อะไรคือความหมายของการสั่งปิดโรงงาน/หยุดประกอบกิจการ และอะไรคือผลลัพธ์ที่ควรต้องเกิดขึ้น? (12 ก.ย. 67)

 

 

ภายหลังจากที่มีการปะทุขึ้นของปัญหามลพิษอุตสาหกรรม...กว้างขวางและร้ายแรง...ชวนตกใจ การมีคำสั่งปิดโรงงานก็เริ่มปรากฏให้เห็นถี่ขึ้น ส่วนใหญ่คือสั่งให้ปิดหรือหยุดการประกอบกิจการเพื่อแก้ไขปรับปรุง นั่นคือ ปิดเป็นการชั่วคราว หากมีการปรับปรุงแก้ไขตามคำสั่งแล้วก็จะกลับมาเปิดหรือประกอบกิจการได้ดังเดิม
 


หากไม่นับปัญหาลักษณะการขัดขืนคำสั่ง...ลอบประกอบกิจการต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือดื้อแพ่งไม่ยอมแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไร หรืออาจแก้ไปแบบแกนๆ ไม่เน้นผลลัพธ์ แล้วมุ่งเน้นการเล่นงานกลับไปยังหน่วยงานผู้ออกคำสั่ง ควบคู่กับการเล่นเกมยื้อให้ต้องลงตรวจกันแล้วตรวจเล่า ซึ่งส่วนใหญ่ “การยืนระยะ” ของฝ่ายราชการจะอ่อนด้อยอยู่แล้ว ขณะที่โอกาสถูกเล่นงานมีสูงยิ่ง ทั้งจากระดับนโยบายที่มัก “โปร” และ “โปรด” อุตสาหกรรม ทั้งจากชาวบ้านที่ผจญปัญหามาจนแทบไม่เหลือความอดทน
 


แท้ที่จริง ตามที่กล่าวข้างต้นล้วนเป็นมาตรการปกติที่มักปฏิบัติกันและมักเกิดขึ้น แต่หากมองข้ามส่วนนี้ไป ว่ากันในมาตรฐานแบบควรจะเป็น นั่นคือ ทางโรงงานปฏิบัติตามคำสั่งเป็นอย่างดี ก็ยังคงมีประเด็นว่า ผลลัพธ์ที่ควรจะได้จากคำสั่งลักษณะดังกล่าวคืออะไร?
 

 

 


จากการที่มูลนิธิบูรณะนิเวศลงพื้นที่ ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา คำถามเกี่ยวกับความหมายและผลลัพธ์ของการมีคำสั่งปิดโรงงานก็ยิ่งดังก้อง
 


“ยังเห็นน้ำไหลอยู่ ผมว่ามันเขียวขึ้นกว่าเดิม ไม่รู้ว่ายังมีการทำงานหรือเปล่า แต่น้ำมันไหล”
 


ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้กับโรงงานรีไซเคิลเถื่อนทุนจีน พื้นที่หมู่ 4 ต. คลองกิ่ว อ. บ้านบึง จ. ชลบุรี บอกเล่าหลังเห็นน้ำเสียที่ไหลออกมาจากบ่อดินเปลือยที่ติดอยู่กับโกดัง A6 ซึ่งเป็นอาคารที่กลุ่มโรงงานแห่งนี้ใช้ประกอบการรีไซเคิลชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 
 

 

 


ชาวบ้านเล่าต่ออีกว่า หลังจากโรงงานได้รับคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการ ก็คิดว่าจะไม่มีน้ำไหลแล้ว พอมาเห็นวันนี้ก็เลยมีความกังวลว่าเขายังแอบทำงานอยู่หรือไม่ แล้วสังเกตว่าน้ำมันเขียวกว่าช่วงเดือนมีนาคม ที่หลายหน่วยงานเคยเข้ามาตรวจสอบ
 


