ และดำเนินคดีกับผู้ที่ยังคงฝ่าฝืนกฎหมายต่อไป” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าว
 


ส่วนไอลีนระบุเพิ่มเติมว่า “เราขอเรียกร้องให้ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการผลิต ส่งออก นำเข้า จัดจำหน่าย และขายเครื่องสำอางอันตรายเหล่านี้หยุดดำเนินกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของผู้คนและสิ่งแวดล้อมด้วย เนื่องจากแม้ว่าทางกระทรวงสาธารณสุขของไทยได้สั่งห้ามแล้ว แต่ผลิตภัณฑ์ที่ถูกสั่งห้ามบางส่วนยังคงปรากฏอยู่ในแพลตฟอร์มการซื้อสินค้าออนไลน์ยอดนิยม”
 


พร้อมกันนี้ ทั้งสององค์กรยังเรียกร้องให้หน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องเครื่องสำอางของประเทศไทย ร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาและบังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิของผู้บริโภค ตลอดจนดำเนินการเพื่อให้กลุ่มประเทศอาเซียนปลอดภัยจากเครื่องสำอางที่มีสารปรอท ซึ่งรวมถึงเครื่องสำอางที่มาจากประเทศอื่นๆ เช่น จีนและปากีสถาน 
 


ทั้งนี้ วิธีการหนึ่งที่มูลนิธิบูรณะนิเวศและ EcoWaste Coalition นำเสนอ ก็คือ การจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยเร่งด่วนภายหลังผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด (Post Marketing Alerting System - PMAS) ในลักษณะของ ASEAN PMAS ให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับประชากรเกือบ 700 ล้านคนในภูมิภาคนี้ ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อแจ้งข้อมูลและปกป้องผู้บริโภคจากผลิตภัณฑ์ที่มีข้อบกพร่องหรือไม่ปลอดภัย ซึ่งรวมถึงเครื่องสำอางที่ปนเปื้อนสารปรอทและสารอื่นๆ ที่เป็นอันตรายด้วย