กรมโรงงานฯ สั่งหยุดโรงงานหลอมยางโคกสูง 3 เดือน พบโรงงานในเครือ จ.กาญจนบุรี เคยเกิดเหตุไฟไหม้ (9 ก.ย. 67)

 

 

จากกรณีโรงงานของบริษัท ไบโอเทค อินดัสทรีส์ จำกัด หรือบีทีไอ ในพื้นที่ ต.โคกสูง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ถูกประชาชนในพื้นที่ร้องเรียนปัญหามลพิษ ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา กระทั่งมีหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบหลายระลอก ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ทั้งที่โรงงานเพิ่งเริ่มประกอบกิจการเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567
 


สำหรับการตรวจสอบครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม นำโดยจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ออกหนังสือคำสั่งถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท ให้หยุดประกอบกิจการโรงงานและปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาตภายใน 90 วัน ซึ่งเป็นการออกคำสั่งตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. โรงงาน
 


ในคำสั่งของกรมโรงงานฯ ระบุว่า จากการเข้าตรวจสอบโรงงานปรากฏข้อเท็จจริง สรุปได้ว่า โรงงานไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตฯ และไม่ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
- ไม่จัดเก็บวัตถุดิบ (ยางรถยนต์ใช้แล้ว) ไว้ในอาคาร โดยวางไว้บนลานคอนกรีตและลานดิน กลางแจ้งประมาณ 500 ตัน
- ชุดเตาหลอมของโรงงานทั้งหมด 4 เตา มีระบบบำบัดอากาศร่วมกันเพียง 1 ชุดเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการขจัดฝุ่นละออง กลิ่นสารเคมีที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต รวมทั้งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการประกอบกิจการที่กำหนดว่า “ต้องมีมาตรการป้องกันด้านความปลอดภัยจากฝุ่นละออง เสียง ความสั่นสะเทือน ที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน โดยไม่ก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนหรือเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง”
- ไม่มีการติดตั้งหอระบายน้ำเย็น (Cooling Tower) ตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาต
- โรงงานไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำใต้ดิน ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
- ในอาคารเก็บรวบรวมแก๊สของโรงงาน มีบางจุดตรวจพบไฮโดรเจนซัลไฟล์เกินค่ามาตรฐาน
- ผลตรวจวัดคุณภาพอากาศบางจุดของโรงงาน พบค่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายรวม (TVOCs) ไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่เป็นสิ่งที่ไม่ควรตรวจพบในโรงงานของบริษัทฯ
- ในอาคารเก็บผงเขม่า (Carbon black) พบถุงบิ๊กแบ็กบรรจุผงเขม่าและพบผงเขม่าฟุ้งกระจายทั่วบริเวณพื้นอาคาร และผนังอาคารชำรุด ปิดไม่สนิท ทำให้เกิดการฟุ้งกระจายสู่ภายนอกได้
 


ข้อค้นพบดังกล่าวนำมาสู่บทสรุปที่ว่า “การประกอบกิจการโรงงานของโรงงาน บริษัท ไบโอเทค อินดัสทรีส์ จำกัด มีลักษณะที่ก่อหรืออาจจะก่อให้เกิดอันตราย ความเสียหาย หรือความเดือดร้อนอย่างร้ายแรงแก่บุคคลหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงาน หรือที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงาน”
 

 

 


อย่างไรก็ตาม แม้คำสั่งนี้จะออกตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน โดยที่ในวันเดียวกัน กรมโรงงานฯ ได้ออกหนังสืออีกฉบับถึงผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมแนบคำสั่งเพื่อให้ผู้ว่าฯ มอบหมายอุตสาหกรรมจังหวัดดำเนินการต่อไป แต่จนวันนี้ (9 กันยายน) ยังมิได้มีการนำคำสั่งไปปิดประกาศที่โรงงานตามกระบวนการทางกฎหมายแต่อย่างใด
 


ก่อนที่จะตั้งโรงงานที่ ต.โคกสูง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น บริษัทบีทีไอมีโรงงานสาขาแรกอยู่แล้วในพื้นที่ ต.กลอนโด อ.มะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี เป็นโรงงานประเภท 106 ประกอบกิจการทำน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากยางรถยนต์
 


เท่าที่มูลนิธิบูรณะนิเวศตรวจสอบข้อมูลพบว่า ลักษณะการประกอบกิจการของโรงงานที่ จ.กาญจนบุรี เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับโรงงานที่ จ.ขอนแก่น แต่มีขนาดใหญ่กว่า โดยมีเตาหลอมถึง 7 เตา และโรงงานมีลักษณะมิดชิดกว่า อีกทั้งอยู่ห่างไกลจากชุมชน ที่ผ่านมา ไม่พบว่ามีปัญหาการร้องเรียนเรื่องผลกระทบ
 


อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ในจังหวะที่โรงงาน ณ โคกสูง จ.ขอนแก่น เพิ่งเริ่มการประกอบกิจการได้เพียงสองวัน โรงงานที่ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ก็ได้เกิดเหตุไฟไหม้ โดยต้นเพลิงคือเตาหลอมยางรถยนต์ภายในโรงงานชำรุดและเกิดเปลวไฟพวยพุ่งออกมา จนลุกไหม้ตัวเครื่องจักรนั้นเอง และก่อให้เกิดควันเถ้าถ่านลอยฟุ้งไปทั่วโรงงาน เบื้องต้นการฉีดน้ำดับเพลิงไม่เป็นผล ต้องมีการประสานขอรถดับเพลิงจากเทศบาลเมืองปากแพรกที่อยู่ห่างออกไปกว่า 30 กิโลเมตร นำโฟมมาช่วยฉีดควบคุมเพลิง แต่ก็ต้องใช้เวลาดับเพลิงนานกว่า 2 ชั่วโมง
 

 

 


เคราะห์ดีที่เหตุครั้งนั้นไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และไฟลุกไหม้ในพื้นที่จำกัดเฉพาะบริเวณหน้าเตา ไม่ได้ลุกลามไปส่วนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ได้ลุกไหม้ไปยังวัตถุดิบที่เป็นยางรถยนต์เก่า รวมถึงผลิตภัณฑ์ ซึ่งต่างมีลักษณะเป็นเชื้อเพลิงที่ดี
 


จากเหตุครั้งนั้น โรงงานที่ด่านมะขามเตี้ย ก็ได้ถูกอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี สั่งหยุดดำเนินกิจการชั่วคราว เพื่อให้มีการตรวจสอบเครื่องจักรว่าพร้อมใช้งานหรือไม่ ตลอดจนตรวจความมั่นคงแข็งแรงของตัวอาคารโรงงานด้วย 
 


จากจุดก่อกำเนิดที่ต้องการดำเนินกิจการด้านรีไซเคิลด้วยเป้าหมายเพื่อทำให้โลกมีขยะน้อยลงและสภาพแวดล้อมของโลกสะอาดขึ้น แต่กระบวนการประกอบกิจการจริงของโรงงานทั้งสองแห่งของบริษัทบีทีไอ กลับกลายเป็นแหล่งก่อให้เกิดมลพิษและอุบัติภัยอันตรายเสียเอง
 


ส่วนการที่บริษัทได้รับการรับรองเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ก็นับเป็นความย้อนแย้งอีกประการหนึ่งที่ต้องตั้งข้อสังเกตไว้
 


เรื่องโดย พิสิทธิ์ ศรีพุ่มไข่ 
ขอบคุณภาพถ่ายจาก www.thairath.co.th และ https://today.line.me/th