ผลจากการที่ทีมเทคนิคของมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้นำเครื่องตรวจวัดคุณภาพน้ำเบื้องต้นไปตรวจน้ำตามทางน้ำธรรมชาติหลายจุดที่ไหลมาจากบ่อดินซึ่งเชื่อมต่อกับรางปล่อยน้ำทิ้งของโรงงาน พบว่า ค่าคุณภาพน้ำเกือบทุกจุดมีค่าความเค็ม ค่าของแข็งที่ละลายน้ำทั้งหมด หรือ TDS (Total dissolved solids) และค่าการนำไฟฟ้า สูงกว่าค่าคุณภาพน้ำผิวดินทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จุดที่อยู่ในที่ดินของชาวบ้านบริเวณใกล้กับบ่อน้ำเสียของโรงงาน พบค่าความเค็มถึง 1.6 ppt ในขณะที่น้ำจืดควรมีค่าความเค็มของน้ำ 0.5 ppt เท่านั้น
 


ในฐานะพื้นที่ทำการเกษตรกรรมและไม่ใช่พื้นที่ที่อยู่ใกล้ชายฝั่ง ผลการตรวจที่พบค่าความเค็มสูงผิดปกติจึงอาจจะบ่งชี้ได้เบื้องต้นว่า คุณภาพน้ำผิวดินมีการปนเปื้อน ซึ่งสอดคล้องกับค่า TDS ที่ชี้ชัดได้ว่า ในแหล่งน้ำอาจมีการปนเปื้อนของสารเคมีบางชนิด
 


ทั้งนี้ ในวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา ทางสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 13 - ชลบุรี (สคพ. 13) ได้เข้ามาตรวจสอบกลุ่มโรงงานรีไซเคิลแห่งนี้ หลังจากมีการร้องเรียนด้านน้ำเสียจากการประกอบกิจการโรงงาน จากคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร 
 


ทาง สคพ. 13 (ชลบุรี) ระบุว่า ขณะตรวจสอบพบว่า สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมด พบกิจกรรมการล้างเศษพลาสติกและมีการระบายน้ำทิ้งปนเปื้อนสารเคมีสีฟ้าระบายออกสู่ภายนอกโรงงาน และพบการขุดลอกตะกอนดินภายในบ่อน้ำเสียของโรงงานและนำไปกองไว้บริเวณที่ดินข้างเคียง
 

 

 


อนึ่ง กลุ่มโรงงานรีไซเคิลเถื่อนที่คลองกิ่วนี้มีพื้นที่กว่า 88 ไร่ อุตสาหกรรรมจังหวัดชลบุรีได้ออกคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2567 เนื่องจากผู้ประกอบกิจการโรงงานมีการฝ่าฝืนคำสั่งมาตรา 37 วรรคหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 และจากการตรวจสอบเพิ่มเติมโดยรอบอาคารโรงงาน พบมีการครอบครองวัตถุอันตราย อันได้แก่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษ โดยเป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 
 


“ถ้ามีการตรวจครั้งต่อไป ต้องให้ชาวบ้านเข้าไปตรวจ พอมาเห็นน้ำเขียวๆ แบบนี้ผมไม่สบายใจ” ชาวบ้านที่มีพื้นที่เกษตรอยู่ไม่ไกลจากโรงงานเถื่อนแห่งนี้ให้ความเห็น เพราะในมุมของคนที่มีที่ดินอยู่ใกล้โรงงานและต้องอาศัยน้ำในการทำการเกษตร หรือเรียกว่าเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการประกอบกิจการที่ไม่คำถึงสิ่งแวดล้อม การได้เข้าไปตรวจตราในพื้นที่โรงงานด้วยตาตัวเองก็เป็นสิ่งที่พอจะทำให้อุ่นใจ
 


อย่างไรก็ตาม ความต้องการจริงๆ ของประชาชนย่อมไม่ได้อยู่ที่การได้ร่วมตรวจโรงงาน และไม่ได้พอใจกับการที่โรงงานต้องถูกสั่งปิดหรือสั่งหยุดประกอบกิจการแต่อย่างใด สิ่งที่ต้องการแท้จริงคือ การหยุดปล่อยสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม และหยุดการแพร่กระจายของมลพิษให้ได้
 


ภาพถ่ายโดย นิชชาวัลย์ บุบผาชาติ